ภาษีขายหุ้นต่างประเทศ กฎหมายใหม่มีผลกระทบต่อผู้ลงทุนอย่างไรบ้าง

ภาษีขายหุ้นต่างประเทศ

สรรพากรปรับปรุงเรื่องการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้มีเงินได้จากแหล่งต่างประเทศ รวมถึงผู้ลงทุนหุ้นต่างประเทศด้วย ทั้งรายได้จากการขายหุ้น หรือรายได้จากปันผลค่ะ สำหรับใครที่มีหุ้นต่างประเทศอยู่ แล้วกำลังจะยื่นภาษีในปีที่ผ่านมา เราลองมาดูกันค่ะว่าเรื่องนี้มีผลกระทบต่อนักลงทุนอย่างไรบ้าง

เป็นประเด็นที่อึกทึกครึกโครม เมื่อช่วงปลายปี 2566 ที่ผ่านมา สรรพากรปรับปรุงเรื่องการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้มีเงินได้จากแหล่งต่างประเทศ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็รวมถึงผู้ลงทุนหุ้นต่างประเทศด้วยเช่นกัน เพราะถือเป็นผู้มีรายได้จากการขายหุ้น หรือรายได้จากปันผลค่ะ

 

ภาษีขายหุ้นต่างประเทศ

 

จากเดิมที่เคยลงทุนในหุ้นต่างประเทศอยู่และไม่ได้สนใจกับภาษีกฎหมายมากนักเพราะคิดว่าเราได้รับการยกเว้น หรือจัดการวางแผนภาษีจากช่องโหว่ได้อยู่แล้ว แต่วันนี้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปแล้วค่ะ สำหรับใครที่มีหุ้นต่างประเทศอยู่ แล้วกำลังจะยื่นภาษีในปีที่ผ่านมา เราลองมาดูกันค่ะว่าเรื่องนี้มีผลกระทบต่อนักลงทุนอย่างไรบ้าง

 

ภาษีขายหุ้น ที่กำลังเป็นข่าว เรื่องราวเป็นอย่างไร 

 

ก่อนจะไปถึงภาษีขายหุ้น เราลองมาดูเรื่องราวทั้งหมดก่อนว่ามีที่มาที่ไปอย่างไรบ้าง 

 

เดิมทีสรรพากรได้กำหนดให้ ผู้ที่มีเงินได้จากแหล่งเงินได้ต่างประเทศ หากนำเงินเข้าในประเทศไทยต้องชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

 

ยกตัวอย่างเช่น นาย ก. นำเงินลงทุน 1 ล้าน ลงทุนหุ้นบริษัทขายมือถือ ที่สหรัฐอเมริกา มีกำไร 1 ล้านบาท (โหว..กำไร 100% เลย ลงทุนเก่งนะเนี่ย) ถ้านาย ก. นำเงินทั้งหมด 2 ล้านบาท กลับเข้าประเทศไทย 1 ล้านบาท ส่วนที่เป็นกำไร นาย ก. ต้องเสียภาษีตามกฎหมาย

 

แต่ด้วยกฎหมายนี้มีช่องว่างว่า เงื่อนไขในการจัดเก็บภาษี ต้องเข้าทั้ง 2 เงื่อนไข คือ

  1. ผู้มีเงินได้ ต้องนำเงินได้เข้ามาในประเทศ ในปีที่เกิดเงินได้ 
  2. ผู้มีเงินได้ อยู่ในไทยเกิน 180 วัน

 

ถ้าถ้าเพื่อนๆ เป็นนาย ก. จะทำยังไงล่ะ

 

แหง๋ละซิ จะให้ย้ายออกนอกประเทศ ตั้งครึ่งปีก็คงทำไม่ได้ งั้นเราก็แค่นำเงินได้จากต่างประเทศ เข้ามาในปีถัดไปสิ เพราะเขาบอกว่า ถ้าเอาเข้ามาในปีที่เกิดเงินได้จะเสียภาษียังไงล่ะ แค่นี้ก็ไม่ต้องเสียภาษีแล้ว 

