หน้าที่ของเอกสารทางธุรกิจ

หน้าที่ของเอกสารทางธุรกิจ


เอกสารทางธุรกิจ


สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจใหม่หลาย ๆ คน คงจะสับสนไม่ใช่น้อยใช่ไหมครับ ว่าเอกสารในการซื้อ ขาย และเอกสารทางธุรกิจ ใบไหน มีหน้าที่อะไรบ้าง และควรใช้เมื่อไหร่?


ทางทีมงาน FlowAccount.com เลยรวบรวม “เอกสารทางธุรกิจ” ที่มักจะใช้กันอยู่บ่อยๆ มาแนะนำให้ทุกท่านได้รู้จักและนำไปใช้ได้อย่างถูกต้องกันนะครับ


ให้เราอ่านให้ฟัง


 


ใบเสนอราคา

ใบเสนอราคา (Quotation)


ใบเสนอราคาเป็นเอกสารที่ผู้ประกอบการ ออกให้กับฝ่ายลูกค้า(ผู้ซื้อ) เพื่อให้ลูกค้าพิจารณาราคาสินค้า/บริการ รวมถึงเงื่อนไขต่าง ๆ ก่อนตัดสินใจซื้อ ดังนั้นใบเสนอราคาช่วยให้เราสื่อสารราคาที่คาดว่าจะบวกเพิ่ม หรือบอกต้นทุนของงานกับลูกค้าของเรานั่นเองครับ


ใช้เมื่อไหร่ : ส่งใบเสนอราคาให้ลูกค้า เมื่อลูกค้าเจ้าใดเจ้าหนึ่งสอบถามต้นทุน / ราคาที่เฉพาะเจาะจงกับงาน / สินค้านั้นๆ


ข้อควรระวัง : แต่อย่าเผลอส่งใบเสนอราคาให้ลูกค้า เมื่อเราต้องการจะแจ้งหนี้หรือเรียกเก็บเงินจากลูกค้านะครับ อันนั้นเป็นหน้าที่ของใบแจ้งหนี้หรือใบวางบิลครับผม


สามารถเรียนรู้ข้อมูลเพิ่มเติม


ใบแจ้งหนี้

ใบแจ้งหนี้ (Invoice)


ใบแจ้งหนี้เป็นเอกสารที่ส่งไปยังลูกค้า เมื่อเราต้องการให้ลูกค้าจ่ายเงินสำหรับค่าสินค้า หรือค่าบริการที่เราได้ทำเสร็จแล้ว

 
ใช้เมื่อไหร่ : เมื่อเราทำงานบางอย่างให้ลูกค้าเสร็จแล้ว เราอาจจะต้องส่งใบแจ้งหนี้เพื่อให้ลูกค้าทราบว่า จะต้องจ่ายเงินให้กับค่าอะไร เท่าไหร่ และเมื่อใด

 
ข้อควรระวัง : แต่ไม่ควรใช้กับการตกลงราคากับลูกค้านะครับ อันนั้นจะเป็นหน้าที่ของใบเสนอราคาครับ

 
สามารถเรียนรู้ข้อมูลเพิ่มเติม


ใบวางบิล


ใบวางบิล (Billing Note)


ใบวางบิลเป็นเอกสารที่ผู้ประกอบการออกเพื่อให้ลูกค้าทราบถึงจำนวนเงินที่ต้องจ่าย และใช้เป็นเอกสารประกอบการจ่ายเงิน

 
ใช้เมื่อไหร่ : เป็นเอกสารที่เราแจ้งให้ลูกค้าทราบว่ามีจำนวนเงินที่ต้องจ่ายสำหรับค่าสินค้า หรือค่าบริการเป็นจำนวนเท่าใด รวมทั้งอาจนัดวันรับเช็คหรือช่องทางการจ่ายเงินด้วยพร้อมกัน

 
ข้อควรระวัง : ใบวางบิลเป็นเอกสารแจ้งเตือนเท่านั้นนะครับ ไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานการจ่ายเงินแทนใบเสร็จรับเงิน หรือใบกำกับภาษีได้ครับ
 

