วันนี้ใครที่รอที่จะจดทะเบียนบริษัทคนเดียวทำได้จริง หรือจะต้องรอไปก่อนในบทความนี้มีคำตอบค่ะ เรื่องนี้ก็ยังเป็นเรื่องที่มีผู้ประกอบการหลายคนลุ้นอยู่ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่อยากเปิดบริษัทเป็นของตัวเองที่ไม่ต้องอาศัยหุ้นส่วนคนอื่นๆ เพราะหากจดคนเดียวได้จริง ก็จะมีกฎหมายรองรับที่สร้างความสบายใจได้มากกว่านั่นเองค่ะ |
เปิดบริษัทคนเดียวทำได้จริงๆ หรือยัง เจ้าของกิจการที่ทำทุกอย่างด้วยตัวเอง และกำลังแพลนที่จะเปิดบริษัทมาทำความเข้าใจในบทความนี้กันเลยค่ะ เพราะที่ทราบกันดีว่าตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป กฎหมายได้กำหนดให้การจดทะเบียนบริษัทมีผู้เริ่มก่อการตั้งแต่ 2 รายขึ้นไปจะสามารถจดจัดตั้งเป็นนิติบุคคลได้อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ค่ะ
เมื่อปี 2560 บางท่านอาจจะได้ติดตามข่าวร่างพระราชบัญญัติการจัดตั้งบริษัทจำกัดคนเดียว จะพบว่ามีการผลักดันกฎหมายบังคับใช้เพื่อลดโอกาสปัญหาผู้ถือหุ้นลมที่จะต้องมีผู้ถือหุ้นหลายคน ทั้งๆที่ตนเองเป็นเจ้าของธุรกิจแต่เพียงผู้เดียว และเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับการให้บริการแก่ผู้บริโภค การออกประกาศนี้จึงทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กต่างมีความหวังขึ้นมาทันทีค่ะ
อย่างไรก็ตามจดทะเบียนบริษัท 1 คนในปัจจุบันยังไม่สามารถทำได้ค่ะ แต่ผู้ประกอบการคนเดียวสามารถไปจดทะเบียนการค้าเพื่อยืนยันถึงการประกอบธุรกิจที่ถูกต้อง และเมื่อใดที่มีรายได้ถึงเกณฑ์จดภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็ควรจดทะเบียนเพื่อออกใบกำกับภาษีเวลามีการขายหรือให้บริการในนามบุคคลธรรมดาได้เช่นกันค่ะ
แต่ในบทความนี้ FlowAccount ก็จะสรุปหลักการจดทะเบียนบริษัทคนเดียวอ้างอิงจากร่างกฎหมาย มาฝากกันแบบเข้าใจง่ายให้ทุกคนฟัง ดังนี้ค่ะ
ความหมาย และการตั้งชื่อที่แตกต่าง
ในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เขียนไว้ชัดเจนว่า “บริษัท…จำกัด (คนเดียว)” และ บริษัทจำกัด มีความหมายที่แตกต่างกันดังนี้ค่ะ
- “บริษัท” หมายความว่า บริษัทจำกัดคนเดียวที่ได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีสภาพเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหายแพ่งและพาณิชย์นับตั้งแต่ได้จดทะเบียน โดยเวลาตั้งชื่อบริษัทจะต้องมีวงเล็บด้านหลังต่อท้ายว่า คนเดียว ด้วยนะคะ
- ยกตัวอย่างเช่น ถ้า นาย ก จัดตั้งบริษัทเพียงลำพังในชื่อ ตัวอย่าง จะต้องจดในชื่อ “บริษัท ตัวอย่าง จำกัด (คนเดียว)” ค่ะ
- “บริษัทจำกัด” หมายความว่า บริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
คุณสมบัติของเจ้าของบริษัท…จำกัด (คนเดียว)
