หลังจดบริษัท เจ้าของกิจการต้องทำอะไรเชิงกายภาพ และเปิดเผยเอกสารใดที่บริษัทบ้าง

​​หลังจดบริษัท

หลังจากเปิดบริษัทแล้วต้องทำอะไรต่อบ้าง ต้องเปิดบัญชีธนาคารทันทีเลยไหม ต้องจด VAT เลยหรือเปล่า หรือมีเอกสารอะไรบ้างที่ต้องทำและเปิดเผยหรือทำแล้วเก็บไว้ ในบทความนี้จะมาบอกถึงสิ่งที่เจ้าของต้องรู้และจัดทำกันครับ

มีผู้ประกอบการหลายรายที่เพิ่งเปิดบริษัทสงสัยว่า หลังจากเปิดบริษัทแล้วต้องทำอะไรต่อบ้าง ต้องเปิดบัญชีธนาคารทันทีเลยไหม ต้องจด VAT เลยหรือเปล่า หรือมีเอกสารอะไรบ้างที่ต้องทำและเปิดเผยหรือทำแล้วเก็บไว้ ในบทความนี้จะมาบอกถึงสิ่งที่เจ้าของต้องรู้และจัดทำกันครับ

 

เลือกอ่านได้เลย!

เริ่มจากเอกสารที่แสดงการเป็นนิติบุคคลหรือที่เรียกว่า “ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท” 

 

ซึ่งบริษัทจะได้รับหลังจากจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเสร็จ โดยใบนี้จะระบุ เลขทะเบียนนิติบุคคล ชื่อ วันที่จดทะเบียนจัดตั้ง โดยสามารถใช้ใบนี้ในการประกอบธุรกิจได้เลย อย่างไรก็ตามในบางธุรกิจ 

 

ตัวอย่างเช่น ขายอัญมณี หรือเครื่องประดับซึ่งประดับด้วยอัญมณี, การซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เป็นต้น

 

ธุรกิจเหล่านี้จำเป็นต้องจดทะเบียนพาณิชย์เพื่อให้ได้ “ใบทะเบียนพาณิชย์” หรือที่บางคนเรียกว่าใบทะเบียนการค้า (เอกสาร 2 ใบนี้ไม่เหมือนกันครับ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ -> ไขข้อสงสัยจดทะเบียนพาณิชย์ จดทะเบียนบริษัท จดภาษีมูลค่าเพิ่มแตกต่างกันอย่างไร

 

ซึ่งใบทะเบียนพาณิชย์จะเป็นการบอกลูกค้าหรือผู้มาใช้บริการว่าเราทำธุรกิจในชื่ออะไร

บริษัทต้องแสดง “ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท” และ “ใบทะเบียนพาณิชย์” (ถ้ามี) ไว้ ณ สำนักงานในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย

 

ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน

 

เมื่อจดบริษัทแล้วต้องจด VAT ด้วยเลยไหม จด VAT แล้วจะได้เอกสารอะไรบ้าง

 

ซึ่งต้องบอกว่าการจดจัดตั้งบริษัทกับการจด VAT นั่นคนละส่วนกันครับ ดังนั้นก่อนอื่นเราควรต้องรู้ว่าบริษัทจะจด VAT เมื่อไหร่ 

 

บริษัทที่จะเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือจด VAT นั้น พิจารณาจาก 2 ส่วนหลัก คือ 

  1. ประเภทของธุรกิจ โดยดูว่าธุรกิจที่ทำอยู่นั้นอยู่ในข่ายที่ได้รับการยกเว้นจด VAT หรือไม่ เช่น ขนส่ง ขายสินค้าเกษตร เป็นต้น (บางธุรกิจได้รับการยกเว้น แต่ยังมีสิทธิแจ้งขอจด VAT ได้) 
  2. ดูที่ รายรับ เมื่อรายรับเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี กรณีนี้ต้องจด VAT (โดนบังคับ) อย่างไรก็ตามหากรายได้ยังไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด แต่ต้องการจด VAT ก็สามารถยื่นขอจด VAT ได้เช่นกัน และเมื่อบริษัทจด VAT แล้วจะได้เอกสารสำคัญที่เรียกว่า “ใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20)”

