คุณต่อ-ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี เจ้าของร้านอาหาร Penguin Eat Shabu และเจ้าของเพจ Torpenguin - ผู้ชายขายบริการ แชร์ประสบการณ์ของเจ้าของร้านอาหารในยุคเปลี่ยนผ่านของการทำร้านอาหารทั้งหน้าร้านและโลกออนไลน์ และรีวิวโปรแกรมบัญชีคลาวด์ ทำไมถึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะพาธุรกิจร้านอาหารไปต่อได้ |
เชื่อว่านาทีนี้ หลายคนคงคุ้นหน้าคุ้นตา คุณต่อ-ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี เป็นอย่างดี ถ้าไม่ใช่ในฐานะ เจ้าของร้านอาหาร “Penguin Eat Shabu” ร้านชาบูและซูชิบุฟเฟต์ ที่โดดเด่นเรื่องการทำแคมเปญการตลาด จนลูกค้าแน่นร้านทุกสาขา ก็เป็นในฐานะเจ้าของเฟซบุ๊กเพจ Torpenguin - ผู้ชายขายบริการ ที่ผลิตคอนเทนต์ให้ความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกิจร้านอาหาร มาแบ่งปันเพื่อนพ้องในวงการอยู่เสมอ ทั้งในรูปแบบคลิปวิดีโอ ไลฟ์ บทความ หนังสือ และอีกมากมาย
ย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของการทำร้านอาหาร ธนพงศ์ไม่ได้ตั้งต้นธุรกิจจากความชื่นชอบในการเข้าครัว เขาคือสถาปนิกหนุ่มที่ถนัดงานออกแบบ และอาจพูดได้ว่าเขาทำอาหารไม่เป็นเลยด้วยซ้ำ แต่เพราะปัญหาธุรกิจในครอบครัวที่เกิดขึ้น บีบบังคับให้เขาต้องกลายมาเป็นเสาหลัก และต้องหารายได้อีกทาง เขาจึงชักชวนพี่ชายมาเริ่มต้นเปิดร้านอาหาร โดยอาศัยความรู้ที่พอมีในเรื่องการออกแบบ การก่อสร้าง การทำแบรนดิ้งและการตลาด มาปลุกปั้นธุรกิจให้ดูแปลกใหม่และแตกต่างจากแบรนด์บุฟเฟต์ชาบูแบบเดิมๆ โดยเน้นจับกลุ่มลูกค้าที่อยู่ในโลกออนไลน์ ซึ่งในเวลานั้นถือว่าเป็นตลาดใหม่ ที่เจ้าของธุรกิจหลายคนยังไม่ลงมาจับ
เลือกอ่านได้เลย!
ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารใน 7 ปีที่ผ่านมา
ธนพงศ์เล่าว่า ช่วงเริ่มต้นเปิดร้านเมื่อ 7 ปีก่อน เจ้าของธุรกิจร้านอาหารส่วนใหญ่ยังคงเน้นสร้างแบรนด์และทำการตลาดอยู่ในโลกออฟไลน์เป็นหลัก ส่วนโลกออนไลน์นั้นยังถือเป็นทางเลือก หรือ Niche Market การที่เขาเริ่มพาตัวเองเข้ามาอยู่ในออนไลน์ตั้งแต่ช่วงแรกๆ มีกลุ่มลูกค้าเฉพาะ มีการสื่อสารและมีตัวตนที่ชัดเจน จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งแตกต่างจากทุกวันนี้
“ในปัจจุบันออนไลน์ไม่ใช่ทางเลือก มันเป็นมาตรฐานต่ำสุดที่ทุกร้านต้องทำเวลาจะเปิดร้าน แล้วยิ่งอยู่ในสถานการณ์โควิด-19 ที่ไม่มีใครเปิดร้านแล้ว โฆษณาผ่านทางหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ หรือป้ายบิลบอร์ด ทุกคนไปออนไลน์หมด ฉะนั้นออนไลน์เลยเป็นเรื่องปกติที่คนอื่นต้องทำ พอคนอยู่ในตลาดออนไลน์มากขึ้น การนำเสนอรูปแบบใหม่ๆ มันก็จะครีเอทีฟ แตกต่างจากตลาดทั่วไปมากขึ้น”
