วัดผลประกอบการเทียบกับคู่แข่งด้วยการวัดอัตราส่วนทางการเงิน

อัตราส่วนทางการเงิน

การวิเคราะห์งบการเงิน เราสามารถใช้ การวัดอัตราส่วนทางการเงิน คือการนำตัวเลขจากงบการเงินมาหาความสัมพันธ์ต่างๆ เพื่อให้ได้ตัวเลขแบบเป็น % หรือเป็นจำนวนเท่า เพื่อมาวิเคราะห์สุขภาพทางการเงินของกิจการโดยเปรียบเทียบกับข้อมูลในอดีต หรือกับคู่แข่งได้ ช่วยให้เราเช็กสุขภาพของธุรกิจตัวเองได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ทำธุรกิจมาแล้วผลประกอบการดีไหม ต้องวัดผลยังไงบ้าง มีใครเคยสงสัยไหมคะว่าการวัดผลประกอบการธุรกิจนั้นเราต้องวัดจากอะไร วัดแค่ผลกำไรเท่านั้นเพียงพอไหม หรือว่าต้องคำนวณสูตรอัตราส่วนอะไรให้ยุ่งยากหรือเปล่า

 

จริงๆ แล้วการวัดผลประกอบการของธุรกิจไม่ได้มีแค่การวัดผลกำไรเพียงเท่านั้น และเราเองก็ไม่จำเป็นต้องเป็นนักคณิตศาสตร์โอลิมปิกก็สามารถเช็กผลประกอบการของตัวเองไ ด้ง่ายๆ ถ้าใครอยากรู้เต็มแก่แล้ว ในวันนี้ FlowAccount จะเล่าให้ฟังค่ะว่าเราควรวัดผลอย่างไรดี

 

ข้อมูลจากตัวเลขในงบการเงิน

เริ่มต้นเรามาทำความรู้จักแหล่งข้อมูลในการวัดผลประกอบการกันสักนิด คงไม่มีข้อมูลไหนที่ดีไปเสียกว่า “งบการเงิน” ไงล่ะ เพราะงบการเงินของธุรกิจจะเก็บประวัติการทำการค้ามากมายที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี มาสรุปให้เราเห็นได้ใน 1-2 หน้า แล้วจากนั้นเราก็จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปวิเคราะห์ได้ง่ายมากยิ่งขึ้น

 

เราสามารถใช้ FlowAccount โปรแกรมระบบบัญชี จัดทำงบการเงินหลักๆ ได้ ซึ่งจะได้รายงานที่เราต้องเตรียมเพิ่มเติมด้วย ได้แก่

  1. งบกำไรขาดทุน ที่มีตัวเลข รายได้ ค่าใช้จ่าย กำไร ขาดทุน
  2. งบแสดงฐานะการเงิน ที่บอกสินทรัพย์ หนี้สิน และทุน

 

มีงบการเงินแล้วต้องเปรียบเทียบกับอะไร

ลองนึกภาพง่ายๆ ถ้าวันนี้เราเป็นนักวิ่ง แล้วอยากรู้ว่าตัวเองเก่งขึ้นไหม เราคงเลือกที่จะเปรียบเทียบกับ 2 คนนี้ใช่ไหมคะ “ตัวเราเองในอดีต” และ “คู่แข่ง”

 

ธุรกิจก็เช่นกัน ถ้าอยากรู้ว่าทำธุรกิจมาแล้วผลประกอบการดีขึ้นไหม สองตัวเลือกที่หนีไม่พ้นก็คือ 

  1. งบการเงินตนเองในอดีต
  2. งบการเงินของบริษัทคู่แข่งในอุตสาหกรรม

 

นั่นก็แปลว่า การวิเคราะห์แค่งบตัวเองในปีเดียวนั้นคงไม่เพียงพอแล้ว เราเองก็ต้องเช็กงบการเงินในอดีตด้วย รวมไปถึงคู่แข่งเพื่อเป็นตัวเปรียบเทียบ

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ แล้วทุกคนคงสงสัยใช่ไหมคะว่า แล้วเราจะเปรียบเทียบกับคนอื่นอย่างไร ในเมื่อบางครั้งงบการเงินของบริษัทคู่แข่งเขามีสเกลที่ใหญ่กว่าเรามาก หรือว่ายอดขายเยอะสุดๆ ถ้าเปรียบเทียบด้วยจำนวนเงินเราก็คงแพ้ขาดลอย

 

