หลังจากเปิดบริษัทแล้วต้องทำอะไรต่อบ้าง ต้องเปิดบัญชีธนาคารทันทีเลยไหม ต้องจด VAT เลยหรือเปล่า หรือมีเอกสารอะไรบ้างที่ต้องทำและเปิดเผยหรือทำแล้วเก็บไว้ ในบทความนี้จะมาบอกถึงสิ่งที่เจ้าของต้องรู้และจัดทำกันครับ |
มีผู้ประกอบการหลายรายที่เพิ่งเปิดบริษัทสงสัยว่า หลังจากเปิดบริษัทแล้วต้องทำอะไรต่อบ้าง ต้องเปิดบัญชีธนาคารทันทีเลยไหม ต้องจด VAT เลยหรือเปล่า หรือมีเอกสารอะไรบ้างที่ต้องทำและเปิดเผยหรือทำแล้วเก็บไว้ ในบทความนี้จะมาบอกถึงสิ่งที่เจ้าของต้องรู้และจัดทำกันครับ
เลือกอ่านได้เลย!
เริ่มจากเอกสารที่แสดงการเป็นนิติบุคคลหรือที่เรียกว่า “ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท”
ซึ่งบริษัทจะได้รับหลังจากจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเสร็จ โดยใบนี้จะระบุ เลขทะเบียนนิติบุคคล ชื่อ วันที่จดทะเบียนจัดตั้ง โดยสามารถใช้ใบนี้ในการประกอบธุรกิจได้เลย อย่างไรก็ตามในบางธุรกิจ
ตัวอย่างเช่น ขายอัญมณี หรือเครื่องประดับซึ่งประดับด้วยอัญมณี, การซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
ธุรกิจเหล่านี้จำเป็นต้องจดทะเบียนพาณิชย์เพื่อให้ได้ “ใบทะเบียนพาณิชย์” หรือที่บางคนเรียกว่าใบทะเบียนการค้า (เอกสาร 2 ใบนี้ไม่เหมือนกันครับ ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ -> ไขข้อสงสัยจดทะเบียนพาณิชย์ จดทะเบียนบริษัท จดภาษีมูลค่าเพิ่มแตกต่างกันอย่างไร)
ซึ่งใบทะเบียนพาณิชย์จะเป็นการบอกลูกค้าหรือผู้มาใช้บริการว่าเราทำธุรกิจในชื่ออะไร
บริษัทต้องแสดง “ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท” และ “ใบทะเบียนพาณิชย์” (ถ้ามี) ไว้ ณ สำนักงานในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย
เมื่อจดบริษัทแล้วต้องจด VAT ด้วยเลยไหม จด VAT แล้วจะได้เอกสารอะไรบ้าง
ซึ่งต้องบอกว่าการจดจัดตั้งบริษัทกับการจด VAT นั่นคนละส่วนกันครับ ดังนั้นก่อนอื่นเราควรต้องรู้ว่าบริษัทจะจด VAT เมื่อไหร่
บริษัทที่จะเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือจด VAT นั้น พิจารณาจาก 2 ส่วนหลัก คือ
- ประเภทของธุรกิจ โดยดูว่าธุรกิจที่ทำอยู่นั้นอยู่ในข่ายที่ได้รับการยกเว้นจด VAT หรือไม่ เช่น ขนส่ง ขายสินค้าเกษตร เป็นต้น (บางธุรกิจได้รับการยกเว้น แต่ยังมีสิทธิแจ้งขอจด VAT ได้)
- ดูที่ รายรับ เมื่อรายรับเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี กรณีนี้ต้องจด VAT (โดนบังคับ) อย่างไรก็ตามหากรายได้ยังไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด แต่ต้องการจด VAT ก็สามารถยื่นขอจด VAT ได้เช่นกัน และเมื่อบริษัทจด VAT แล้วจะได้เอกสารสำคัญที่เรียกว่า “ใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20)”
ใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมีลักษณะเป็นกระดาษขนาดประมาณ A4 มีลักษณะเป็นลายน้ำสีชมพูหรือที่บางคนเรียกว่าใบสีชมพูนั่นเอง และในช่วงที่บริษัทรอกรมสรรพากรส่งเอกสารมาให้ บริษัทสามารถใช้แบบ ภ.พ.01 (แบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม) แทนไปก่อนได้ครับ