ธนพงศ์เล่าต่อว่า ในช่วงแรกลูกค้าร้าน Penguin Eat Shabu ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ คือกลุ่มคนวัยทำงาน Gen Y ที่มีออฟฟิศอยู่ในรัศมีรอบๆ ร้าน และเป็นคนที่ใช้งานโซเชียลมีเดียค่อนข้างมาก ส่วนอีก 30 เปอร์เซ็นต์ เป็นคนที่อาศัยอยู่ละแวกนั้น แต่พอเกิดสถานการณ์โควิด-19 กลุ่มลูกค้าหลักกลับกลายเป็นคนอยู่อาศัยหรือกลุ่มครอบครัว ในขณะที่กลุ่มพนักงานออฟฟิศกลายเป็นกลุ่มรองลงมา เนื่องจากส่วนใหญ่ Work from Home กันหมด ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนการสื่อสารไปยังลูกค้ากลุ่มใหญ่แทน
ต่อยอดการทำร้านสู่แหล่งความรู้เพื่อคนทำร้านอาหาร
หลังจากทำร้านได้ระยะหนึ่ง ธนพงศ์เกิดความสงสัยว่า เพราะเหตุใดจึงไม่มีคนที่รู้ลึกรู้จริงมาให้ความรู้เกี่ยวกับการทำร้านอาหารบ้าง เขาพบว่าทฤษฎีทั้งหลายที่เคยได้ยินได้ฟังมา มักจะใช้ไม่ได้กับการปฏิบัติจริง หากมีใครสักคนนำประสบการณ์ของตัวเองมาบอกต่อ ทั้งในแง่มุมของความสำเร็จและความล้มเหลว ก็น่าจะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ได้ นี่เองจึงเป็นเหตุผลที่เขาตัดสินใจลุกขึ้นมาเปิดเฟซบุ๊กเพจ Torpenguin - ผู้ชายขายบริการ และแชร์ความรู้ต่างๆ ลงในนั้น
ในช่วงแรก ธนพงศ์ตั้งใจจะทำเพจเป็นแค่งานอดิเรก แต่พอเกิดสถานการณ์โควิด-19 เขาก็เห็นว่า เจ้าของร้านอาหารหลายคนกำลังต้องการที่พึ่ง เขาจึงมุ่งมั่นทำเพจอย่างจริงจังมากขึ้น เพื่อสร้างคอมมูนิตี้ของคนทำร้านอาหารให้แข็งแรง
“มารู้ตัวอีกทีเพจเราก็เริ่มเป็นที่รู้จักในตลาด เริ่มมีคนพูดถึง เริ่มมีสื่อเอาไปแชร์ต่อ เอาข่าวไปใช้ต่อ มันเป็นจุดประสงค์ของเรา ที่เราอยากเป็นกระบอกเสียงให้กับ SME ตัวเล็กๆ เพราะเขาไม่มีปากจะตะโกนออกไปให้คนส่วนใหญ่ฟัง รวมถึงเราก็อยากเป็นจุดเล็กๆ ในการเชื่อมต่อคนที่เก่งร้านอาหารหลายๆ คน โดยเราเป็นคนถ่ายทอดให้ออกมาเป็นภาษาที่เข้าใจง่ายครับ”
อยากแนะนำโปรแกรมบัญชีออนไลน์ เพราะเข้าใจหัวอกเจ้าของร้านอาหาร เมื่อต้องทำบัญชีด้วยตัวเอง
ในช่วงเริ่มต้นกิจการ ธนพงศ์ยังไม่ได้วางระบบบัญชีจริงจังมากนัก เพราะคิดว่าการทำร้านอาหารเป็นเพียงอาชีพเสริมเท่านั้น จึงใช้วิธีจัดการเงินง่ายๆ อย่างการเก็บเข้าเก๊ะ ผ่านไป 2-3 วัน จึงค่อยรวบรวมเงินแล้วนำไปฝากธนาคาร พร้อมทั้งบันทึกรายรับ-รายจ่ายในโปรแกรม Excel บางครั้งเวลาหยิบเงินสดออกไปใช้ ก็ไม่ได้บันทึกไว้เป็นหลักฐาน
วิธีการที่ว่ามานี้ทำให้ร้านของเขาต้องเจอกับปัญหายอดเงินในบัญชีไม่ตรงกับในระบบ POS โดยที่ไม่รู้เลยว่า เงินหายไปตั้งแต่เมื่อไร ธนพงศ์เล่าว่า การขาดเครื่องมือตรวจสอบ ทำให้เขารู้สึกเหมือนกับว่า ไม่สามารถวิ่งไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว เพราะต้องคอยหันมาพะวงหลังอยู่ตลอดเวลา
หลังจากปล่อยให้การบริหารจัดการหลังบ้านเป็นไปอย่างขลุกขลักมาเป็นปี เขาก็ตัดสินใจว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องหันมาจริงจังกับเรื่องบัญชี จึงเริ่มต้นเรียนรู้วิธีการใช้งานโปรแกรมบัญชี FlowAccount และอยากแนะนำโปรแกรมบัญชีออนไลน์ ให้กับร้านอาหารอื่นๆ ได้ลองใช้
