ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อคนทำธุรกิจส่วนตัว EP.1

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ทุกท่านที่มีรายได้ในปีที่ผ่านมามีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาชำระภาษีภายในวันที่ 1 มกราคม ถึง วันที่ 31 มีนาคม ปีถัดจากปีที่มีรายได้นั้น จำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีนั้นจะขึ้นกับรายได้ ที่หากยิ่งมีรายได้มากเท่าไรก็ต้องจ่ายมากขึ้น แต่หากรู้จักภาษีสักหน่อยจะช่วยวางแผนและสามารถบริหารจัดการตัวเองให้ไม่ต้องกังวลเรื่องการโดนภาษีย้อนหลังอีกด้วยค่ะ

ทุกคนน่าจะคุ้นเคยกับภาษีหลายประเภทไม่ว่าจะเป็น “ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)” ที่จ่ายพร้อมกับการซื้อสินค้าและบริการ “ภาษีหัก ณ ที่จ่าย (WHT)” ที่ถูกหักอัตโนมัติจากผู้จ่ายที่ทำหน้าที่หักจากเงินที่จ่ายเพื่อให้มีการทยอยชำระภาษี และผู้มีรายได้ ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์เงินเดือน ฟรีแลนซ์ หรือคนทำธุรกิจในรูปบุคคลธรรมดาจะต้องยื่น “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (PIT)” 

 

บทความนี้จะมีเน้นย้ำสิ่งที่ทุกคนควรเข้าใจเกี่ยวกับ “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” กันนะคะ 

 

สำหรับคนขยันทุกท่านที่มีรายได้ในปีที่ผ่านมามีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีภายในวันที่ 1 มกราคม ถึง วันที่ 31 มีนาคม ปีถัดจากปีที่มีรายได้นั้น ซึ่งจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีนั้นจะขึ้นกับรายได้ ที่หากยิ่งมีรายได้มากเท่าไรก็ต้องจ่ายมากขึ้น แต่หากรู้จักภาษีสักหน่อยจะช่วยวางแผนและสามารถบริหารจัดการตัวเองให้ไม่ต้องกังวลเรื่องการโดนภาษีย้อนหลังอีกด้วยค่ะ

 

หวังว่าบทความฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่านนะคะ

 

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคืออะไร

 

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลทั่วไปที่มีเงินได้ไม่ว่าจะเป็นประเภทใด หรือ ชนิดใดก็ตาม หากไม่มีข้อยกเว้นตามที่กฎหมายกำหนด ก็จะอยู่ในข่ายที่จะต้องเสียภาษีทั้งหมดค่ะ

 

หรือเป็น ภาษีที่จัดเก็บจาก หน่วยภาษี ที่มีลักษณะพิเศษตามที่กฎหมายกำหนด และมีรายได้เกิดขึ้นตามเกณฑ์ที่กำหนด (อย่าเพิ่งตกใจกับคำว่า หน่วยภาษี  ไปก่อนนะคะ ถ้าทุกคนลองสังเกตจากหัวข้อ “ใครมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” ก็จะเข้าใจว่าคำมีความหมายมากกว่าแค่คำว่า “บุคคลธรรมดา” นั่นเองค่ะ)

 

รายได้ที่ได้รับผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องนำไปแสดงรายการตามแบบแสดงรายการภาษีที่กำหนด ภายในเดือนมกราคม ถึง เดือนมีนาคมของปีถัดไป

 

 

ใครมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

 

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้แก่ หน่วยภาษีเงินได้ ที่มีเงินได้เกิดขึ้นระหว่างปีที่ผ่านมาและมีสถานะ อย่างหนึ่งอย่างใด ดังนี้

 

1)   บุคคลธรรมดา

2)   ห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ใช่นิติบุคคล

3)   คณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล 

4)   ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี

5)   กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง

 

หากท่านที่ทำ วิสาหกิจชุมชน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ก็จะถือว่าเป็นหน่วยภาษี ด้วยเช่นกันนะคะ

 

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

 

เงินได้อะไรบ้างที่ต้องเสียภาษี

 

