ธุรกิจรับจ้างผลิตที่จ้างผู้รับเหมาต่อ มีประเด็นใดที่ต้องควบคุมภายในบ้าง

ธุรกิจรับจ้างผลิตที่จ้างผู้รับเหมาต่อ มีประเด็นใดที่ต้องควบคุมภายในบ้าง

หลายคนอาจพอรู้จักธุรกิจรับจ้างผลิต (OEM) กันมาบ้างแล้ว แต่บางที ผู้รับจ้างเองต้องไปจ้างคนอื่นต่ออีกทีนึง เป็นการจ้างเหมาต่อเนื่องกันไป แล้วถ้าเจ้าของโรงงาน OEM ไปจ้างผู้รับเหมาคนอื่นทำงานแทน แบบนี้จะทำได้ไหม มีจุดเสี่ยงไหนที่ต้องระวังเป็นพิเศษ หรือมีการควบคุมภายในที่เราต้องให้ความใส่ใจบ้าง วันนี้ FlowAccount จะชวนทุกคนไปทำความเข้าใจพร้อมๆ กันค่ะ

1. ธุรกิจรับจ้างผลิต รับจ้างแล้วจ้างต่อทำได้ไหม

 

เดี๋ยวนี้ธุรกิจรับจ้างผลิต หรือ OEM (Original Equipment Manufacturer) เป็นที่พูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากตอบโจทย์ผู้ค้าปลีกรายย่อย ไม่ต้องมีเครื่องจักรก็สามารถสร้างแบรนด์สินค้าเป็นของตัวเองได้ จนทำให้ธุรกิจรับจ้างผลิตงานล้นมือเลยล่ะ แต่คำถามสำคัญของหัวข้อนี้ก็คือ ถ้ารับจ้างมาแล้วจะจ้างต่อทำได้ไหม

 

คำตอบก็คือ ทำได้อยู่แล้วค่ะ ยกตัวอย่างเช่น หากเรารับจ้างผลิตเครื่องดื่มบรรจุขวด แต่ว่าเชี่ยวชาญแค่เรื่องการคิดค้นสูตร ผสมและบรรจุลงขวด แต่ว่าไม่สามารถผลิตขวด (Packaging) ติดแบรนด์ลูกค้าได้เอง ก็สามารถจ้างคนอื่นต่ออีกทอดนึงได้ การส่งงานต่อให้พาร์ทเนอร์ที่เชี่ยวชาญกว่า ย่อมได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าและประหยัดต้นทุนกว่าอยู่แล้วค่ะ

 

2. จุดรั่วไหลของธุรกิจรับจ้างผลิต

 

การจ้างงานต่อ ก็มีความเสี่ยงและจุดรั่วไหลหลายอย่างเพิ่มเข้ามา เราที่เป็นผู้รับจ้างหลักมาจากลูกค้า ต้องรับผิดชอบงาน จนกว่าจะเป็นสินค้าสำเร็จรูป ดังนั้น ไม่เพียงแค่ความเสี่ยงจากพาร์ตเนอร์ที่เราไปจ้างเขาต่อ แต่ต้องมองถึงความเสี่ยงโดยรวม จนถึงขั้นตอนสุดท้าย เช่น

  1. ต้นทุนวัตถุดิบที่สูง ปริมาณการสั่งซื้อไม่มากพอ จนกดดันกำไรแทบไม่เหลือ
  2. การจ้างเหมางานต่อ แล้วคุณภาพของที่ได้มาไม่ดีพอ ทำให้ผลงานเราแย่ตามไปด้วย
  3. สินค้าแต่ละตัวขั้นตอนต่างกัน บางอันกำไร แต่บางอันขาดทุน
  4. งานไม่เสร็จสักทีเจอต้นทุนเกิน (Cost overrun) ขาดทุนไม่รู้ตัว
  5. กำหนดสูตรการผลิต (Bill of materials) ไม่ดี กำหนดราคาขายผิดพลาดได้
  6. ผลิตเสร็จแต่ลูกค้าไม่จ่ายเงิน ปัญหาใหญ่! ขาดทุน ขาดสภาพคล่อง

 

3. จุดที่ต้องเฝ้าระวัง ธุรกิจรับจ้างผลิต

 

จากหัวข้อที่ผ่านมา เราคงพอรู้จักกับจุดเสี่ยงหรือจุดรั่วไหลของธุรกิจรับจ้างผลิตกันไปพอสมควร ทีนี้เราลองมาหาวิธีการกำจัดจุดเสี่ยง ด้วยการควบคุมภายในที่ดี เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นกับธุรกิจกันค่ะ

 

