ยื่นงบการเงินและภาษีไม่ทัน ได้รับหมายจากตำรวจเศรษฐกิจ จัดการอย่างไร

ยื่นงบการเงินและภาษีไม่ทัน

ถ้าเรามัวทำธุรกิจจนลืมยื่นงบการเงินและภาษีล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น แล้วถ้าลืมจนเป็นเรื่องได้รับหมายจากตำรวจเศรษฐกิจ เราจะแก้ไขอย่างไร ถ้าใครกำลังกังวลใจอยู่ ลองมาทำความเข้าใจในบทความนี้และเรียนรู้วิธีแก้ไขปัญหาไปพร้อมกันค่ะ

ทำธุรกิจในนามนิติบุคคลอย่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด สิ่งที่ต้องทำตามกฎหมาย ขาดไม่ได้เลยทุกปี ก็คือการยื่นงบการเงิน และการยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลค่ะ 

 

แต่ถ้าเรามัวทำธุรกิจจนลืมยื่นงบการเงินและภาษีล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น? แล้วถ้าลืมจนเป็นเรื่อง ได้รับหมายจากตำรวจเศรษฐกิจ เราจะแก้ไขอย่างไร ถ้าใครกำลังกังวลใจอยู่ ลองมาทำความเข้าใจในบทความนี้และเรียนรู้วิธีแก้ไขปัญหาไปพร้อมกันค่ะ

 

ไม่ได้ยื่นงบการเงินและภาษีตรงตามเวลา จะมีค่าปรับอย่างไร

 

การยื่นงบการเงินหรือยื่นภาษีประจำปีนั้นกฎหมายมีกำหนดระยะเวลาไว้ชัดเจน ถ้ายื่นเลยกำหนดเวลาก็จะมีโทษตามกฎหมายเป็นค่าปรับ จาก 2 หน่วยงาน 

 

1. ค่าปรับการยื่นงบการเงินล่าช้าจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

 

หน่วยงานแรกเป็นกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือว่า DBD ค่ะ ที่เค้าคอยดูแลเรื่องการยื่นงบการเงิน อัตราค่าปรับแบ่งตามระยะเวลาดังนี้

 

อัตราค่าปรับกรณียื่นงบการเงินล่าช้าไม่เกิน 2 เดือน

อัตราค่าปรับกรณียื่นงบการเงินล่าช้าไม่เกิน 2 เดือน

อ้างอิง คู่มือการยื่นงบการเงินและสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น สำหรับผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี/นิติบุคคล

 

อัตราค่าปรับกรณียื่นงบการเงินล่าช้าเกิน 2 เดือน แต่ไม่เกิน 4 เดือน

อัตราค่าปรับกรณียื่นงบการเงินล่าช้าเกิน-2-เดือน-แต่ไม่เกิน-4-เดือน

อ้างอิง คู่มือการยื่นงบการเงินและสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น สำหรับผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี/นิติบุคคล

 

อัตราค่าปรับกรณียื่นงบการเงินล่าช้าเกินกว่า 4 เดือนขึ้นไป หรือไม่ยื่นงบการเงิน

ค่าปรับยื่นงบการเงินล่าช้า

อ้างอิง คู่มือการยื่นงบการเงินและสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น สำหรับผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี/นิติบุคคล

 

จากตารางนี้ทุกคนจะเห็นว่า อัตราค่าปรับของแต่ละนิติบุคคลแตกต่างกันนะคะ และถ้ายิ่งปล่อยให้เกินกำหนดนานขึ้นก็จะมีค่าปรับเพิ่มสูงขึ้น และที่สำคัญไม่เพียงแค่บริษัท (ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี) เท่านั้นที่โดนค่าปรับ แต่กรรมการผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานก็ต้องโดนค่าปรับด้วยเช่นกัน 

 

นี่เป็นเพียง 1 กระทงที่เกี่ยวกับการยื่นงบการเงินล่าช้านะคะ นอกจากนี้ยังมีกรณีอื่นๆ เช่น บริษัทไม่ได้จัดประชุมสามัญประจำปี หรือจัดให้มีผู้สอบบัญชีตรวจสอบก็จะมีค่าปรับเพิ่มเติมออนท๊อปไปอีกค่ะ (โดยปกติแล้วคนที่ยื่นงบไม่ทันก็มักจะลืมเรื่องอื่นๆ ไปด้วย) 

 