“มีโอกาสรู้จักกับ FlowAccount ตั้งแต่ปีสองปีแรกแล้วครับ รู้สึกว่า เออ มันมีบัญชีแบบนี้ด้วยเหรอ ปิดยอดจาก POS ข้อมูลถูกส่งต่อไปที่ระบบบัญชีออนไลน์ กด Approve จากบัญชีออนไลน์ เด้งมาที่ Internet Banking สมัยเมื่อ 4 ปีที่แล้ว นี่มันคือระบบอัจฉริยะมาก แล้วค่าใช้จ่ายของแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น ระบบบัญชี ระบบ POS ระบบ HR ระบบจัดซื้อออนไลน์ ค่าใช้จ่ายต่อเดือนรวมกันถูกกว่าการจ้างพนักงานหนึ่งคนอีก แล้วทำไมเราจะไม่ใช้”
นอกจากฝ่ายบัญชีจะเป็นตัวหลักในการใช้งานโปรแกรมแล้ว ธนพงศ์เองก็เข้าไปใช้งานอยู่เป็นประจำด้วย เพื่อสร้างใบเสนอราคา เช็กสถานะการจ่ายเงิน และสถานะของเอกสารต่างๆ
“การที่เราทำระบบบัญชีที่ดี หรือมีการวางแผนการเงินที่ดี มันทำให้เรารู้ว่า สิ่งที่เรากำลังจะทำแต่ละอย่าง มันสร้างรายได้ได้อย่างที่เราต้องการไหม มันคุ้มค่ากับการลงทุนไปหรือเปล่า การทำบัญชีมันทำให้เรารู้สุขภาพตัวเองในทุกๆ เดือนครับ”
หุ้นส่วนของเจ้าของร้านอาหาร คือเทคโนโลยี
ธนพงศ์มองว่า คนเป็นเจ้าของธุรกิจร้านอาหารต้องทำให้ได้ทุกอย่าง เปรียบไปแล้วก็เหมือนกับซูเปอร์แมน เขาจึงมักบอกกับใครต่อใครเสมอว่า SME สำหรับเขา แท้จริงแล้วย่อมาจาก “Superman can do everything”
การเป็นซูเปอร์แมนเมื่อ 20 ปีก่อนนั้น อาจดูไม่ใช่เรื่องยาก แค่ยืนอยู่หน้าร้าน ก็สั่งการทุกอย่างได้หมด แต่ในปัจจุบันที่มีทั้งโลกออฟไลน์ โลกออนไลน์ และกำลังมีโลกเสมือนตามมาติดๆ เราไม่สามารถบริหารจัดการร้านได้ด้วยตัวคนเดียว โดยปราศจากตัวช่วยอีกแล้ว
“คงเป็นเรื่องยากที่เราจะหาหุ้นส่วนที่เก่งทั้งการตลาดออนไลน์ เก่งบัญชี เก่ง HR เก่ง Operation ถ้าใครได้หุ้นส่วนแบบนี้มันยิ่งกว่าได้แฟนดีอีก มันคือการแต่งงานระยะยาว แต่ถ้าเราไม่มีแบบนั้น เราเป็นคนที่ถนัดเรื่องบางเรื่องอย่างเดียว การที่เราใช้เทคโนโลยีหรือแพลตฟอร์มเข้ามาช่วย มันก็เป็นการให้คนอื่นช่วยทำงาน ทำให้เรามีเวลาไปโฟกัสในสิ่งที่เราถนัด หรือโฟกัสกับ Core Business มากขึ้น”
สิ่งที่ทำให้ธุรกิจ Win นอกจากกำไร
ความสำเร็จของการทำธุรกิจร้านอาหาร สำหรับธนพงศ์แล้ว อาจไม่ได้วัดกันด้วยตัวเลขยอดขายหรือกำไรเสมอไป แค่ได้เห็นลูกค้าเอ่ยปากชื่นชม กลับมาเป็นลูกค้าประจำ หรือบอกต่อให้คนอื่นๆ ลองมาอุดหนุน เท่านี้ก็ถือเป็นความสุขเล็กๆ ของคนทำร้านอาหารแล้ว
เช่นเดียวกันกับการทำเฟซบุ๊กเพจส่งต่อองค์ความรู้ด้านการทำร้านอาหาร แม้รายได้จะเทียบไม่ได้เลยกับธุรกิจอื่นๆ แต่เขาก็มีความสุขที่ได้ทำ
“เรารู้สึกว่ามันดีนะ ที่สิ่งที่เราทำมันมีประโยชน์ต่อสังคม มันทำให้สังคมมีภูมิต้านทานมากขึ้น เรามีรายได้ อยู่ได้ มันเป็นธุรกิจที่ Win-Win ครับ”
About Author
รำไพพรรณ บุญพงษ์ (นุ่ม) มีประสบการณ์กว่า 10 ปี ด้านงานเขียน ทั้งในวงการสิ่งพิมพ์และออนไลน์ สนุกกับการเขียนทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น แนวธุรกิจ การตลาด การศึกษา และอื่นๆ อีกมากมาย