สิ่งสำคัญคือ เมื่อบริษัทได้รับใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มมาแล้ว จะต้องเปิดเผยและเห็นได้ง่าย ซึ่งหากไม่ดำเนินการก็จะมีความผิดโดยต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
กรณีที่บริษัทมีสถานประกอบการหลายแห่ง ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ท้องที่ที่สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เพียงแห่งเดียว แต่กรมสรรพากรจะออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 20) ให้แก่สถานประกอบการทุกแห่ง โดยบริษัทจะต้องนำใบทะเบียนดังกล่าวไปแสดงไว้ในที่ที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ สถานประกอบการแห่งนั้น ๆ
กรณีที่ใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสูญหาย ถูกทำลายหรือชำรุดในสาระสำคัญ ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะต้องยื่นคำขอรับใบแทนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ สถานที่ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ทราบถึงการสูญหาย ถูกทำลายหรือชำรุด ซึ่งใบแทนดังกล่าวถือเป็นใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ทั้งนี้มีข้อแนะนำว่าไม่ควรนำใบทะเบียนภาษีมูลค่าไปเคลือบและติดกับกระจกหรือผนัง เพราะหากบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูล เช่น ย้ายที่อยู่ จะต้องนำส่งใบทะเบียนภาษีมูลค่าคืนให้กับกรมสรรพากรด้วย อาจใช้วิธีใส่กรอบแล้วนำไปแขวนหรือตั้งแทนครับ
หากสังเกตเราจะเห็น “ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท”, “ใบทะเบียนพาณิชย์”(ถ้ามี) และ “ใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม” ใส่กรอบเรียงติดกันบนผนังในบริเวณที่มองเห็นได้ง่าย เช่น ในร้านอาหารจะเห็นอยู่บริเวณ Cashier ที่ทุกคนเดินผ่านและมองเห็นได้ชัดเจน
“ใบหุ้นและสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น” คิดว่าหลายๆคนคงไม่เคยได้ยินคำนี้หรือเคยได้ยินแต่ไม่รู้คืออะไร หน้าตาเป็นอย่างไร
ใครต้องทำให้ใคร เราไปทำความเข้าใจพร้อมๆ กันครับ
เมื่อเราจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทแล้ว มีเอกสารอีก 2 อย่างที่บริษัทต้องจัดทำขึ้น คือ การออกใบหุ้นให้กับผู้ถือหุ้น และการจัดทำสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น
ใบหุ้น คือ เอกสารที่บริษัทมีหน้าที่ออกให้แก่ผู้ถือหุ้นทุกคน เพื่อไว้เป็นหลักฐานแสดงความเป็นเจ้าของหุ้น โดยระบุข้อมูลการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นไว้ เช่น ชื่อบริษัท เลขหมายหุ้นที่ระบุในใบหุ้น มูลค่าหุ้น จำนวนเงินค่าหุ้นที่ชำระแล้ว ชื่อผู้ถือหุ้น ลายเซ็นของกรรมการอย่างน้อย 1 คน และตราบริษัท (ถ้ามี)
เมื่อบริษัทจัดตั้งเสร็จจะต้องจัดทำใบหุ้นและส่งมอบให้กับผู้ถือหุ้นไม่ว่าจะรายเล็กหรือรายใหญ่ เป็นบุคคลหรือนิติบุคคล ทั้งนี้บริษัทจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมก็ได้แต่เรียกเก็บได้ไม่เกิน 10 บาท
สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น คือ คือสมุดที่แสดงรายการข้อมูลหุ้นตั้งแต่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ที่มีการจองซื้อหุ้นตอนจัดตั้ง รายการเพิ่มทุน-ลดทุน การโอนหุ้น การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น เป็นสมุดที่บันทึกประวัติที่เกิดขึ้นทั้งหมดของบริษัท บริษัทจะต้องมีการจัดทำและเก็บไว้ที่สำนักงานใหญ่ของบริษัท ผู้ถือหุ้นทุกคนสามารถมีสิทธิที่จะขอเปิดดูสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นได้ และหากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นระหว่างผู้ถือหุ้น สมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นเล่มนี้จะเป็นข้อมูลอ้างอิงสำคัญที่จะใช้ในการพิจารณาข้อมูลของผู้ถือหุ้น
ในปัจจุบัน ยังมีบริษัทอีกจำนวนมากที่ไม่ทราบว่าต้องมีการจัดทำใบหุ้นให้ผู้ถือหุ้นและจัดทำสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นเก็บไว้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งงานสำคัญที่บริษัทต้องจัดทำขึ้นหลังจากจดทะเบียนบริษัทเรียบร้อยแล้ว
หากต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับใบหุ้นและสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นเพิ่มเติม สามารถติดต่อเพื่อขอคำแนะนำได้ที่นี่บริการออกใบหุ้น
การเปิดบัญชีธนาคารในนามบริษัท
เรื่องต่อไปเป็นเรื่องที่กฎหมายไม่ได้กำหนดให้ต้องมี แต่แนะนำให้บริษัทควรดำเนินการให้เรียบร้อยตั้งแต่ช่วงแรกๆหลังจากจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเรียบร้อยแล้ว นั่นคือ การเปิดบัญชีธนาคารในนามบริษัท
เหตุผลที่แนะนำให้รีบเปิดบัญชีธนาคาร เพื่อกรรมการจะได้นำเงินลงทุนที่ได้รับมาจากผู้ถือหุ้นฝากเข้าบัญชีของบริษัท เมื่อมีรายการรับหรือจ่าย จะสามารถทำธุรกรรมผ่านบัญชีธนาคารบริษัทได้เลย ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการใช้เงินปนกันกับเงินส่วนตัวได้
สำหรับการเปิดบัญชีในนามบริษัทนั้น ปัจจุบันค่อนข้างสะดวกและรวดเร็วกว่าสมัยก่อนมาก เรามาดูกันครับว่าต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง โดยในที่นี้ขอยกตัวอย่างการเปิดบัญชีของธนาคารกสิกรไทยมาให้ดูกันครับ
เอกสารที่ต้องเตรียมสำหรับการเปิดบัญชีธนาคารในนามบริษัท จำกัด (บจก.)
เอกสารของบริษัท
- หนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท โดยมีรายละเอียดวัตถุที่ประสงค์แนบท้าย (อายุไม่เกิน 3 เดือนนับจากวันที่ออกเอกสาร)
- รายการจดทะเบียนจัดตั้ง (บอจ. 3) หรือ รายการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติม (บอจ. 4) กรณีมีแก้ไขรายการจดทะเบียนตราประทับ
- บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5)
- รายงานการประชุม (มีความประสงค์ขอเปิดบัญชีกับธนาคาร, ระบุผู้มีอำนาจลงนามสั่งจ่าย/ถอนเงิน และเงื่อนไขการสั่งจ่าย/ถอนเงิน, ลงนามรับรองโดยกรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัทได้ตามหนังสือรับรองและประทับตราบริษัท (ถ้ามี))
