ร้านขายของชำจะตั้งราคาสินค้าอย่างไร ก็ต้องเข้าใจต้นทุนสินค้าก่อนว่ามีอะไรบ้าง ก่อนจะกำหนดกำไรที่ต้องการ ซึ่งเราสามารถใช้ FlowAccount ในการช่วยสรุปจำนวนสินค้า ราคาขายสินค้าเฉลี่ย และราคาซื้อสินค้าเฉลี่ย เพื่อให้เราเช็กเบื้องต้นได้ว่าราคาขายมากกว่าราคาซื้อสินค้าโดยเฉลี่ยหรือไหม เมื่อมีข้อมูลครบ การตั้งราคาขายสินค้าในร้านชำก็จะไม่ใช่เรื่องยากและน่าลังเลอีกต่อไป |
เปิดร้านขายของชำแต่ไม่มั่นใจว่าควรตั้งราคาขายสินค้ายังไงให้ได้กำไร การตั้งราคาขายสินค้าเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่เจ้าของธุรกิจร้านของชำทุกคนต้องเรียนรู้ เพราะบางครั้งการตั้งราคาเลขสวย หรือว่าตั้งราคาถูกเพื่อขิงคู่แข่ง อาจจะใช้ไม่ได้เสมอไป ในยุคที่ใครๆ ก็ต้องการกำไรจากการทำธุรกิจ และกำไรที่ว่าควรจะมีเยอะพอที่จะหล่อเลี้ยงชีวิตเถ้าแก่และครอบครัวได้ในระยะยาว
เอาละ แล้วเจ้าของร้านขายของชำต้องรู้เรื่องอะไรบ้างเกี่ยวกับการตั้งราคา เดี๋ยว FlowAccount จะเล่าให้ฟัง
รู้จักต้นทุนก่อนกำไร
ในขั้นแรก จะชวนทุกคนมาทำความรู้จักเรื่องต้นทุนของธุรกิจกันสักนิด ก่อนที่จะพาทุกคนไปตั้งราคาแบบมีกำไร
ก่อนอื่นอยากให้ทุกคนทำความเข้าใจกันนิดหนึ่งว่า คำว่า “ต้นทุน” เป็นส่วนหนึ่งของคำว่า “ค่าใช้จ่าย” ในธุรกิจ
คิดง่ายๆ แบบนี้ค่ะ “ต้นทุน” นั้นเป็นสิ่งที่ติดตัวมากับสินค้าเพื่อทำให้มันพร้อมขาย ตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเราต้องซื้อสินค้ามาจากต่างประเทศเพื่อขายละก็ ต้นทุนของเราจะประกอบด้วย
ต้นทุนสินค้า = ค่าสินค้า + ค่านำเข้า + ค่าขนส่งมาร้าน
แต่เท่านั้นยังไม่พอค่ะ เพราะถ้ารู้จักแค่ “ต้นทุน” อย่างเดียว อาจทำให้เราเจ๊งได้ เพราะว่าร้านขายของชำสมัยนี้มีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่นอกเหนือจากต้นทุน ยกตัวอย่างเช่น
- ค่าใช้จ่ายการตลาด เช่น ทำป้ายร้าน ทำใบปลิว
- ค่าเช่าร้าน ค่าเช่าโกดังเก็บสินค้า
- ค่าจ้างลูกน้อง
- ค่าน้ำ ค่าไฟ
ฉะนั้น ทุกครั้งก่อนคิดราคาขาย เราจึงควรทำความเข้าใจ 2 เรื่องนี้ให้ดี
- ต้นทุนสินค้ามีเท่าไร
- ค่าใช้จ่ายอื่นๆ มีอะไร เท่าไรบ้าง
หากำไรที่ต้องการ
เข้าใจต้นทุนของสินค้า รวมไปถึงค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้ว ต่อมาเป็นขั้นตอนสำคัญสุดๆ ที่ทุกคนต้องหากำไรที่ต้องการว่า เราต้องการกำไรต่อการขายสินค้าต่อชิ้นเป็นเท่าไร
ยกตัวอย่างเช่น
- สินค้า A เราอยากได้กำไรสัก 10 บาท/ชิ้น
- สินค้า B เราอยากได้กำไรสัก 20 บาท/ชิ้น
- สินค้า C เราอยากได้กำไรสัก 30 บาท/ชิ้น
แต่ข้อควรรู้เกี่ยวกับการกำหนดกำไรคือ ถ้ากำหนดกำไรเวอร์ไป ก็อาจจะไม่มีคนซื้อก็ได้นะ เพราะว่าลูกค้าในปัจจุบันสามารถเช็กราคาตลาดสินค้าได้ง่ายๆ ด้วยมือถือ แล้วถ้าร้านเราขายของกินกำไรแพงเวอร์ ครั้งแรกลูกค้าอาจซื้อ แต่ครั้งถัดไปก็อาจเลือกเดินไปซื้อร้านขายของชำร้านอื่น หรือว่าสั่งออนไลน์แทน
ฉะนั้น การกำหนดกำไรเลยต้องอยู่บนพื้นฐานที่จับต้องได้ ไม่สูงกว่าตลาดมากนัก ถ้าสินค้าของเรามีคู่แข่งหรือว่าทดแทนด้วยสินค้าอื่นได้ง่ายๆ แต่สำหรับใครที่ขายของในร้านที่ไม่ซ้ำร้านอื่น อันนี้ถือว่าได้เปรียบในการกำหนดกำไรแน่นอนค่ะ
กำหนดราคาขาย
