FlowAccount รวบรวมความรู้การทำบัญชีและภาษีเบื้องต้นที่ คนทำธุรกิจ ต้องทำความเข้าใจ ทั้งการทำรายรับรายจ่าย และเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ ไว้ในรูปแบบ AudioBlog เอาไว้ฟังกันเพลินๆ ระหว่างทำธุรกิจได้เลย |
สำหรับ คนทำธุรกิจ ที่กำลังเริ่มต้นกิจการของตนเอง เรารู้ว่าคุณต้องเรียนรู้การจัดการและวางแผนธุรกิจหลากหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องของการทำเอกสารบัญชีและภาษีที่หลายคนไม่ค่อยถนัดและก็ใช้เวลาทำกันนาน
เราอยากชวนฟัง AudioBlog 12 ตอน โดยพรี่หนอม TaxBugnoms กูรูด้านภาษีเจ้าเก่าเจ้าเดิม ที่จะมาเติมความรู้ให้ตั้งแต่เริ่มต้นทำบัญชีและภาษี ว่าจะต้องทำความเข้าใจอะไรบ้าง ทั้งเรื่องของการบริหารจัดการเอกสาร แนวคิด และจัดการธุรกิจด้วยหลักการที่ถูกต้องอย่างมีประโยชน์ที่สุดครับ
เอาล่ะ.. ถ้าพร้อมแล้ว เราไปพบกันเลย
คนธรรมดาทำธุรกิจ ต้องทำบัญชีรายรับรายจ่ายไหม
หลายคนเริ่มทำธุรกิจ แต่ยังมีปัญหาในจัดการรายรับรายจ่าย และนั่นอาจทำให้เกิดปัญหาเมื่อตอนยื่นภาษีหรือการวัดผลด้านต่างๆ ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ เมื่อไม่มีเครื่องวัดผลแบบนี้ เลยทำให้ไม่รู้หนทางในการวางแผนทำธุรกิจ ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งในการทำธุรกิจท่ามกลางความไม่แน่นอน
การทำบัญชีรายรับรายจ่ายจึงเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่จะทำให้คุณทราบตัวเลขที่แท้จริงและอนาคตของคุณ โดยสามารถใช้เครื่องมือออนไลน์ที่มีอยู่มากมายในปัจจุบันมาช่วยจดบันทึกรายรับรายจ่ายได้อย่างง่าย ๆ
อ่านวิธีทำรายรับรายจ่ายกันต่อในบทความ การทำบัญชีรายรับ รายจ่ายเบื้องต้น
เอกสารที่กิจการต้องมี เพื่อให้เป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีที่ถูกต้อง
การจัดการค่าใช้จ่ายของธุรกิจมีหลักการสำคัญคือ ค่าใช้จ่ายที่เป็นรายจ่ายของธุรกิจก็ควรจดบันทึกทำบัญชีเอาไว้เพื่อให้รู้รายรับรายจ่าย ส่วนค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้คำนวณภาษีก็ต้องมีเอกสารหลักฐานทางกฎหมายที่ใช้พิสูจน์ได้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายของธุรกิจ นี่คือแนวคิดที่ควรทำทั้งบัญชีและภาษี และยังช่วยให้ไม่มีปัญหาในการจัดการเอกสารเมื่อถูกสรรพากรตรวจสอบ
อ่านเอกสารที่ใช้ประกอบค่าใช้จ่ายในทางภาษีมีอะไรบ้างได้ที่บทความ เอกสารที่ใช้ประกอบค่าใช้จ่ายของกิจการ ในกรณีที่หลักฐานไม่เพียงพอ
ใบวางบิล ใบแจ้งหนี้ คืออะไร มีหน้าที่ไว้ใช้ทำอะไรบ้าง
