ไม่มีใครบนโลกนี้อยากโดนเรียกภาษีย้อนหลัง แต่เชื่อมั้ยคะว่า การจ่ายภาษีย้อนหลังนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปแทบไม่ได้เลยสำหรับคนที่เข้าใจเรื่องภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจตัวเองดีพอ ถ้าไม่อยากเจอภาษีย้อนหลัง เราต้องเข้าใจเรื่องอะไรบ้าง ลองมาเรียนรู้กันในบทความนี้ค่ะ |
คำว่า ภาษีย้อนหลัง อาจเป็นคำที่ไม่น่าฟังเท่าไรนักสำหรับคนทำธุรกิจ
ใช่ค่ะ ไม่มีใครบนโลกนี้อยากโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง แต่เชื่อมั้ยคะว่า การจ่ายภาษีย้อนหลังนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปแทบไม่ได้เลยสำหรับคนที่เข้าใจเรื่องภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจตัวเองดีพอ
ถ้าไม่อยากเจอภาษีย้อนหลัง เราต้องเข้าใจเรื่องอะไรบ้าง ลองมาเรียนรู้กันในบทความนี้ค่ะ
เลือกอ่านได้เลย!
เปิดบริษัทจะต้องยื่นภาษีอะไรบ้าง
เมื่อเปิดบริษัทแล้ว ภาษีที่เกี่ยวข้องหลักๆ นั้นมีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่
ภาษีเงินได้นิติบุคคล
หมายถึง ภาษีที่จัดเก็บจากการประกอบกิจการของบริษัท ภาษีตัวนี้แยกต่างหากจากภาษีบุคคลธรรมดา และฐานในการคำนวณภาษี คือ กำไรสุทธิ คูณด้วยอัตราภาษีค่ะ ในปัจจุบันอัตราภาษีนั้นอยู่ที่ 15-20% ค่ะ
หลายคนเข้าใจผิดว่าถ้าไม่มีกำไร ก็ไม่ต้องยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลใช่ไหม
ความเชื่อนี้เป็นความเชื่อที่ผิด ถึงแม้ว่าเราเพิ่งเริ่มเปิดธุรกิจ ยังไม่มีรายได้ ค่าใช้จ่ายน้อยนิด แถมยังขาดทุน ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นประจำทุกปีนะคะ
แต่เมื่อ “ยื่นภาษี” แล้ว ต้อง “เสียภาษี” หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าธุรกิจมีกำไร (ทางภาษี) หรือไม่ และมากน้อยขนาดไหนนั่นเองค่ะ
ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
หมายถึง ภาษีที่ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่หักไว้ เมื่อจ่ายเงินแก่ผู้รับเงินค่ะ ซึ่งกฎหมายก็ได้ระบุประเภทค่าใช้จ่าย และอัตราภาษีไว้แตกต่างกัน จากนั้นผู้จ่ายเงินก็ต้องนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายแก่สรรพากรด้วยค่ะ
ยกตัวอย่าง เช่น
บริษัท A จ่ายเงินค่าบริการแก่นาย B 100 บาท ตามกฎหมายแล้ว “ค่าบริการ” ต้อง หัก ณ ที่จ่าย 3% ทำให้นาย B ได้รับเงินแค่ 97 บาท และส่วนที่บริษัท A หักไว้ 3 บาทก็จะต้องนำส่งภาษีแก่สรรพากรค่ะ
แต่ข้อดีของภาษีหัก ณ ที่จ่ายนี้ เราต้องนำส่งสรรพากรเพียงแค่เดือนที่มีรายการเท่านั้น นั่นแปลว่า ถ้าเดือนนี้ไม่ได้จ่ายค่าใช้จ่ายใดที่เข้าเงื่อนไขการหัก ณ ที่จ่าย เราก็ไม่จำเป็นต้องนำส่งภาษี
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