สามารถเรียนรู้ข้อมูลเพิ่มเติม


ใบส่งสินค้า/ใบกำกับภาษี


ใบส่งสินค้า/ใบกำกับภาษี (Delivery note/Tax Invoice)


ใบส่งสินค้า/ใบกำกับภาษี ใช้ในการสื่อสารกับลูกค้าว่า เราได้ทำการส่งสินค้าให้แล้วตามเงื่อนไขและปริมาณที่ได้ตกลงกันไว้

 
ใช้เมื่อไหร่ : เมื่อเราส่งสินค้าให้ลูกค้า อาจจะต้องส่งใบส่งสินค้า/ใบกำกับภาษี เพื่อให้ลูกค้าทราบว่าจะได้รับสินค้ารายละเอียดเป็นอย่างไร มีปริมาณและมูลค่าเท่าไหร่ และลงลายมือชื่อเพื่อรับสินค้า ว่าได้รับครบถ้วนแล้วตามเงื่อนไขที่ตกลงกัน

 
ข้อควรระวัง : ไม่ควรใช้ในการตกลงว่าได้รับเงินกับลูกค้าแล้ว หรือออกเพื่อการตกลงราคากัน เพราะโดยทั่วไปใบส่งสินค้า/ใบกำกับภาษี จะใช้ในการบอกรายละเอียด ปริมาณและมูลค่า หรือบางกิจการอาจจะบอกรายละเอียด และปริมาณเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพื่อการควบคุมภายในด้านสินค้าคงเหลือครับ

 
*หมายเหตุ : จะออกเอกสารใบกำกับภาษีได้ในกรณีที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วเท่านั้นนะครับ

 
สามารถเรียนรู้ข้อมูลเพิ่มเติม


ใบเสร็จรับเงิน

ใบเสร็จรับเงิน (Receipt)


ใบเสร็จรับเงิน ช่วยให้เราบอกกับลูกค้าได้ว่าเราได้รับเงินค่าสินค้าหรือค่าบริการที่เรียกเก็บจากใบแจ้งหนี้เรียบร้อยแล้ว *ถ้าเป็นการให้บริการจะใช้เป็น ใบแจ้งหนี้/ใบเสร็จรับเงินครับ

 
ใช้เมื่อไหร่ : ในวันที่ลูกค้าจ่ายเงิน หน้าที่ของเราคือออกใบเสร็จรับเงินเพื่อยืนยันว่าได้รับเงินหรือรับชำระราคาระหว่างกันแล้ว อย่างไรก็ตามคุณอาจจะออกใบแจ้งหนี้พร้อมใบเสร็จรับเงินได้ในชุดเดียวกันได้เช่นกันครับ

 
ข้อควรระวัง : ถ้าคุณยังไม่ได้รับเงินจากลูกค้า แต่แค่ต้องการแจ้งให้ลูกค้าทราบว่าจะต้องจ่ายเงินกับเรา แบบนี้ต้องใช้ใบแจ้งหนี้หรือใบวางบิลเท่านั้นนะครับ

 
*หมายเหตุ : ธุรกิจให้บริการ ถ้าจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว จะใช้เป็น ใบกำกับภาษี/ใบเสร็จรับเงิน แทนครับ

 
สามารถเรียนรู้ข้อมูลเพิ่มเติม


ใบลดหนี้

ใบลดหนี้ (Credit Note)


ใบลดหนี้เป็นเอกสารใบกำกับภาษีชนิดหนึ่งที่ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการออกให้เมื่อจำนวนของสินค้าหรือมูลค่าของการให้บริการน้อยกว่าที่ตกลงซื้อขายกันไว้ หรือมีการคำนวณราคาผิดพลาด (สูงกว่า) จากที่ตกลงซื้อขายกันไว้