ใบแจ้งหนี้และใบวางบิล เป็นเอกสารที่กิจการต้องทำต่อจากใบเสนอราคาเพื่อแจ้งลูกค้าว่ามีจำนวนเงินที่ต้องจ่ายเมื่อไหร่ และต้องจ่ายเงินกันวันไหน ซึ่งสิ่งที่ต้องนึกถึงเมื่อทำใบวางบิล/ใบแจ้งหนี้แล้ว คือทำอย่างไรถึงจะเก็บเงินได้เร็วๆ นั่นคือ ต้องตกลงกับคู่ค้าให้ชัดเจนว่ากำหนดวันวางบิลกันวันไหน และข้อมูลในเอกสารต้องตรวจสอบให้ดี เพราะหากออกเอกสารผิด ก็หมายถึงว่าเงินที่ควรจะได้รับ จะถูกเลื่อนออกไปอีกเป็นเดือน ตอนนี้จะเป็นอีกตอนที่บอกว่าเราควรจะออกเอกสารเหล่านี้ตอนไหน และต้องรู้อะไรในการจัดการเอกสารบ้าง เพื่อให้การจัดการการเงินมีประสิทธิภาพมากที่สุด
อ่านวิธีทำใบวางบิล/ใบแจ้งหนี้ได้ที่บทความ ใบวางบิล/ใบแจ้งหนี้คืออะไร
ใบกำกับภาษีคืออะไร ใช้งานแบบไหน ต้องรู้อะไรบ้าง
ใบกำกับภาษี เป็นเอกสารที่คนทำธุรกิจที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว (VAT) จะต้องออกให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือบริการทุกครั้ง ซึ่งการออก Vat 7% ก็จะมีกฎที่คนทำธุรกิจต้องรู้อยู่หลายข้อ ไม่ว่าจะเป็น คนที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นจะต้องมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท จังหวะของการออกใบกำกับภาษีที่ออกได้ต่อเมื่อได้รับเงินแล้วเท่านั้น หรือจะออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปหรืออย่างย่อดี ก็ขึ้นอยู่กับผู้รับจะเอาไปใช้ในเรื่องภาษีซื้อหรือไม่ ตอนนี้จึงเป็นอีกตอนหนึงที่จะทำให้เราเข้าใจเอกสารทีชื่อว่าใบกำกับภาษีได้ดีขึ้นครับ
อ่านรายละเอียดที่จะต้องมีในใบกำกับภาษีได้ที่บทความ ใบกำกับภาษีคืออะไร
ใบกำกับภาษีอย่างย่อ คืออะไร ต่างจากใบกำกับภาษีเต็มรูปอย่างไร
นอกจากใบกำกับภาษีแล้ว ยังมีเรื่องของใบกำกับภาษีอย่างย่อ ที่มีข้อมูลที่มีรายละเอียดน้อยกว่าใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป แต่สิ่งสำคัญที่เจ้าของธุรกิจควรรู้ในเรื่องนี้คือ หากคุณได้ใบกำกับภาษีอย่างย่อ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จ่ายไปนั้นจะไม่สามารถนำมาใช้เป็นภาษีซื้อ เหมือนกับใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปได้ รวมถึงวิธีการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อว่าคุณจะออกได้อย่างไร และใครมีสิทธิออกบ้าง ซึ่งเป็นเอกสารอีกตัวหนึ่งที่คนทำธุรกิจไม่ควรพลาดที่จะทำความรู้จักกับมันครับ
อ่านข้อแตกต่างของรายละเอียดในใบกำกับภาษีอย่างต่อได้ที่บทความ ใบกำกับภาษีอย่างย่อคืออะไร
ความแตกต่างระหว่าง #ใบเสร็จรับเงิน #บิลเงินสด และ #ใบกำกับภาษี
