ขายของออนไลน์ใช้คอนโดจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้หรือไม่

จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

สิ่งที่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ควรรู้ อย่าลืมเช็กเรื่องการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้รอบคอบ และปฏิบัติตามกฎหมายให้ถูกต้อง  ปัญหาที่ตามมาของพ่อค้า-แม่ค้าที่ยอดขายปังๆ ก็คือเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ที่กฎหมายบังคับให้จดทะเบียนถ้ารายได้ถึงเกณฑ์ ในบทความนี้จะมาเล่าให้ทุกคนฟังกันค่ะ

ปัจจุบันพ่อค้าแม่ค้าไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านก็สามารถขายของได้ เพราะโลกออนไลน์ทำให้ชีวิตของเราสะดวกสบายขึ้น แค่เพียงมีอินเตอร์เน็ตก็เปิดร้านค้าได้ง่าย ไม่ต้องง้อทำเลอีกต่อไป แต่ปัญหาที่ตามมาของพ่อค้า-แม่ค้าที่ยอดขายปังๆ ก็คือเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ที่กฎหมายบังคับให้จดทะเบียนถ้ารายได้ถึงเกณฑ์ 

 

วิธีการเช็กว่าเราเข้าเกณฑ์จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไหม ขั้นตอนจดทะเบียนเป็นอย่างไร และถ้าอยากจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คอนโดทำได้หรือไม่ ทำอย่างไรบ้าง เราจะมาหาคำตอบกันในบทความนี้ค่ะ

 

พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ อย่าลืมจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อรายได้ถึงเกณฑ์

 

ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกันสักนิดว่า ภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นคืออะไร

 

ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หมายถึง ภาษีที่เก็บจากการซื้อขายสินค้าหรือการให้บริการในแต่ละขั้นตอน โดยปกติแล้วผู้ซื้อสินค้าหรือผู้ที่ได้รับบริการจะต้องถูกเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่อัตรา 7% จากผู้ขายที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และจากนั้นผู้ขายจะเป็นคนนำส่ง VAT 7% นี้ ให้กับสรรพากรนั่นเองค่ะ

 

หลักเกณฑ์ในการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น ให้ดูที่รายได้ของผู้ประกอบการ (ผู้ขาย) ถ้าเข้าเงื่อนไข 2 เงื่อนไขนี้ก็ต้องจด VAT และเรียกเก็บภาษี 7% จากลูกค้าให้เรียบร้อย

  1. รายได้ไม่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น ขายอาหารสัตว์ พืชผลทางการเกษตร เป็นต้น
  2. รายได้ตั้งแต่ 1.8 ล้านบาทต่อปี 

 

ดังนั้น ถึงแม้ว่าเรายังเป็นพ่อค้าแม่ค้าในนามบุคคลธรรมดาอยู่ แต่ว่ารายได้ถึงเกณฑ์แล้วล่ะก็ อย่าลืมไปจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้เรียบร้อย

 

 

ข่าวดีคือใช้คอนโดจดทะเบียนเป็นสถานประกอบการได้แล้ว 

 

 

สำหรับพ่อค้าแม่ค้าคนไหน ไม่มีหน้าร้าน แต่จำเป็นต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ในอดีตเราไม่สามารถใช้ที่อยู่คอนโดจดทะเบียน VAT ได้ แต่ปัจจุบันนี้กฎหมายได้อนุญาตให้บุคคลธรรมดาสามารถใช้ที่อยู่ในอาคารชุดหรือคอนโดมิเนียมขอจดทะเบียน VAT ผ่านระบบออนไลน์ได้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป

 

โดยมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้

  1. บุคคลธรรมดา สัญชาติไทย ซึ่งเคยผ่านกระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (NDID)
  2. อาศัยอยู่ในอาคารชุด / คอนโดมิเนียม
  3. จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์ กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
  4. มีสถานประกอบการอยู่ในอาคารชุดเพียงแห่งเดียว

 

เอกสารที่ต้องเตรียมจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยคอนโด

 

