เงินทุนหมุนเวียน ประเมินยังไงให้ธุรกิจมีเงินพอ

เงินทุนหมุนเวียน ประเมินยังไงให้ธุรกิจมีเงินพอ

ดูว่าธุรกิจเรามีเงินทุนหมุนเวียนพอหรือไม่ ให้ดูในงบการเงิน โดยเปรียบเทียบ “สินทรัพย์หมุนเวียน” กับ “หนี้สินหมุนเวียน” ถ้าสินทรัพย์หมุนเวียน น้อยกว่า หนี้สินหมุนเวียน แปลว่า เรายังมีเงินทุนหมุนเวียนติดลบ และอาจไม่พอใช้จ่ายในอีก 12 เดือนข้างหน้า

ปัญหายอดฮิตของธุรกิจ SMEs ที่ “เจ๊ง” บางครั้งอาจไม่ได้มาจากการขาดทุน แต่ส่วนใหญ่เกิดจาก “ขาดเงินทุนหมุนเวียน”

 

แล้วเงินทุนหมุนเวียนคืออะไร เราจะประเมินเงินทุนหมุนเวียนของธุรกิจยังไง แล้วเราจะเพิ่มมันได้ไหม ลองมาหาคำตอบในบทความนี้กัน

 

เรียนบัญชี FlowAccount

 

เงินทุนหมุนเวียน คืออะไร

 

เงินทุนหมุนเวียน ภาษาอังกฤษเรียกว่า Working Capital คือ เงินทุนสำรองระยะสั้นที่ธุรกิจจำเป็นต้องมี เพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจในทุกๆ วันอย่างราบรื่น 

 

ยิ่งมีเงินทุนหมุนเวียนเยอะ แปลว่า ธุรกิจมีสภาพคล่องสูง มีสินทรัพย์เปลี่ยนเป็นเงินสดได้เร็ว และสามารถจ่ายชำระหนี้ได้ตามกำหนด

 

แต่ถ้าทุนหมุนเวียนน้อย แปลว่า ธุรกิจเริ่มมีความเสี่ยงแล้ว วันหนึ่งเราอาจจะขาดสภาพคล่องหมุนเงินไม่ทันจ่ายหนี้ ปัญหาแบบนี้พบได้บ่อยกับธุรกิจเปิดใหม่ที่ไม่ได้เตรียมเงินหรือสินทรัพย์สำรองไว้เพียงพอ และสุดท้ายอาจต้องจบด้วยคำว่า “เจ๊ง” แบบไม่เป็นท่า

 

เงินทุนหมุนเวียนดูในงบการเงินยังไง

 

เมื่อเราพอจะเข้าใจความหมายและความสำคัญของเงินหมุนเวียนแล้ว เดี๋ยวเราลองมาดูวิธีง่ายๆ ในการประเมินเงินทุนหมุนเวียนกัน

 

เวลาเราประเมินเงินทุนหมุนเวียน เราดูจาก “สินทรัพย์หมุนเวียน” เปรียบเทียบกับ “หนี้สินหมุนเวียน” ซึ่งดูได้ง่ายจากงบแสดงฐานะการเงิน 

 

เปรียบเทียบสินทรัพย์หมุนเวียนกับหนี้สินหมุนเวียน

 

สินทรัพย์หมุนเวียน

 

สินทรัพย์หมุนเวียน ส่วนใหญ่แล้วจะประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลักๆ ตามนี้

 

  1. เงินสด ตัวนี้เป็นสินทรัพย์สภาพคล่องสูงสุด ที่พวกเรารู้กันดีกว่าใช้จ่ายชำระหนี้ได้คล่องปรี๊ดๆ แน่นอน
  2. ลูกหนี้การค้า เกิดจากการที่เราขายหรือให้บริการเป็นเงินเชื่อ เช่น ขายของไปแล้ว อีก 15 วันรับตังค์ ในงบการเงินจะแสดงเป็นสินทรัพย์ประเภทลูกหนี้ ที่แม้จะสภาพคล่องน้อยกว่าเงินสด แต่ก็ยังจัดเป็นเงินทุนหมุนเวียนได้อยู่ 
  3. สินค้าคงเหลือ เป็นสินค้าที่เหลืออยู่ในคลังยังไม่ได้ขายออกไป สินค้าคงเหลือตัวนี้จะมีสภาพคล่องน้อยกว่าเงินสดและลูกหนี้ แต่อย่างไรก็ตาม มันก็เป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนชั้นดีของธุรกิจผลิต และธุรกิจซื้อมาขายไป

 

จากที่ไล่เรียงตัวอย่างสินทรัพย์หมุนเวียนมา ทุกตัวเป็นแหล่งเงินทุนของธุรกิจได้ทั้งหมด ต่างกันเพียงแค่ว่าจะเปลี่ยนมาเป็นเงินสดให้เราเร็ว-ช้าขนาดไหน

 

หนี้สินหมุนเวียน

 

ถัดมาหนี้สินหมุนเวียน ตัวนี้จะเป็นภาระผูกพันที่ธุรกิจต้องจ่ายชำระเงินออกไปในเวลาอันใกล้ (ไม่เกิน 1 ปี) ตัวอย่างนี้สินหมุนเวียนที่พบบ่อย คือ

 