พอเรารู้ทั้งต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำไรที่ต้องการแล้ว ขั้นตอนถัดมาที่ทุกคนรอคอยคือ การกำหนดราคาขาย
การกำหนดราคาขาย สามารถคำนวณได้จากสูตรนี้
ราคาขายต่อชิ้น = ต้นทุนต่อชิ้น + ค่าใช้จ่ายต่อชิ้น + กำไรที่ต้องการต่อชิ้น
เอ… สูตรที่ว่ามันก็ง่ายอยู่หรอก แต่พอเอามาคำนวณจริง ทำไมมันไม่ได้ง่ายอย่างนั้นนะ สาเหตุก็เพราะว่าเราไม่รู้ “ค่าใช้จ่ายต่อชิ้น” ไงละ เนื่องจากค่าใช้จ่ายต่างๆ ในร้านชำเป็นค่าใช้จ่ายแบบเหมารวมต่อเดือน เราจึงไม่รู้จำนวนค่าใช้จ่ายต่อชิ้นได้อย่างชัดเจน
ทว่าเรื่องนี้ก็ไม่น่ายากเกินความสามารถ ถ้าเรามีข้อมูลอยู่กับมือ เราจะหาค่าใช้จ่ายต่อชิ้นได้จากสูตรนี้
ค่าใช้จ่ายต่อชิ้น = ค่าใช้จ่ายทั้งหมดในเดือน/จำนวนสินค้าที่ขายได้ต่อเดือน
ตัวอย่างเช่น
ต้นทุนสินค้า A ต่อชิ้น เท่ากับ 10 บาท อยากได้กำไรต่อชิ้น 10 บาท
ค่าใช้จ่ายทั้งหมดในเดือน = 100,000 บาท
และทั้งเดือนขายสินค้าได้ทั้งหมด 50,000 ชิ้น
แปลว่า ค่าใช้จ่ายต่อสินค้าแต่ละชิ้น = 100,000/50,000 = 2 บาท
จากนั้นคำนวณราคาขายสินค้า A ได้ดังนี้
ราคาขาย/ชิ้น = ต้นทุนต่อชิ้น + ค่าใช้จ่ายต่อชิ้น + กำไรที่ต้องการต่อชิ้น
ราคาขาย/ชิ้น = 10 + 2 + 10 = 22
สรุปแล้ว ถ้าอยากได้กำไรจากการขายสินค้านี้ 10 บาทต่อชิ้น เราต้องตั้งราคาขายไม่ต่ำกว่า 22 บาทต่อชิ้น
Flowaccount ช่วยตั้งราคาสินค้าร้านขายของชำอย่างไร
สำหรับสินค้าแต่ละชนิด Flowaccount มีหน้าสรุปจำนวนสินค้า ราคาขายสินค้าเฉลี่ย และราคาซื้อสินค้าเฉลี่ย เพื่อให้เราเช็กเบื้องต้นว่าราคาขายมากกว่าราคาซื้อสินค้าโดยเฉลี่ยไหม
ราคาซื้อสินค้าเฉลี่ย หมายถึง ต้นทุนสินค้าต่อหน่วย
ยกตัวอย่างเช่น สินค้าชิ้นนี้มีจำนวนคงเหลือ 20 ชิ้น ราคาขายเฉลี่ยที่ตั้งไว้ 150 บาท และราคาซื้อเฉลี่ย 100 บาท
แล้วถ้าอยากรู้ว่าสินค้าหมุนเวียนเป็นอย่างไร เข้า-ออก แบบไหน ให้กดดาวน์โหลดสรุปความเคลื่อนไหวของสินค้าเพื่อเช็กข้อมูลเพิ่มเติมได้เลยและถ้าใครสงสัยว่า ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการขายและการเปิดร้านชำนั้น เราเรียกดูอย่างไร
Flowaccount ช่วยเราเช็กค่าใช้จ่ายอื่นๆ ง่ายๆ จาก “งบกำไรขาดทุน” โดยเรียกช่วงเวลารายเดือนที่ต้องการเช็ก
เมื่อข้อมูลครบแบบนี้ คิดว่าทุกคนน่าจะเริ่มต้นคำนวณราคาขายสินค้าให้ได้กำไรเยอะๆ แบบไม่ยากนะคะ
--
เมื่อเราเรียนรู้จากพื้นฐาน ต้นทุนสินค้าว่ามีอะไรบ้าง กำหนดกำไรที่ต้องการ การตั้งราคาขายสินค้าในร้านชำก็ไม่น่าจะใช่เรื่องยากและน่าลังเลอีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งร้านชำที่มีการเก็บข้อมูลสินค้าในอดีตที่ผ่านมา จะทำให้เรามีประวัติทั้งต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีตอยู่แล้ว การตั้งราคาขายก็ทำได้แม่นยำขึ้นค่ะ
ทั้งหมดนี้เป็นศาสตร์ของการตั้งราคาที่เจ้าของร้านชำควรรู้ ส่วนใครจะเพิ่มเติมศิลป์ในการขายเข้าไปแบบไหนให้แตกต่าง อันนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถเฉพาะตัวของร้านแล้วล่ะ ฮ่าๆ
About Author
เพจให้ความรู้เรื่องบัญชีสำหรับเจ้าของธุรกิจ ที่อยากให้บัญชีเป็นเรื่องง่าย ใกล้ตัว และมีประโยชน์กับธุรกิจ ภายใต้แนวคิดทีว่า “ทำบัญชี แล้วจะมีกำไร”
ร่วมสมัครเป็นนักเขียนกับ FlowAccount ได้ที่นี่