แนะนำขั้นตอนแบบละเอียดยิบ วิธีจดทะเบียนบริษัท ออนไลน์ ผ่านระบบ DBD e-Registration ซึ่งประหยัด และเหมาะสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กมือใหม่ ที่สามารถทำได้ด้วยตนเอง มาดูทีละขั้นตอนในบทความนี้ได้เลย |
จากบทความเรื่อง จดทะเบียนบริษัทตอนไหนดี หากคุณได้ลองประเมินความพร้อมในการมีบริษัทของตัวเองผ่านเช็กลิสต์ที่เราได้แนะนำไปแล้วก่อนหน้านี้ แล้วพบว่าไม่ติดปัญหาใดๆ เลย แสดงว่าคุณมีความพร้อมที่จะเป็นเจ้าของบริษัทแล้ว ดังนั้นเราก็มาเตรียมตัวเปิดบริษัทกันเลย
การจดทะเบียนบริษัท สามารถทำได้หลายช่องทาง ซึ่งแต่ละช่องทางนั้นก็มีความแตกต่างกันทั้งระยะเวลา การจัดเตรียมเอกสาร และค่าธรรมเนียม เราจะมาทำความรู้จักทั้ง 3 ช่องทางกัน
เลือกอ่านได้เลย!
3 ช่องทางในการจดทะเบียนบริษัท
1. จดทะเบียนบริษัทผ่านการใช้บริการสำนักงานบัญชี หรือผ่านผู้ให้บริการรับจดทะเบียนบริษัทออนไลน์
ข้อดี: รวดเร็ว สามารถจดบริษัทได้ทันทีภายใน 1-3 วันทำการขึ้นอยู่กับคำขอจดทะเบียนในขณะนั้น และไม่ต้องเตรียมเอกสารด้วยตัวเอง
ข้อเสีย: มีค่าใช้จ่ายและค่าดำเนินงานที่สูง โดยปกติอาจจะอยู่ที่ 6,000-12,000 บาท รวทค่าธรรมเนียมของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้ว
2. จดด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์ DBD e-Registration
ข้อดี: ประหยัด แถมยังได้ลดค่าธรรมเนียมการจัดตั้งบริษัทจาก 5,000 บาท เหลือ 2,750 บาท
(สำหรับธุรกรรมการจดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 - ข้อมูลจากกรมพัฒน์)
ข้อเสีย: ดำเนินการด้วยตนเอง และใช้เวลารอประมาณ 3-5 วัน
3. จดด้วยตนเองแบบ walk-in ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ข้อดี: รวดเร็ว สามารถจดบริษัทได้ทันทีใน 1 วัน ประหยัดกว่าแบบที่ 1
ข้อเสีย: ดำเนินการด้วยตนเอง และไม่ได้ส่วนลดการจดทะเบียนแบบข้อที่ 2
ซึ่งเราจะมาแนะนำวิธีที่ประหยัด เหมาะสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กมือใหม่ นั่นก็คือการจดทะเบียนบริษัทผ่านระบบออนไลน์ DBD e-Registeration ด้วยตัวเอง ที่หลายคนคิดว่ายาก แต่จริงๆ แล้วคุณเองก็สามารถจดทะเบียนบริษัทได้ง่ายๆ แค่ปลายนิ้วเท่านั้นที่ เว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เราไปดูขั้นตอนแบบละเอียดกันเลยดีกว่า
วิธีจดทะเบียนบริษัท ออนไลน์ ผ่านระบบ DBD e-Registration
1. ผู้ประกอบการจะต้องสมัครสมาชิกและทำการยืนยันตัวตนก่อน เพื่อให้ได้ User Name และ Password สำหรับใช้ในการจดทะเบียนบริษัท
เริ่มลงทะเบียนโดยเข้าไปที่หน้าแรกของ DBD ตามลิงก์นี้ https://ereg.dbd.go.th/ERegistMemberWeb กด “บริการออนไลน์” และเลือก “จดทะเบียนนิติบุคคลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration)”