แต่ไม่ต้องกังวลไปนะ จริงๆ แล้วเรามีวิธีการที่เรียกว่า การวัดอัตราส่วนทางการเงิน ที่ทำให้เราเปรียบเทียบงบการเงินของเรากับบริษัทไหนก็ได้ในโลกนี้แบบที่เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน

 

การวัดอัตราส่วนทางการเงินจากงบการเงินคืออะไร 

การวัดอัตราส่วนทางการเงิน คือ การนำตัวเลขจากงบการเงินมาหาความสัมพันธ์ต่างๆ เพื่อให้ได้ตัวเลขแบบเป็น % หรือเป็นจำนวนเท่า ที่สามารถนำมาใช้วิเคราะห์สุขภาพทางการเงินของกิจการเปรียบเทียบกับข้อมูลในอดีต หรือกับคู่แข่งได้

 

5 อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ 

ด้วยความที่ว่าอัตราส่วนทางการเงินนั้นมีมากมายหลายอัน และใช้ประโยชน์ได้แตกต่างกันไป แต่ทว่าอัตราส่วนสำคัญๆ ที่ขาดไม่ได้สำหรับธุรกิจนั้น FlowAccount ขอสรุปออกมาให้จำนวน 5 อัตราส่วน ดังต่อไปนี้ค่ะ

 

1. อัตรากำไรขั้นต้นต่อรายได้รวม (%) 

 

สูตร (รายได้ – ต้นทุนขาย)/รายได้รวม

อัตราส่วนนี้ช่วยให้เราวัดผลประกอบการในขั้นต้นว่าสินค้าที่ซื้อมาหรือว่าผลิตขึ้นมานั้นมีกำไรขั้นต้นจำนวนเท่าไร โดยยังไม่คำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเลย คิดแค่ตัวต้นทุนสินค้าเท่านั้น 

 

บางครั้งอัตราส่วนนี้มีประโยชน์มากๆ ในการตัดสินใจตั้งราคาสินค้า เนื่องจากว่าเราก็ไม่อยากขายสินค้าราคาถูกจนเกินไป ทำให้ขาดทุนในขั้นต้น เพราะมิเช่นนั้น เราก็อาจจะขาดทุนตั้งแต่ขั้นแรกๆ แม้ยังไม่ได้คิดค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ เลย

 

2. อัตรากำไรสุทธิต่อรายได้รวม (%) 

 

สูตร (รายได้ – ต้นทุนขาย-ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร-ดอกเบี้ย-ภาษี)/รายได้รวม

การวัดผลกำไรของธุรกิจ การมีแค่กำไรขั้นต้นนั้นอาจจะยังไม่เพียงพอ เพราะว่าเราเองก็ต้องการกำไรในตอนสุดท้ายด้วยเช่นกัน กำไรในขั้นสุดท้ายของธุรกิจเราเรียกว่า กำไรสุทธิ ซึ่งกำไรส่วนนี้เป็นกำไรที่เหลืออยู่ท้ายสุดจากค่าใช้จ่ายทุกชนิด ตั้งแต่ค่าการตลาด ค่าเงินเดือนสำนักงาน ค่าดอกเบี้ย (ถ้ามีการกู้ยืมเงิน) และภาษี สุดท้ายแล้วเราก็คงอยากรู้ใช่ไหมคะว่าทำธุรกิจมาเหนื่อยๆ แล้วมีอัตรากำไรสุทธิเท่าไรกันนะ

 

3. อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์รวม (ROA) (%) 

 

สูตร กำไรสุทธิ/สินทรัพย์รวม

สองอัตราส่วนก่อนหน้า เราพูดถึงกำไรที่หาได้ต่อรายได้รวม แต่รู้กันไหมเอ่ยว่า กว่าเราจะสร้างกำไรได้นั้น ต้นกำเนิดส่วนหนึ่งมาจากสินทรัพย์ที่เราลงทุนในธุรกิจตั้งแต่เริ่มแรกค่ะ แล้วถ้าอยากรู้ว่าสินทรัพย์เหล่านี้ที่เราลงทุนไปนั้นช่วยหากำไรได้ดีขนาดไหน เรามักจะคำนวณเปรียบเทียบกำไรสุทธิกับสินทรัพย์รวมนั่นเองค่ะ ยิ่งอัตราส่วนมียิ่งมาก ยิ่งแปลว่า สินทรัพย์นั้นช่วยหากำไรได้ไวค่ะ

 

4. อัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) (%) 

 

