ประเด็นฮอต “ภาษีคนอยู่ไทย แต่มีเงินได้จากต่างประเทศ”

ภาษีเงินได้จากต่างประเทศ

คำสั่งกรมสรรพากรออกมาใหม่ มีผลกระทบกับคนที่ตัวอยู่ไทย แต่มีรายได้จากต่างประเทศ เช่น ค่าขายสินค้า ค่าดอกเบี้ย และอื่นๆ อีกมากมาย นับแต่ปี 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป เพื่อนๆ อาจต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเนื่องจากรายได้นี้แล้วนะคะ

สำหรับช่วงต้นปี 2567 นี้ คงจะไม่มีประเด็นไหนฮอตฮิตไปมากกว่า กฎหมายภาษีเงินได้จากต่างประเทศของกรมสรรพากรค่ะ เพราะมีคำสั่งกรมสรรพากรออกมาใหม่ ทำให้มีผลกระทบกับคนที่ตัวอยู่ไทย แต่มีรายได้จากต่างประเทศ เช่น รายได้ค่าเช่า ค่าขายสินค้า ค่าดอกเบี้ย และอื่นๆ อีกมากมาย เพราะนับแต่ปี 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป เพื่อนๆ อาจต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเนื่องจากรายได้นี้แล้วนะคะ

 

สำหรับใครที่ยังสงสัยว่าเจ้ากฎหมายมีการเปลี่ยนแปลงแบบไหน และผลกระทบยังไงบ้าง ลองมาทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กันนะคะ

 

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคืออะไร

 

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หมายถึง ภาษีที่จัดเก็บกับบุคคลทั่วไปอย่างเราๆ ที่มีรายได้ ไม่ว่าจะประเภทใด ถ้ากฎหมายไม่ได้ยกเว้น ก็เข้าข่ายต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นประจำทุกปีค่ะ 

 

โดยที่หลักการจัดเก็บภาษี เค้าจะดูที่ 2 เรื่องนี้

  1. แหล่งเงินได้ – ถ้ามีแหล่งเงินได้ในไทย ก็ต้องเสียภาษีในไทย  
  2. แหล่งที่อยู่ – สำหรับคนที่มีแหล่งเงินได้จากต่างประเทศ เดิมถ้าเข้า 2 เงื่อนไขนี้ ต้องเสียภาษี 
    • อยู่ในไทยตั้งแต่ 180 วัน (นับตามปีภาษี) และ
    • นำเงินได้เข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีเดียวกัน

 

แบบนี้จึงเป็นที่รู้กันว่า อ๋อ..เราก็วางแผนภาษีง่ายๆ แค่ว่าถ้ามีรายได้ในปี 2565 ก็นำเงินเข้ามาปี 2566 เพียงเท่านี้ ก็ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้วนี่นา

 

อ๊ะๆ อย่าเพิ่งดีใจไปค่ะ เพราะที่เคยเกริ่นให้ทุกคนฟังว่า สรรพากรได้ออกคำสั่งมาใหม่ ซึ่งมีผลกระทบต่อการตีความกฎหมายในเรื่องนี้ เดี๋ยวเราลองมาดูกันต่อว่าผลกระทบเป็นอย่างไรบ้าง

 

การเสียภาษีเงินได้สำหรับคนที่มีรายได้จากต่างประเทศ

 

เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2566 กรมสรรพากรได้ออก คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.161/2566 ระบุไว้ว่า

 

เรื่อง การเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการตรวจและแนะนำผู้อยู่ในประเทศไทยซึ่งมีเงินได้พีงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ ตามมาตรา 41 วรรคสองแห่งประมวลรัษฎากร กรมสรรพากรจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้

 

บุคคลซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยตามมาตรา 41 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากรที่มีเงินได้พึงประเมินเนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ในปีภาษีดังกล่าว และได้นำเงินได้พึงเข้ามาในประเทศไทยในปีภาษีใดก็ตาม ให้บุคคลนั้นมีหน้าที่ต้องนำเงินได้พึงประเมินนั้นมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 48 แห่งประมวลรัษฎากร ในปีภาษีที่ได้นำเงินได้พึงประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย

 

ให้เริ่มใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินที่นำเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป

 

สรุปง่ายๆ ก็คือ ตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป คนที่มีเงินได้จากต่างประเทศ ถ้าเข้า 2 เงื่อนไขนี้ ต้องเสียภาษีค่ะ 

  1. อยู่ในไทยตั้งแต่ 180 วัน (นับตามปีภาษี) และ
  2. นำเงินได้เข้ามาในประเทศไทย ไม่ว่ารายได้นั้นจะเข้ามาในปีภาษีเดียวกันกับที่มีรายได้หรือไม่ก็ตาม

 

เงื่อนไขการเก็บภาษีเงินได้จากต่างประเทศ

 

อ๊ะๆ คำสั่งออกมาแบบนี้ สรรพากรต้องรู้แน่ๆ ว่ามีช่องโหว่เรื่องภาษีจากต่างประเทศอยู่ 

 

เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้น เราลองมาดูตัวอย่างอีกสักนิดในหัวข้อถัดไปค่ะ ว่าเคสไหนเสียภาษี และเคสไหนไม่เสียบ้าง

 

เงื่อนไขการจัดเก็บภาษี คนอยู่ในไทย แต่มีเงินได้จากต่างประเทศ

 

ลองดูตัวอย่างด้านล่างกันค่ะ จุดสำคัญ 2 เรื่องที่ทุกคนต้องเข้าใจคือ 

  1. เราอยู่ในไทยกี่วัน
  2. นำเงินเข้าไทยเมื่อไร

 

เงื่อนไขการจัดเก็บภาษี คนอยู่ในไทย แต่มีเงินได้จากต่างประเทศ

 

จากตารางจะเห็นได้ว่า หากเราอยู่ในไทยตั้งแต่ 180 วัน และนำเงินเข้าในประเทศในปีเดียวกับที่เกิดเงินได้ จะต้องเสียภาษีทันที โดยมีข้อแม้ว่าเรื่องทั้งหมดจะต้องเกิดตั้งแต่ 1 ม.ค.2567 เป็นต้นไปนะ 

 

ดังนั้น สำหรับคนที่กำลังสับสนว่าเรื่องระยะเวลาการเกิดเงินได้ และการนำเข้ามาช่วงคาบเกี่ยวก่อนถึง 1 ม.ค. 2567 แนะนำศึกษาตามตารางนี้เลยค่ะ

 

เปรียบเทียบก่อนและหลัง 1 ม.ค.67 เมื่อมีรายได้ในต่างประเทศ

 

นอกจากนี้ยังไม่พอ อยากจะแนะนำเพื่อนๆ ศึกษาเพิ่มเติมเรื่อง อนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างประเทศ อีกสักนิดว่าเรารับเงินจากประเทศใดและมีอนุสัญญาภาษีซ้อนหรือไม่ เช่น บางประเทศ หากเสียภาษีที่ประเทศต้นทางแล้ว สามารถนำมาเครดิตภาษีที่ประเทศไทยได้ เป็นต้น

 

ตัวอย่างจากสรรพากร

 

หากใครมีประเด็นอะไรต่างๆ ที่ยังสงสัยกันอยู่ เราลองมาดูตัวอย่าง คำถาม-คำตอบ ที่กรมสรรพากรจัดทำขึ้นเพื่อความชัดเจน สำหรับการปรับเปลี่ยนนี้ค่ะ

 

คำถาม การโอนเงินไปที่ต่างประเทศ แล้วโอนเงินนั้นกลับเข้ามาในไทย ในจำนวนเท่าเดิม ต้องเสียภาษีหรือไม่ 

คำตอบ ไม่เสียภาษี เนื่องจากเงินที่โอนไปต่างประเทศ แล้วโอนกลับเข้ามาในไทย ไม่ใช่เงินได้พึงประเมิน จึงไม่เสียภาษี 

 

คำถาม การนำเงินไปซื้อหุ้นต่างประเทศ ณ สิ้นปียังไม่ได้ขาย ต้องเสียภาษีหรือไม่ 

คำตอบ ไม่เสียภาษี เนื่องจากยังไม่ได้ขายหุ้น แสดงว่ายังไม่ได้รับกำไรจากการขายหุ้น จึงไม่ถือว่ามีเงินได้พึงประเมิน 

 

คำถาม ไปทำงานที่ต่างประเทศ เป็นเวลานานหลายปี เก็บเงินสะสมไว้จำนวนมาก เมื่อนำกลับเข้ามาในไทย ต้องเสียภาษีหรือไม่

คำตอบ ไม่เสียภาษี เนื่องจากในปีที่เกิดเงินได้ บุคคลนั้นอยู่ในไทยไม่เกิน 180 วัน 

 

สรุป

 

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้เป็นภาษีที่เกี่ยวข้องกับคนที่อยู่ในไทยแต่มีรายได้จากต่างประเทศ ซึ่งต่อไปนี้อาจต้องเสียภาษีแล้วค่ะ เพราะเงื่อนไขของสรรพากรที่ออกมานั้นอุดรูรั่วเรื่องการนำเงินเข้าคนละปีกันไว้หมดแล้ว ถ้าในอดีตที่ผ่านมาเพื่อนๆ ยังไม่เคยคำนวณ ภาษีตัวเองเลย ต่อไปนี้อย่าลืมเริ่มต้นจดรายได้ ค่าใช้จ่าย เพื่อที่จะวางแผนเกี่ยวกับภาษีบุคคลธรรมดาตั้งแต่เนิ่นๆ นะคะ

 

อ้างอิง

 

https://www.rd.go.th/fileadmin/user_upload/kormor/newlaw/dn161A.pdf

https://www.rd.go.th/fileadmin/download/news/question_p161_162.pdf

About Author

ลองใช้งานFlowAccount ฟรี 30 วันได้ง่ายๆ วันนี้
ลองใช้งานฟรีได้ง่ายๆ วันนี้
สมัครเลย

You may also like