ภาษีธุรกิจ EP11: ภาษีมูลค่าเพิ่ม : เข้าใจระบบ VAT และหน้าที่ของผู้ประกอบการ ตอนที่ 2

ภาษีมูลค่าเพิ่ม



ในตอนที่ผ่านมา (เข้าใจระบบ VAT และหน้าที่ของผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม : ตอนที่ 1) เราได้เรียนรู้กันไปแล้วกับสิ่งที่ใช้พิจารณาว่าธุรกิจควรจะ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือไม่ แต่สำหรับตอนนี้ เราจะมาดูกันว่าหน้าที่ที่ต้องทำหลังจากที่เลือกจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม



อย่าลืมนะครับว่า คำถามที่ต้องถามตัวเอง 2 ข้อคือ ธุรกิจเราได้รับสิทธิยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มไหม ถ้าคำตอบแรกคือไม่ ทันทีที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีต้องรีบไปจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภายใน 30 วันครับ



ทีนี้เรามาต่อกันครับว่า ถ้าหากเราไปจดภาษีมูลค่าเพิ่มเรียบร้อยแล้ว ได้รับเอกสารหลักฐานการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ ภ.พ. 20 มาเป็นที่เรียบร้่อย เราต้องทำอะไรบ้าง

ผมให้แนวคิดง่าย ๆ ครับว่า หน้าที่ต้องทำนั้นมีหลัก ๆ 3 ข้อ คือ

  1. ออกใบกำกับภาษีขายทุกครั้งที่มีการขายสินค้า หรือได้รับเงินจากการให้บริการ และขอใบกำกับภาษีซื้อทุกครั้งที่มีการซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบการภาษีมูลค่า
  2. นำใบกำกับภาษีซื้อมาบันทึกและจัดทำรายงานภาษี ซื้อ และนำใบกำกับภาษีขายที่ออกมาทำสรุปและบันทึกลงรายงานภาษีขาย นอกจากนั้น ถ้าหากเป็นการขายสินค้า ต้องมีการจัดทำ รายงานสินค้าและวัตถุดิบ ตามรูปแบบที่สรรพากรกำหนดด้วยครับ
  3. นำส่ง ภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้กับกรมสรรพากร (หลังจากนำยอดภาษีขายมาหักออกจากภาษีซื้อแล้วเป็นยอดบวก) หรือขอคืนภาษี (ในกรณีที่เป็นยอดติดลบ) โดยการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ ภ.พ.30 ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

ยกตัวอย่างเช่น

  • บริษัทโฟลว์แอคเคาท์ มีการซื้อสินค้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 1 รายการในราคา 100,000 บาท (ยอดรวมภาษี 107,000 บาท)
  • และขายสินค้าตัวนี้ออกไปให้กับบริษัท TAXBugnoms ในราคา 200,000 บาท (ยอดรวมภาษี 214,000 บาท)

ดังนั้นสิ่งที่บริษัทโฟลว์แอคเคาท์ต้องทำ คือ

    • ขอใบกำกับภาษี (ตอนซื้อ)
    • ออกใบกำกับภาษี (ตอนขาย)
    • และจัดทำรายงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง

หลังจากนั้นนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 14,000 – 7,000 หรือ 7,000 บาท ให้แก่กรมสรรพากร



ทั้งหมดนี้คือหลักการของภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่เจ้าของกิจการที่ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องรู้นั่นเองครับ ดูเหมือนว่าจะไม่ยากอะไรใช่ไหมครับผม



แต่สิ่งที่ผมอยากเตือนให้ระวังไว้ นั่นคือ เรื่องของ “ภาษีซื้อ” ครับ เพราะจากสมการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มที่ว่า



ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระ (ขอคืน) = ภาษีขาย – ภาษีซื้อ



มีหลาย ๆ คนมักจะแนะนำว่า ถ้าไม่อยากเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเยอะๆ เราก็แค่ทำให้ภาษีซื้อมันเยอะ ๆ สิครับพี่ ยิ่งตัวลบมากเท่าไรก็แปลว่าเราไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แถมอาจจะได้คืนอีกต่างหาก (คุ้น ๆ กับหลักการค่าใช้จ่ายของการคำนวณภาษีเงินได้ในตอนที่ผ่าน ๆ มาไหมล่ะครับ ฮ่า)