สูตร กำไรสุทธิ/ส่วนของผู้ถือหุ้นรวม

อัตราส่วนผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น หรือว่า ROE จะพาเจ้าของธุรกิจทุกคนย้อนกลับไปเช็กว่า ธุรกิจที่เราลงทุนในหุ้นไปนั้นมีผลตอบแทนเป็นกำไรกลับมาได้ดีมากน้อยขนาดไหน เพราะว่าสุดท้ายพวกเราต่างก็ก่อตั้งธุรกิจขึ้นมาเพื่อหากำไรให้ตัวเองกันทั้งนั้นใช่ไหมคะ อัตราส่วนนี้จึงมีประโยชน์มากๆ ในการวัดผลตอบแทนให้กับเจ้าของธุรกิจค่ะ

 

5. อัตราส่วนทุนหมุนเวียน (เท่า) 

 

สูตร สินทรัพย์หมุนเวียน/หนี้สินหมุนเวียน

กำไรดี แต่ไม่มีเงินหมุนนั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่นักธุรกิจทั้งหลายชอบนัก แล้วจะเช็กยังไงว่ามีเงินหมุนเพียงพอหรือเปล่า เราดูจากอัตราส่วนทุนหมุนเวียนนี้ได้เลยค่ะ เพราะว่าอัตราส่วนนี้จะเทียบระหว่างสินทรัพย์หมุนเวียนกับหนี้สินหมุนเวียนว่าเรามีสินทรัพย์หมุนเวียนมากเพียงพอที่จะจ่ายหนี้ในระยะสั้นๆ หรือไม่ 

 

หลักการง่ายๆ ถ้าเรามาอัตราส่วนนี้ > 1 นั้นถือว่าค่อนข้างปลอดภัยพอสมควรเลยล่ะ เพราะสินทรัพย์หมุนเวียนโดยรวมยังมีมากกว่าหนี้สินหมุนเวียนค่ะ โดยรวมแล้วน่าจะอยู่รอดไม่ต่ำกว่า 1 ปีในอนาคต

 

ตัวอย่างการคำนวณอัตราส่วนจากงบการเงิน

เล่าที่มาที่ไปของอัตราส่วนกันไปแล้ว ตอนนี้เราลองมาคำนวณอัตราส่วนแบบง่ายๆ กันจากตัวอย่างงบการเงินที่สรุปมาให้ทุกคนเห็นในภาพแบบนี้นะคะ

 

งบกำไรขาดทุน

 

งบแสดงฐานะทางการเงิน

 

อัตราส่วนทางการเงิน

 

พอเราคำนวณอัตราส่วนง่ายๆ ทั้ง 5 อันมาแล้วก็จะพบว่า ธุรกิจนี้มี 3 อัตราส่วนที่ทำได้ดี คือ

  • อัตรากำไรขั้นต้นต่อรายได้รวม (%)
  • อัตรากำไรสุทธิต่อรายได้รวม (%)
  • อัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE)

 

แต่ก็ยังมี 2 อัตราส่วนที่ทำได้ไม่ค่อยดี ได้แก่ 

  • อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์รวม (ROA) (%) มีเปอร์เซ็นต์ค่อนข้างต่ำที่ 2.8% หมายถึง เราลงทุนในสินทรัพย์ 100 บาท แต่ว่าสินทรัพย์เหล่านี้สร้างกำไรได้เพียง 2.8 บาทเท่านั้น
  • อัตราส่วนทุนหมุนเวียน (เท่า) มีจำนวนน้อยกว่า 1 แปลว่าสินทรัพย์หมุนเวียนมีไม่เพียงพอสำหรับหนี้สินหมุนเวียน ซึ่งอาจทำให้มีปัญหาเรื่องสภาพคล่องที่ต้องแก้ไข

 

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ เป็นเพียงวิธีง่ายๆ ที่ช่วยให้เราเช็กผลประกอบการหรือสุขภาพของธุรกิจตัวเองได้แบบชัดเจนมากยิ่งขึ้น และเมื่อเช็กแบบนี้ทุกแง่มุมแล้ว เราอาจจะพบว่าบางครั้งแค่มีกำไรก็ไม่ได้แปลว่าทำธุรกิจได้ดีเสมอไปค่ะ นอกจากกำไรแล้วเราก็ยังมีสิ่งอื่นอีกที่ต้องวัดผล และพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น ถ้าวันนี้ใครยังไม่เคยเช็กผลประกอบการธุรกิจเลย ลองใช้อัตราส่วนที่เราแนะนำทั้ง 5 อัตราส่วนนี้เช็กดูนะคะ

About Author

ลองใช้งานFlowAccount ฟรี 30 วันได้ง่ายๆ วันนี้
ลองใช้งานฟรีได้ง่ายๆ วันนี้
สมัครเลย

You may also like