 
ใช้เมื่อไหร่ : เมื่อส่งสินค้าไม่ครบจำนวน หรือคำนวณสินค้าหรือบริการผิดพลาดสูงกว่าที่ตกลงกันไว้ ควรออกใบลดหนี้ในเดือนเดียวกับที่ออกใบกำกับภาษีที่ส่งสินค้าไม่ครบหรือคำนวณผิดพลาด หรือถ้าไม่สามารถออกได้ทันในเดือนเดียวกัน สามารถออกในเดือนถัดมาได้ครับ และเมื่อออกใบลดหนี้แล้วต้องนำไปรวมคำนวณภาษีซื้อภาษีขายในเดือนเดียวกับที่ออกใบลดหนี้นั้นด้วยนะครับ

 
ข้อควรระวัง : ผู้ประกอบการที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไม่สามารถออกใบลดหนี้ได้ และจะออกใบลดหนี้ได้ต้องมีการออกใบกำกับภาษีไปแล้วและต้องการลดหนี้ลงจากใบกำกับภาษีใบนั้น ใบกำกับภาษีอย่างย่อก็ออกใบลดหนี้ได้ แต่ต้องมีชื่อของผู้ซื้อสินค้าและผู้รับบริการอย่างครบถ้วนด้วยนะครับ

 
สามารถเรียนรู้ข้อมูลเพิ่มเติม


ใบเพิ่มหนี้


ใบเพิ่มหนี้ (Debit Note)


ใบลดหนี้เป็นเอกสารที่ถือว่าเป็นใบกำกับภาษีชนิดหนึ่งที่ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการออกให้เมื่อจำนวนของสินค้าหรือบริการมีจำนวนเกินกว่าที่ตกลงซื้อขายกันไว้ หรือมีการคำนวณราคาผิดพลาด (ต่ำกว่า) จากที่ตกลงซื้อขายกันไว้

 
ใช้เมื่อไหร่ : เมื่อส่งสินค้าเกินกว่า หรือคำนวณราคาสินค้าหรือบริการต่ำกว่าที่ตกลงกันไว้ ควรออกใบเพิ่มหนี้ทันทีในเดือนเดียวกับใบกำกับภาษีที่ออกต่ำกว่านั้น หรือถ้าไม่สามารถออกได้ทันในเดือนเดียวกันสามารถออกในเดือนถัดมาได้ และเมื่อออกใบเพิ่มหนี้แล้วต้องนำไปรวมคำนวณภาษีซื้อภาษีขายในเดือนที่ออกใบเพิ่มหนี้นั้นด้วยนะครับ

 
ข้อควรระวัง : ผู้ประกอบการที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไม่สามารถออกใบเพิ่มหนี้ได้ และจะออกใบเพิ่มหนี้ได้ต้องมีการออกใบกำกับภาษีไปแล้วและต้องการเพิ่มหนี้ขึ้นจากใบกำกับภาษีใบนั้น ใบกำกับภาษีอย่างย่อก็ออกใบเพิ่มหนี้ได้ แต่ต้องมีชื่อที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการอย่างครบถ้วนครับ

 
สามารถเรียนรู้ข้อมูลเพิ่มเติม


ผ่านหน้าตาเอกสารมาทั้งหมด 7 แบบด้วยกัน ซึ่งเอกสารข้างต้นนั้นอยู่ในเมนูเอกสารขาย ซึ่งโปรแกรมระบบบัญชี FlowAccount ก็ช่วยให้เจ้าของธุรกิจที่ต้องทำเอกสารหลากหลายฉบับนี้ลดเวลาการทำงานลง ทดลองใช้งานฟรี 30 วันกันได้


 


ใบสั่งซื้อ

ใบสั่งซื้อ (Purchase order)


ใบสั่งซื้อ เป็นเอกสารที่ใช้แจ้งข้อตกลงเบื้องต้นสำหรับสินค้าและบริการที่ต้องการ

 
ใช้เมื่อไหร่ : เป็นเอกสารที่เรามักจะได้รับจากลูกค้า ซึ่งใช้แจ้งข้อตกลงเบื้องต้นสำหรับสินค้าและบริการที่ลูกค้าต้องการ ในทางกลับกันถ้าเราต้องการซื้อสินค้าหรือจ้างบริการ เราก็ออกใบนี้เพื่อแจ้งกับผู้ขายสำหรับสินค้าหรือบริการที่ต้องการ โดยใช้ประกอบกับใบแจ้งหนี้ รวมถึงใบส่งสินค้า/ใบกำกับภาษี ในการบริหารการจัดซื้อครับ
 