ส่วน “เจ้าของบริษัท” ก็หมายถึง บุคคลธรรมดาที่เป็นเจ้าของเงินหรือทรัพย์สินที่นำมาลงทุนในบริษัท เจ้าของบริษัทคนเดียวนั้นจะต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้ค่ะ
- บรรลุนิติภาวะ
- มีสัญชาติไทย
- ไม่เป็นคนไร้ความสามารถ หรือ คนเสมือนไร้ความสามารถ หรือ ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
- ไม่เคยต้องโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดในความผิดฉ้อโกง โกงเจ้าหนี้ ยักยอก ความผิดเกี่ยวกับการค้าตามประมวลกฎหมายอาญา หรือ ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน เว้นแต่พ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ก่อนวันขอจัดตั้งบริษัท และ
- ไม่เคยต้องโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด หรือ ถูกเปรียบเทียบปรับในความผิดฐานให้ความช่วยเหลือสนับสนุน หรือ ร่วมประกอบธุรกิจ หรือ มีอำนาจครอบงำกิจการ หรือ มีอำนาจควบคุมบริษัท โดยแสดงว่าเป็นธุรกิจของตนแต่เพียงผู้เดียว หรือ ลงทุนแทนคนต่างด้าว เพื่อให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยง หรือ ฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เว้นแต่พ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีก่อนวันขอจัดตั้งบริษัท
เจ้าของคนเดียวจดได้เพียงบริษัทเดียวเท่านั้น
ร่างกฎหมายฉบับนี้เขียนไว้ตามหมวด 2 ที่สำคัญๆอยู่ 2 เรื่องที่หยิบยกมาให้ทุกคนทำความเข้าใจกันค่ะ
อ้างอิง : https://www.dbd.go.th/download/legal_file/Law_draft/dbd_law_hearing_onejus_630908.pdf
ข้อแรกคือ มาตรา 12 ว่า บริษัทจำกัดคนเดียวคือบริษัทที่ตั้งขึ้นด้วยความประสงค์จะแสวงหากำไรโดยมีเจ้าของทุนเป็นบุคคลธรรมดาคนเดียวซึ่งรับผิดจำกัดไม่เกินทุนจดทะเบียนของบริษัท
จริงๆแล้วหลักการข้อนี้จะเหมือนกันกับการจดจัดตั้งบริษัทจำกัดทั่วไปค่ะ
ส่วนมาตรา 13 ระบุไว้ว่า บุคคลจะเป็นเจ้าของทุนในบริษัทเกินกว่าหนึ่งบริษัทในเวลาเดียวกันไม่ได้ เว้นแต่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
นั่นแปลว่า คนหนึ่งคนจะมีได้เพียงแค่หนึ่งบริษัทเท่านั้น หากเจ้าของบริษัทคนเดียวอยากจดทะเบียนบริษัทใหม่ก็ต้องปิดบริษัทเดิมก่อนนั่นเองค่ะ
ทุนของบริษัทคนเดียวจำกัด จะเป็นเงินหรือทรัพย์สินก็ได้
ทุนของบริษัทจะเป็นเงินหรือทรัพย์สินก็ได้เลยค่ะ
หากเป็น “เงิน” ต้องมีการชำระเต็มจำนวนก่อนการขอจดทะเบียนเท่านั้น
ส่วนถ้าเป็น “ทรัพย์สิน” เจ้าของต้องมีแสดงการตีราคาตามเกณฑ์ที่ถูกต้อง โดยเจ้าของทุนต้องโอนทรัพย์สินนั้นให้แก่บริษัทภายใน 90 วันนับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทด้วยนะคะ
ในอนาคตสามารถแปรสภาพเป็น บริษัทจำกัด ได้