 

ด้วยเหตุนี้ สรรพากรจึงได้ออกประกาศ “คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.161/2566 เรื่องการเสียภาษีเงินได้สำหรับคนที่มีรายได้จากต่างประเทศ

 

ซึ่งเนื้อหาโดยสรุปสั้นๆ ว่า ไม่ว่าคุณจะเอาเงินได้เข้ามาในปีไหน หากมันเป็นเงินได้จากต่างประเทศ และคุณอยู่ในไทยเกิน 180 วัน  สิ่งนี้ถือเป็นเงินได้ที่ต้องนำมาเสียภาษีด้วยนะ

 

วันที่สรรพากรเริ่มจัดเก็บจริงเป็นวันที่เท่าไหร่

 

ตาม “คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.162/2566 เรื่อง การเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 41 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร” ระบุว่า เงินได้ที่จะเสียภาษี ต้องเกิดหลังจาก 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป และนำเงินได้เข้ามาหลังจาก 1 มกราคม 2567 ด้วยเช่นกัน จึงจะเข้าข่ายเสียภาษี

 

ซึ่งสรุปโดยสั้นๆ ว่า สรรพากรจะไม่เก็บภาษีเงินได้ที่เกิดก่อน 1 มกราคม 2567 และนำเข้ามาก่อน 1 มกราคม 2567 ซึ่งก็ลดความตื่นตระหนกให้กับนักลงทุนพอสมควรเลยล่ะ

 

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : ประเด็นฮอต “ภาษีคนอยู่ไทย แต่มีเงินได้จากต่างประเทศ”

 

ต้นปี 2567 นี้ เวลาบุคคลธรรมดายื่นเสียภาษีประจำปี 2566 หากมีการขายหุ้นระหว่างปี ต้องรวมคำนวณภาษีด้วยไหม

 

สำหรับใครที่ลงทุนหุ้นต่างประเทศอยู่ และกำลังยื่นภาษี บุคคลธรรมดา ให้พิจารณาตามเงื่อนไขเก่า แบบนี้ค่ะ

  1. ผู้มีเงินได้ ต้องนำเงินได้เข้ามาในประเทศ ในปีที่เกิดเงินได้ ก็คือ ขายหุ้นปี 2566 และนำเงินเข้ามาในปี 2566 และ
  2. ผู้มีเงินได้ อยู่ในไทยเกิน 180 วัน

 

ถ้าเข้า 2 เงื่อนไขนี้ ก็คือ ถือเป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษีค่ะ 

 

ภาษีขายหุ้นต่างประเทศ

 

แต่กรณีที่ยังไม่ได้นำเงินเข้ามาในไทยในปี 2566 แต่เอาเข้าปี 2567 ถือว่าหลุดเงื่อนไขเดิม เพราะเงินได้เกิดก่อน 1 มกราคม 2567 ไปแล้ว 

 

แต่เงินได้ที่เกิดตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันนี้ อันนี้สรรพากรเขานับแน่นอน ไม่ว่าจะนำเข้าปีไหนก็ตาม ต้องเตรียมตัวไว้ให้ดีนะคะ

 

ภาษีขายหุ้นต่างประเทศ

 

 

1. เกิดกำไร / ขาดทุน จากการขายหุ้นที่ลงทุนในต่างประเทศในปี 2567 เสียภาษียังไง

 

 

ที่นี้คำถามถัดมาคือถ้าลงทุนหุ้นแล้วมีกำไร เสียภาษียังไง? แล้วถ้าขาดทุนล่ะจะเสียภาษียังไง?