เงินได้ที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มาในรูปแบบต่างๆ หรือที่เรียกว่า "เงินได้พึงประเมิน" บุคคลหรือหน่วยภาษีใดตามด้านบนได้รับระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม ของปีใดๆ จะต้องนำมายื่นภาษีนั้น จะมีดังต่อไปนี้ค่ะ

 

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

 

 

เกณฑ์เงินได้พึงประเมินขั้นต่ำที่ผู้มีเงินได้ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี

 

ผู้ที่มีเงินได้เกิดขึ้นระหว่างปีภาษีจะมีหน้าที่ต้องยื่นแบบฯ ก็ต่อเมื่อมีเงินได้ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ว่าเมื่อคำนวณภาษีแล้วจะมีภาษีต้องชำระเพิ่มเติมหรือไม่ก็ตาม ดังนี้

 

(1) บุคคลธรรมดาและผู้ถึงแก่ความตาย มีเงินได้พึงประเมินเกินจำนวน ตามภาพด้านล่างนี้

(2) ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล หรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล มีเงินได้พึงประเมินเกิน 60,000 บาท

(3) กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง มีเงินได้พึงประเมินเกิน 60,000 บาท

 

 

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

 

 

หลักการจัดเก็บภาษีเงินได้ที่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษี

 

ทุกคนที่ทำงานให้ทั้งในประเทศไทยและบริษัทในต่างประเทศควรอ่านหัวข้อนี้กันมากๆเลยนะคะ เพื่อพิจารณาการนำเงินได้มาคำนวณภาษีในปีนั้นๆค่ะ การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีหลักการจัดเก็บ 2 หลักการ ได้แก่

 

หลักที่ 1 : แหล่งที่มาของเงินได้ (Source Rule)

 

ที่แบ่งเป็นเงินได้จากแหล่งในประเทศและนอกประเทศ เงินได้จากแหล่งต่างๆ ที่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสามารถพิจารณาได้ ดังนี้

 

เงินได้เกิดจากแหล่งในประเทศ หมายถึง เงินได้ที่เกิดขึ้น หรือเป็นผลสืบเนื่องจากมี ดังนี้

  • หน้าที่งานที่ทำในประเทศไทย หรือ
  • กิจการที่ทำในประเทศไทย หรือ
  • กิจการของนายจ้างในประเทศไทย หรือ
  • ทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย เช่น ดอกเบี้ย เงินปันผล ค่าเช่า

ผู้มีเงินได้จาก แหล่งในประเทศ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามที่ประมวลรัษฏากรกำหนดไว้เสมอ เว้นแต่จะมีข้อยกเว้นตามกฎหมาย ไม่ว่าเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ผ่านมาแล้วนั้นจะจ่ายในหรือนอกประเทศ และไม่ว่าผู้มีเงินได้จะเป็นอยู่ในประเทศไทยหรือไม่ก็ตาม

 

หลักที่ 2 : ถิ่นที่อยู่ (Resident Rule)

 

ผู้มีเงินได้เกิดจากแหล่งนอกประเทศในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วจะต้องเสียภาษีเงินได้ ในประเทศไทยก็ต่อเมื่อเข้าองค์ประกอบทั้ง 2 ประการ ดังต่อไปนี้

  • ผู้มีเงินได้อยู่ในประเทศไทยในปีภาษีนั้นชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลา รวมทั้งหมดถึง 180 วัน และ
  • ผู้มีเงินได้นำเงินได้จากแหล่งเงินได้ในต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีนั้นด้วย

 

อธิบายเพิ่มเติมอีกสักนิด เงินได้เกิดจากแหล่งนอกประเทศไทย  หมายถึง เงินได้ที่เกิดขึ้นหรือเป็นผลสืบเนื่องจากมี

  • หน้าที่งานที่ทำในต่างประเทศ หรือ
  • กิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือ
  • ทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ

ในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาบางกรณี หากเกี่ยวข้องกับบางประเทศที่มี อนุสัญญาภาษีซ้อน หรือความตกลงเพื่อป้องกันการเก็บภาษีซ้ำซ้อนกับประเทศไทยจำเป็นต้องพิจารณาถึงความ ตกลงหรืออนุสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่างประเทศไทยได้ทำความตกลงไว้ด้วยนะคะ

 

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

 

ประเภทเงินได้ที่ต้องเสียภาษี

 

