พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ต้องทำความเข้าใจขั้นตอนการยื่นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.36 เมื่อยิงโฆษณาที่มีการยิงแอดโฆษณา ไม่ว่าจะผ่านการยิงแอดโฆษณาผ่าน Facebook หรือ Google ก็ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) ด้วยนะคะ วิธีการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มทำยังไง และนำส่งภาษีด้วยตัวเองมีขั้นตอนยังไงบ้าง FlowAccount จะมาเล่าให้ทุกคนฟังค่ะ |
พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ในยุคนี้ ไม่มีใครไม่รู้จักการยิงแอดโฆษณา เพราะไม่ว่าจะทำการขายสินค้าช่องทางไหน เราก็อยากจะให้ลูกค้าได้เห็นสินค้าเราได้เยอะที่สุด และกลับมาซื้อของกับเรามากที่สุดใช่ไหมล่ะคะ แล้วรู้กันไหมว่าการยิงแอดโฆษณาผ่าน Facebook หรือ Google นั้น พวกเราต่างก็ต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) ด้วยนะ
วิธีการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มทำยังไง และนำส่งภาษีด้วยตัวเองมีขั้นตอนยังไงบ้าง วันนี้ FlowAccount จะมาเล่าให้ทุกคนฟังค่ะ
สำหรับพ่อค้าแม่ค้าที่อยากเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการวางแผนการตลาดและกลยุทธ์ในการยิงแอดโฆษณาบน Facebook ก็สามารถเรียนคอร์ส Facebook Ads ที่ทาง Content Shifu ออกแบบคอร์สมาเพื่อให้ผู้เรียนสร้างผลลัพธ์การยิงแอดได้ตามที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องมือให้เป็น ไปจนถึงปรับปรุงแผนโฆษณาให้สอดคล้องกับเป้าหมายของธุรกิจจริงๆ |
รู้จักกับภาษีมูลค่าเพิ่มและแบบ ภ.พ. 36
โดยปกติแล้วเรามักเข้าใจกันดีว่าเวลาซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศไทย พวกเรามักโดนชาร์ตภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จากราคาสินค้าและบริการโดยปริยายใช่ไหมคะ
แต่กรณีที่เราซื้อแอดโฆษณาจาก Facebook หรือ Meta ในชื่อใหม่นั้น แม้จะเป็นการใช้บริการโฆษณาในประเทศไทยก็จริง แต่ทว่าบริษัทผู้ให้บริการดันอยู่ต่างประเทศซะงั้น แล้วเราจะจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มแบบไหนกันล่ะ
จริงๆ แล้วแม้ว่าผู้ให้บริการโฆษณาอย่าง Facebook จะอยู่ไกลถึงประเทศ Ireland เลย แต่ว่าเรามีวิธีการยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มแทนในนามนิติบุคคลโดยจ่าย Vat 7% ด้วยแบบภาษีที่เรียกว่า “ภ.พ.36” นั่นเองค่ะ
แบบ ภ.พ.36 หมายถึง แบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามประมวลรัษฎากร ใช้เมื่อได้จ่ายเงินค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ ให้แก่ผู้ประกอบการที่อยู่นอกประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น Facebook Ads, Google Ads, ใช้บริการ Zoom เป็นต้น
ข้อดีของการนำส่งแบบ ภ.พ.36 นั้นจะทำให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์สามารถนำค่ายิงแอดนี้ไปเป็นรายจ่ายทางภาษีของธุรกิจได้ 100% เลยค่ะ และภาษีมูลค่า VAT 7% ที่เราจ่ายชำระไป สามารถขอเคลมภาษีซื้อในเดือนถัดไปได้ค่ะ
ขั้นตอนการยื่นแบบ ภ.พ.36 ออนไลน์
วิธีการยื่นแบบ ภพ. 36 ออนไลน์ พ่อค้าแม่ค้าทำเองได้ง่ายๆ ตามนี้
1. ตั้งค่าการชำระเงิน ในระบบ Facebook โดยใส่ชื่อที่อยู่ และเลขที่ประจำตัวผู้เสียภาษีของบริษัทให้เรียบร้อย
2. เรียกดูประวัติการชำระเงิน และกดดาวน์โหลดใบเสร็จรับเงินในระบบออกมา
