ขั้นตอนการยื่นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.36 เมื่อยิงโฆษณา Facebook (Meta)

VAT การยิงโฆษณาออนไลน์

พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ต้องทำความเข้าใจขั้นตอนการยื่นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.36 เมื่อยิงโฆษณาที่มีการยิงแอดโฆษณา ไม่ว่าจะผ่านการยิงแอดโฆษณาผ่าน Facebook หรือ Google ก็ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) ด้วยนะคะ วิธีการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มทำยังไง และนำส่งภาษีด้วยตัวเองมีขั้นตอนยังไงบ้าง FlowAccount จะมาเล่าให้ทุกคนฟังค่ะ

พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ในยุคนี้ ไม่มีใครไม่รู้จักการยิงแอดโฆษณา เพราะไม่ว่าจะทำการขายสินค้าช่องทางไหน เราก็อยากจะให้ลูกค้าได้เห็นสินค้าเราได้เยอะที่สุด และกลับมาซื้อของกับเรามากที่สุดใช่ไหมล่ะคะ แล้วรู้กันไหมว่าการยิงแอดโฆษณาผ่าน Facebook หรือ Google นั้น พวกเราต่างก็ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) ด้วยนะ

 

วิธีการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มทำยังไง และนำส่งภาษีด้วยตัวเองมีขั้นตอนยังไงบ้าง วันนี้ FlowAccount จะมาเล่าให้ทุกคนฟังค่ะ

 

สำหรับพ่อค้าแม่ค้าที่อยากเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการวางแผนการตลาดและกลยุทธ์ในการยิงแอดโฆษณาบน Facebook ก็สามารถเรียนคอร์ส Facebook Ads ที่ทาง Content Shifu ออกแบบคอร์สมาเพื่อให้ผู้เรียนสร้างผลลัพธ์การยิงแอดได้ตามที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องมือให้เป็น ไปจนถึงปรับปรุงแผนโฆษณาให้สอดคล้องกับเป้าหมายของธุรกิจจริงๆ 

 

เรียนบัญชี FlowAccount

 

รู้จักกับภาษีมูลค่าเพิ่มและแบบ ภ.พ. 36

 

โดยปกติแล้วเรามักเข้าใจกันดีว่าเวลาซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศไทย พวกเรามักโดนชาร์ตภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จากราคาสินค้าและบริการโดยปริยายใช่ไหมคะ 

 

แต่กรณีที่เราซื้อแอดโฆษณาจาก Facebook หรือ Meta ในชื่อใหม่นั้น แม้จะเป็นการใช้บริการโฆษณาในประเทศไทยก็จริง แต่ทว่าบริษัทผู้ให้บริการดันอยู่ต่างประเทศซะงั้น แล้วเราจะจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มแบบไหนกันล่ะ 

 

จริงๆ แล้วแม้ว่าผู้ให้บริการโฆษณาอย่าง Facebook จะอยู่ไกลถึงประเทศ Ireland เลย แต่ว่าเรามีวิธีการยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มแทนในนามนิติบุคคลโดยจ่าย Vat 7% ด้วยแบบภาษีที่เรียกว่า “ภ.พ.36” นั่นเองค่ะ

 

แบบ ภ.พ.36 หมายถึง แบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามประมวลรัษฎากร ใช้เมื่อได้จ่ายเงินค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ ให้แก่ผู้ประกอบการที่อยู่นอกประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น Facebook Ads, Google Ads, ใช้บริการ Zoom เป็นต้น

 

ข้อดีของการนำส่งแบบ ภ.พ.36 นั้นจะทำให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์สามารถนำค่ายิงแอดนี้ไปเป็นรายจ่ายทางภาษีของธุรกิจได้ 100% เลยค่ะ และภาษีมูลค่า VAT 7% ที่เราจ่ายชำระไป สามารถขอเคลมภาษีซื้อในเดือนถัดไปได้ค่ะ

 

ขั้นตอนการยื่นแบบ ภ.พ.36 ออนไลน์

 

วิธีการยื่นแบบ ภพ. 36 ออนไลน์ พ่อค้าแม่ค้าทำเองได้ง่ายๆ ตามนี้

 

1. ตั้งค่าการชำระเงิน ในระบบ Facebook โดยใส่ชื่อที่อยู่ และเลขที่ประจำตัวผู้เสียภาษีของบริษัทให้เรียบร้อย 

 

2. เรียกดูประวัติการชำระเงิน และกดดาวน์โหลดใบเสร็จรับเงินในระบบออกมา 

 

ตัวอย่างภาพใบเสร็จรับเงิน Meta

 

 

3. กรอกแบบ ภ.พ. 36 ประจำเดือนที่จ่ายค่าโฆษณา

 