ข้อควรระวัง : อย่าเผลอใช้แทนใบส่งสินค้า หรือใบกำกับภาษีนะครับ เพราะใบสั่งซื้อเป็นเอกสารแสดงความต้องการซื้อหรือจ้างเบื้องต้นเท่านั้น ไม่ได้หมายถึงการรับสินค้าหรือบริการแล้วตามข้อตกลงครับ
 

*หมายเหตุ : ถ้าใช้เพื่อแจ้ง = เราจะซื้อของ (เราเป็นลูกค้า) / แต่ถ้าได้รับแจ้ง = ลูกค้าจะซื้อของเรา (เราเป็นคนขาย)


ใบรับสินค้า

ใบรับสินค้า (Goods Receipt)


ใบรับสินค้าเป็นเอกสารที่ช่วยให้เราตรวจสอบและยืนยันจำนวนการสั่งซื้อสินค้ากับจำนวนสินค้าที่ได้รับจากการส่งสินค้าของผู้จำหน่ายได้

 
ใช้เมื่อไหร่ : ใช้ในการตรวจนับจำนวนสินค้าและมูลค่าสินค้าถูกต้องตรงกับใบส่งสินค้าของผู้จำหน่าย อย่าลืมลงลายมือชื่อยืนยันการรับสินค้าทั้งในใบรับสินค้าและใบส่งสินค้าของผู้จำหน่ายเพื่อเป็นหลักฐานการรับสินค้าด้วยนะครับ

 
ข้อควรระวัง : ไม่ควรใช้ใบรับสินค้า ในการสั่งซื้อสินค้า อันนั้นเป็นหน้าที่ของใบสั่งซื้อครับ 

ตัวอย่างหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย

หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (Withholding tax certificate)


หนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย เป็นเอกสารที่บริษัทใช้ประกอบการจ่ายเงินว่าได้มีการหักเงินบางส่วนไว้ และเพื่อนำส่งเงินนั้นให้รัฐ

 
ใช้เมื่อไหร่ : เป็นเอกสารที่บริษัทในฐานะผู้จ่ายต้องออกเอกสารในทุกๆ ครั้งที่มีการจ่ายค่าบริการให้กับผู้อื่น ซึ่งได้มีการหักเงินบางส่วนไว้และนำส่งให้สรรพากร ตามเงื่อนไขที่สรรพากรกำหนด ซึ่งแต่ละประเภทค่าใช้จ่ายจะมีการหักไว้ไม่เท่ากันครับ

 
ข้อควรระวัง : ไม่สามารถใช้ทดแทนใบแจ้งหนี้/ใบกำกับภาษี หรือใบเสร็จรับเงินจากทางผู้ขายหรือผู้ให้บริการได้ครับ

 
สามารถเรียนรู้ข้อมูลเพิ่มเติม


 

ทีนี้พอเข้าใจและเห็นความแตกต่างของแต่ละ “เอกสารทางธุรกิจ” กันมากขึ้นหรือยังครับ หากพร้อมแล้วและอยากลองใช้เอกสาร มาลองใช้ปรแกรมบัญชีสำเร็จรูป FlowAccount ที่คุณสามารถเปิดเอกสารเหล่านี้ได้อย่างง่าย สะดวกรวดเร็ว และยังสมัครใช้งานฟรี ไม่ต้องมีบัตรเครดิตก็สมัครใช้งานได้ครับ

 


ลองใช้งานFlowAccount ฟรี 30 วันได้ง่ายๆ วันนี้
ลองใช้งานฟรีได้ง่ายๆ วันนี้
สมัครเลย

You may also like