จากตัวอย่างเมื่อกี้ หากบริษัทโฟลว์แอคเคาท์ไปหาซื้อสินค้า หรือ ค่าใช้จ่ายที่มีภาษีซื้ออะไรมาเพิ่มเติมให้กับตัวเอง จากยอด 100,000 บาท เพิ่มเป็น 300,000 บาท (ยอดรวมภาษี 321,000 บาท) ก็แปลว่าเกมส์จะเปลี่ยนจากที่ต้องเสียภาษี กลายเป็นได้คืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระเกินทันที 14,000 – 21,000 หรือ 7,000 บาททันทีครับ เมื่อไม่ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม เราจะมีสิทธิเลือกได้ครับว่า ยอดที่จ่ายภาษีซื้อเกินเหมือนเช่นตัวอย่างนี้


ยอดที่เกินจะขอคืน “ทันที” ในเดือนนั้น หรือจะ “พันยอด”



ยกยอดเครดิตไปใช้ในเดือนต่อ ๆ ไป เพื่อให้ลดยอดภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องจ่ายลง เช่นเดือนนี้ยกยอด 7,000 บาทไปใช้ในเดือนหน้า ถ้าหากเดือนหน้าต้องยื่นนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 10,000 บาทก็จะเอามาหักเหลือนำส่งแค่ 3,000 บาท



แต่วิธีการแบบนี้ หากไม่ใช่ภาษีซื้อจากการประกอบกิจการจริง ๆ ก็คงไม่ดีแน่ ๆ ล่ะครับ เพราะการซื้อสินค้าและนำใบกำกับภาษีซื้อที่เป็นค่าใช้จ่ายเข้ามามาก ๆ นั้นอาจจะทำให้ “ต้นทุน” และ “ค่าใช้จ่าย” ไม่สอดคล้องกับการประกอบธุรกิจจริง รวมถึงอาจกลายเป็นภาษีซื้อ “ต้องห้าม” ที่ไม่สามารถขอคืนภาษีได้อีกด้วย (เนื่องจากไม่เกี่ยวข้องกับกิจการ) สุดท้ายกลายเป็นว่าธุรกิจต้องมาจ่ายเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจากการนำส่งข้อมูลผิดพลาดอีกหลายต่อเสียด้วยซ้ำ (รู้สึกตัวอีกที สรรพากรก็เข้ามาเยี่ยมเยียนถึงออฟฟิศซะแล้ว)



ว่าก็ว่านะครับ ผมว่าระบบภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นระบบที่ทำให้สรรพากรรู้ข้อมูลของเรามากขึ้น เพราะทันทีที่ธุรกิจเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว เราต้องนำส่งข้อมูลยอดซื้อและยอดขายในทุก ๆ เดือนพร้อมกับแบบแสดงรายการ ภ.พ. 30 ที่ว่าไว้ ซึ่งตรงนี้จะส่งผลไปยังความถูกต้องของการยื่นภาษีเงินได้ของเราด้วยครับ ลองคิดดูสิครับ ถ้าหากยื่นรายได้ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มไว้เสียเยอะ แต่ยื่นรายได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้น้อย แบบนี้น่าจะผิดอะไรสักอย่างแล้วล่ะครับ เพราะความถูกต้องของธุรกิจมันต้องไปด้วยกันใช่ไหมล่ะครับ ดังนั้น


ผมเชื่อว่าการดำเนินการให้ถูกต้องน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดครับผม ทำอะไรตรง ๆ ง่าย ๆ อย่างที่เค้าว่า ทางตรงคือทางลัดที่ดีที่สุด



เดี๋ยวตอนหน้าเรามาว่ากันต่อในเรื่องการคำนวณต้นทุนและความเข้าใจผิดเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มกันครับ

ลองใช้งานFlowAccount ฟรี 30 วันได้ง่ายๆ วันนี้
ลองใช้งานฟรีได้ง่ายๆ วันนี้
สมัครเลย

You may also like