ขั้นตอนการปิดบริษัทเป็นอย่างไร มีเรื่องอะไรที่ต้องเช็กบ้าง

ปิดบริษัท

เปิดบริษัทแล้วต้องเลิกรา หลายคนอาจลังเลสงสัยว่า จริงๆ แล้วธุรกิจของเราเป็นแบบนี้ มันมาถึงจุดที่ต้องเลิกแล้วจริงๆ ไหมนะ และถ้าต้องเลิกจริงๆ เราต้องทำอะไรบ้าง การเลิกอาจหมายถึง “การเริ่มต้นครั้งใหม่” ในเวอร์ชั่นที่ดีกว่าเก่าก็เป็นได้ เรามาทำความเข้าใจในบทความนี้กันค่ะ

เปิดบริษัทแล้วต้องเลิกรา ไม่ใช่เรื่องแปลกในวงการธุรกิจ แต่ทว่าหลายคนอาจลังเลสงสัยว่า จริงๆ แล้วธุรกิจของเราเป็นแบบนี้ มันมาถึงจุดที่ต้องเลิกแล้วจริงๆ ไหมนะ และถ้าต้องเลิกจริงๆ เราต้องทำอะไรบ้าง 

 

ในวันนี้ FlowAccount จะมาสรุปให้ทุกคนฟังแบบครบจบทุกมุมมอง สำหรับเจ้าของธุรกิจที่คิดจะเลิกบริษัท ถ้าพร้อมแล้ว ไปอ่านพร้อมๆ กันเลยค่ะ

 

 

สัญญาณบ่งบอกธุรกิจต้องปิดตัว มีอะไรบ้าง

 

คนที่เคยมีประสบการณ์ทำธุรกิจมาก่อน จะรู้ดีว่าการที่ธุรกิจเจ๊ง จนถึงขั้นต้องปิดตัวนั้น ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในพริบตา แต่ทว่าเรามักจะค้นพบสัญญาณผิดปกติบางอย่างได้จากงบการเงิน สัญญาณที่ว่าคืออะไร ลองมาเช็กกันทีละข้อเลย

 

ปิดบริษัท

 

  • ขาดทุนติดต่อกันหลายปี ลองเปิดดูงบกำไรขาดทุนของกิจการตัวเองสักนิดว่ามี “ขาดทุน” ติดต่อกันมากกว่า 1 ปีขึ้นไปหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนี้แล้วอาจส่อแววธุรกิจไปต่อไม่ได้ในอนาคต

 

  • ไม่มีกำไรสะสม กำไรสะสมเป็นสิ่งที่แสดงในงบแสดงฐานะการเงิน ในส่วนของผู้ถือหุ้น ถ้ากิจการไม่มีกำไรสะสมเหลืออยู่เลย แปลว่า ทุกปีที่ทำธุรกิจมานั้น ไม่มีอะไรงอกเงยในส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มเลยค่ะ แม้จะไม่ถึงขั้นขาดทุนสะสม แต่มันอาจหมายถึง การที่ต้องแยกย้ายจากธุรกิจนี้ แล้วเอาเวลาไปทำอย่างอื่นแทนก็ได้

 

  • เงินสดไม่พอ สัญญาณตัวสำคัญอีกอย่างที่ขาดไม่ได้ ก็คือ เรื่องกระแสเงินสด ธุรกิจที่เริ่มหมุนเงินไม่ทัน ต้องยืมเงินเจ้าของอยู่บ่อยๆ อาจเป็นสัญญานเตือนกลายๆ ว่า เราควรหยุดทำธุรกิจนี้ เพราะถ้ายิ่งทำ ก็จะยิ่งเข้าเนื้อ

 

  • หนี้สินล้นสินทรัพย์ ธุรกิจมีหนี้ได้ แต่ไม่ควรจะมีมากจนเกินกว่าสินทรัพย์ที่มี เพราะสัญญานแบบนี้ กำลังเตือนเราว่า ภาระจากหนี้สิน อาจจะมากเกินกว่า ที่บริษัทรับไหว สุดท้าย ขายสินทรัพย์ทิ้งทั้งหมด ก็ยังไม่สามารถปลดหนี้ได้เลย