 

ตัวอย่าง ใบจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

 

ใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมีลักษณะเป็นกระดาษขนาดประมาณ A4 มีลักษณะเป็นลายน้ำสีชมพูหรือที่บางคนเรียกว่าใบสีชมพูนั่นเอง และในช่วงที่บริษัทรอกรมสรรพากรส่งเอกสารมาให้ บริษัทสามารถใช้แบบ ภ.พ.01 (แบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม) แทนไปก่อนได้ครับ 

 

สิ่งสำคัญคือ เมื่อบริษัทได้รับใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมาแล้ว จะต้องเปิดเผยและเห็นได้ง่าย ซึ่งหากไม่ดำเนินการก็จะมีความผิดโดยต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

 

กรณีที่บริษัทมีสถานประกอบการหลายแห่ง ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ท้องที่ที่สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เพียงแห่งเดียว แต่กรมสรรพากรจะออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 20) ให้แก่สถานประกอบการทุกแห่ง โดยบริษัทจะต้องนำใบทะเบียนดังกล่าวไปแสดงไว้ในที่ที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ สถานประกอบการแห่งนั้น ๆ  

 

กรณีที่ใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสูญหาย ถูกทำลายหรือชำรุดในสาระสำคัญ ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะต้องยื่นคำขอรับใบแทนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ สถานที่ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ทราบถึงการสูญหาย ถูกทำลายหรือชำรุด ซึ่งใบแทนดังกล่าวถือเป็นใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

 

ทั้งนี้มีข้อแนะนำว่าไม่ควรนำใบทะเบียนภาษีมูลค่าไปเคลือบและติดกับกระจกหรือผนัง เพราะหากบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูล เช่น ย้ายที่อยู่ จะต้องนำส่งใบทะเบียนภาษีมูลค่าคืนให้กับกรมสรรพากรด้วย อาจใช้วิธีใส่กรอบแล้วนำไปแขวนหรือตั้งแทนครับ

 

หากสังเกตเราจะเห็น “ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท”, “ใบทะเบียนพาณิชย์”(ถ้ามี) และ “ใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม” ใส่กรอบเรียงติดกันบนผนังในบริเวณที่มองเห็นได้ง่าย เช่น ในร้านอาหารจะเห็นอยู่บริเวณ Cashier ที่ทุกคนเดินผ่านและมองเห็นได้ชัดเจน

 

“ใบหุ้นและสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น” คิดว่าหลายๆคนคงไม่เคยได้ยินคำนี้หรือเคยได้ยินแต่ไม่รู้คืออะไร หน้าตาเป็นอย่างไร

 

ใครต้องทำให้ใคร เราไปทำความเข้าใจพร้อมๆ กันครับ

 

เมื่อเราจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทแล้ว มีเอกสารอีก 2 อย่างที่บริษัทต้องจัดทำขึ้น คือ การออกใบหุ้นให้กับผู้ถือหุ้น และการจัดทำสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น

 

ใบหุ้น คือ เอกสารที่บริษัทมีหน้าที่ออกให้แก่ผู้ถือหุ้นทุกคน เพื่อไว้เป็นหลักฐานแสดงความเป็นเจ้าของหุ้น โดยระบุข้อมูลการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นไว้ เช่น ชื่อบริษัท เลขหมายหุ้นที่ระบุในใบหุ้น มูลค่าหุ้น จำนวนเงินค่าหุ้นที่ชำระแล้ว ชื่อผู้ถือหุ้น ลายเซ็นของกรรมการอย่างน้อย 1 คน และตราบริษัท (ถ้ามี)

 

เมื่อบริษัทจัดตั้งเสร็จจะต้องจัดทำใบหุ้นและส่งมอบให้กับผู้ถือหุ้นไม่ว่าจะรายเล็กหรือรายใหญ่ เป็นบุคคลหรือนิติบุคคล ทั้งนี้บริษัทจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมก็ได้แต่เรียกเก็บได้ไม่เกิน 10 บาท

