อ่านงบกำไรขาดทุนอย่างไร ให้เข้าใจว่ามีรายได้และค่าใช้จ่ายจากอะไรมากที่สุด

การอ่านงบกำไรขาดทุน
งบกำไรขาดทุน เป็นงบที่ช่วยให้เราเข้าใจผลประกอบการของกิจการว่ามีกำไรหรือไม่ และกำไรเกิดจากการอะไร งบนี้ประกอบด้วยองค์ประกอบย่อยๆ ทั้งในฝั่งรายได้ และค่าใช้จ่ายที่ช่วยให้เจ้าของกิจการมองเห็นที่มาที่ไปของกำไรขาดทุนได้ชัดเจนขึ้น
เรียนบัญชี FlowAccount

ทำธุรกิจจำเป็นต้องอ่านงบการเงิน ถ้ายังไม่รู้ว่าควรเริ่มจากงบไหน แนะนำให้เริ่มจากการหัดอ่านงบที่ง่ายที่สุดอย่างงบกำไรขาดทุนกันก่อน 

 

ว่ากันว่าเจ้าของกิจการที่บริหารกิจการได้เก่ง ผลลัพธ์จะสะท้อนออกมาในงบกำไรขาดทุนอย่างชัดเจน ถ้าอยากรู้ว่าตัวเองบริหารกิจการได้เก่งไหม มีกำไรหรือไม่ และรายได้ ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เกิดจากอะไร เราลองมาหัดอ่านงบกำไรขาดทุนกัน

 

ทำความรู้จักงบกำไรขาดทุน

 

งบกำไรขาดทุน คือ งบที่แสดงผลการดำเนินงานของกิจการว่าดีหรือไม่ ในระหว่างช่วงระยะเวลาหนึ่ง

 

งบนี้บอกเรา 3 อย่างที่สำคัญ คือ รายได้ ค่าใช้จ่าย และกำไร (ขาดทุน) ซึ่งทั้งสามตัวมีความสัมพันธ์กันตามสมการนี้

 

รายได้ ค่าใช้จ่าย กำไร

 

วิธีอ่านงบกำไรขาดทุนต้องเริ่มจากตรงไหน เราลองมาฝึกอ่านพร้อมตัวอย่างจริงทีละขั้นตอนกันเลย

 

งบกำไรขาดทุน FlowAccount

 

1. เช็กช่วงเวลาของงบกำไรขาดทุน

 

งบกำไรขาดทุนแต่ละงบอาจจะบอกผลประกอบการในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน ก่อนเริ่มต้นอ่านงบกำไรขาดทุน ลองเช็กดูก่อนว่าเรากำลังอ่านงบสำหรับช่วงเวลาไหนถึงไหน เพราะปกติแล้วการจัดทำงบกำไรขาดทุนสามารถเลือกช่วงเวลาที่จัดทำได้ เช่น แบบรายเดือน รายไตรมาส หรือรายปี 

 

จากงบตัวอย่างนี้ ด้านบนระบุว่างบกำไรขาดทุนสำหรับระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2021 ถึง 31 ธันวาคม 2021 ทำให้เรามั่นใจได้ว่างบนี้จะแสดงข้อมูลรายได้ ค่าใช้จ่าย และกำไรสะสมตั้งแต่ต้นปี 2021 จนถึงปลายปี 2021

 

ชื่องบกำไรขาดทุน

 

ถ้าสมมติอยากเอางบตัวนี้ไปเปรียบเทียบกับคู่แข่ง หรือผลประกอบการของตัวเองในช่วงเวลาอื่น ลองเช็กดูดีๆ ก่อนว่างบที่เรากำลังเอาไปเปรียบเทียบแสดงช่วงระยะเวลา 1 ปีเหมือนกัน 

 

 

2. ดูก่อนว่ามีงบกำไรหรือขาดทุน

 

 

ถัดมาลองเลื่อนลงมาดูกันก่อนว่าตอนนี้งบที่เรากำลังอ่าน มีกำไรหรือขาดทุน เพื่อให้รู้ก่อนคร่าวๆ ว่าสถานการณ์ของกิจการ ณ ตอนนี้เป็นอย่างไร 

 