 

ขั้นตอนจดทะเบียนเลิกบริษัทต้องทำอย่างไรบ้าง

 

ถัดมาเมื่อธุรกิจมีสัญญานการปิดตัวมาลางๆ แล้ว และผู้ถือหุ้นทุกคนต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่า พวกเราควรหยุดทำธุรกิจ และปิดกิจการกันเถอะ ในความเป็นจริงแล้วมีขั้นตอนที่จะต้องทำมากมาย ไม่ใช่แค่แขวนป้ายปิดร้านค่ะ ขั้นตอนที่ว่ามีอะไรบ้าง ลองมาดูกันเลย

 

1. จดทะเบียนเลิกบริษัท

 

  • ออกหนังสือนัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น เพื่อให้มีมติพิเศษในการเลิกบริษัท ก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่า 14 วัน ส่งทางไปรษณีย์ตอบรับหรือส่งมอบถึงตัวผู้ถือหุ้น และโฆษณาในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอย่างน้อย 1 ครั้ง 
  • จัดประชุมผู้ถือหุ้น โดยผู้ถือหุ้นจะต้องมีมติพิเศษให้เลิกด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนหุ้นที่เข้าประชุม 
  • ประกาศหนังสือพิมพ์อย่างน้อย 1 ครั้ง และส่งหนังสือบอกกล่าวเจ้าหนี้ (ถ้ามี) ภายใน 14 วัน นับจากวันที่มีมติเลิกบริษัท
  • แต่งตั้งผู้ชำระบัญชี เพื่อยื่นคำขอจดทะเบียนเลิกบริษัทต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าภายใน 14 วันนับจากวันที่มีมติเลิกบริษัท

 

2. เคลียร์บัญชีสินทรัพย์และหนี้สิน

 

ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนสำคัญมากๆ สำหรับการจดเลิกบริษัท ที่เจ้าของธุรกิจจะต้องสำรวจสินทรัพย์ และหนี้สินที่เหลืออยู่ เพื่อเคลียร์รายการคงค้างทั้งหมด ก่อนที่จะทำงบเลิกกิจการค่ะ 

ยกตัวอย่างเช่น

  • ลูกหนี้ ติดตามรับชำระเงินให้ครบถ้วน
  • สินค้าคงเหลือ ที่เหลืออยู่จะต้องขายออกให้หมด
  • สินทรัพย์อื่น เช่น ที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ ก็ควรจะเคลียร์บัญชีขายออกไป และรับเงินสดเข้ามาเก็บไว้ในบริษัท
  • เจ้าหนี้ ติดตามจ่ายชำระเจ้าหนี้ให้ครบถ้วน เหลือเพียงแต่หนี้สินจากการเลิกกิจการ เช่น ค่าทำบัญชี ค่าสอบบัญชี

การเคลียร์บัญชีเช่นนี้ จะทำให้เรารู้ว่ากิจการเหลือเงินสดจริงๆที่จะต้องจ่ายคืนผู้ถือหุ้นทุกคนเท่าใด และเมื่อจัดทำงบ จดทะเบียนชำระบัญชีก็จะได้แบ่งคืนง่าย ไม่ต้องมีเรื่องยุ่งยากกังวลใจค่ะ

 

 

3. ส่งภาษีให้ครบถ้วน และแจ้งเลิกกิจการกับสรรพากร 

 

นอกจากเราจะจดเลิกกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้ว สิ่งที่ต้องทำนอกเหนือจากนั้นก็คือ การเช็กว่าส่งภาษีต่างๆ ครบถ้วนแล้วหรือไม่ และถ้าใครจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ อย่าลืมไปแจ้งเลิกกิจการกับกรมสรรพากรด้วยนะ 

 

สรุปภาษี 4 เรื่องที่ต้องเช็กก่อนปิดบริษัท

 

ภาษีปิดบริษัท

 