    1. เจ้าหนี้การค้า เกิดจากการที่เราซื้อสินค้าหรือบริการแล้ว แต่ยังไม่ได้ชำระเงิน ส่วนใหญ่เรามักจะได้เครดิตเทอมให้จ่ายช้าลงตามแต่ตกลง
    2. ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย ส่วนนี้เป็นค่าใช้จ่ายที่เราใช้ประโยชน์ในกิจการแล้วแต่ยังไม่ได้จ่ายเงินชำระไป เช่น เงินเดือนค้างจ่าย ค่าแรงค้างจ่าย ค่าเช่าค้างจ่าย เป็นต้น 
    3. เงินกู้ยืมระยะสั้น แน่นอนว่าเงินกู้ถ้าเป็นระยะสั้น เราก็ต้องจ่ายชำระตามกำหนด พร้อมๆ กับดอกเบี้ยที่ติดธนาคารหรือผู้ให้กู้ไว้ เช่น หนี้บัตรเครดิตธุรกิจ เงินเบิกเกินบัญชี (OD) 

สังเกตง่ายๆ หนี้สินหมุนเวียนจะเป็นขั้วตรงข้ามของสินทรัพย์หมุนเวียน เพราะการมีหนี้สินหมุนเวียนเยอะๆ แปลว่า เราต้องชำระหนี้ภายในเวลาอันใกล้เยอะเช่นกัน

 

เอาละ เมื่อพอจะเข้าใจความหมายของสินทรัพย์และหนี้สินหมุนเวียนกันแล้ว วิธีเช็กสภาพคล่องธุรกิจ ให้เราเปรียบเทียบกันแบบนี้

 

สมการวิธีเช็คสภาพคล่องธุรกิจ

 

ธุรกิจควรมีเงินทุนหมุนเวียนเท่าไร

 

เงินทุนหมุนเวียนถ้ามีน้อย ธุรกิจก็มีความเสี่ยง อาจขาดสภาพคล่อง หมุนเงินมาจ่ายชำระหนี้ไม่ทัน 

 

แต่ถ้ามีมากก็อาจทำให้ธุรกิจเสียโอกาสในการเติบโต แทนที่จะเอาเงินไปลงทุนให้งอกเงยกลับเอามาเก็บไว้ไม่ได้ใช้งาน 

 

นี่จึงเป็นที่มาของคำถามที่ว่า ธุรกิจควรมีเงินทุนหมุนเวียนเท่าไรดี

 

ธุรกิจควรมีเงินทุนหมุนเวียนเท่าไรดี

 

ซึ่งที่จริง คำตอบนี้แตกต่างกันไปตามแต่ละธุรกิจเลย แต่ที่แน่ๆ เราต้องลองพิจารณาจาก

 

  • ประเภทธุรกิจ เช่น ถ้าเป็นธุรกิจซื้อมาผลิต อาจจะต้องมีเงินทุนหมุนเวียนมากหน่อย เพราะว่าจะผลิตของมาขายได้ใช้เวลานานกว่าธุรกิจซื้อมาขายไป
  • รายจ่ายประจำวัน ว่ามีอะไรบ้าง
  • รายจ่ายพิเศษ เช่น บางเดือนเป็น high season อาจจะต้องสำรองเงินไว้มากกว่าปกติ

สรุป ทำยังไงถึงจะเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนได้

 

สรุป ทำยังไงจึงจะเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนธุรกิจได้

 

ถ้าใครเช็กเงินทุนหมุนเวียนแล้วยังมีไม่พอ หรือตัวเลขติดลบ วิธีที่จะเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนมีด้วยกันหลายรูปแบบ เช่น

 

    • ติดตามลูกหนี้ให้ชำระตามเวลา หรือให้ส่วนลด เพื่อให้ลูกหนี้ชำระเงินเร็วขึ้น
    • บริหารคลังสินค้าให้มีประสิทธิภาพ เช่น ไม่กักตุนสินค้าเกินความต้องการ
    • ขายสินค้าให้ไวขึ้น โดยอาจทำโปรโมชั่น หรือให้ของแถมจูงใจลูกค้า
    • เจรจาขอเครดิตเทอมจากเจ้าหนี้ ให้นานขึ้นหน่อย
    • ระวังเรื่องค่าปรับจากการจ่ายเงินกู้ หรือภาษีล่าช้า
    • ลดรายจ่ายไม่จำเป็นในแต่ละเดือน

ทั้งหมดที่เล่ามานี้เป็นสิ่งที่เจ้าของธุรกิจทุกคนควรรู้เกี่ยวกับเงินทุนหมุนเวียน แม้ว่าจะไม่เกี่ยวข้องเลยกับกำไรของธุรกิจ แต่เงินทุนหมุนเวียนเปรียบเสมือนเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงให้ธุรกิจเดินไปต่อได้ และในบางครั้งมันอาจชี้ชะตาว่าธุรกิจนี้จะไปรอดหรือไม่ในระยะยาว 

 

ถ้าไม่อยาก “เจ๊ง” แบบไม่เป็นท่า นอกจากจะรู้เรื่องกำไรแล้ว อย่าลืมบริหารเงินทุนหมุนเวียนให้เพียงพอด้วยนะ

 

เราสามารถใช้โปรแกรมบัญชี ออนไลน์ FlowAccount ในการทำจัดทำงบการเงินเบื้องต้นได้ ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการรู้สุขภาพของธุรกิจได้ตลอดเวลา ไม่ต้องรอเวลาปิดงบตอนสิ้นปี

 

 

About Author

ลองใช้งานFlowAccount ฟรี 30 วันได้ง่ายๆ วันนี้
ลองใช้งานฟรีได้ง่ายๆ วันนี้
สมัครเลย

You may also like