  • ถ้ารายได้ มากกว่า ค่าใช้จ่าย ผลลัพธ์ที่ได้ คือ กำไร
  • และถ้ารายได้ น้อยกว่า ค่าใช้จ่าย ผลลัพธ์ที่ได้ คือ ขาดทุน

 

จากงบตัวอย่าง ในปี 2021 กิจการมีกำไรทั้งสิ้น 4.97 ล้านบาท ซึ่งกำไรนี้เกิดจาก รายได้ 25.04 ล้านบาท ที่มากกว่าค่าใช้จ่าย 20.42 ล้านบาท

 

ไม่ว่ากิจการจะมีกำไรหรือขาดทุน เป้าหมายของการบริหารก็คงไม่แตกต่างกันมากนัก คือ 

 

1) จะทำอย่างไรให้รายได้เพิ่ม 

2) จะทำอย่างไรให้ค่าใช้จ่ายลด 

 

แต่ความเร่งด่วนและความกดดันสำหรับธุรกิจที่กำลังขาดทุนคงมีมากกว่าอย่างแน่นอน 

 

และต่อจากนี้เราจะไปดูรายละเอียดปลีกย่อยในงบกำไรขาดทุนกันต่อ ว่าที่มาที่ไปของกำไรและขาดทุนนั้นเกิดจากอะไร

 

 

3. ดูที่มาของรายได้

 

 

รายได้ คือ ผลตอบแทนที่ได้รับจากการประกอบกิจการ งบกำไรขาดทุนจะบอกเราได้ว่ากิจการมีรายได้จากไหนบ้าง 

 

เมื่อมีรายได้เข้ามา จะทำให้กิจการมีกระแสเงินสดเพิ่มขึ้น และคงไม่ผิดที่หลายคน นิยามรายได้ว่า เป็นหัวใจสำคัญเพื่อหล่อเลี้ยงธุรกิจให้อยู่รอดและเติบโตต่อไปในอนาคต

 

รายได้ในงบกำไรขาดทุน อาจแบ่งออกได้หลายประเภทตามลักษณะของธุรกิจ แต่สิ่งที่ต้องให้ความสนใจคือ รายได้รวมในงบกำไรขาดทุนนี้ ต้องเป็นรายได้สุทธิ จากรายได้ทั้งหมด หักลบด้วยส่วนลดต่างๆ ที่ให้กับลูกค้า

 

รายได้สุทธิ

 

จากงบกำไรขาดทุนตัวอย่าง เราแจกแจงประเภทรายได้ไว้ตามนี้

 

1) รายได้จากการขาย เป็นรายได้ที่เกิดจากการขายสินค้าตามปกติของธุรกิจเรา เช่น ทำโรงงานโม่ปูน ก็จะมีรายได้หลักจากการขายปูน จำนวน 25.43 ล้านบาท

 

2) รายได้จากการให้บริการ เป็นรายได้จากการบริการตามสั่งหรือใช้แรงแลกเงิน เช่น ธุรกิจเดิมทำโรงงานโม่ปูน อาจจะมีรายได้จากการให้บริการขนส่งเพิ่มขึ้นมา ถ้าลูกค้าต้องการให้ขนส่งในระยะเกินกว่าที่กำหนดไว้ รวมเป็นเงิน 11,331.29 บาท

 

และสุดท้ายองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ คือ ส่วนลดจ่าย 42,080 บาท ที่เป็นตัวหักออกจากรายได้ทั้งหมด เพื่อให้งบการเงินแสดงรายได้สุทธิที่กิจการได้รับจริง จำนวน 25.40 ล้านบาทนั่นเอง

 

 

4. มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง

 

 

ค่าใช้จ่าย ตัวนี้เป็นต้นทุนส่วนที่หักออกจากรายได้ในงบกำไรขาดทุน ในทุกๆ กิจการย่อมมีค่าใช้จ่ายเพื่อใช้ประโยชน์ภายในกิจการ หรือทำเพื่อให้มีรายได้ผลตอบแทนเข้ามา 

 

การอ่านงบกำไรขาดทุนในฝั่งค่าใช้จ่ายช่วยให้เรามองเห็นว่า กิจการมีค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เกิดจากอะไร และสุดท้ายนำไปวิเคราะห์ต่อว่าเราจะบริหารจัดการค่าใช้จ่ายเหล่านี้อย่างไรบ้าง 

 

ค่าใช้จ่าย

 

