สรุปแนวคิดสั้นๆ 3 ข้อ ในการทำธุรกิจและการเข้าร่วมโครงการ คนละครึ่ง ดังนี้ครับ
|
นอกจากนโยบายช้อปดีมีคืนแล้ว อีกนโยบายหนึ่งที่เจ้าของธุรกิจควรสนใจ โดยเฉพาะธุรกิจรายย่อย คือ นโยบายคนละครึ่ง ซึ่งเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายช่วงปลายปีแบบนี้ครับ
ก่อนอื่นขออธิบายสั้นๆ ว่า นโยบาย คนละครึ่ง หรือ คนละครึ่ง.com ไม่ใช่การสนับสนุนเรื่องของการลดหย่อนภาษี แต่เป็นการที่รัฐสนับสนุนเงินให้ 50% ให้ประชาชนเพื่อใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการในอัตราไม่เกิน 150 บาทต่อวัน และสูงสุดเป็นจำนวนเงินทั้งหมด 3,000 บาทตลอดอายุโครงการ ตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม - 31 ธันวาคม 2563 โดยใช้งานผ่าน G-Wallet หรือแอปฯ เป๋าตัง นั่นเองครับ
ใครมีสิทธิใช้คนละครึ่งบ้าง
สำหรับประชาชนที่มีสิทธิ์ใช้คนละครี่งนั้น ต้องมีเงื่อนไขดังนี้ครับ
- มีบัตรประจำตัวประชาชนและเป็นบุคคลสัญชาติไทย
- อายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่ลงทะเบียน
- ไม่เป็นผู้ได้รับสิทธิ์โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
- ไม่ได้ใช้สิทธิ์ในมาตรการช้อปดีมีคืน (ลดหย่อนภาษี)
โดยผู้ที่ต้องการใช้งานต้องมีการลงทะเบียนในเว็บไซต์คนละครึ่ง.com และใช้งานภายใน 14 วันหลังจากได้รับอนุมัติ ไม่เช่นนั้นจะโดนตัดสิทธิ์ได้ครับ
จะเห็นว่าเงื่อนไขของการใช้งานนั้นไม่ค่อยซับซ้อนเท่าไรครับ แค่เพียงเรามีบัตรประชาชนและอายุเกิน 18 ปีบริบูรณ์ก็สามารถใช้สิทธิ์ได้แล้ว เพียงแต่ว่าต้องระวังในกรณีตัดสินใจเลือกใช้ครับว่า จะเลือกสิทธิ์ ช้อปดีมีคืน หรือว่า คนละครึ่ง แบบไหนดีกว่า
โดยผมเคยทำสรุปลงในแฟนเพจ TAXBugnoms ไว้ตามนี้ครับ
ผู้ประกอบการได้อะไร
ส่วนที่อธิบายมาทั้งหมดก่อนหน้านี้ เป็นการมองในมุมของประชาชนครับ แต่ถ้ามองในมุมของผู้ประกอบการบ้าง จะเห็นว่านโยบายนี้ออกมาให้ผู้ประกอบการที่เข้าเงื่อนไขเฉพาะกลุ่มเท่านั้น นั่นคือ
- เป็นผู้ประกอบการรายย่อย ทำกิจการประเภทร้านอาหาร/เครื่องดื่ม/สินค้าทั่วไป
- เป็นบุคคลธรรมดาที่ไม่ได้จดทะเบียนในรูปแบบนิติบุคคล
- ไม่เป็นร้านสะดวกซื้อที่เป็นธุรกิจแฟรนไชส์
- ยกเว้น ลอตเตอรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการบริการ
จากเงื่อนไขข้างต้น จะเห็นว่านโยบายดังกล่าวออกมาให้กับผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ขายสินค้าด้วย (นอกเหนือจากร้านอาหารและเครื่องดื่ม) ซึ่งในมุมของการประกอบธุรกิจ อาจจะต้องกลับมามองว่า เราสามารถสร้างโอกาสจากเรื่องนี้ได้อย่างไร
เท่าที่ผ่านมา ผมมักจะเจอว่า ผู้ประกอบการหลายคนมักจะไม่ต้องการลงทะเบียนรับสิทธิ์ใดๆ ของภาครัฐ เพราะกลัวว่าจะต้องเสียภาษี แต่ในช่วงวิกฤตที่ผ่านมาแบบนี้ ผมคิดว่าเราอาจจะต้องคิดใหม่ทำใหม่ว่า เราจะสร้างโอกาสจากการขายเพิ่มขึ้นได้อย่างไรบ้าง และถ้าหากช่องทางที่เปิดรับนั้นมีโอกาสให้เพิ่มได้มากขึ้น เราควรจะลงทะเบียนไหม
เอาจริงๆ คงปฎิเสธไม่ได้ครับว่า มีหลายคนเลือกที่จะใช้สิทธิ์คนละครึ่งเพื่อให้มีเงินมาใช้จ่ายมากกว่าช้อปดีมีคืนที่ต้องจ่ายแล้วได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี แต่ในฐานะผู้ประกอบการรายเล็กๆ ที่เป็นบุคคลธรรมดาจะเห็นว่าการเปิดรับสิทธิประโยชน์ตรงนี้ ไม่ได้เสียอะไรเพิ่มเติม เพราะรายได้ยังเท่าเดิม เพียงแต่ว่าได้รับจากลูกค้าส่วนหนึ่ง และรัฐอีกส่วนหนึ่ง เท่านั้นเอง
มาถึงตรงนี้ ผมอยากจะสรุปแนวคิดสั้นๆ 3 ข้อ ในการทำธุรกิจและการเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งดังนี้ครับ
- ธุรกิจของเราเข้าข่ายที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้หรือไม่ มีสินค้า หรือเป็นร้านขายอาหารเครื่องดื่มที่เข้าเงื่อนไขหรือเปล่า
- หากเข้าสู่คนละครึ่งแล้ว เราเปิดโอกาสในการขายมากขึ้นหรือไม่ รวมถึงการบริหารจัดการเงินสดที่ได้รับนั้นลำบากไหม (เนื่องจากเป็นการได้รับผ่านแอป โดยต้องมีการรอเวลาประมาณ 1 วัน ซึ่งแปลว่าต้องมีการหมุนเวียนเงินล่วงหน้า)
- เราพร้อมจะเข้าสู่ระบบอย่างถูกต้องไหม เพราะการมีรายการเข้าแบบนี้ ย่อมแปลว่าเราพร้อมจะต้องยื่นภาษีอย่างถูกต้องเช่นเดียวกัน
ผมอยากให้เจ้าของธุรกิจทุกคนลองเช็กคำถามทั้ง 3 ข้อนี้ แล้วพิจารณาดูว่าผลที่ได้ได้รับมากกว่าที่เสียไปหรือเปล่า เช่น เสียเวลา หรือการเสียภาษีที่ถูกต้อง เปรียบเทียบกับการเพิ่มโอกาสในการขายและโอกาสในการสร้างลูกค้าว่าแบบไหนจะมีประโยชน์มากกว่า
และผมเชื่อว่าคำตอบที่ถูกต้องมีเพียงหนึ่งเดียว เพียงแต่เราจะกล้าเลือกไหม
About Author
พรี่หนอม หรือ TAXBugnoms (แทกซ์-บัก-หนอม) เป็นบล็อกเกอร์ นักเขียน และวิทยากรที่ให้ความรู้เรื่องภาษี บัญชี การเงิน มีประสบการณ์ทำงานในแวดวงบัญชี ภาษี มานานกว่า 15 ปี โดยมีแนวคิดว่า “ภาษี” ควรเป็น “เรื่องเรียบง่าย” และ “รู้สึกสบายใจ” ที่จะจ่าย