  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม แจ้งเลิกกิจการที่สรรากร ภายใน 15 วัน นับจากวันที่ได้จดทะเบียนเลิกต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และต้องยื่นแบบ ภ.พ.30 ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้รับ “หนังสือขีดชื่อเลขประจำตัวผู้เสียภาษี” จากกรมสรรพากร
  • ภาษีเงินได้นิติบุคคล ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 พร้อมงบการเงิน ณ วันจดทะเบียนเลิกกิจการภายใน 150 วัน นับจากวันที่จดทะเบียนเลิก
  • ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ยื่นแบบ ภ.ง.ด.3, 53 ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดจากวันที่จดทะเบียนเลิกให้ครบถ้วน เช่น การหัก ณ ที่จ่าย ค่าทำบัญชี ค่าสอบบัญชี เป็นต้น
  • ภาษีธุรกิจเฉพาะ ยื่นแบบ ภธ.40 ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากวันที่เลิกในกรณีที่มีบัญชีดอกเบี้ยค้างรับ หรือดอกเบี้ยในงบการเงิน

 

4. แจ้งเลิกบริษัทกับประกันสังคม

 

กรณีที่บริษัทได้ขึ้นทะเบียนประกันสังคมไว้ สิ่งที่เราต้องทำ 2 เรื่อง ตามกฎหมายมีดังนี้

  1. ทำหนังสือแจ้งพนักงานที่จะเลิกจ้างล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 1 งวดการจ่ายค่าจ้าง และจ่ายค่าชดเชยตามอายุการทำงานในอัตราที่กฎหมายกำหนด  
  2. แจ้งเลิกกิจการโดยยื่นแบบ สปส.6-15 การเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงนายจ้าง  ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลง 

 

5. ทำงบการเงิน ณ วันเลิกบริษัท และจดชำระบัญชี

 

แม้กิจการทำตามข้อ 1-4 เรียบร้อยแล้ว ก่อนที่ไปจะจดทะเบียนชำระบัญชีสำเร็จ ณ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ก็ยังมีพิธีรีตองมากมาย ที่ต้องทำตามเช็คลิสดังนี้

 

  • ทำงบการเงินชุดสุดท้าย ณ วันเลิกบริษัท หรือวันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนเลิก โดยให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบและแสดงความเห็นว่าถูกต้อง 
  • นัดประชุมผู้ถือ เพื่ออนุมัติงบการเงิน ณ วันเลิกกิจการ โดยต้องลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ท้องที่อย่างน้อย 7 วันก่อนประชุมและส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ หรือส่งมอบถึงตัวผู้ถือหุ้น
  • จัดประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อลงมติในการอนุมัติงบการเงิน ณ วันเลิกกิจการและอนุมัติการชำระบัญชี
  • หลังจากจ่ายค่าใช้จ่ายในการชำระบัญชีแล้ว หากมีเงินคงเหลือให้คืนทุนแก่ผู้ถือหุ้นตามสัดส่วนที่ถือหุ้นหรือตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ
  • ออกหนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติรายงานการชำระบัญชี
  • ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อมีมติอนุมัติรายงานการชำระบัญชี
  • ผู้ชำระบัญชีจัดการทำคำขอจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี และยื่นจดทะเบียนต่อนายทะเบียนภายใน 14 วันนับจากมีมติเสร็จการชำระบัญชี

 

ขั้นตอนเลิกบริษัท

 

ทั้งหมดนี้เป็น 5 ขั้นตอนโดยสรุปของการจดทะเบียนเลิกบริษัทค่ะ ซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อยค่อนข้างเยอะ และต้องจัดเตรียมเอกสารมากมายพอสมควรเลย แต่สิ่งสำคัญที่อยากให้ทุกคนเก็บไปคิด การเลิกธุรกิจ อาจไม่ใช่สัญลักษณ์ของคำว่า “แพ้” เสมอไป เพราะทุกครั้งที่เราเลิก มันอาจหมายถึง “การเริ่มต้นครั้งใหม่” ในเวอร์ชั่นที่ดีกว่าเก่าก็เป็นได้ค่ะ

About Author

ลองใช้งานFlowAccount ฟรี 30 วันได้ง่ายๆ วันนี้
ลองใช้งานฟรีได้ง่ายๆ วันนี้
สมัครเลย

You may also like