เจ้าของธุรกิจร้านชำหลายเจ้าเริ่มนำเข้าสินค้าเข้ามาขายจากต่างประเทศ เพื่อสร้างเอกลักษณ์และแตกต่างของร้าน แต่หากไม่ได้ทำขั้นตอนให้ถูกต้อง ก็อาจทำให้ต้นทุนสินค้าที่นำเข้ามาเอามาใช้เป็นค่าใช้จ่ายของธุรกิจไม่ได้ มาทำความเข้าใจขั้นตอนการนำเข้าสินค้าและเอกสารที่ต้องนำมาบันทึกบัญชีได้ในบทความนี้ |
ธุรกิจร้านขายของชำเป็นธุรกิจที่อยู่คู่กับชีวิตเรามาตั้งแต่จำความได้ จุดเด่นของธุรกิจร้านขายของชำ คือ มีสินค้าที่หลากหลาย บางร้านมีสินค้าตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ (โอย..เรือรบนี่ก็เกินเบอร์ไปหน่อย ฮ่าๆ) ซึ่งทำให้มัดใจลูกค้ามาจากรุ่นสู่รุ่น แม้ว่าในละแวกบ้านมีซูเปอร์มาร์เก็ตมาเปิดมากมาย แต่ถ้าร้านชำร้านไหนเลือกของเข้าร้านเก่งๆ มีสินค้าใหม่ๆ เพิ่มช่องทางการขายใหม่ๆ และแตกต่างจากท้องตลาดมากเท่าไร ร้านนั้นก็ยังครองใจลูกค้าได้อยู่ดี
แล้วเจ้าของร้านชำจะหาสินค้าแปลกๆ ใหม่ๆ มาจากไหน นี่เป็นอีกเรื่องที่เจ้าของร้านชำต้องทำการบ้านอย่างหนัก ด้วยลำพังการซื้อของจากในเมืองไทยมาขายให้คนไทยด้วยกันเองอาจจะไม่ดึงดูดลูกค้าอีกต่อไปแล้ว ฉะนั้น เจ้าของร้านชำหลายเจ้าก็อยากจะนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ แต่ติดปัญหาตรงที่ว่า เราจะเริ่มต้นนำเข้าสินค้ายังไงดีนะ
ในวันนี้ถ้าใครกำลังเจอปัญหานี้อยู่ เดี๋ยว FlowAccount จะพาไปแนะนำขั้นตอนการนำเข้าสินค้าและเอกสารที่เกี่ยวข้องกันค่ะ
เลือกอ่านได้เลย!
นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศอย่างไรให้ถูกต้อง
เจ้าของธุรกิจร้านชำหลายเจ้าเริ่มต้นนำเข้าสินค้าเข้ามาขายจากต่างประเทศ แต่ว่าไม่ได้ทำขั้นตอนให้ถูกต้อง กลายเป็นว่าต้นทุนสินค้าที่นำเข้ามาเอามาใช้เป็นค่าใช้จ่ายของธุรกิจไม่ได้ จริงๆ แล้วการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศอย่างถูกต้องจะต้องมีขั้นตอน 5 ขั้นหลักๆ ตามนี้
1. เลือกสินค้า ผู้ค้า (Supplier) และทำใบสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ
2. เมื่อสินค้าถึงเมืองไทย ให้ยื่นเอกสารข้อมูลใบขนสินค้าขาเข้า ผ่านพิธีศุลกากร ซึ่งต้องแจ้งรายละเอียด
- ข้อมูลเรือเข้า
- ใบตราส่งสินค้า
- บัญชีรายการสินค้าทุกรายการ
- บัญชีรายละเอียดการบรรจุหีบห่อ เอกสารอื่นๆ เช่น เอกสารผู้รับบรรทุกหรือผู้รับประกันภัยธนาคาร
- ใบอนุญาตนําเข้าหรือเอกสารอื่นตามที่กฎหมายกำหนด
3. เมื่อศุลกากรตรวจเอกสารเรียบร้อยแล้วจะได้เลขที่ใบขนสินค้า เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบข้อมูลสินค้า พร้อมแจ้งเงื่อนไขชำระภาษีอากร ซึ่งใบขนขาเข้าจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
• ประเภทที่ไม่ต้องตรวจสอบพิธีการ (Green Line) สินค้าประเภทนี้สามารถนำใบขนสินค้าขาเข้าไปชำระภาษีอากรและวางประกันที่เกี่ยวข้องได้ทันที
• ประเภทที่ต้องตรวจสอบพิธีการ (Red Line) สินค้าประเภทนี้ต้องนำใบขนสินค้าขาเข้าไปติดต่อกับหน่วยงานประเมินอากรสินค้าก่อน เพื่อให้กลายเป็นสินค้า Green Line จากนั้นจึงสามารถชำระภาษีอากร
4. ชำระภาษีอากรขาเข้า และวางประกันที่เกี่ยวข้องให้เรียบร้อย
5. ยื่นใบขนสินค้าขาเข้ากับใบเสร็จรับเงินที่เราไปจ่ายค่าภาษีอากรที่คลังสินค้า ถ้าเจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลเรียบร้อย ก็จะปล่อยสินค้าให้เราในที่สุด
ส่วนใหญ่แล้ว ขั้นตอนนี้เกี่ยวข้องกับเอกสารมากมาย และถ้าใครไม่ชำนาญพออาจจะกลายเป็นเรื่องยุ่งยากในที่สุด เลยเป็นที่มาที่ไปว่าร้านชำส่วนใหญ่มักจ้างบริการบริษัทขนส่งให้ดำเนินการเรื่องเอกสารต่างๆ ให้