ปัจจุบันสำหรับการเปิดบัญชีใหม่ของธนาคารกสิกรไทยนั้นไม่ต้องใช้รายงานการประชุมแล้ว เนื่องจากธนาคารสามารถดึงข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามาใช้ได้ (หลังจดทะเบียนประมาณ 14 วัน) แต่หากบริษัทต้องการระบุบริการต่างๆ ที่ต้องการใช้เพิ่ม เช่น K Plus SME ที่เป็น Application บนมือถือ หรือใช้ K Biz บน Internet ยังคงต้องทำรายงานการประชุม ดังนั้นจึงแนะนำให้ทำรายงานการประชุมแนบไปด้วยเพื่อความสะดวกในการเปิดบัญชีได้รวดเร็วมากขึ้นครับ
เอกสารของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับบริษัท
สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาหนังสือเดินทาง (กรณีชาวต่างชาติ) ของบุคคลดังนี้
- กรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันบริษัทได้ตามหนังสือรับรองทุกท่าน โดยท่านที่เป็นผู้ลงนามเปิดบัญชี ขอให้มาแสดงตนที่สาขาธนาคาร พร้อมบัตรประจำตัวประชาชน (แบบที่มี Chip Card)
- ผู้มีอำนาจลงนามสั่งจ่าย/ถอนเงิน ตามหนังสือแจ้งความประสงค์ หรือรายงานการประชุม ขอให้มาแสดงตนที่สาขาธนาคาร พร้อมบัตรประจำตัวประชาชน (แบบที่มี Chip Card)
- ผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 25% ขึ้นไป ตามบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น
- กรรมการผู้จัดการ หรือผู้บริหารสูงสุด
เมื่อเตรียมเอกสารครบถ้วนแล้วสามารถนำเอกสารไปยื่นที่สาขาของธนาคารเพื่อเปิดบัญชีธนาคารของบริษัท ทั้งนี้ผู้มีอำนาจลงนามสั่งจ่ายต้องไปยืนยันตัวตนที่ธนาคารด้วยตนเอง
เรื่องสุดท้าย “ป้ายบริษัท” การติดตั้งป้ายนั้นมีข้อกฎหมายกำหนดรวมถึงภาษีที่เกี่ยวข้อง
โดยสามารถสรุปได้ดังนี้ ในการจดทะเบียนบริษัท กรมพัฒนาธุรกิจการค้าไม่ได้กำหนดให้ต้องมีป้ายบริษัท แต่ถ้าจะจดทะเบียนภาษีมูลค่าหรือจดทะเบียนพาณิชย์จะต้องมีการติดป้ายบริษัทให้เรียบร้อย ซึ่งเราควรต้องรู้ว่าป้ายควรมีลักษณะอย่างไรบ้างและต้องติดป้ายภายในเมื่อไหร่ และเมื่อติดป้ายแล้วมีภาระภาษีอะไรเพิ่มบ้าง
เมื่อบริษัทจำเป็นต้องติดป้าย ป้ายที่ดีมีลักษณะดังนี้
- ป้ายชื่อบริษัทที่ใช้ต้องมีไว้หน้าสำนักงานใหญ่ และสำนักงานสาขา
- ต้องทำป้าย และเปิดเผยป้ายภายในเวลา 30 วัน นับตั้งแต่วันจดทะเบียนพาณิชย์
- ป้ายต้องอ่านง่ายและชัดเจน จะเขียนเป็นตัวอักษรภาษาไทย หรือจะมีตัวอักษรภาษาต่างประเทศด้วยก็ได้
- ป้ายชื่อบริษัท จะต้องตรงกับชื่อที่จดทะเบียน
- ป้ายชื่อสาขา ต้องมีคำว่า “สาขา” ด้วย
- ถ้าไม่จัดทำป้าย จะมีค่าปรับวันละไม่เกิน 20 บาท จนกว่าจะจัดทำป้ายและติดตั้งตามที่กฎหมายกำหนด
สิ่งสำคัญอีก 2 เรื่องที่ต้องระวัง
คือ การจะติดตั้งป้ายนั้นต้องขออนุญาตด้วยนะครับ นอกจากนี้ต้องดูว่าป้ายนั้นต้องเสียภาษีป้ายด้วยหรือไม่ถ้าเสียคิดเป็นภาษีเท่าไหร่
สำหรับการคำนวณภาษีป้ายนั้นพิจารณาจาก 2 ส่วนหลัก คือ
1. ลักษณะข้อความหรือรูปภาพที่อยู่บนป้าย เช่น อักษรไทยหรืออักษรต่างประเทศหรือเป็นภาพเคลื่อนที่
2. ขนาดพื้นที่ป้าย