เมื่อคลิกเข้าไปแล้วให้เลือก “ลงทะเบียนผู้ใช้งานระบบ” (หากลงทะเบียนด้วยตัวเองให้เลือก “ลงทะเบียนเป็นผู้ใช้งานทั่วไป”) เมื่อคลิกเข้าไปจะต้องกรอกข้อมูลเบื้องต้น และจะต้องมีการยืนยันตัวตนผ่านระบบ e-KYC
การยืนยันตัวตนผ่านระบบ e-KYC แนะนำให้ทำผ่านโทรศัพท์มือถือเพื่อความสะดวก เนื่องจากจะต้องมีการถ่ายรูปและอัดวิดีโอเพื่อใช้ในการยืนยันตัวตน
2. เมื่อได้ User Name และ Password มาแล้ว ก็พร้อมทำการ log-in เข้าไปในระบบและคลิกเลือกที่ “จดทะเบียนนิติบุคคล” เพื่อเริ่มดำเนินการจดทะเบียนบริษัท
3. เมื่อพบรายการจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ให้เลือกที่ “สร้างคำขอการจดทะเบียนนิติบุคคล”
4. ในกรณีนี้หากเราจดทะเบียนด้วยตนเอง ให้เลือกไปที่ “ผู้เริ่มก่อการ/กรรมการ/หุ้นส่วน/ผู้ชำระบัญชี”
5. เลือกรูปแบบนิติบุคคลในการทำธุรกิจ ในที่นี้เราขอเลือกเป็น “บริษัทจำกัด”
6. เลือกหัวข้อ “หนังสือบริคณห์สนธิและจัดตั้งบริษัทพร้อมกัน (ภายในวันเดียว)” และกดปุ่ม หน้าถัดไป
7. ตอบคำถามเกี่ยวกับการจัดตั้งบริษัทจำกัดดังต่อไปนี้
- บริษัทที่ประสงค์ขอจดทะเบียนจัดตั้ง มีผู้เริ่มก่อการ/ผู้ถือหุ้น 3 คน และมีสัญชาติไทยหรือไม่
ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นมีสัญชาติอื่น ไม่ต้องติ๊กช่องนี้ - กรรมการเป็นผู้เริ่มก่อการ และผู้ถือหุ้นหรือไม่
ผู้ก่อการส่วนใหญ่จะเป็นผู้ถือหุ้น แต่ในขั้นตอนนี้จะไม่ใช้คำว่าผู้ถือหุ้น เพราะนิติบุคคล ยังไม่เกิดขึ้น จึงใช้คำว่าผู้เริ่มก่อการแทนไปก่อน - ทุนจดทะเบียนมีความสำคัญอย่างไร บริษัทที่ประสงค์ขอจดทะเบียนจัดตั้ง ต้องมีทุนจดทะเบียนจำนวนไม่เกิน 5 ล้านบาทหรือไม่
ทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้าน จะถือเป็นกิจการขนาดเล็ก ซึ่งกฎหมายได้ให้ประโยชน์ทางภาษี โดยอัตราภาษีกำไร 3 แสนแรกได้รับยกเว้น ส่วนที่เกิน 3 แสน - 3 ล้านบาทให้เสียภาษีที่ 15% และส่วนที่เกิน 3 ล้านบาทให้เสียภาษีที่ 20%
ส่วนทุนจดทะเบียนที่เกิน 5 ล้านบาท จะเสียภาษีที่อัตรา 20% ตั้งแต่กำไรบาทแรกเลยดังนั้นเลือกให้ดีว่าคุณเป็นกิจการแบบไหน - หุ้นของบริษัทเป็นหุ้นสามัญที่ชำระด้วยเงินสดทั้งหมด เต็มมูลค่าหุ้น (100%) หรือไม่ ตามกฎหมายกำหนดว่าการชำระค่าหุ้นต้องชำระที่ขั้นต่ำ 25% เช่น ถ้าจดทะเบียนที่ทุน 1,000,000 บาท ต้องชำระค่าหุ้นขั้นต่ำที่ 250,000 บาท ถ้าหากคุณจดทะเบียนแต่ไม่ได้ชำระค่าหุ้นทั้งหมด 100% ก็ไม่ต้องติ๊กช่องนี้ ซึ่งในตัวอย่างเราก็ถือกรณีนี้มาอธิบายให้ดูกัน
- บริษัทใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นข้อบังคับของบริษัท