เอกสารทั้งสามดูเหมือนจะเอาไว้ใช้ตอนรับเงินจากลูกค้าเหมือนกัน แต่มีความแตกต่างกันตอนนำมาบันทึกบัญชีและภาษี เพราะบิลเงินสดจะใช้เป็นหลักฐานเอกสารทางภาษีไม่ได้ ส่วนใบกำกับภาษี ผู้ที่ออกได้คือคนทำธุรกิจที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วเท่านั้น หลายครั้งเราจึงเห็นหลายธุรกิจที่ใช้หัวเอกสาร ใบกำกับภาษี/ใบเสร็จรับเงิน นั่นเป็นเพราะอะไร และกิจการเราจะเลือกใช้แบบไหน ลองฟังคำตอบและความเข้าใจเพิ่มเติมได้จากตอนนี้เลยครับ
อ่านรายละเอียดของเอกสารแต่ละใบต่อได้ที่บทความ
ใบเสร็จรับเงิน มีหน้าที่ทำอะไร แล้วแตกต่างกับบิลเงินสดอย่างไร
หนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่ายคืออะไร ใช้ทำอะไรบ้าง
หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นเอกสารที่ใช้เป็นหลักฐานว่าคนทำธุรกิจได้มีการหักภาษี หัก ณ ที่จ่าย จากผู้รับเงินส่งกรมสรรพากรแล้ว ผู้รับเงินก็จะเอาหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย เป็นเอกสารประกอบเวลาเสียภาษีเงินได้ ซึ่งความสัมพันธ์และความเกี่ยวข้องของเรื่องนี้มีอะไรที่เจ้าของธุรกิจควรรู้บ้าง ลองติดตามฟังจากตอนนี้ได้เลยครับ
อย่างไรก็ดีเอกสารนี้จะต้องใช้ฟอร์มจากกรมสรรพากร แต่เราสามารถออกเอกสารนี้ได้ง่ายๆ โดยทำผ่านโปรแกรมบัญชี FlowAccount และแอปพลิเคชั่น FlowAccount ได้เช่นเดียวกัน
ลองอ่านวิธีการกรอกข้อมูลหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่ายได้ในบทความ หนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย คืออะไร
หัก ณ ที่จ่ายพนักงานอย่างไร คำนวณแบบไหน มีวิธีอย่างไรบ้าง
เงินเดือนถือเป็นรายได้ของบุคคลธรรมดาประเภทที่ 1 ตามกฎหมาย และมีการคำนวณหัก ณ ที่จ่าย แบบทั้งปี ซึ่งสร้างความน่าปวดหัวให้กับเจ้าของธุรกิจระดับหนึ่งเลยทีเดียว การคิดภาษีของพนักงานจึงควรใช้โปรแกรมเงินเดือนช่วยคำนวณไปเลยจะง่ายกว่ามาก แต่อย่างไรก็ดี ก็มีสิ่งที่เจ้าของธุรกิจที่ควรรู้เกี่ยวกับเงินเดือน และการเลือกโปรแกรมเงินเดือนต่างๆ ในตอนนี้ เพราะมันจะช่วยให้เราจัดการเรื่องนี้ได้อย่างถูกต้องและประหยัดเวลามากขึ้นครับ
อ่าน วิธีคำนวณภาษี หัก ณ ที่จ่ายเงินเดือน ต่อเลย
ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้คืออะไร ใช้ในกรณีไหนบ้าง
ใบเพิ่มหนี้ และ ใบลดหนี้ เป็นเอกสารสำคัญที่คนทำธุรกิจจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ต้องใช้ เอาไว้เป็นเอกสารเพิ่มเติมที่ทำต่อจากใบกำกับภาษี หากมีการแก้ไขมูลค่าของสินค้าหรือบริการเพิ่มเติม ก็จะต้องออกใบเพิ่มหนี้และใบลดหนี้ แต่จะออกแบบไหนถึงจะเรียกว่าถูกต้องและไม่มีปัญหา ต้องรับฟังกันได้จากตอนนี้ครับ
นอกจากนั้น เอกสารเหล่านี้สามารถทำได้จากในระบบบัญชี FlowAccount ได้แบบง่าย ๆ ลองดูรายละเอียดได้ในตอนนี้ครับ