หากต้องการเพิ่มหุ้นส่วนเข้ามาในอนาคต ก็สามารถแปรสภาพเป็นบริษัทจำกัดได้ โดยตามหมวด 6 มาตรา 39 และ 40 ระบุไว้ว่า บริษัทอาจแปรสภาพเป็นบริษัทจำกัดได้โดยแบ่งทุนเป็นหุ้นมีมูลค่าเท่าๆ กัน และจัดให้มีผู้จองหุ้นให้ครบเป็นองค์ประกอบในการจัดตั้งบริษัทจำกัด และจะต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังบรรดาผู้ซึ่งบริษัทรู้ว่าเป็นเจ้าหนี้ของบริษัท บอกให้ทราบถึงความประสงค์ที่จะแปรสภาพอีกด้วยค่ะ
เมื่อแปรสภาพจากบริษัทจำกัดคนเดียวเป็นบริษัทจำกัดแล้ว ให้บริษัทเดิมหมดสภาพไปทันที และบริษัทจำกัดที่จัดขึ้นมาใหม่นั้นจะได้รับมาทั้งทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ และความรับผิดของบริษัทเดิมทั้งหมดเลยค่ะ
จัดตั้งบริษัทจำกัดคนเดียวก็ต้องทำบัญชี
ตามร่างกฎหมายมาตรา 29 และ 30 ระบุให้บริษัทจำกัดคนเดียวเป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี ที่จะต้องมีการทำบัญชี ส่งข้อมูลงบการเงินให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบ และนำส่งงบการเงินตามกฎหมายด้วยนะคะ ซึ่งหากบริษัทใดไม่ปิดบัญชี ไม่จัดทำงบการเงิน หรือไม่ยื่นงบการเงินจะมีโทษตามมาเช่นกันค่ะ
บทสรุปจดทะเบียนบริษัท (คนเดียว)
ข้อดีหลักๆ คือเหมาะกับผู้ประกอบการที่ทำทุกอย่างด้วยตนเอง เป็นรูปแบบการทำบริษัทที่เบ็ดเสร็จด้วยตนเองได้และไม่ต้องขัดแย้งกับผู้ถือหุ้นคนอื่นๆ เพิ่มความรวดเร็วในการทำธุรกิจได้อีกด้วยรวมถึงจูงใจให้คนเข้าสู่ระบบภาษีได้อย่างถูกต้องมากขึ้นด้วยนะคะ
แต่ก็ยังคงมีข้อเสียอยู่ค่ะ เรื่องมีค่าใช้จ่ายสูง ยังคงมีภาระด้านการทำบัญชีเหมือนนิติบุคคลอื่นๆ การบริหารงานและเงินทุนทั้งหมดก็ต้องแบกรับด้วยตนเองแต่เพียงผู้เดียวทั้งหมด
วันนี้ใครที่รอที่จะจดทะเบียนบริษัทคนเดียว คงจะต้องรอไปก่อนนะคะ แต่เรื่องนี้ก็ยังเป็นเรื่องที่มีผู้ประกอบการหลายคนลุ้นอยู่ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่อยากเปิดบริษัทเป็นของตัวเองที่ไม่ต้องอาศัยหุ้นส่วนคนอื่นๆ เพราะหากจดคนเดียวได้ก็จะมีกฎหมายรองรับที่สร้างความสบายใจได้มากกว่านั่นเองค่ะ
แต่สำหรับผู้ประกอบการทั่วไปที่อยากจะจดทะเบียนบริษัทนอกเหนือจากกรณีนี้ ทาง FlowAccount นั้นมีบริการจดทะเบียนนิติบุคคล บริการที่สร้างมาเพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับคนที่ไม่อยากเตรียมเอกสารที่ยุ่งยากเอง เพราะทางเรามีบริการจัดเตรียมเอกสารจดทะเบียนบริษัทแบบออนไลน์
About Author
ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA Thailand) เจ้าของเพจ “Chalitta Accounting” มีประสบการณ์ตรวจสอบบัญชีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ และเป็นที่ปรึกษาด้านบัญชีและภาษีแก่ผู้ประกอบการ SMEs
ร่วมสมัครเป็นนักเขียนของ FlowAccount ได้ที่นี่