  • เข้าระบบยื่นภาษีออนไลน์ https://efiling.rd.go.th/
  • เลือกแบบภาษี ภ.พ.36 
  • ตรวจสอบข้อมูลผู้เสียภาษีและเดือนที่ยื่นภาษีให้ถูกต้อง 
  • ทำเครื่องหมาย จ่ายเงินค่าซื้อสินค้าหรือบริการให้ผู้ประกอบการที่เข้ามาประกอบการในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวหรือให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการในต่างประเทศ หรือให้แก่ผู้ประกอบการที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา
  • กรอกรายละเอียดการจ่ายเงินค่าซื้อสินค้าหรือบริการ โดยใช้ข้อมูลจากใบเสร็จรับเงินที่ได้รับจาก Facebook ระบุวันเดือนปีที่จ่ายเงิน และเลขที่เอกสารแลกเปลี่ยนเงินตรา (กรณีชำระเงินสกุลอื่น) และระบุประเภทการจ่ายเงินว่าชำระราคาสำคัญค่าโฆษณา
  • ทำเครื่องหมายช่อง (2) เป็นผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร
  • กรอกจำนวนเงินที่จ่าย = มูลค่าในใบเสร็จรับเงิน
  • ระบบจะคำนวณเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องนำส่งโดยอัตโนมัติ 

 

เมื่อกรอกข้อมูลทั้งหมดครบถ้วนแล้วก็กดยืนยันเพื่อยื่นภาษี และจ่ายชำระภาษีได้เลย ซึ่งหากยื่นแบบออนไลน์เราสามารถจ่ายชำระภายใน 15 วันของเดือนถัดไปได้ค่ะ

 

ตัวอย่างการกรอกข้อมูล ภ.พ.36

 

แจกชื่อที่อยู่ของ Facebook และ Google

 

สำหรับคนที่กังวลว่าจะกรอกชื่อที่อยู่บริษัท Facebook Google ผิดไหม ตอนยื่น ภ.พ. 36 สามารถเราแจกชื่อที่อยู่ไว้ให้ สามารถ Copy ไปใช้งานได้เลยจ้า

 

  • Facebook (Meta ชื่อใหม่)

Meta Platforms Ireland Limited, 4 Grand Canal Square, Grand Canal Harbour, Dublin 2, Ireland
VAT ID: 0993000454995

 

 

  • Google Ads

Google Asia Pacific Pte. Ltd. 70 Pasir Panjang Road, #03-71, Mapletree Business City, Singapore 117371

Tax identification number: 200817984R

 

วิธีการใช้สิทธิภาษีซื้อของ ภ.พ.36 ในเดือนถัดไป

 

หลายคนน่าจะติดใจอยู่ไม่น้อยว่า เรานำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มไปตั้ง 7% เพิ่มเติมจากค่าบริการไปแล้ว และเงินจำนวนนี้ถือว่าเสียเปล่าเลยไหม คำตอบก็คือว่าไม่ได้เสียเปล่า เพราะเราสามารถเอามาเป็นเครดิตภาษีได้ในเดือนถัดไปเมื่อยื่นแบบ ภ.พ. 30 ค่ะ

 

โดยให้นำรายละเอียดการจ่ายชำระภาษีใน “ใบเสร็จรับเงินจากสรรพากร” ไปกรอกในรายงานภาษีซื้อ เพื่อยื่นของเคลมภาษีซื้อตอนยื่นแบบ ภ.พ. 30 เดือนถัดไปได้เลยค่ะ

 

ยกตัวอย่างเช่น ใบเสร็จรับเงิน ภ.พ.36 ใบนี้ชำระสำหรับค่าบริการเดือน 9 จ่ายให้สรรพากรเมื่อเดือน 10 ก็นำรายละเอียดในใบเสร็จรับเงินได้รับเดือน 10 นี้ไปกรอกในรายงานภาษีซื้อเดือน 10 เลยค่ะ

 

ตัวอย่างภาพใบเสร็จรับเงิน ภ.พ.36

 

รายงานภาษีซื้อ

 

โดยสรุปแล้ว การจ่ายเงินค่าโฆษณาให้ Facebook นั้นนำมาเป็นรายจ่ายทางภาษีได้ และเราเพียงแค่ควักเงินจ่ายค่าภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านแบบ ภ.พ. 36 ไปก่อนจากนั้นเดือนถัดมาเราก็สามารถนำมาเคลมภาษีซื้อได้ แต่ข้อควรระวังก็คือ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ทั้งหลายต้องไปตั้งค่าการชำระเงินในระบบและใส่เลขที่ประจำตัวผู้เสียภาษีให้เรียบร้อยนะคะ มิเช่นนั้น รายจ่ายดังกล่าวจะไม่สามารถออกใบเสร็จรับเงินและนำมายื่นภาษีได้อย่างสมบูรณ์ค่ะ

About Author

ลองใช้งานFlowAccount ฟรี 30 วันได้ง่ายๆ วันนี้
ลองใช้งานฟรีได้ง่ายๆ วันนี้
สมัครเลย

You may also like