 

คำถามนี้ต้องบอกว่าคนไทยมักจะไม่คุ้น เพราะว่าคนไทยที่ลงทุนหุ้นในไทย กำไรจากการขายหุ้นที่เกิดในประเทศไทย ได้รับยกเว้นภาษีอยู่แล้ว 

 

แต่ถ้าเป็นกรณีที่เราลงทุนในต่างประเทศจะแตกต่างกันนะ 

 

ลองมาดูตัวอย่างของนาย ก. อีกรอบ

 

  • นาย ก. อยู่ในไทยเกิน 180 วัน ลงทุนหุ้นต่างประเทศ 2 ล้านบาท ต่อมาขายแล้วได้กำไร 1 ล้านบาท เหมือนเดิม แต่เพิ่มเติมคือ การลงทุนนี้เกิดในปี 2567
  • นาย ก. ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 40(4)(ช) กำไรจากการขายหลักทรัพย์ จำนวน 1 ล้านบาท (เฉพาะส่วนที่เป็นกำไร เงินต้นไม่นับ เพราะเงินต้นไม่ใช่รายได้)

 

จริงๆ แล้วนาย ก. เป็นคนส่วนน้อยในตลาดนะ เพราะว่าคนที่ลงทุนแล้วกำไรน่ะ มีนิดเดียว แต่ขาดทุนนี่สิ มีเต็มเลย (พูดแล้วน้ำตาจะไหล TT)

 

สำหรับคนที่ลงทุนแล้วขาดทุน ก็ไม่ต้องตกใจไป เพราะเราไม่มีส่วนเกินจากเงินลงทุน สรรพากรจึงไม่ถือว่าเป็นเงินได้นะคะ  

 

 

2. เมื่อได้รับปันผลจากหุ้นที่ถือในต่างประเทศต้องนำมาคำนวณเสียภาษีไหม

 

 

คำถามที่ว่า ปันผลจากหุ้นต่างประเทศเสียภาษีไหม อันนี้คือ เสียภาษีแน่นอนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะได้รับปันผลจากหุ้นในประเทศไทย (กรณีไม่ใช่ BOI) หรือว่าหุ้นในต่างประเทศ (ได้รับหลังจาก 1 มกราคม 2567) ยังไงเราก็ต้องเสียภาษีแน่นอน เพราะเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(4)(ข)

 

เงินปันผลในที่นี้ หมายถึง การได้รับปันผลทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเงิน หุ้น หรือสินทรัพย์อื่นก็ตาม 

 

 

สรุปขายหุ้นที่ซื้อในต่างประเทศ และนำเงินเข้าไทย เสียภาษีอย่างไร

 

จากที่ได้ไล่เรียงมาทั้งหมดนี้ สรุปได้ว่า ถ้าลงทุนแล้วกำไรที่เกิดก่อน 1 มกราคม 2567 ไม่ว่าเราจะได้กำไรกี่บาท ก็ไม่ต้องเสียภาษี โดยมีข้อแม้ว่าให้นำเงินเข้ามาคนละปีนะ

 

แต่ถ้าเป็นเงินได้ ที่เกิดหลังจาก 1 มกราคม 2567 และเข้าเงื่อนไขว่า เราเป็นผู้อยู่ในไทยเกิน 180 วัน อันนี้แหละจะถือเป็นเงินได้ที่ต้องนำมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามอัตราก้าวหน้านะคะ 

 

แต่เหนือสิ่งอื่นใด เรื่องที่สำคัญไม่น้อยกว่าการเสียหรือไม่เสียภาษี ก็คือ การรู้ว่าเรามีเงินได้เท่าไรกันแน่ค่ะ เพราะถ้าเรารู้แล้ว เราก็จะพอคำนวณอัตราภาษีของตัวเองได้ไม่ยาก และวางแผนการเงินส่วนบุคคลได้ดียิ่งขึ้นด้วยนั่นเองค่ะ

 

อ้างอิง

https://www.rd.go.th/fileadmin/user_upload/kormor/newlaw/dn161A.pdf

https://www.rd.go.th/fileadmin/user_upload/kormor/newlaw/dn162A.pdf

About Author

ลองใช้งานFlowAccount ฟรี 30 วันได้ง่ายๆ วันนี้
ลองใช้งานฟรีได้ง่ายๆ วันนี้
สมัครเลย

You may also like