 

ข้อมูลในใบหุ้น

 

สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น คือ คือสมุดที่แสดงรายการข้อมูลหุ้นตั้งแต่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ที่มีการจองซื้อหุ้นตอนจัดตั้ง รายการเพิ่มทุน-ลดทุน การโอนหุ้น การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น เป็นสมุดที่บันทึกประวัติที่เกิดขึ้นทั้งหมดของบริษัท บริษัทจะต้องมีการจัดทำและเก็บไว้ที่สำนักงานใหญ่ของบริษัท ผู้ถือหุ้นทุกคนสามารถมีสิทธิที่จะขอเปิดดูสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นได้ และหากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นระหว่างผู้ถือหุ้น สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นเล่มนี้จะเป็นข้อมูลอ้างอิงสำคัญที่จะใช้ในการพิจารณาข้อมูลของผู้ถือหุ้น

 

 

 

ในปัจจุบัน ยังมีบริษัทอีกจำนวนมากที่ไม่ทราบว่าต้องมีการจัดทำใบหุ้นให้ผู้ถือหุ้นและจัดทำสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นเก็บไว้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งงานสำคัญที่บริษัทต้องจัดทำขึ้นหลังจากจดทะเบียนบริษัทเรียบร้อยแล้ว

 

หากต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับใบหุ้นและสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นเพิ่มเติม สามารถติดต่อเพื่อขอคำแนะนำได้ที่นี่บริการออกใบหุ้น

 

สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น

 

การเปิดบัญชีธนาคารในนามบริษัท

 

เรื่องต่อไปเป็นเรื่องที่กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ต้องมี แต่แนะนำให้บริษัทควรดำเนินการให้เรียบร้อยตั้งแต่ช่วงแรกๆหลังจากจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเรียบร้อยแล้ว นั่นคือ การเปิดบัญชีธนาคารในนามบริษัท

 

เหตุผลที่แนะนำให้รีบเปิดบัญชีธนาคาร เพื่อกรรมการจะได้นำเงินลงทุนที่ได้รับมาจากผู้ถือหุ้นฝากเข้าบัญชีของบริษัท เมื่อมีรายการรับหรือจ่าย จะสามารถทำธุรกรรมผ่านบัญชีธนาคารบริษัทได้เลย ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการใช้เงินปนกันกับเงินส่วนตัวได้

 

สำหรับการเปิดบัญชีในนามบริษัทนั้น ปัจจุบันค่อนข้างสะดวกและรวดเร็วกว่าสมัยก่อนมาก เรามาดูกันครับว่าต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง โดยในที่นี้ขอยกตัวอย่างการเปิดบัญชีของธนาคารกสิกรไทยมาให้ดูกันครับ

 

เอกสารที่ต้องเตรียมสำหรับการเปิดบัญชีธนาคารในนามบริษัท จำกัด (บจก.)

 

เอกสารของบริษัท

  1. หนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท โดยมีรายละเอียดวัตถุที่ประสงค์แนบท้าย (อายุไม่เกิน 3 เดือนนับจากวันที่ออกเอกสาร)
  2. รายการจดทะเบียนจัดตั้ง (บอจ. 3) หรือ รายการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติม (บอจ. 4) กรณีมีแก้ไขรายการจดทะเบียนตราประทับ
  3. บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5)
  4. รายงานการประชุม (มีความประสงค์ขอเปิดบัญชีกับธนาคาร, ระบุผู้มีอำนาจลงนามสั่งจ่าย/ถอนเงิน และเงื่อนไขการสั่งจ่าย/ถอนเงิน, ลงนามรับรองโดยกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัทได้ตามหนังสือรับรองและประทับตราบริษัท (ถ้ามี))

 

