ฟรีแลนซ์สามารถรับสิทธิประกันสังคมได้ตามการสมัครมาตรา40 โดยมีเงื่อนไขคือเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39 ซึ่งสามารถจ่ายเงินสมทบประกันสังคมได้ 3 ทางเลือกคือ จ่าย 100 บาท 150 บาท และ 450 บาท ตามลำดับ |
คนวัยทำงานหลายคนเลือกเส้นทางการเป็นฟรีแลนซ์ เพราะเห็นโอกาสทั้งในเรื่องเวลาและอิสระในการเลือกรับงานที่ตนเองถนัดได้มากกว่าการเป็นพนักงานประจำ
เราจึงเห็นคนรุ่นใหม่หลายคนที่เริ่มต้นจากการเป็นฟรีแลนซ์ ไม่ว่าจะเป็น บล็อกเกอร์ ยูทูเบอร์ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ นักบัญชีฟรีแลนซ์ และอื่นๆ อีกมากมาย สามารถต่อยอดความถนัดของตนเองให้กลายเป็นอาชีพที่สร้างรายได้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้
แต่การเป็นฟรีแลนซ์ก็มีความเสี่ยงกว่าการเป็นพนักงานประจำ เพราะรายได้ที่เข้ามาในแต่ละเดือนนั้นมีความไม่แน่นอน และยังไม่มีสวัสดิการต่างๆ ที่บริษัทจัดหาให้ เช่น โบนัส เบี้ยเลี้ยง ประกันสุขภาพ เหมือนพนักงานออฟฟิศทั่วไป
คนเป็นฟรีแลนซ์จึงยิ่งต้องใส่ใจกับการวางแผนการเงินให้มากๆ เพื่อแบ่งเบาค่ารักษาพยาบาลและลดค่าใช้จ่ายในยามเกษียณ รวมถึงติดตามสวัสดิการจากรัฐที่ควรได้เพิ่มเติมด้วยนะคะ
และหากฟรีแลนซ์คนไหนที่ยังไม่มีสวัสดิการจากรัฐ ก็สามารถขอรับสิทธิจากประกันสังคมได้ ลองมาดูเงื่อนไขในการสมัครรับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์เบื้องต้นกันเลยค่ะ
เลือกอ่านได้เลย!
ฟรีแลนซ์เข้าระบบประกันสังคมได้หรือไม่
คำตอบคือ ได้ค่ะ เพียงแค่สมัครประกันสังคมมาตรา 40 ฟรีแลนซ์ทั้งหลายก็สามารถรับสิทธิประโยชน์จากประกันสังคมได้แล้ว
คุณสมบัติของผู้สมัครประกันสังคมมาตรา 40
สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ต้องมีเงื่อนไขดังนี้ค่ะ
- เป็นผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือแรงงานนอกระบบ
- มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์
- ไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และมาตรา 39
- ไม่เป็นข้าราชการหรืออาชีพที่ยกเว้นตามสิทธิประกันสังคม
- บุคคลพิการที่ไม่อาจรับรู้สิทธิที่พึงได้รับจากการเป็นผู้ประกันตน
สิทธิประโยชน์ของประกันสังคมมาตรา 40
หากสมัครมาตรา40 แล้ว ฟรีแลนซ์มีทางเลือกทั้งหมด 3 ทางเลือก สำหรับการจ่ายเงินสมทบและรับสิทธิประโยชน์ ลองมาดูกันค่ะ ว่าทั้ง 3 แบบมีอะไรน่าสนใจบ้าง
ประกันสังคมมาตรา 40 ทางเลือกที่ 1
จ่ายเงินสมทบ 100 บาทต่อเดือน นับเป็นเงินของผู้ประกันตน 70 บาท และเป็นเงินสนับสนุนจากรัฐบาล 30 บาท ซึ่งทางเลือกนี้ถือว่าเป็นการจ่ายเงินสมทบต่ำที่สุด โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ ดังนี้
1. กรณีประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย
- ได้รับเงินชดเชยรายได้เมื่อเจ็บป่วยและเข้าพักรักษาในโรงพยาบาล 300 บาทต่อวัน โดยสูงสุดไม่เกิน 30 วัน
- เมื่อแพทย์สั่งหยุดงานให้พักฟื้นที่บ้านเป็นเวลา 3 วันขึ้นไป จะได้รับเงินชดเชย 200 บาทต่อวัน สูงสุดไม่เกิน 30 วัน
- ถ้าหากแพทย์สั่งหยุดงานเพียง 1-2 วัน (มีใบรับรองแพทย์) จะได้รับเงินชดเชย 50 บาทต่อวัน แต่สามารถใช้สิทธิ์ได้ไม่เกิน 3 ครั้งต่อปี
2. กรณีทุพพลภาพ
ได้รับเงินชดเชยรายได้ 500-1,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลาไม่เกิน 15 ปี โดยจำนวนเงินที่ได้รับจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการจ่ายเงินสมทบที่ผ่านมา
3. กรณีเสียชีวิต
- จะได้รับเงินค่าทำศพ 20,000 บาท
- หากจ่ายเงินสมทบไม่ต่ำกว่า 60 เดือนก่อนเสียชีวิต จะได้รับเงินสงเคราะห์อีก 3,000 บาท