3. กรอกแบบ ภ.พ. 36 ประจำเดือนที่จ่ายค่าโฆษณา
- เข้าระบบยื่นภาษีออนไลน์ https://efiling.rd.go.th/
- เลือกแบบภาษี ภ.พ.36
- ตรวจสอบข้อมูลผู้เสียภาษีและเดือนที่ยื่นภาษีให้ถูกต้อง
- ทำเครื่องหมาย จ่ายเงินค่าซื้อสินค้าหรือบริการให้ผู้ประกอบการที่เข้ามาประกอบการในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวหรือให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการในต่างประเทศ หรือให้แก่ผู้ประกอบการที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา
- กรอกรายละเอียดการจ่ายเงินค่าซื้อสินค้าหรือบริการ โดยใช้ข้อมูลจากใบเสร็จรับเงินที่ได้รับจาก Facebook ระบุวันเดือนปีที่จ่ายเงิน และเลขที่เอกสารแลกเปลี่ยนเงินตรา (กรณีชำระเงินสกุลอื่น) และระบุประเภทการจ่ายเงินว่าชำระราคาสำคัญค่าโฆษณา
- ทำเครื่องหมายช่อง (2) เป็นผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร
- กรอกจำนวนเงินที่จ่าย = มูลค่าในใบเสร็จรับเงิน
- ระบบจะคำนวณเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องนำส่งโดยอัตโนมัติ
เมื่อกรอกข้อมูลทั้งหมดครบถ้วนแล้วก็กดยืนยันเพื่อยื่นภาษี และจ่ายชำระภาษีได้เลย ซึ่งหากยื่นแบบออนไลน์เราสามารถจ่ายชำระภายใน 15 วันของเดือนถัดไปได้ค่ะ
แจกชื่อที่อยู่ของ Facebook และ Google
สำหรับคนที่กังวลว่าจะกรอกชื่อที่อยู่บริษัท Facebook Google ผิดไหม ตอนยื่น ภ.พ. 36 สามารถเราแจกชื่อที่อยู่ไว้ให้ สามารถ Copy ไปใช้งานได้เลยจ้า
- Facebook (Meta ชื่อใหม่)
Meta Platforms Ireland Limited, 4 Grand Canal Square, Grand Canal Harbour, Dublin 2, Ireland
VAT ID: 0993000454995
- Google Ads
Google Asia Pacific Pte. Ltd. 70 Pasir Panjang Road, #03-71, Mapletree Business City, Singapore 117371
Tax identification number: 200817984R
วิธีการใช้สิทธิภาษีซื้อของ ภ.พ.36 ในเดือนถัดไป
หลายคนน่าจะติดใจอยู่ไม่น้อยว่า เรานำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มไปตั้ง 7% เพิ่มเติมจากค่าบริการไปแล้ว และเงินจำนวนนี้ถือว่าเสียเปล่าเลยไหม คำตอบก็คือว่าไม่ได้เสียเปล่า เพราะเราสามารถเอามาเป็นเครดิตภาษีได้ในเดือนถัดไปเมื่อยื่นแบบ ภ.พ. 30 ค่ะ
โดยให้นำรายละเอียดการจ่ายชำระภาษีใน “ใบเสร็จรับเงินจากสรรพากร” ไปกรอกในรายงานภาษีซื้อ เพื่อยื่นของเคลมภาษีซื้อตอนยื่นแบบ ภ.พ. 30 เดือนถัดไปได้เลยค่ะ
ยกตัวอย่างเช่น ใบเสร็จรับเงิน ภ.พ.36 ใบนี้ชำระสำหรับค่าบริการเดือน 9 จ่ายให้สรรพากรเมื่อเดือน 10 ก็นำรายละเอียดในใบเสร็จรับเงินได้รับเดือน 10 นี้ไปกรอกในรายงานภาษีซื้อเดือน 10 เลยค่ะ
โดยสรุปแล้ว การจ่ายเงินค่าโฆษณาให้ Facebook นั้นนำมาเป็นรายจ่ายทางภาษีได้ และเราเพียงแค่ควักเงินจ่ายค่าภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านแบบ ภ.พ. 36 ไปก่อนจากนั้นเดือนถัดมาเราก็สามารถนำมาเคลมภาษีซื้อได้ แต่ข้อควรระวังก็คือ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ทั้งหลายต้องไปตั้งค่าการชำระเงินในระบบและใส่เลขที่ประจำตัวผู้เสียภาษีให้เรียบร้อยนะคะ มิเช่นนั้น รายจ่ายดังกล่าวจะไม่สามารถออกใบเสร็จรับเงินและนำมายื่นภาษีได้อย่างสมบูรณ์ค่ะ
About Author
เพจให้ความรู้เรื่องบัญชีสำหรับเจ้าของธุรกิจ ที่อยากให้บัญชีเป็นเรื่องง่าย ใกล้ตัว และมีประโยชน์กับธุรกิจ ภายใต้แนวคิดทีว่า “ทำบัญชี แล้วจะมีกำไร”
ร่วมสมัครเป็นนักเขียนกับ FlowAccount ได้ที่นี่