จากตัวอย่างงบกำไรขาดทุนนี้ ค่าใช้จ่ายถูกแบ่งเป็น 4 ประเภทหลักๆ  

 

 

  1. ต้นทุนขายสุทธิ ก็คือ ต้นทุนของสินค้าที่ขาย หรือต้นทุนบริการที่ให้แก่ลูกค้า ซึ่งมันจะสัมพันธ์กันกับรายได้อย่างชัดเจน เพราะตามหลักการบัญชี เมื่อเกิดรายได้ ต้นทุนขายจะเกิดขึ้นพร้อมกันทันที เช่น ในงบนี้แบ่งต้นทุนออกเป็น 2 ประเภทสอดคล้องกับรายได้ คือ ต้นทุนขายจำนวน 16 ล้านบาท และต้นทุนการให้บริการ 2,310 บาท 
  2. ค่าใช้จ่ายในการบริหาร เป็นค่าใช้จ่ายทั่วไปในการบริหารงานออฟฟิศ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับต้นทุนขายและการผลิตสินค้า เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟสำนักงาน ค่าซ่อมบำรุง และค่าบริการทั่วไป 
  3. ค่าเสื่อมราคา/ด้อยค่า/ตีราคา เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนอย่างเช่น อาคาร โรงงาน และเครื่องจักร ที่จะเกิดการเสื่อมราคาขึ้นในทุกๆ ปี หรือบางทีอาจด้อยค่า ให้ประโยชน์ไม่ได้เต็มที่เหมือนก่อน หรือบางทีเกิดขาดทุน เพราะตีราคาปัจจุบันแล้วต่ำลงจากต้นทุนสินทรัพย์ที่มี ในทางบัญชีแล้วจะต้องรับรู้เหตุการณ์เหล่านี้เป็นค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุน
  4. ค่าใช้จ่ายอื่นๆ คือ เป็นค่าใช้จ่ายที่นอกเหนือจาก 3 หมวดที่กล่าวไป เช่น ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดอย่างเงินซื้อของไหว้ศาลพระภูมิ เป็นต้น 

 

 

 

ทีนี้ถ้าเราลองสังเกตดีๆ ในงบตัวอย่าง จะพบว่าค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมด 20.43 ล้านบาท มีสัดส่วนของต้นทุน 16.01 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายบริหาร 0.43 ล้านบาท ค่าเสื่อมราคา 3.98 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ หลักหมื่นบาท 

 

จากนั้นลองมาจัดลำดับตามจำนวนเงิน พบว่าค่าใช้จ่าย 2 อันดับแรก คือ ต้นทุน และค่าเสื่อมราคา ซึ่งถ้าเราเลือกบริหารค่าใช้จ่ายกลุ่มใหญ่สองประเภทนี้ให้มีประสิทธิภาพ ก็อาจทำให้กิจการมีกำไรมากขึ้นได้

 

นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายทั้ง 4 ประเภทในงบตัวอย่างแล้ว ธุรกิจอาจมีค่าใช้จ่ายในการขาย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่เจ้าของต้องสำรวจกิจการตัวเองด้วยว่าเรามีค่าใช้จ่ายเหล่านี้หรือไม่ และจะทำอย่างไรเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายเหล่านี้ได้มากที่สุด

 

สรุปกันสั้นๆ การอ่านงบกำไรขาดทุน เป็นงบที่ช่วยให้เราเข้าใจผลประกอบการของกิจการว่ามีกำไรหรือไม่ และกำไรเกิดจากการอะไร งบนี้ประกอบด้วยองค์ประกอบย่อยๆ ทั้งในฝั่งรายได้ และค่าใช้จ่ายที่ช่วยให้เจ้าของกิจการมองเห็นที่มาที่ไปของกำไรขาดทุนได้ชัดเจนขึ้น และถ้าวันนี้เรายังอ่านงบกำไรขาดทุนไม่เป็นอาจจะพลาดข้อมูลสำคัญๆ ของกิจการไปก็เป็นได้

 

เริ่มต้นทำงบกำไรขาดทุนได้ในระบบ FlowAccount

 

ลองใช้งานFlowAccount ฟรี 30 วันได้ง่ายๆ วันนี้
ลองใช้งานฟรีได้ง่ายๆ วันนี้
สมัครเลย

You may also like