ศึกษารายละเอียดค่าปรับทั้งหมดได้ที่นี่

https://efiling.dbd.go.th/efiling-documents/legal2563.pdf

 

2. ค่าปรับการยื่นแบบภาษีให้กรมสรรพากรล่าช้า

 

การยื่นภาษีเงินได้ประจำปีหรือที่ทุกคนรู้จักกันในชื่อ ภ.ง.ด.50 นั้น หากยื่นแบบให้กรมสรรพากรล่าช้า จะมีค่าปรับและเงินเพิ่มตามประมวลรัษฎากร ดังนี้

 

มาตรา 35 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 17 (การยื่นแบบแสดงรายการภายในเวลาที่กำหนด) มาตรา 69 (การยื่นงบการเงินที่ปรับปรุงภาษีและตรวจสอบแล้ว) เว้นแต่จะแสดงว่าได้มีเหตุสุดวิสัย ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท

 

มาตรา 27 บุคคลใดไม่เสียหรือนำส่งภาษีภายในกำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้ในหมวดต่างๆ แห่งลักษณะนี้เกี่ยวกับภาษีอากรประเมิน ให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องเสีย หรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับ”

 

“การคำนวณเงินเพิ่มมาตรา 27 ให้เริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการหรือนำส่งภาษีจนถึงวันชำระหรือนำส่งภาษี แต่เงินเพิ่มที่คำนวณได้มิให้เกินจำนวนภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่ง”

 

ในทางภาษีนั้นหากยื่นแบบแสดงรายการภาษีเลยกำหนดจะต้องโดนทั้งค่าปรับและเงินเพิ่ม ซึ่งเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน คิดเป็นต่อปีแล้วจะสูงถึง 18% ต่อปีเลยทีเดียว ซึ่งแพงพอ ๆ กับดอกเบี้ยบัตรเครดิตเลยนะคะ 

 

ถ้ายื่นไม่ทัน เจ้าของกิจการต้องทำอย่างไร

 

แม้จะรู้ว่ามีค่าปรับมหาศาล แต่ในกรณีที่ไม่ไหวจะเคลียร์ เอกสารเยอะเหลือเกิน ยื่นงบไม่ทันแล้วจริง ๆ ก็ต้องยอมรับสภาพแล้วตั้งสติก่อนค่ะ

 

อันดับแรกถ้าคิดว่ายังไงก็ไม่ทันแล้วต้องเลยกำหนดเวลาแน่เลย ต้องรีบติดต่อผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งผู้ทำบัญชี ผู้สอบบัญชี ว่าติดปัญหาตรงไหน และรีบแก้ปัญหาให้จบ เพื่อให้ได้งบการเงินที่ผู้สอบบัญชีเซ็นรับรองแล้วมาให้ได้ก่อน

 

ต่อมาก็ต้องนำงบการเงินที่เซ็นรับรองแล้วมาคำนวณภาษีปรับปรุงรายการภาษีตามประมวลรัษฎากร แล้วทำการยื่นภาษีโดยไว

 

การยื่นงบการเงินและภาษีล่าช้านั้นจะมีค่าปรับเกิดขึ้น ก็ต้องจำยอมเสียค่าปรับตามที่กฎหมายกำหนดไปนะคะ มิเช่นนั้นจะเป็นดินพอกหางหมู งบการเงินในปีถัดๆ ไปก็จะยิ่งปิดล่าช้ากว่าเดิมค่ะ

 

ยื่นงบไม่ทันเจ้าของกิจการต้องทำอย่างไร

 

หากได้หมายเรียกจากตำรวจเศรษฐกิจ ก็ต้องรีบไปรับทราบข้อกล่าวหา

 

โดยปกติแล้วหากเราไม่นำส่งงบการเงินอายุความจะอยู่ที่ 1 ปี ถ้าเรายื่นงบล่าช้า ในระหว่างนี้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าก็จะส่งแจ้งความไปยังตำรวจเศรษฐกิจ ว่าเราขาดส่งงบการเงินเลยกำหนดเวลามีโทษตาม พ.ร.บ.บัญชี

 

หลังจากนั้นตำรวจเศรษฐกิจจะมีขั้นตอนการออกหมายเรียกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาดังนี้

  1. ออกหมายเรียกครั้งที่ 1 
  2. หากผ่านไปประมาณ 1 เดือนยังไม่มาพบ ก็จะออกหมายเรียกครั้งที่ 2
  3. หากออกหมายเรียกครั้งที่ 2 ยังไม่มาพบก็จะเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานออกหมายจับ และส่งฟ้องศาลได้เลยนะคะ