โดยปกติแล้วบริษัทส่วนใหญ่จะใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นข้อบังคับของบริษัท แต่ถ้าผู้ประกอบการมีข้อบังคับอื่นนอกเหนือจากนี้ก็สามารถไม่ติ๊กช่องนี้ได้
8. ใส่ชื่อนิติบุคคลที่จะใช้ในการประกอบกิจการทั้งภาษาไทยและอังกฤษ หากชื่อที่เราเลือกนั้นซ้ำกับบริษัทอื่นที่มีอยู่แล้วก็จะไม่สามารถใช้ชื่อนั้นได้
9. คลิกว่า “ได้มีการจัดประชุม” และใส่รายละเอียดในการประชุมจัดตั้งบริษัท
- วันที่และเวลาที่ประชุม
- สถานที่ประชุม
- ผู้เป็นประธานในที่ประชุม
10. ในการประชุมจัดตั้งบริษัท หากเราไม่ได้กำหนดวาระอย่างอื่นไว้ในการประชุม สามารถใช้รายงานการประชุมสำเร็จรูปที่ DBD กำหนดไว้ให้ได้เลย โดยกรอกรายละเอียดดังนี้
- ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งบริษัท
ที่ผู้ก่อการได้ออกไปก่อน ซึ่งหมายความว่าที่ประชุมได้ให้สัตยาบัน (ให้คำสัญญา) ว่าจะจ่ายเงินจำนวนนี้คืนให้ผู้ก่อการ และสามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายบริษัทหลังจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเรียบร้อยแล้ว ในกรณีจดทะเบียนบริษัทออนไลน์ด้วยตัวเองผ่านระบบ e-Registration จะมีค่าใช้จ่ายอยู่ราวๆ 3,000 - 4,000 บาท ให้ใส่ลงไปในส่วนนี้ได้เลย - กำหนดผู้สอบบัญชีของบริษัท
ให้กรอกชื่อ เลขทะเบียนผู้สอบบัญชีรับอนุญาต และค่าธรรมเนียมการสอบบัญชี โดยสามารถติดต่อผู้สอบบัญชีในพื้นที่ที่คุณสะดวก หรือสามารถค้นหารายชื่อผู้สอบบัญชีได้ที่ เว็บไซต์ของสภาวิชาชีพบัญชี
11. ในหน้านี้จะมีรายละเอียดให้กรอกหลายส่วน โดยมีรายละเอียดดังนี้
- ข้อ 1. ส่วนนี้ระบบจะดึงข้อมูลจากที่กรอกไว้ มาให้เราตรวจเช็กความเรียบร้อยอีกครั้งหนึ่ง
- ข้อ 2. ให้ใส่ข้อมูลที่ตั้งของบริษัท (สำนักงานใหญ่)
- ข้อ 4. ข้อนี้ให้ใส่ข้อมูลเกี่ยวกับความรับผิด หมายความว่า สมมติบริษัทถูกฟ้องผู้ถือหุ้นจะรับผิดแค่จำนวนตามมูลค่าหุ้นที่ลงไป และถ้าไม่ได้กำหนดเพิ่มเติมให้กรรมการรับผิดโดยไม่จำกัดจำนวน ให้ใส่ตามที่ระบบให้มาได้เลย “............” แต่ ถ้ากำหนดเป็นอย่างอื่น ก็ให้ใส่ข้อความนั้นเข้าไป
- ข้อ 5. ให้ระบุจำนวนทุนที่ต้องการจดทะเบียน กำหนดจำนวนหุ้นและมูลค่าของหุ้นนั้น
- ข้อ 6. ให้ใส่ชื่อผู้เริ่มก่อการอย่างน้อย 3 คน และระบุจำนวนในการถือหุ้นของแต่ละคน
12. ในหน้านี้จะเป็นการให้ระบุจำนวนหุ้นที่จดทะเบียน และจำนวนเงินที่ชำระเงินค่าหุ้นต่อ 1 หุ้น
จากตัวอย่าง กำหนดทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 1,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 1,000 บาท และเลือกชำระขั้นต่ำตามกฎหมายกำหนดที่ 25% ต่อหุ้น ดังนั้นจะมีทุนชำระแล้วเท่ากับ 250,000 บาท