ปัจจุบันสำหรับการเปิดบัญชีใหม่ของธนาคารกสิกรไทยนั้นไม่ต้องใช้รายงานการประชุมแล้ว เนื่องจากธนาคารสามารถดึงข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามาใช้ได้ (หลังจดทะเบียนประมาณ 14 วัน)  แต่หากบริษัทต้องการระบุบริการต่างๆ ที่ต้องการใช้เพิ่ม เช่น K Plus SME ที่เป็น Application บนมือถือ หรือใช้ K Biz บน Internet ยังคงต้องทำรายงานการประชุม ดังนั้นจึงแนะนำให้ทำรายงานการประชุมแนบไปด้วยเพื่อความสะดวกในการเปิดบัญชีได้รวดเร็วมากขึ้นครับ

 

เอกสารของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับบริษัท

สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาหนังสือเดินทาง (กรณีชาวต่างชาติ) ของบุคคลดังนี้

  1. กรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัทได้ตามหนังสือรับรองทุกท่าน โดยท่านที่เป็นผู้ลงนามเปิดบัญชี ขอให้มาแสดงตนที่สาขาธนาคาร พร้อมบัตรประจำตัวประชาชน (แบบที่มี Chip Card)
  2. ผู้มีอำนาจลงนามสั่งจ่าย/ถอนเงิน ตามหนังสือแจ้งความประสงค์ หรือรายงานการประชุม ขอให้มาแสดงตนที่สาขาธนาคาร พร้อมบัตรประจำตัวประชาชน (แบบที่มี Chip Card)
  3. ผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 25% ขึ้นไป ตามบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น
  4. กรรมการผู้จัดการ หรือผู้บริหารสูงสุด

เมื่อเตรียมเอกสารครบถ้วนแล้วสามารถนำเอกสารไปยื่นที่สาขาของธนาคารเพื่อเปิดบัญชีธนาคารของบริษัท ทั้งนี้ผู้มีอำนาจลงนามสั่งจ่ายต้องไปยืนยันตัวตนที่ธนาคารด้วยตนเอง

 

เรื่องสุดท้าย “ป้ายบริษัท” การติดตั้งป้ายนั้นมีข้อกฎหมายกำหนดรวมถึงภาษีที่เกี่ยวข้อง

 

โดยสามารถสรุปได้ดังนี้ ในการจดทะเบียนบริษัท กรมพัฒนาธุรกิจการค้าไม่ได้กำหนดให้ต้องมีป้ายบริษัท แต่ถ้าจะจดทะเบียนภาษีมูลค่าหรือจดทะเบียนพาณิชย์จะต้องมีการติดป้ายบริษัทให้เรียบร้อย ซึ่งเราควรต้องรู้ว่าป้ายควรมีลักษณะอย่างไรบ้างและต้องติดป้ายภายในเมื่อไหร่ และเมื่อติดป้ายแล้วมีภาระภาษีอะไรเพิ่มบ้าง

 

เมื่อบริษัทจำเป็นต้องติดป้าย ป้ายที่ดีมีลักษณะดังนี้

  • ป้ายชื่อบริษัทที่ใช้ต้องมีไว้หน้าสำนักงานใหญ่ และสำนักงานสาขา
  • ต้องทำป้าย และเปิดเผยป้ายภายในเวลา 30 วัน นับตั้งแต่วันจดทะเบียนพาณิชย์
  • ป้ายต้องอ่านง่ายและชัดเจน จะเขียนเป็นตัวอักษรภาษาไทย หรือจะมีตัวอักษรภาษาต่างประเทศด้วยก็ได้
  • ป้ายชื่อบริษัท จะต้องตรงกับชื่อที่จดทะเบียน
  • ป้ายชื่อสาขา ต้องมีคำว่า “สาขา” ด้วย
  • ถ้าไม่จัดทำป้าย จะมีค่าปรับวันละไม่เกิน 20 บาท จนกว่าจะจัดทำป้ายและติดตั้งตามที่กฎหมายกำหนด

สิ่งสำคัญอีก 2 เรื่องที่ต้องระวัง

 

คือ การจะติดตั้งป้ายนั้นต้องขออนุญาตด้วยนะครับ นอกจากนี้ต้องดูว่าป้ายนั้นต้องเสียภาษีป้ายด้วยหรือไม่ถ้าเสียคิดเป็นภาษีเท่าไหร่