 

ดังนั้น หากเราได้รับหมายเรียกแล้วแสดงว่าเราขาดส่งงบแล้วอย่างน้อยๆ 9 เดือน ให้เรารีบไปพบเจ้าหน้าที่ตำรวจเศรษฐกิจและชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่ว่าทำไมขาดส่งงบ เจ้าหน้าที่อาจจะพิจารณาค่าปรับเราตาม พ.ร.บ.บัญชี มาตรา 30 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท เว้นแต่มีเหตุจำเป็นให้แจ้งเจ้าพนักงานก็อาจจะไม่เสียค่าปรับก็ได้ค่ะ

 

อย่างไรก็ตาม การไปจบเจ้าพนักงานก็ไม่ได้แปลว่าทุกอย่างจะจบ เพราะเรายังต้องส่งงบการเงินอยู่ และต้องเสียค่าปรับส่งงบล่าช้าตามอัตราค่าปรับกรณียื่นงบการเงินล่าช้าอยู่เด้อ

 

เมื่อเลยระยะเวลาจนเกินหมายเรียก ต้องทำอย่างไร

 

จากข้อก่อนหน้านี้ หากออกหมายเรียกครั้งที่ 2 แล้วเรายังไม่ไปพบ ก็เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานออกหมายจับ และส่งฟ้องศาลได้

 

ถ้าเรื่องไปถึงขั้นขึ้นศาล คนที่จะพิจารณาค่าปรับจะเป็นศาล จะไม่ใช่เจ้าหน้าที่ ถ้าถึงขั้นนี้แล้วก็ฟังดูยุ่งยากมากๆ เลย เพราะต้องไปศาลเพื่อรับคำฟ้อง และทำตามขั้นตอนที่ศาลสั่ง โดยศาลอาจจะสั่งให้เราเสียค่าปรับตามที่ศาลกำหนด และยื่นงบการเงิน (สุดท้ายก็ต้องยื่นอยู่ดี)

 

ถ้าไปถึงขั้นศาลแล้วเราอาจจะเจรจาต่อรองอะไรได้ยากขึ้นตามลำดับค่ะ

 

เมื่อเลยระยะเวลาจนเกินหมายเรียกครั้งที่ 2

 

ถ้ารอจนกว่าจะหมดอายุความ 1 ปีแล้วค่อยยื่นงบการเงินได้ไหม

 

มาถึงตอนนี้หลายคนก็คงสงสัยค่ะว่า ถ้าไม่อยากเสียค่าปรับใดๆ เรารอจนกว่าอายุความหมด 1 ปี แล้วค่อยยื่นงบการเงินได้ไหม คำตอบก็คือ ได้เช่นกันค่ะ แต่ในกรณีนี้ก็ไม่มีใครรับรองได้ว่าเรื่องจะไปถึงขั้นเจ้าพนักงานออกหมายจับและส่งฟ้องศาลหรือไม่

 

จากที่เล่ามานี้ทุกคนคงพอจะเข้าใจแล้วว่าการส่งงบการเงินหรือยื่นภาษีล่าช้านั้น จะนำพาความยุ่งยากมาให้กับเจ้าของธุรกิจไม่ช้าก็เร็วค่ะ ไม่ว่าจะเป็นค่าปรับที่ต้องเสียเพิ่ม หรือต้องเป็นเรื่องเป็นราวต้องไปเจรจากับเจ้าหน้าที่รัฐ สิ่งเหล่านี้แม้ว่าจะมีทางแก้ไข แต่ก็ไม่ได้ง่ายเหมือนปลอกกล้วยเข้าปาก ดังนั้น ถ้าใครที่เป็นเจ้าของธุรกิจแล้วกำลังคิดว่าปีนี้ไม่ส่งงบดีหรือเปล่า หวังว่าบทความนี้จะช่วยเป็นเครื่องเตือนใจ เตือนสติ ให้ทุกคนหันกลับมาส่งงบและภาษีให้ตรงเวลากันเถอะ แล้วชีวิตจะง่ายขึ้นอีกเยอะเลยค่ะ

About Author

ลองใช้งานFlowAccount ฟรี 30 วันได้ง่ายๆ วันนี้
ลองใช้งานฟรีได้ง่ายๆ วันนี้
สมัครเลย

You may also like