13. หลังจากนั้นจะมีกล่องให้ใส่รายละเอียดที่ตั้งของบริษัทตามทะเบียนบ้าน หากไม่มีสาขาก็ไม่ต้องใส่ข้ามส่วนนี้ไปส่วนถัดไปได้เลย (เลขรหัสประจำบ้าน จะอยู่หน้าแรกสุดของทะเบียนบ้าน)
14. ถ้าบริษัทไม่มีข้อบังคับ ให้ติ๊ก “ไม่มีข้อบังคับ” และให้ใส่วันสิ้นสุดรอบบัญชีของบริษัท เช่น วันสิ้นสุดรอบบัญชีที่นิยม คือ 31 ธันวาคม ของทุกปี ให้ใส่ว่า “3112” และเมื่อกรอกข้อมูลครบแล้วให้เลือก”หน้าถัดไป”เพื่อดำเนินการต่อ
15. จากนั้นจะมีข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับรายชื่อผู้ถือหุ้นและข้อมูลเกี่ยวกับหุ้นให้ตรวจเช็กอีกครั้ง โดยข้อมูลเหล่านี้จะปรากฏใน บอจ.5 ของบริษัท ดังนั้นจะต้องมีการตรวจสอบให้ดี
ถ้าหากข้อมูลถูกต้องแล้วให้เลือก “หน้าถัดไป” เพื่อดำเนินการต่อได้เลย
16. ให้ใส่รายละเอียดกรรมการของบริษัทอย่างน้อย 1 ท่าน ซึ่งโดยปกติจะเป็นกลุ่มคนเดียวกับผู้ถือหุ้น
17. กำหนดอำนาจกรรมการ คือ การกำหนดว่าใครสามารถมีอำนาจลงนามทำธุรกรรมและมีผลผูกพันกับบริษัทได้บ้าง
18. ในส่วนนี้ คือ การเลือกแบบ ว. สำเร็จรูป คือ การบอกวัตถุประสงค์ของบริษัทว่า บริษัทนั้นประกอบธุรกิจอะไร โดย
แบบ ว.1 = เหมาะกับบริษัทที่ขายสินค้า
แบบ ว.2 = เหมาะกับบริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการ
แบบ ว.3 = เหมาะกับบริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมและหัตถกรรม
แบบ ว.4 = เหมาะกับบริษัทที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับเกษตรกรรม
แบบ ว.5 = เหมาะกับการประกอบธุรกิจสํานักงานปฏิบัติการภูมิภาค เช่น ประกอบกิจการให้บริการด้านการบริหาร หรือด้านเทคนิคแก่วิสาหกิจในเครือ หรือสาขาของตนไม่ว่าจะตั้งอยู่ในประเทศไทยหรือในต่างประเทศ
19. เนื่องจากการเลือกแบบ ว. แบบสำเร็จรูปอาจไม่ครอบคลุมธุรกิจที่เราประกอบอยู่ เราสามารถเพิ่มวัตถุประสงค์ที่เฉพาะเจาะจง เหมาะกับกิจการของเราเข้าไปได้ในส่วนนี้
20. หลังจากนั้นจะมีให้ใส่รายละเอียดลูกจ้างและผู้รับเหมาช่วงในกิจการของสถานประกอบการ หากยังไม่มีให้ข้ามไปได้เลย และด้านล่างสุดจะให้ใส่รายละเอียดสินค้า/บริการ (ขั้นตอนการใส่ตามข้อ 21) หากกรอกข้อมูลครบแล้วให้เลือก “หน้าถัดไป"
21. ในการระบุสินค้าและบริการ ให้ค้นหาธุรกิจที่ใกล้เคียงกับกิจการของเรา โดยใส่ Keyword ที่ใกล้เคียงกับธุรกิจของเรามากที่สุดเข้าไป แล้วกดค้นหา แล้วกดบันทึก
22. จากนั้นคลิกเลือกกรรมการผู้ลงนามของบริษัทว่าจะให้ใครบ้างที่มีอำนาจในการลงนามแทนบริษัท
23. ในส่วนถัดมาจะเป็นส่วนที่ให้ใส่ไฟล์เพิ่มเติมเข้าไป หลักๆ คือ
- ตราประทับ กฎหมายไม่ได้บังคับให้มี จะมีหรือไม่มีก็ได้
- แผนที่แสดงที่ตั้งบริษัท อันนี้เป็นไฟล์บังคับที่ต้องใส่เข้าไป