อ่านรายละเอียดที่จะต้องมีในใบเพิ่ม ใบลดหนี้ ได้ที่บทความ ใบเพิ่มหนี้ และใบลดหนี้ คืออะไร และต้องใช้ตอนไหน
ภ.พ.30 คืออะไร ยื่นเมื่อไหร่ ใช้ทำอะไรบ้าง
เราอาจจะคุ้นเคยกับแบบ ภ.พ. 30 ในเรื่องของการยื่นภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยสรุปจากรายการภาษีซื้อ ภาษีขาย ที่คนทำธุรกิจที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสรุปออกมาว่ามียอดภาษีในแต่ละเดือนเท่าไหร่ และต่อให้ไม่มียอดขายในเดือนนั้นก็ต้องนำส่งแบบ ภ.พ.30 อีกด้วย แต่ก่อนจะเริ่มทำเอกสารตัวนี้ เราต้องมาทำความเข้าใจกับอะไรบ้าง? ลองติดตามได้ในตอนนี้เลยครับ
ทำความเข้าใจเรื่องภาษีซื้อ ภาษีขาย และทำรายงานภาษี ภาษีขายด้วยโปรแกรมบัญชีได้ในบทความ ภ.พ.30 คืออะไร เจ้าของธุรกิจต้องใช้เมื่อไหร่
ภาษีเงินได้คืออะไร คำนวณยังไง มีอะไรที่เจ้าของธุรกิจต้องรู้บ้าง
อย่างที่หลายคนทราบดีว่าการเสียภาษีเงินได้ ขึ้นอยู่กับรูปแบบของธุรกิจว่าเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล เวลาเสียภาษีจะเสียแบบรายปี หรือครึ่งปี โดยเลือกคำนวณภาษีแบบตามจริงหรือแบบเหมาในกรณีของบุคคลธรมดา หรือว่าจะเลือกมาคำนวณในรูปแบบของนิติบุคคลดี ทั้งหมดสรุปให้แล้วในตอนนี้ แถมด้วยการตอบคำถามว่าเมื่อไหร่ที่ควรจะเปลี่ยนการทำธุรกิจมาเป็นนิติบุคคลให้ด้วยครับ
3 เรื่องที่เจ้าของควรรู้ ก่อนจะเริ่มต้น #บัญชี และ #ภาษี ธุรกิจ
ตอนสุดท้ายนี้ เป็น 3 เรื่องที่ต้องรู้ ก่อนจะเริ่มต้นทำเอกสารและบัญชีของธุรกิจ โดยต้องเข้าใจสิ่งที่เรากำลังจะทำกันเสียก่อน ไม่ว่าจะเป็น รูปแบบธุรกิจที่เลือกทำ เพื่อเข้าใจโครงสร้างของรายได้และค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น เพราะการทำธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลจะมีงานเอกสารและภาษีแตกต่างกัน ไปจนถึงความต้องการของลูกค้าว่าต้องการเอกสารอะไรจากเราบ้าง และสุดท้าย เราอาจะต้องลองทำคู่มือกิจการเพื่อเตือนตัวเองว่า การดำเนินงานในแต่ละอย่างต้องมีขั้นตอนอย่างไร มีเอกสารและบัญชีอะไรที่เกี่ยวข้อง แล้วจะหาเครื่องมืออะไรมาช่วยทำธุรกิจได้บ้าง
และทั้งหมดนี้คือความรู้ในการจัดการบัญชีและภาษีอย่างง่ายที่เพื่อคนที่กำลังเริ่มทำธุรกิจ หวังว่าทุกคนจะได้รับความรู้และนำไปปรับใช้ได้ไม่มากก็น้อยนะครับ หากใครสนใจเรื่องการจัดการเอกสารได้อย่างถูกต้อง แนะนำให้มาเริ่มต้นหัดทำเอกสารกันได้ฟรีที่
About Author
พรี่หนอม หรือ TAXBugnoms (แทกซ์-บัก-หนอม) เป็นบล็อกเกอร์ นักเขียน และวิทยากรที่ให้ความรู้เรื่องภาษี บัญชี การเงิน มีประสบการณ์ทำงานในแวดวงบัญชี ภาษี มานานกว่า 15 ปี โดยมีแนวคิดว่า “ภาษี” ควรเป็น “เรื่องเรียบง่าย” และ “รู้สึกสบายใจ” ที่จะจ่าย