ดังนั้นก่อนทำป้ายจึงควรรู้ถึงอัตราการคำนวณภาษีที่จะตามมาก่อน ซึ่งหากเราวางแผนออกแบบป้ายไว้ดีจะช่วยประหยัดค่าภาษีได้
เมื่อผ่านการอนุญาตให้ติดตั้งป้ายได้แล้ว ให้เตรียมเอกสารหลักฐานประกอบการเสียภาษีป้ายซึ่งประกอบด้วย
- บัตรประจำตัวประชาชน
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- ทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ถ้ามี)
- หนังสือรับรองนิติบุคคล
- ใบอนุญาตติดตั้งป้าย หรือใบเสร็จรับเงินจากร้านทำป้าย
- รูปถ่ายป้าย พร้อมขนาดป้าย (กว้าง x ยาว)
เจ้าของป้ายต้องทำการยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภ.ป. 1) พร้อมด้วยหลักฐานทั้งหมด ภายในเดือนมีนาคมของทุกปี ถ้าติดตั้งหลังเดือนมีนาคม ให้ยื่นภายใน 15 วัน นับตั้งแต่ติดตั้งหรือแสดงป้าย ซึ่งถ้าหากฝ่าฝืนกฎหมาย หรือหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีป้ายจะมีค่าปรับตามมาด้วย
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ป้ายทุกประเภทที่ต้องเสียภาษี เพราะมีป้ายบางประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีป้าย ตัวอย่างเช่น
- ป้ายที่แสดงไว้ ณ โรงมหรสพและบริเวณของโรงมหรสพนั้นเพื่อโฆษณามหรสพ
- ป้ายที่แสดงไว้ที่สินค้าหรือที่สิ่งหุ้มห่อหรือบรรจุสินค้า
- ป้ายที่แสดงไว้ในบริเวณงานที่จัดขึ้นเป็นครั้งคราว
- ป้ายที่แสดงไว้ภายในอาคารที่ใช้ประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่นหรือ ภายในอาคารซึ่งเป็นที่รโหฐาน เพื่อหารายได้ และแต่ละป้ายมีพื้นที่ไม่เกิน 3 ตารางเมตร ที่กําหนดในกฎกระทรวง แต่ไม่รวมถึงป้าย ตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์
- ป้ายของโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน หรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมาย เป็นต้น
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ พ.ร.บ.ภาษีป้าย พ.ศ. 2510 และ กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2535) ออกตามความใน พ.ร.บ.ภาษีป้าย 2510
จะเห็นได้ว่าหลังจากที่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเสร็จแล้ว ยังมีเอกสารหรือสิ่งที่ต้องทำเพิ่มเติมซึ่งมีทั้งที่ต้องทำและเปิดเผยหรือทำแล้วเก็บไว้ บางเรื่องทำเพียงครั้งเดียวและใช้ไปได้ตลอดจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งหากเราค่อยๆ ศึกษาเพิ่มเติมจะเห็นว่าในแต่ละส่วนนั้นมีรายละเอียดที่ค่อนข้างชัดเจนและดำเนินการได้ง่ายและอยากแนะนำให้ทำให้ครบทุกเรื่องที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อให้การเริ่มทำธุรกิจในรูปแบบบริษัทถูกต้อง สบายใจจากค่าปรับต่างๆ ครับ
About Author
ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต, ผู้สอบบัญชีภาษีอากร
ผู้ก่อตั้งสำนักงานบัญชี Alternatax สำนักงานบัญชีที่ผู้ประกอบการ FlowAccount เลือกใช้บริการมากที่สุด (Most User Award : 2022) และมีประสบการณ์ในการทำบัญชี ภาษี มากว่า 20 ปี นักบัญชี ภาษี ที่อยากให้การทำบัญชีเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ง่าย