นักบัญชีเวลารับงานบัญชีธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง มักจะพบปัญหาว่า บางธุรกิจไม่ได้มีการบันทึกเงินประกันผลงานเอาไว้ หรือธุรกิจที่รับงานหลายที่ ไม่รู้ว่าใครหักเงินประกันผลงานไว้บ้าง และถึงกำหนดชำระเมื่อไร ซึ่งนักบัญชีสามารถใช้โปรแกรมบัญชีเป็นตัวช่วยในการบันทึกบัญชีเงินประกันผลงานได้แล้ว |
ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างมีความแตกต่างจากธุรกิจทั่วไป และด้วยความแตกต่างนี้ทำให้นักบัญชีจะต้องเรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อจะได้ทำบัญชีได้อย่างถูกต้อง หนึ่งในข้อแตกต่างที่สำคัญมากๆ คือ เรื่องเงินประกันผลงาน ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างระยะยาวส่วนใหญ่แล้วเจ้าของธุรกิจเองมักถูกหักเงินประกันผลงาน 5-10% ทุกครั้งที่รับเงิน และนี่เองที่ทำให้งานบัญชีของเรายุ่งยากขึ้นกว่าเดิมค่ะ
ในวันนี้ถ้าใครกำลังสับสนเรื่องเงินประกันผลงานอยู่ ว่ามันคืออะไร มีผลกระทบกับงานบัญชียังไง และเราจะบันทึกบัญชีเงินประกันผลงานอย่างไรบ้าง ก็อยากชวนนักบัญชีมาร่วมศึกษาทำความเข้าใจตรงนี้ไปพร้อมๆ กันค่ะ
เงินประกันผลงานคืออะไร มีผลอย่างไรต่อธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง
เงินประกันผลงาน หมายถึง เงินที่ผู้ว่าจ้างหักเอาไว้บางส่วนจากค่ารับเหมาก่อสร้างตามที่ตกลงในสัญญาแต่ละงวด เพื่อเป็นหลักประกัน กรณีที่ก่อสร้างใช้งานไปสักพักแล้วมีความเสียหายเกิดขึ้น หรืองานรับเหมาเกิดข้อผิดพลาด หรือไม่มีคุณภาพตามที่ระบุไว้ในสัญญา ซึ่งหากผู้ว่าจ้างพบปัญหาระหว่างระยะเวลาที่รับประกัน เงินส่วนนี้ก็จะถูกริบไป แต่ถ้าหมดระยะเวลาประกันผลงานแล้ว ไม่มีปัญหาเกิดขึ้น เจ้าของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างก็จะได้รับเงินส่วนนั้นคืนตามที่ตกลง
ในวันที่ทำสัญญารับเหมาก่อสร้างเจ้าของธุรกิจเองก็จะต้องตกลงกับผู้ว่าจ้างให้เรียบร้อย 2 เรื่อง
- สัดส่วนเงินประกันผลงาน เช่น 5 หรือ 10%
- ระยะเวลาการประกันผลงาน เช่น 6 เดือน, 1 ปี, หรือ 2 ปี
ในส่วนของนักบัญชีเอง ถ้ารับงานบัญชีสำหรับธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ปัญหาที่พบหลักๆ จะมี 2 เรื่อง ได้แก่
1. ไม่ได้บันทึกบัญชีเงินประกันผลงานที่ถูกหักเอาไว้
ต้นตอของปัญหานี้เกิดจากการที่นักบัญชีไม่มีข้อมูลอย่างเพียงพอในการบันทึกบัญชี เช่น เราอาจมีแค่ Bank Statement ในการบันทึกบัญชี เจ้าของธุรกิจไม่ได้ให้สัญญามาหรือว่าไม่ได้ส่งเอกสารใบแจ้งหนี้และใบเสร็จรับเงินให้ สุดท้ายแล้ว ถ้าบันทึกบัญชีตาม Bank Statement ก็จะกลายเป็นการบันทึกรับเงินด้วยยอดสุทธิเลย
2. ไม่รู้ว่าใครหักเงินประกันผลงานไว้บ้าง และถึงกำหนดชำระเมื่อไร
ปัญหาข้อนี้มักเกิดกับธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่รับงานหลายโครงการ และไม่มีนักบัญชีคอยช่วยเช็กข้อมูลให้ว่าจริงๆ แล้วมีใครหักเงินประกันผลงานไว้บ้าง และถึงกำหนดรับชำระเมื่อไร
ทำให้ธุรกิจไม่ได้เรียกเก็บชำระเงินประกันผลงานตามเวลาที่ควรจะเป็น บางทีอาจได้รับเงินช้า และบางครั้งอาจต้องสูญเงินจำนวนนี้ทิ้งไป เพราะติดต่อลูกค้าไม่ได้แล้ว
เงินประกันผลงานเป็นสินทรัพย์ธุรกิจหรือไม่