- ส่วนเอกสารประกอบจดทะเบียนที่เหลือ ถ้าไม่มีก็ข้ามไปได้เลย
24. หลังจากที่เรากรอกข้อมูลมาทั้งหมด ระบบจะประมวลผลออกมาเป็นเอกสารทางราชการแบบนี้ ให้เราตรวจเช็กความถูกต้องอีกรอบ ถ้าไม่มีอะไรผิดกดส่งคำขอให้ตรวจสอบได้เลย ซึ่งเจ้าหน้าที่จะใช้เวลา 2-5 วันทำการในการตรวจสอบข้อมูล หากมีการแก้ไขจะมีการแจ้งบอกไปที่อีเมลของเราอีกครั้ง
25. ถ้าหากไม่มีการแก้ไขอะไรเพิ่มเติมจะมีการแจ้งมาทางอีเมลว่าได้มีการอนุมัติคำขอการจัดตั้งบริษัทแล้ว หลังจากนั้นผู้ก่อการ/ผู้ถือหุ้นก็ต้องเข้าไปเซ็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ โดยเลือกไปที่ “ลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์” (วิธีเข้าหน้านี้เหมือนตอนที่จะจดทะเบียนบริษัท)
26. เมื่อทำการเซ็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์เรียบร้อยแล้ว ก็ให้เลือก “ยื่นคำขอจดทะเบียน” โดยจะต้องทำการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลก่อน และเลือก “ชำระค่าธรรมเนียม” ในลำดับถัดไป และหลังชำระเงินก็จะได้รับเอกสารดังต่อไปนี้
- ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท (เอกสารฉบับนี้จะถูกจัดส่งมาทางไปรษณีย์)
- หนังสือรับรองบริษัทสามารถดาวน์โหลดในรูปแบบ PDF file ได้จากระบบ โดยเลือกเมนู จดทะเบียนนิติบุคคล เลือก “พิมพ์ใบเสร็จรับเงิน/ดาวน์โหลดไฟล์หนังสือรับรอง”
เพียงเท่านี้ก็เสร็จสิ้น วิธีจดทะเบียนบริษัท ผ่านระบบ DBD e-Registration คุณก็ได้กลายเป็นเจ้าของบริษัทเป็นที่เรียบร้อย
หากใครที่เพิ่งเป็นเจ้าของบริษัทก็อย่าละเลยการทำบัญชี ระบบ FlowAccount เป็นโปรแกรมบัญชีที่ใช้งานง่าย ออกบิลสะดวกสบาย เรียกเก็บเงินจากลูกค้าได้เร็ว ที่คุณเองก็สามารถทำบัญชีเองได้ สนใจสมัคร FlowAccount คลิกที่ลิงก์นี้ได้เลย https://auth.flowaccount.com/th/Account/Register
หากอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ยังรู้สึกการจดทะเบียนบริษัทเป็นเรื่องยาก ติดต่อ FlowAccount ช่วยจัดการให้ได้เลยทันที
FlowAccount รับจดจัดตั้งนิติบุคคล พร้อมมอบโปรแกรมบัญชีออนไลน์ และสิทธิประโยชน์ อยู่เคียงข้างผู้ประกอบการในยุคดิจิทัล ให้บริหารธุรกิจด้วยตัวเองได้อย่างมั่นใจตั้งแต่ก้าวแรกด้วย 9 บริการจากเรา ในการช่วยเตรียมเอกสารให้ครบถ้วน ตามระเบียบขอจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า อ่านรายละเอียดและติดต่อทีมงานได้เลย ที่นี่
About Author
เพจ TAXBOOK ภาษีและบัญชีฉบับ101 ให้ความรู้เรื่องบัญชีและภาษีสำหรับนักบัญชีและเจ้าของกิจการ ที่อยากอธิบายบัญชีและภาษีที่ใครมองว่ายากแบบง่ายๆ ด้วยภาษาของคนธรรมดา เหมือนเล่าให้เพื่อนฟัง