หมายถึง ภาษีที่เก็บจากการขายสินค้า หรือการให้บริการในแต่ละขั้นตอนการผลิต และจำหน่ายสินค้าหรือบริการ ทั้งที่ผลิต ภายในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ
ภาษีตัวนี้ไม่ใช่ผู้ประกอบการทุกคนจะต้องจดทะเบียนและเรียกเก็บลูกค้าค่ะ เพราะว่ากฎหมายได้ระบุไว้ว่า หลักเกณฑ์ในการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น ให้ดูที่รายได้ ถ้าเข้าเงื่อนไข 2 เงื่อนไขนี้ก็ต้องจด VAT และเรียกเก็บภาษี 7% จากลูกค้าให้เรียบร้อย
- รายได้ไม่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น ขายอาหารสัตว์ พืชผลทางการเกษตร เป็นต้น
- รายได้ตั้งแต่ 1.8 ล้านบาทต่อปี ก็ต้องจดภายใน 30 วัน
ฉะนั้น ถ้าบริษัทไหนมีรายได้เข้าเงื่อนไข 2 ข้อนี้ สิ่งที่ต้องรีบไปทำก็คือ การจดทะเบียนเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับกรมสรรพากรค่ะ
การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับธุรกิจที่เข้าข่ายแล้ว มีทั้งหมด 2 ทางเลือก คือจดเมื่อเริ่มประกอบกิจการเลยก็ได้ จะเหมาะกับธุรกิจที่มีการลงทุนสูงในช่วงแรก เพื่อให้ได้ใช้ประโยชน์จากภาษีซื้อนั่นเอง
แต่หากเลือกจดทะเบียนหลังจากที่รายได้ถึง 1.8 ล้านบาทแล้ว ก็ต้องรีบจดทันทีนะคะ เพราะว่าจังหวะที่รายได้ถึงแต่ยังไม่ได้จด จะต้องมีการยื่นภาษีขายกับกรมสรรพากร แต่ยังไม่มีสิทธิในการออกใบกำกับภาษีเพื่อเรียกเก็บจากลูกค้า และไม่สามารถนำภาษีขายมาลบภาษีซื้อได้อีกด้วยค่ะ
สรุปสั้นๆ เป็นตารางง่ายๆ ภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจมีดังนี้
สรรพากรรู้รายได้เราได้อย่างไร
เข้าใจเรื่องภาษีที่ต้องจ่ายแล้ว ถัดมาเรามาทำความเข้าใจกันต่อค่ะว่าสรรพากรนั้นรู้รายได้ของเราได้อย่างไร ถึงแม้ว่าเราจะไม่เคยกระซิบบอกใครก็ตาม
- ข้อมูลภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภาษีหัก ณ ที่จ่ายไม่ได้เกี่ยวข้องแค่เฉพาะคนจ่ายเงินเท่านั้น ในทางกลับกันบริษัทก็ต้องรับเงินจากลูกค้าใช่ไหมคะ แน่นอนว่าถ้าเป็นรายได้ประเภทบริการ ลูกค้าของเราก็ต้องหัก ณ ที่จ่ายนำส่งแก่สรรพากรเช่นกันค่ะ จากข้อมูลนี้สรรพากรก็รู้ได้แบบไม่ต้องพยายามเยอะว่าบริษัทเรามีรายได้เท่าไรค่ะ
- ธนาคาร และผู้ให้บริการทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาหลายคนคงเคยได้ยินคำว่า “ธุรกรรมลักษณะเฉพาะ” ที่กำหนดให้ธนาคารและผู้ให้บริการทางการเงินส่งข้อมูลให้กับสรรพากรค่ะ
อธิบายง่ายๆ ก็คือ ถ้ามีเงินเข้าบัญชีธนาคารหรือ e-wallet ตามเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ ข้อมูลจะถูกส่งตรงไปหาสรรพากรทันที
-
- จำนวนตั้งแต่ 0-400 ครั้งขึ้นไป และ มียอดรวมธุรกรรมขาเข้า ตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป หรือ