เงินประกันผลงาน เป็นส่วนหนึ่งของ “รายได้รับเหมาก่อสร้าง” เพียงแต่ว่าเราได้รับเงินช้าเท่านั้นเอง ฉะนั้นเงินประกันผลงานจึงถือเป็นสินทรัพย์ชนิดหนึ่งในงบแสดงฐานะการเงิน เพราะถือว่าเราจะได้รับประโยชน์จากการเรียกเก็บเงินในอนาคต
ถัดมา นักบัญชีอาจต้องมาคิดต่อว่าสินทรัพย์ประเภทเงินประกันนี้ควรเป็นสินทรัพย์ประเภท หมุนเวียน หรือไม่หมุนเวียน ซึ่งวิธีการง่ายๆ ก็คือ การย้อนกลับไปดูสัญญารับเหมาก่อสร้างว่าเงินประกันมีระยะเวลาประกันนานกว่า 1 ปีหรือไม่ ถ้าระยะเวลาประกันน้อยกว่าหรือเท่ากับ 1 ปีก็ยังถือเป็นสินทรัพย์หมุนเวียน แต่ถ้ามีระยเวลามากกว่า 1 ปีเมื่อไร ก็จะถูกจัดประเภทเป็นสินทรัพย์ไม่หมุนเวียนทันที
ใช้ FlowAccount บันทึกบัญชีเงินประกันผลงานอย่างไร
นักบัญชีที่กำลังหาตัวช่วยในการบันทึกบัญชีเงินประกันผลงาน เพื่อลดปัญหาการเก็บข้อมูลผิดพลาด และติดตามเงินประกันไม่ได้ FlowAccount ช่วยแบ่งเบาภาระตรงนี้
1. เก็บข้อมูลเงินประกันผลงาน
ทุกครั้งที่เจ้าของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างออกเอกสารใบแจ้งหนี้ จะมีการออกเอกสารด้วยจำนวนเงินเต็มจำนวนตามแต่ละงวดอยู่แล้ว แต่ในขั้นตอนการรับเงินเราจะได้รับเงินแบบไม่เต็มจำนวนเพราะโดนหักค่าประกันผลงานไว้
ในเอกสาร “ใบเสร็จรับเงิน” และ “ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี” นักบัญชีหรือเจ้าของธุรกิจสามารถเลือกส่วนลดพิเศษจากเงินประกันผลงาน เพื่อหักออกจากยอดเงินรับได้
ขณะเดียวกันเองในระบบบัญชีก็จะบันทึกเงินประกันผลงานนี้เป็นสินทรัพย์ประเภทลูกหนี้ของธุรกิจเอาไว้ให้อย่างอัตโนมัติ
และเมื่อพิมพ์เอกสาร จะพบรายการปรับลด “เงินประกันผลงาน” จะแสดงในเอกสาร
2. ตรวจสอบจำนวนเงินประกันผลงาน
นักบัญชีช่วยเจ้าของธุรกิจตรวจสอบจำนวนเงินประกันผลงานที่เหลืออยู่อย่างง่ายๆ ที่เมนูบริหารบัญชี งบทดลอง เลขที่บัญชี เงินประกันผลงาน ที่กิจการได้ตั้งผังบัญชีไว้ ว่า ณ สิ้นเดือนนี้มีเงินประกันคงค้างอยู่เท่าใด
เมื่อทำการบันทึกเอกสารระบบบัญชีหลังบ้านจะทำการบันทึกคู่บัญชีให้อัตโนมัติ ในตัวอย่างทางบริษัท จะตั้งเลขที่บัญชี 11922 สำหรับการบันทึกเงินประกันผลงาน
3. ติดตามเงินประกันผลงาน
สำหรับการติดตามเงินประกันผลงาน นักบัญชีสามารถแนะนำเจ้าของธุรกิจเรียกดูรายงานการเก็บเงิน และดาวน์โหลด File Excel จากระบบ FlowAccount เพื่อตรวจสอบยอดการปรับลดในแต่ละบิล จากนั้น filter เฉพาะรายการที่ปรับลดจากเงินประกันผลงานเพื่อเช็กช่วงเวลา และติดตามกับลูกค้าได้
เมื่อดึงรายงานการเก็บเงิน สามารถตรวจสอบยอดเงินประกันตามแต่ละโปรเจกต์ได้เลยค่ะ
โดยสรุปแล้ว แม้ว่าธุรกิจรับเหมาก่อสร้างจะมีปัญหาจุกจิกเรื่องเงินประกันผลงาน ทำให้ต้องระมัดระวังในการบันทึกบัญชีทุกๆ ขั้นตอน แต่ถ้าเราทำความเข้าใจดีๆ แล้วเราจะพบว่าการบันทึกบัญชีเรื่องเงินประกันผลงานอาจจะไม่ได้ยากอย่างที่คิด และยิ่งถ้ามีตัวช่วยในการทำบัญชีให้ง่ายขึ้น นักบัญชีเองก็งานเบาลง และมั่นใจในการทำบัญชีมากยิ่งขึ้นค่ะ
About Author
นักบัญชี ผู้สอบบัญชี และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ cpdacademy.co คอร์สอบรมบัญชี CPD ออนไลน์สำหรับผู้ทำบัญชีและผู้สอบบัญชี ที่มีประสบการณ์ในวิชาชีพมากกว่า 10 ปี และอยากส่งต่อความรู้เพื่อเพื่อนนักบัญชีให้มีทักษะอย่างมืออาชีพและก้าวทันโลกดิจิทัล
ร่วมสมัครเป็นนักเขียนกับ FlowAccount ได้ที่นี่