แต่ๆๆ ช้าก่อน… แม้ว่าเราจะจ้างให้คนอื่นดำเนินการเรื่องการนำเข้าให้ ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะละเลยเรื่องเอกสารได้นะ เพราะว่าเอกสารการนำเข้าเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนธุรกิจที่เราควรเก็บไปบันทึกบัญชีให้เรียบร้อย เพื่อที่ว่าเราจะได้วางแผนการตั้งราคาสินค้าได้ และที่สำคัญ ใครๆ ก็อยากให้เอกสารเหล่านี้เป็นค่าใช้จ่ายของธุรกิจได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจริงไหมคะ
การนำเข้าสินค้ามีเอกสารอะไรบ้าง
FlowAccount จะพาทุกคนมาทำความเข้าใจเอกสารแต่ละใบที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้ากันว่ามีอะไรบ้าง และสำคัญกับเราอย่างไร
-
- ใบขนสินค้าขาเข้า (Import Declaration) คือ เอกสารที่ใช้แสดงรายละเอียดต่อกรมศุลกากรเพื่อการชำระภาษีอากร ซึ่งระบุรายละเอียดของสินค้าที่นำเข้า
- ใบตราส่งสินค้าทางเรือ B/L-Bill of Lading หรือทางอากาศ Airway Bills เป็นเอกสารแสดงสิทธิในสินค้า และเป็นหลักฐานสัญญาของบริษัทขนส่งที่จะขนส่งสินค้าทางเรือหรือเครื่องบินจากประเทศส่งออกไปยังท่าเรือปลายทาง เอกสารใบนี้มีความสำคัญมากๆ ทางบัญชี เพราะจะช่วยให้นักบัญชีบันทึกรับรู้กรรมสิทธิ์และภาระจากสินค้าได้อย่างถูกต้อง
- บัญชีราคาสินค้า (Invoice หรือ Commercial Invoice) เป็นเอกสารที่แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าต่าง ๆ ตัวอย่าง เช่น รายละเอียดของสินค้า จํานวน นํ้าหนัก ราคา
- บัญชีรายละเอียดบรรจุหีบห่อ (Packing List) คือ เป็นเอกสารแสดงรายละเอียดของที่บรรจุในแต่ละหีบห่อสินค้า รายการในบัญชีบรรจุหีบห่อจะทำให้มีความสะดวกในการตรวจปล่อยสินค้า
- ใบอนุญาตสำหรับสินค้าควบคุมการนำเข้า (Import License)
- ใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Certificates of Origin) ใช้ในกรณีขอลดอัตราอากรขาเข้า
บันทึกรับสินค้าเข้าอย่างไร
แน่นอนว่าพอเราได้รับสินค้าสู่อ้อมอกแล้ว สิ่งที่สำคัญมากๆ ก็คือ การตรวจนับสินค้าและรับสินค้าเข้าในระบบ โปรแกรมบัญชี Flowaccount ช่วยให้เจ้าของร้านชำบันทึกรับสินค้าด้วยเมนูเอกสารซื้อ > ใบรับสินค้า
ข้อดีของการบันทึกรับสินค้าด้วย Flowaccount คือ เราจะรู้จำนวนสินค้าเข้าคลังทันที และสามารถตรวจสอบได้ง่ายว่าสินค้าเหล่านี้มีจำนวนและมูลค่าเท่าไรบ้าง จากนั้นก็วางแผนขายสินค้าเหล่านี้ได้เลย นอกจากนี้สำหรับการจ่ายชำระเงินเราก็สามารถเช็กได้เช่นกันว่ามีการรับสินค้าใดที่ยังไม่ได้จ่ายชำระเงินบ้าง ทำให้เราบริหารเงินธุรกิจได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
วิธีการบันทึกรับสินค้าทำได้ง่ายๆ เพียงแค่มีบัญชีราคาสินค้า (Invoice หรือ Commercial Invoice) และเราสามารถกรอกรายละเอียดสินค้าที่นำเข้ามาได้ทั้งจำนวนเงินและปริมาณในเมนูนี้ ส่วนค่าใช้จ่ายการนำเข้าอื่น สามารถบันทึกในเมนูค่าใช้จ่ายได้เช่นกัน
โดยสรุปแล้ว ธุรกิจร้านชำเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีความเป็นเอกลักษณ์ในเรื่องของสินค้าที่หลากหลาย ทำให้เจ้าของธุรกิจเองต้องทำความเข้าใจวิธีการสั่งซื้อสินค้า การนำเข้ามาอย่างถูกต้อง เพื่อที่จะได้มีสินค้าเต็มชั้นให้ลูกค้าเลือกสรรอย่างจุใจ และที่สำคัญ ถ้าใครเก็บเอกสารเรียบร้อย บันทึกสินค้าเข้าอย่างเป็นระบบ ก็ยิ่งทำให้ธุรกิจมองเห็นกำไรและแข่งขันกับซูเปอร์มาร์เก็ตเจ้าใหญ่ๆ ได้แบบไม่ต้องกลัวเลยค่ะ
About Author
เพจให้ความรู้เรื่องบัญชีสำหรับเจ้าของธุรกิจ ที่อยากให้บัญชีเป็นเรื่องง่าย ใกล้ตัว และมีประโยชน์กับธุรกิจ ภายใต้แนวคิดทีว่า “ทำบัญชี แล้วจะมีกำไร”
ร่วมสมัครเป็นนักเขียนกับ FlowAccount ได้ที่นี่