- เงินเข้าบัญชี 3,000 ครั้งขึ้นไป
- ประชาชนร้องเรียนกรมสรรพากร รู้หรือไม่ว่าใครๆ ก็แจ้งเบาะแสการเลี่ยงภาษีกับสรรพากรได้ เพียงแค่ปลายนิ้ว ที่ช่องทางนี้ https://interapp61.rd.go.th/taxcomplain2/taxcomplain_landing/home.html
- การสุ่มตรวจ เคยได้ยินไหมคะว่าบางครั้งเจ้าหน้าที่สรรพากรมาสุ่มตรวจตามร้านอาหาร นั่งนับจำนวนลูกค้าที่เข้ามาทานอาหาร เพื่อคำนวณรายได้ในแต่ละวันของกิจการ เหตุการณ์แบบนี้อาจเกิดกับธุรกิจเราได้เสมอค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีข้อมูลอื่นๆ ที่ทำให้สรรพากรสงสัยว่าเราหลีกเลี่ยงภาษีค่ะ
- ระบบ Big Data Analytic สรรพากรสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลอันมหาศาลที่ปรากฏอยู่ทุกแห่งในประเทศไทย เพื่อวิเคราะห์ว่าบริษัทนี้มีแหล่งรายได้จากไหน มีสินทรัพย์อะไร มีการใช้จ่ายอย่างไร และเอามาเปรียบเทียบกับการเสียภาษีได้ในพริบตา
จากที่เราเล่ามา ทุกคนคงจะพอเดาออกแล้วใช่ไหมคะว่า การเลี่ยงภาษีจากการทำธุรกิจในสมัยนี้นั้นทำได้ยากมาก
ถ้าไม่ชำระในกำหนดเวลาหรือชำระไม่ถูกต้องจะมีความรับผิดอย่างไรบ้าง
อย่างแรกต้องบอกก่อนว่า การไม่ชำระภาษีในกำหนดเวลา หรือชำระไม่ถูกต้องนั้นเราต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่เรียกว่า ค่าปรับและเงินเพิ่ม ซึ่งอัตราแตกต่างกันไปตามแต่ละประเภทภาษี รวมถึงระยะเวลาที่เราไม่ได้ยื่นภาษีค่ะ
แต่นอกจากค่าใช้จ่ายที่ว่านี้ ยังมีค่าเสียเวลาที่เจ้าของธุรกิจต้องหาเอกสาร นำบัญชีไปชี้แจงแก่สรรพากร เพื่อให้เราถูกปรับน้อยที่สุด หรือบรรเทาค่าปรับอันแสนสาหัสลงค่ะ
ไม่อยากโดนภาษีย้อนหลัง ต้องทำอย่างไร
ถ้าไม่อยากโดนภาษีย้อนหลัง เราอาจต้องแนะนำทุกท่านตั้งต้นจากการทำบัญชีให้ถูกต้องเสียก่อน เพื่อที่จะมีข้อมูลสำหรับชี้แจงแก่สรรพากร หรือว่าจะได้รู้สถานะของธุรกิจจริงๆ แล้วจึงคำนวณภาษีได้ค่ะ
โปรแกรมบัญชี FlowAccount ช่วยลดความเสี่ยงโดนภาษีย้อนหลังได้เพียงแค่ใช้เครื่องมือนี้ช่วยบันทึกบัญชีแบบออนไลน์ มีข้อมูลรายได้และค่าใช้จ่ายครบจบในที่เดียว ทดลองใช้กันดูค่ะ เผื่อว่าจะมีประโยชน์สำหรับเจ้าของธุรกิจค่ะ
ท้ายที่สุดแล้ว เรื่องภาษีอาจเป็นเรื่องที่น่ากังวลสำหรับคนทำธุรกิจอยู่ไม่น้อย เพราะความยุ่งยาก และโทษปรับมากมายที่อาจเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ แต่ทว่าเราเองก็มีทางเลือกที่จะเริ่มต้นทำบัญชี และเสียภาษีอย่างถูกต้องตั้งแต่วันนี้ค่ะ ก่อนที่จะไม่มีทางเหลือให้เลือกตอนที่โดนตรวจสอบภาษีในอนาคตนะคะ
About Author
เพจให้ความรู้เรื่องบัญชีสำหรับเจ้าของธุรกิจ ที่อยากให้บัญชีเป็นเรื่องง่าย ใกล้ตัว และมีประโยชน์กับธุรกิจ ภายใต้แนวคิดทีว่า “ทำบัญชี แล้วจะมีกำไร”
ร่วมสมัครเป็นนักเขียนกับ FlowAccount ได้ที่นี่