เนื่องจากผู้มีเงินได้ประกอบอาชีพหลากหลาย มีความยากง่ายของค่าใช้จ่ายและต้นทุนที่แตกต่างกัน เพื่อความเป็นธรรมมากที่สุด ทางกฎหมายจึงได้แบ่งลักษณะเงินได้พึงประเมิน ออกเป็นกลุ่มๆ ตามความเหมาะสมเพื่อกำหนดวิธีคำนวณภาษี ดังนี้ค่ะ

 

เงินได้ประเภทที่ 1 ได้แก่ เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ไม่ว่าจะเป็น

  • เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ
  • เงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับจากนายจ้าง คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า
  • เงินที่นายจ้างจ่ายชำระหนี้ใด ๆ ซึ่งเดิมทีลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชำระ
  • เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน เช่น มูลค่าของการได้รับประทานอาหาร เป็นต้น

 

เงินได้ประเภทที่ 2 ได้แก่ เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือ จากการรับทำงานให้ ไม่ว่าจะเป็น

  • ค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ค่าส่วนลด
  • เงินอุดหนุนในงานที่ทำ เบี้ยประชุม บำเหน็จ โบนัส
  • เงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับเนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้
  • เงินที่ผู้จ่ายเงินได้จ่ายชำระหนี้ใดๆ ซึ่งผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องชำระ
  • เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือ จากการรับทำงานให้นั้น ไม่ว่าหน้าที่หรือตำแหน่งงาน หรืองานที่รับทำให้นั้นจะเป็นการประจำหรือชั่วคราว

 

เงินได้ประเภทที่ 3 ได้แก่ ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น เงินปี หรือเงินได้ที่มีลักษณะ เป็นเงินรายปีอันได้มาจากพินัยกรรม นิติกรรมอย่างอื่น หรือคำพิพากษาของศาล

 

 

เงินได้ประเภทที่ 4 ได้แก่ ดอกเบี้ย เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไร เงินลดทุน เงินเพิ่มทุน ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้น เป็นต้น เงินได้ประเภทที่ 4 ในหลายๆ กรณี กฎหมายให้สิทธิที่จะเลือกเสียภาษีโดยวิธีหักภาษี ณ ที่จ่าย (Final Tax) แทนการนำไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่นตามหลักทั่วไป

 

 

เงินได้ประเภทที่ 5 เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน เงินหรือประโยชน์อย่างอื่น ที่ได้เนื่องจาก

  • การให้เช่าทรัพย์สิน
  • การผิดสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน
  • การผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อน

 

เงินได้ประเภทที่ 6 ได้แก่ เงินได้จากวิชาชีพอิสระ คือ วิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลปะ (แพทย์) วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม หรือวิชาชีพอื่นซึ่งจะได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดชนิดไว้ 

 

 

เงินได้ประเภทที่ 7 ได้แก่ เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระ ในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ เช่น การรับเหมาก่อสร้าง

 

 

เงินได้ประเภทที่ 8 ได้แก่ เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง การขายอสังหาริมทรัพย์ หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในประเภทที่ 1 ถึงประเภทที่ 7 แล้ว

 

 

ในบทความนี้ทุกท่านคงจะได้ทราบความรู้ด้านภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเบื้องต้นแล้ว หากต้องการเก็บข้อมูลและออกเอกสารทางบัญชีบนระบบออนไลน์ได้เลย 

 

 

เริ่มต้นใช้งานกับ FlowAccount ได้ง่าย ๆ ทดลองใช้ฟรี 30 วัน หรือสมัครแพ็กเกจกับเรา ราคาเริ่มต้นเพียงเดือนละ 165 บาทไม่จำกัดจำนวนเอกสาร แถมยังใช้งานผ่านแอพพลิเคชันบนมือถือได้ด้วย ผู้ประกอบการยุคใหม่ปรับมาใช้บัญชีออนไลน์กันเยอะๆนะคะ

About Author

ลองใช้งานFlowAccount ฟรี 30 วันได้ง่ายๆ วันนี้
ลองใช้งานฟรีได้ง่ายๆ วันนี้
สมัครเลย

You may also like