 

สำหรับการคำนวณภาษีป้ายนั้นพิจารณาจาก 2 ส่วนหลัก คือ

1. ลักษณะข้อความหรือรูปภาพที่อยู่บนป้าย เช่น อักษรไทยหรืออักษรต่างประเทศหรือเป็นภาพเคลื่อนที่

2. ขนาดพื้นที่ป้าย

 

ดังนั้นก่อนทำป้ายจึงควรรู้ถึงอัตราการคำนวณภาษีที่จะตามมาก่อน ซึ่งหากเราวางแผนออกแบบป้ายไว้ดีจะช่วยประหยัดค่าภาษีได้

 

เมื่อผ่านการอนุญาตให้ติดตั้งป้ายได้แล้ว ให้เตรียมเอกสารหลักฐานประกอบการเสียภาษีป้ายซึ่งประกอบด้วย

  1. บัตรประจำตัวประชาชน
  2. สำเนาทะเบียนบ้าน
  3. ทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ถ้ามี)
  4. หนังสือรับรองนิติบุคคล
  5. ใบอนุญาตติดตั้งป้าย หรือใบเสร็จรับเงินจากร้านทำป้าย
  6. รูปถ่ายป้าย พร้อมขนาดป้าย (กว้าง x ยาว)

 

เจ้าของป้ายต้องทำการยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภ.ป. 1) พร้อมด้วยหลักฐานทั้งหมด ภายในเดือนมีนาคมของทุกปี  ถ้าติดตั้งหลังเดือนมีนาคม ให้ยื่นภายใน 15 วัน นับตั้งแต่ติดตั้งหรือแสดงป้าย ซึ่งถ้าหากฝ่าฝืนกฎหมาย หรือหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีป้ายจะมีค่าปรับตามมาด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ป้ายทุกประเภทที่ต้องเสียภาษี เพราะมีป้ายบางประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีป้าย ตัวอย่างเช่น

  • ป้ายที่แสดงไว้ ณ โรงมหรสพและบริเวณของโรงมหรสพนั้นเพื่อโฆษณามหรสพ 
  • ป้ายที่แสดงไว้ที่สินค้าหรือที่สิ่งหุ้มห่อหรือบรรจุสินค้า 
  • ป้ายที่แสดงไว้ในบริเวณงานที่จัดขึ้นเป็นครั้งคราว
  • ป้ายที่แสดงไว้ภายในอาคารที่ใช้ประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่นหรือ ภายในอาคารซึ่งเป็นที่รโหฐาน เพื่อหารายได้ และแต่ละป้ายมีพื้นที่ไม่เกิน 3 ตารางเมตร ที่กําหนดในกฎกระทรวง แต่ไม่รวมถึงป้าย ตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์
  • ป้ายของโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน หรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมาย  เป็นต้น

 

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ พ.ร.บ.ภาษีป้าย พ.ศ. 2510 และ กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2535) ออกตามความใน พ.ร.บ.ภาษีป้าย 2510

 

จะเห็นได้ว่าหลังจากที่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเสร็จแล้ว ยังมีเอกสารหรือสิ่งที่ต้องทำเพิ่มเติมซึ่งมีทั้งที่ต้องทำและเปิดเผยหรือทำแล้วเก็บไว้ บางเรื่องทำเพียงครั้งเดียวและใช้ไปได้ตลอดจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งหากเราค่อยๆ ศึกษาเพิ่มเติมจะเห็นว่าในแต่ละส่วนนั้นมีรายละเอียดที่ค่อนข้างชัดเจนและดำเนินการได้ง่ายและอยากแนะนำให้ทำให้ครบทุกเรื่องที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อให้การเริ่มทำธุรกิจในรูปแบบบริษัทถูกต้อง สบายใจจากค่าปรับต่างๆ ครับ

About Author

ลองใช้งานFlowAccount ฟรี 30 วันได้ง่ายๆ วันนี้
ลองใช้งานฟรีได้ง่ายๆ วันนี้
สมัครเลย

You may also like