ซื้อของอย่างไร จึงจะประหยัดต้นทุน

สำหรับเรื่องการจัดการสินค้า มีอยู่ 2 ประเด็นหลักที่อยากให้สังเกตกันดีๆ ได้แก่

  1. จุดสั่งซื้อที่เหมาะสม (Reorder Point) ต้องรู้ว่าจุดไหนคือจุดที่เหมาะสมกับการเก็บรักษา และการหมุนเวียนสินค้า ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป 
  2. ขั้นต่ำในการสั่งซื้อ ควรมีปริมาณมากเพียงพอเพื่อเกิดการประหยัดโดยขนาด (Economy of Scale) เพราะการบริหารต้นทุนนั้นสำคัญมาก

 

จุดควบคุม : สั่งซื้อทุกครั้ง เมื่อสินค้าในคลังลดลงถึงจุด Reorder Point ในปริมาณที่มั่นใจว่าประหยัดโดยขนาด

 

จ้างผู้รับเหมาอย่างไร ให้ปลอดภัย

สำหรับการจัดจ้างผู้รับเหมา เพื่อรับงานต่อ ควรตรวจสอบประวัติย้อนหลัง ตรวจสอบบริการหลังการขายอยู่เสมอ เพราะบริษัทผู้รับเหมา อยู่นอกเหนือการควบคุมของบริษัทเรา ใครที่เจอพาร์ทเนอร์ที่ดีอยู่แล้ว ต้องรักษาความสัมพันธ์นั้นไว้

 

จุดควบคุม : ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ตรวจสอบ และเปรียบเทียบข้อมูลผู้รับเหมาก่อนสั่งจ้างทุกครั้ง

 

ปันส่วนต้นทุน ตัวไหนขาดทุนต้องรู้

สำหรับผู้รับจ้างผลิต ปฏิเสธไม่ได้ว่าหน้าที่โรงงาน ต้องพัวพันกับเรื่องต้นทุนผลิตอยู่แล้ว และหากผลิตสินค้าหลายรายการ

 

เราจึงต้องปันส่วนต้นทุนที่จ่ายเป็นก้อน เช่น ค่าแรงงาน ค่าเสื่อมราคาเครื่องจักร เข้าไปในสินค้าแต่ละรายการ ให้เห็นถึงต้นทุนต่อสินค้าด้วยว่าจริงๆ แล้วในแต่ละสินค้านั้นมีกำไรหรือว่าขาดทุน จึงจะตัดสินใจได้ว่าสินค้านี้ควรรับจ้างต่อหรือพอแค่นี้

 

จุดควบคุม : ผู้จัดการบัญชีต้องทำรายงานปันส่วนต้นทุน เมื่อจบโปรเจกต์ทุกครั้ง เพื่อให้ผู้บริหารรู้สถานะกำไรขาดทุนตามสินค้า

 

ต้นทุนที่ใช้ผลิตจนถึงตอนนี้ เกินงบไปแล้วหรือยัง

กิจการต้องคอยติดตามต้นทุนจริง (Actual cost) ที่ใช้ในการผลิตอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจสอบกับ ต้นทุนมาตรฐาน (Standard cost) จะได้รู้ว่า ที่ทำกันจนถึงตอนนี้ ขาดทุนไปแล้วหรือยัง ควรรับงานนี้ต่อหรือไม่

 

จุดควบคุม : ผู้จัดการบัญชีต้องสอบทานต้นทุนจริง และต้นทุนประมาณการเป็นรายเดือน ทุกสิ้นเดือน เมื่อพบความผิดปกติต้องแจ้งต่อฝ่ายบริหาร

 

กำหนดราคาขายจากสูตรการผลิต (Bill of materials)

ในอุตสาหกรรมการผลิต จะเรียกสูตรการผลิตเป็นตัวย่อ BOM (Bill of materials) ซึ่งผู้รับจ้างผลิต จะไม่รู้จักไม่ได้ ต้องรู้ถึงโครงสร้างต้นทุน ส่วนประกอบ ลักษณะการผลิต เพื่อรู้ถึงประมาณการต้นทุนต่อหน่วย แล้วจึงกำหนดราคาขายได้ค่ะ แต่ถ้าคำนวณไม่ดี เกิดข้อผิดพลาด ก็อาจจะตั้งราคาขายผิด ขาดทุนไปกันใหญ่เลยล่ะ

 

จุดควบคุม : มีการสอบทานการคำนวณ BOM ผู้จัดการฝ่ายผลิต และผู้บริหาร ต้องลงลายมือชื่อรับรอง Bill of materials ทุกครั้ง ก่อนที่จะเริ่มการผลิต

 

