หลังจากจดทะเบียนนิติบุคคลแล้วนั้น สำนักงานบัญชีและสำนักงานตรวจสอบบัญชีจะต้องมีการรายงานต่อสภาวิชาชีพบัญชีรายละเอียดของหลักประกันและแจ้งรายละเอียดของนิติบุคคล วิชาชีพบัญชีเป็นการบริการที่มอบความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจต่างๆ เลยจะต้องมีการอะไรเพิ่มเติมบ้าง มาอ่านกันเลยค่ะ |
เพื่อนๆ พี่ๆ หลายคนคงมีความอยากต้นเริ่มสำนักงานบัญชี สำนักงานสอบบัญชีกันบ้าง เปิดโอกาสเป็นนายตัวเอง ได้ใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่
จะว่าไปแล้ว วิชาชีพบัญชีของเราถือได้ว่าเป็นวิชาชีพที่น่าอิจฉาที่สุด ที่สามารถเริ่มธุรกิจด้วยเงินทุนที่น้อยมาก เพราะใช้ความสามารถของตัวเองล้วนๆ ขอแค่มีเพียงคอมพิวเตอร์กับเครื่องปริ้นก็เพียงพอที่จะเริ่มต้นสำนักงานแล้วค่ะ
ทีนี้ลองถามตัวเองดูอีกครั้ง ว่ากล้าที่จะทำตามความฝันของตัวเองซักครั้งในชีวิตแล้วหรือยังคะ ในบทความนี้จะมาบอกเล่าวิธีการจดทะเบียนทีละขั้นตอนให้ฟังไปพร้อมๆ กันนะคะ
ถ้าอธิบายกันสั้นๆ การเปิดสำนักงานบัญชีนั้นมีองค์ประกอบเบื้องต้น ดังนี้
- เปิดสำนักงานบัญชีต้องมีผู้ทำบัญชีที่จบด้านบัญชีตามที่กฎหมายรับรอง และสามารถขึ้นทะเบียนเป็นผู้ทำบัญชีได้
- สำนักงานจะต้องมีความน่าเชื่อถือ มีทักษะการสื่อสาร ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า
- เมื่อทำบัญชีเสร็จตามรอบระยะเวลาบัญชี จะต้องมีผู้สอบบัญชี ที่สามารถเซ็นรับรองงบการเงินได้ เพราะผู้ที่ลงชื่อทำบัญชี ไม่สามารถเซ็นรับรองงบการเงินเองได้
หลังจากที่จดทะเบียนนิติบุคคลไปแล้วนั้น ชีวิตจะเปลี่ยนไปอย่างไร เมื่อเปลี่ยนจากทำธุรกิจแบบบุคคลธรรมดามาเป็นบริษัทจำกัด แต่ที่แน่ๆคือ จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการขยายตัวของธุรกิจด้านบัญชีค่ะ แต่หลังจากจดทะเบียนนิติบุคคล กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้วนั้น สำนักงานบัญชีและสำนักงานตรวจสอบบัญชีจะต้องมีการรายงานต่อสภาวิชาชีพบัญชีในรายละเอียดของหลักประกันและแจ้งรายละเอียดของนิติบุคคลกันค่ะ
วิชาชีพของเราเป็นการบริการที่เพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจต่างๆ เลยจะต้องมีการวางหลักประกัน และรายงานที่เพิ่มเติมขึ้นมาค่ะ
ไม่มีอะไรยากเลยนะคะ ทุกคนทำตามได้แน่นอน มายด์รวบรวมทั้งหมดมาไว้ในบทความนี้แล้วหละค่ะ
สิ่งที่นิติบุคคลที่ให้บริการด้านการสอบบัญชี หรือด้านการทำบัญชีต้องรายงาน
สำนักงานบัญชี สำนักงานสอบบัญชี มี 2 สิ่งหลักๆ ที่จำเป็นต้องยื่นขอจดทะเบียนต่อสภาวิชาชีพบัญชี หลังจากการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เรียบร้อยแล้ว ดังนี้ค่ะ
1) แจ้งการจดทะเบียนนิติบุคคล
- ยื่นขอจดทะเบียนต่อสภาวิชาชีพบัญชี ภายใน 30 วัน หลังจากการจดทะเบียน จัดตั้งนิติบุคคลที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เรียบร้อยแล้ว
- แจ้งรายละเอียดหลักประกัน พร้อมกับ การยื่นจดทะเบียนต่อสภาวิชาชีพบัญชี
- ถ้านิติบุคคลให้บริการด้านการสอบบัญชี บุคคลที่มีอำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคลในการให้บริการการสอบบัญชีจะต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA)
2) แจ้งรายละเอียดหลักประกันเพื่อประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สาม
- หลักประกันเพื่อประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สามรวมกัน จะต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 3% ของทุน ณ วันที่ยื่นจดทะเบียนต่อสภาวิชาชีพบัญชี
หลังจากที่ทราบแล้วว่าต้องรายงานอะไรบ้าง ทีนี้เรามาดูดีกว่าว่าเอกสารที่ต้องยื่นรายงานการจดทะเบียนนิติบุคคล และหลักฐานที่เกี่ยวกับหลักประกันประกอบด้วยอะไรบ้าง
หลักฐานการจดทะเบียนนิติบุคคลและรายละเอียดหลักประกัน
หลักฐานที่ต้องเตรียมพร้อมเพื่อนำไปยื่นต่อสภาวิชาชีพประกอบไปด้วย รายการต่างๆ ดังนี้ค่ะ
- หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลที่มีอายุไม่เกิน 3 เดือน
- หลักฐานชำระค่าจดทะเบียนนิติบุคคล
- ข้อมูลในงบกำไรขาดทุนย้อนหลัง 1 ปี หรือเท่าที่มี กรณีที่เป็นนิติบุคคลตั้งใหม่
- ค่าใช้จ่ายดำเนินการแจ้งรายละเอียดหลักประกัน
- สำเนาหลักประกัน
- สำเนาใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (กรณีต่างด้าว)
- หนังสือมอบอำนาจให้กระทำการแทนนิติบุคคล (ถ้ามี)
ฟอร์มเอกสารเพื่อกรอกรายละเอียด
สามารถกดดาวน์โหลดเอกสารด้านล่างนี้ เพื่อกรอกรายละเอียดสำนักงานทำบัญชี และสำนักงานสอบบัญชีได้เลยค่ะ
- ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม คำขอจดทะเบียนของนิติบุคคล (สวบช.5) และ
- ดาวน์โหลดหลักฐานการแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกัน คำขอแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกัน (สวบช.5.3)
หลังจากกรอกฟอร์มทั้ง 2 อันข้างต้นแล้ว อย่าลืมแนบหลักฐานประกอบการจดทะเบียนนิติบุคคลและหลักฐานการแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกัน เพื่อยื่นต่อสภาวิชาชีพบัญชีกันนะคะ
การนำส่งหลักฐานต่อสภาวิชาชีพบัญชีสามารถทำได้ 2 วิธี
- หากใครสะดวกสามารถเดินทางไปยื่นที่ อาคารสภาวิชาชีพบัญชี หรือ
- ส่งเอกสารทางไปรษณีย์ ก็ได้เช่นกัน
เพียงเท่านี้ก็เป็นการเปิดสำนักงานบัญชี และสำนักงานสอบบัญชีอย่างเป็นทางการแล้ว เราก็สามารถเดินหน้าลุยสร้างธุรกิจด้านวิชาชีพบัญชีได้ตามความฝันแล้วค่ะ
การต่ออายุทะเบียนนิติบุคคล และการแจ้งรายละเอียดหลักประกันประจำปี
เมื่อมีการจดทะเบียนกับสภาวิชาชีพบัญชีเรียบร้อยแล้ว ก็จะต้องมีการต่ออายุทะเบียนนิติบุคคลที่จะต้องทำทุกๆ 1 ปี นับจากวันจด ซึ่งจะต้องดำเนินการต่ออายุภายใน 3 เดือนก่อนใบทะเบียนหมดอายุ ดังนี้
- ดาวน์โหลดแบบฟอร์มคำขอต่ออายุทะเบียนนิติบุคคล (สวบช.5.2)
- ชำระค่าจดทะเบียนต่ออายุทะเบียนนิติบุคคล 2,000 บาท
- นำส่งสภาวิชาชีพบัญชีทางเคาน์เตอร์ ณ อาคารสภาวิชาชีพบัญชี หรือทางไปรษณีย์
และแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกันประจำปี ที่จะต้องยื่นภายใน 60 วัน นับแต่วันสิ้นรอบปีบัญชีทุกปี โดยดำเนินการ ดังนี้
- ดาวน์โหลดแบบฟอร์มคำขอแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกัน เพื่อประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สาม (สวบช.5.3) พร้อมเอกสาร ดังนี้
- สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล ไม่เกิน 3 เดือน
- สำเนาใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (กรณีต่างด้าว)
- สำเนาหลักประกัน
- หนังสือมอบอำนาจให้กระทำการแทนนิติบุคคล (ถ้ามี)
- ชำระค่าใช้จ่ายดำเนินการแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกัน 400 บาท
- นำส่งสภาวิชาชีพบัญชีทางเคาน์เตอร์ ณ อาคารสภาวิชาชีพบัญชี หรือทางไปรษณีย์
บทความข้างต้น เป็นขั้นตอนในการเปิดสำนักงานและสิ่งที่จะต้องทำในทุกๆ ปีค่ะ เป็นแค่ส่วนหนึ่งที่ใช้ประกอบการตัดสินใจในการเริ่มต้นเปิดสำนักงานบัญชี สำนักงานสอบบัญชี
ในชีวิตจริงปัญหาที่จะต้องพบเจอยังมีอีกมากมาย แต่คงไม่ยากเกินความสามารถของทุกคนที่มีความขยัน ตั้งใจที่จะเรียนรู้ อดในสิ่งที่ชอบ ทนทำบางสิ่งที่อาจไม่ได้ชอบนักได้อย่างแน่นอน มายด์ขอเป็นกำลังใจให้กับเพื่อนร่วมวิชาชีพทุกคนนะคะ
โปรแกรมบัญชีออนไลน์ สำหรับสำนักงานบัญชี หากใครสนใจสามารถลงทะเบียนพาร์ตเนอร์สำนักงานบัญชีและรับสิทธิ์ได้เลยที่นี่
สุดท้าย สิ่งที่เป็นหัวใจหลักของการเปิดสำนักงานบัญชี คือ การมีจรรยาบรรณ การรักษาคุณภาพและมาตรฐานงานบริการด้านวิชาชีพนี้ให้ดีที่สุดนั่นเอง
About Author
ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA Thailand) เจ้าของเพจ “Chalitta Accounting” มีประสบการณ์ตรวจสอบบัญชีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ และเป็นที่ปรึกษาด้านบัญชีและภาษีแก่ผู้ประกอบการ SMEs
ร่วมสมัครเป็นนักเขียนของ FlowAccount ได้ที่นี่