 

ขั้นตอนการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง 

 

 

  1. สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ (กรณีเช่า) หรือ หนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่ (กรณีเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ให้ใช้อสังหาริมทรัพย์นั้น โดยไม่มีค่าตอบแทน)
  2. เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นสถานประกอบการ (กรณีเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ใช้ที่อยู่อาศัยของตนเองเป็นสถานประกอบการ) 
  3. สำเนาทะเบียนบ้านที่ตั้งสถานประกอบการ
  4. แผนที่แสดงที่ตั้งของสถานประกอบการ พร้อมภาพถ่ายสถานประกอบการ
  5. สำเนาหน้าสมุดบัญชีธนาคารที่ใช้ประกอบกิจการ (ถ้ามี)

 

เอกสารที่ต้องเตรียมจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยคอนโด

 

เมื่อเตรียมเอกสารพร้อมแล้ว ให้ไปจดทะเบียนผ่านช่องทางนี้ https://rdecommerce.rd.go.th/vatcondo ที่เดียวเท่านั้น และที่สำคัญพ่อค้าแม่ค้าต้องผ่านกระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (NDID) ผ่านแอปของธนาคารก่อนถึงจะจดทะเบียนได้นะคะ

 

แต่ไม่ต้องกังวลใจไปว่าขั้นตอนจะยุ่งยากไหม กรมสรรพากรเค้ามีคู่มือและแนะนำวิธีการจดทะเบียนทีละเสตปให้ทำตามกันได้ไม่ยากค่ะ

https://rdecommerce.rd.go.th/vatcondo/assets/RegisteredGuide.pdf

 

สำหรับการจดทะเบียนแบบออนไลน์ผ่านระบบนี้ มีข้อดีและจุดที่ต้องเช็กดังต่อไปนี้

  • สามารถยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง
  • แนบเอกสารหลักฐานในระบบได้เลย
  • คนที่มีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรเท่านั้นจึงยื่นได้
  • ต้องแก้ไขข้อมูลได้ก่อนเวลา 17.00 น. ของวันที่ยื่นแบบคำขอฯ เท่านั้น

 

 

ข้อควรระวังถ้าไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

 

 

โทษของการไม่จดทะเบียน VAT นั้นมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ความผิดจากการไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อถึงเกณฑ์มีดังต่อไปนี้

 

  1. ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 จากการขายสินค้าหรือให้บริการ ตามมาตรา 77/2(1) มาตรา 80/2 และมาตรา 82/16 แห่งประมวลรัษฎากร
  2. ต้องเสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของเงินภาษีที่ต้องเสียในเดือนภาษีตลอดระยะเวลาที่ประกอบกิจการโดยไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือเป็นเงินหนึ่งพันบาทต่อเดือนภาษี แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่ากัน ตามมาตรา 89(1) แห่งประมวลรัษฎากร
  3. ต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระโดยไม่รวมเบี้ยปรับ ตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร
  4. ต้องระวางโทษปรับตามมาตรา 90/2(2) แห่งประมวลรัษฎากร

 

โทษของการไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

 

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ควรรู้ ถ้ามียอดขายเยอะ อย่าลืมเช็กเรื่องการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้รอบคอบ และปฏิบัติตามกฎหมายให้ถูกต้อง ทุกวันนี้ทางหน่วยงานรัฐเองก็อำนวยความสะดวกให้พ่อค้าแม่ค้าอย่างมาก จากที่จดทะเบียนที่คอนโดไม่ได้ตอนนี้เราสามารถจดทะเบียนที่คอนโดได้ด้วยตนเอง และจดผ่านอินเตอร์เน็ตได้ด้วยตัวเองค่ะ

Tips : เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับใบกำกับภาษี คลิกที่นี่

About Author

ลองใช้งานFlowAccount ฟรี 30 วันได้ง่ายๆ วันนี้
ลองใช้งานฟรีได้ง่ายๆ วันนี้
สมัครเลย

You may also like