ผลิตเสร็จเก็บเงินไม่ได้ ป้องกันการเบี้ยวหนี้อย่างไร

อุตสาหกรรมการรับจ้างผลิต พบเห็นการเบี้ยวหนี้ได้บ่อยครั้ง จะเอาของแต่เงินไม่มี และเจ้าของธุรกิจ OEM เองก็เอาของไปขายต่อให้คนอื่นก็ไม่ได้ เพราะสินค้าติดแบรนด์ไว้ แถมยังเป็นสูตรเฉพาะอีกด้วย 

 

วิธีแก้ที่ง่ายที่สุดคือ การรับเงินก่อนเริ่มงาน แบ่งเป็นมัดจำก่อนเริ่มงาน และให้ทยอยจ่ายชำระเรื่อยๆ ตามกำหนด สามารถช่วยป้องกันการเบี้ยวหนี้ได้

 

จุดควบคุม : ทุกโปรเจกต์จะไม่สามารถเริ่มผลิตได้ (จัดทำใบสั่งผลิตไม่ได้) หากไม่ได้รับมัดจำขั้นต่ำ 20%

 

4. เจ้าของธุรกิจสามารถติดตามผลการดำเนินงาน และปรับกลยุทธ์ได้อย่างไร

 

ที่เล่ามาทั้งหมดนั้น เป็นเรื่องของจุดเสี่ยงและการควบคุมภายใน แล้วในฐานะเจ้าของธุรกิจเอง ไม่ได้มานั่งเฝ้าการทำงานในแต่ละขั้นตอน เราจะต้องคอยติดตามผลการดำเนินงานยังไงดีล่ะ ลองมาดูข้อแนะนำ 2 เรื่องนี้ค่ะ

 

ติดตามงบกระแสเงินสด

ธุรกิจรับจ้างผลิตเป็นธุรกิจที่ต้องลงทุนจำนวนมาก ทั้งในเครื่องจักร ในแรงงาน และอื่นๆ และหลายครั้งต้องกู้เงินมาลงทุน กิจการจึงต้องตรวจสอบกระแสเงินสดอย่างสม่ำเสมอว่ามีเงินรับเข้ามากกว่าเงินออก และต้องรู้ที่มาที่ไปว่า มีเงินเข้าจากกิจกรรมอะไรบ้าง และเงินออกไปจากกิจกรรมอะไรบ้าง ถ้าทำได้รับรองว่าการเงินไม่มีสะดุดแน่นอนค่ะ

 

ติดตามกำไรขาดทุนแต่ละโปรเจกต์

เป็นเรื่องที่ดีมาก หากเจ้าของธุรกิจสามารถแยกรายการต้นทุนของแต่ละโปรเจกต์ได้ ซึ่งจะช่วยบริหารกำไรขาดทุนแต่ละโปรเจกต์ ทำให้เห็นภาพในระดับปลีกย่อยว่าโปรเจกต์นี้ที่ได้รับมาจากลูกค้านั้นมันกำไรหรือไม่อย่างไรบ้าง ทำให้เราบริหารงานได้ดีมากยิ่งขึ้น และตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้นค่ะ

 

สำหรับใครที่ยังงง ไม่รู้จะแยกแต่ละโปรเจกต์ยังไง อยากให้มาทดลองใช้ฟังก์ชันการสร้างโปรเจกต์ ของ FlowAccount แล้วชีวิตจะตัดสินใจง่ายขึ้นอีกเยอะเลย ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ วิธีการสร้างโปรเจกต์ เพื่อดูกำไร ขาดทุน ตามโปรเจกต์

 

สรุป

ทุกธุรกิจมีจุดรั่วไหลและความเสี่ยงด้วยกันทั้งนั้น แม้แต่ธุรกิจรับจ้างผลิตแบบ OEM เอง ก็ยังมีความเสี่ยงในกรณีที่จ้างงานผู้รับเหมาต่อ เมื่อรู้ว่ามีความเสี่ยงอะไรบ้างแล้ว หน้าที่เจ้าของกิจการที่ดี อย่าลืมหาวิธีควบคุมภายในมากำจัดจุดเสี่ยงเหล่านั้น และที่สำคัญอย่าลืมติดตามกำไรขาดทุนแต่ละโปรเจกต์อย่างสม่ำเสมอ เพียงเท่านี้ ธุรกิจของเราก็น่าจะมีโอกาสอยู่รอดมากกว่าคนที่รู้จุดเสี่ยง แต่ไม่เคยวางแผนป้องกันอย่างแน่นอนค่ะ

About Author

ลองใช้งานFlowAccount ฟรี 30 วันได้ง่ายๆ วันนี้
ลองใช้งานฟรีได้ง่ายๆ วันนี้
สมัครเลย

You may also like