ประกันสังคมมาตรา 40 ทางเลือกที่ 2
เลือกจ่ายเงินสมทบ 150 บาทต่อเดือน คิดเป็นเงินของผู้ประกันตน 100 บาท และเงินสนับสนุนจากรัฐบาล 50 บาท โดยให้สิทธิประโยชน์ความคุ้มครองในกรณีหลัก ดังนี้
1. กรณีประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ และเสียชีวิต
จะได้รับความคุ้มครอง เหมือนกับการสมัครมาตรา40 ของประกันสังคม ทางเลือกที่ 1 ทั้งหมด
2. กรณีชราภาพ
- เป็นสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากทางเลือกที่ 1
- ได้รับเงินบำเหน็จเป็นก้อนพร้อมผลตอบแทนจากดอกเบี้ยเงินสมทบที่จ่ายไป
- หากต้องการรับเงินก้อนตอนเกษียณที่มากขึ้น สามารถทำได้โดยการจ่ายเงินสมทบให้มากขึ้น แต่ต้องไม่เกินเดือนละ 1,000 บาท
ประกันสังคมมาตรา 40 ทางเลือกที่ 3
ทางเลือกนี้เป็นทางเลือกจ่ายเงินสมทบสูงที่สุด คือการจ่ายเงินสมทบ 450 บาทต่อเดือน คิดเป็นเงินของผู้ประกันตน 300 บาท และเงินสนับสนุนจากรัฐบาล 150 บาท แต่สิทธิประโยชน์ที่ได้รับจะสูงสุดถึง 5 ข้อ ดังนี้
1. กรณีประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย
- เมื่อเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจะได้รับเงินชดเชย 300 บาทต่อวัน โดยสูงสุดไม่เกิน 90 วัน
- หากแพทย์สั่งหยุดงาน พักรักษาตัวที่บ้านเป็นเวลา 3 วันขึ้นไป จะได้รับเงินชดเชย 200 บาทต่อวัน สูงสุดไม่เกิน 90 วันต่อปี
2. กรณีทุพพลภาพ
ได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนกับทางเลือกที่ 1 และ 2 และได้รับเงินทดแทนตลอดชีวิต
3. กรณีเสียชีวิต
ได้รับเงินค่าทำศพ 40,000 บาท
4. กรณีชราภาพ
ได้รับผลตอบแทนเป็นเงินก้อนพร้อมดอกเบี้ย แต่ถ้าหากมีการจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน จะได้รับเงินเพิ่มอีก 10,000 บาท
5. กรณีสงเคราะห์บุตร
กรณีนี้มีเฉพาะทางเลือกที่ 3 เท่านั้น โดยผู้ประกันตนจะได้รับเงิน 200 บาท/เดือน/บุตร 1 คน คราวละไม่เกิน 2 คน สามารถรับสิทธิได้ตั้งแต่บุตรแรกเกิดถึงอายุ 6 ปี
สรุปกันอีกที ตามตารางด้านล่างนี้ เราจะพบว่าการเพิ่มเงินสมทบ จะทำให้เราได้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นตามลำดับ หากฟรีแลนซ์คนไหนที่วางแผนสร้างครอบครัวมีลูกแล้ว ทางเลือกที่ 3 ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ได้รับประโยชน์สูงสุด
ทางเลือกที่ 1 | ทางเลือกที่ 2 | ทางเลือกที่ 3 | |
จ่ายเงินสมทบโดยผู้ประกันตน | 70 บาท ต่อเดือน | 100 บาท ต่อเดือน | 300 บาท ต่อเดือน |
อุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย | / | / | / |
ทุพพลภาพ | / | / | / |
เสียชีวิต | / | / | / |
ชราภาพ | X | / | / |
สงเคราะห์บุตร | X | X | / |
ส่วนวิธีการสมัครมาตรา40 เป็นผู้ประกันตนและรับสิทธิประโยชน์จากประกันสังคม มีขั้นตอนดำเนินการอย่างไรบ้าง สามารถศึกษารายละเอียดได้ในเว็บไซต์ สำนักงานประกันสังคม ตามลิงค์นี้เลยจ้า https://www.sso.go.th
อ่านบทความเกี่ยวกับประกันสังคมเพิ่มเติมอื่นๆ
- สิทธิประกันสังคม สิทธิประโยชน์ที่คนทำงานควรรู้และต้องได้รับ!
- ประกันสังคม ประโยชน์ที่เจ้าของธุรกิจควรรู้ และขั้นตอนการยื่นสิทธิอย่างง่าย!
- ส่งเงินสมทบประกันสังคมเกิน ขอคืนได้ไหม
About Author
นักบัญชี ผู้สอบบัญชี และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ cpdacademy.co คอร์สอบรมบัญชี CPD ออนไลน์สำหรับผู้ทำบัญชีและผู้สอบบัญชี ที่มีประสบการณ์ในวิชาชีพมากกว่า 10 ปี และอยากส่งต่อความรู้เพื่อเพื่อนนักบัญชีให้มีทักษะอย่างมืออาชีพและก้าวทันโลกดิจิทัล
ร่วมสมัครเป็นนักเขียนกับ FlowAccount ได้ที่นี่