ค่าใช้จ่าย พูดให้เข้าใจง่ายคือ สิ่งที่เราจ่ายไปเพื่อแลกอะไรบางอย่างมาโดยหวังว่าจะเกิดรายได้กลับเข้ามาให้ธุรกิจ สินทรัพย์ คือ สิ่งที่เราซื้อหรือได้อะไรมาที่สามารถใช้ประโยชน์ได้อยู่ หรือยังใช้ไม่หมดทันที แบบนี้จะถือเป็นสินทรัพย์ของธุรกิจครับ ภาษีซื้อ ถูกจัดอยู่ในสินทรัพย์ของธุรกิจ เพราะเรายังมีสิทธินำไปหักจากภาษีขายในแต่ละเดือน (ประโยชน์ของมัน) เพื่อให้เรานั้นจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มน้อยลง หรือ มีสิทธิได้คืนนั่นเอง |
“กำไรของธุรกิจ เริ่มต้นจากค่าใช้จ่าย” เนื่องจากค่าใช้จ่ายเป็นตัวแปรสำคัญของธุรกิจที่ทำให้กำไรเพิ่มขึ้นได้ หากเจ้าของธุรกิจรู้จักควบคุมเป็นอย่างถูกวิธี ก็ย่อมจะจัดการเรื่องนี้ได้ไม่ยาก
การขึ้นบทความด้วยประโยคแบบนี้อาจจะทำให้เจ้าของธุรกิจหลายคนรู้สึกขัดใจ เนื่องจากปกติแล้ว เจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่มักจะมุ่งเป้าไปที่การสร้างรายได้ เพิ่มยอดขาย แต่ผมอยากให้ลองคิดกลับกันดูครับว่า การจัดการเรื่องค่าใช้จ่ายนั้นเป็นการจัดการและออกแบบระบบหลังบ้านที่ดี ที่รองรับไม่ให้รายได้ที่เราพยายามหามานั้นสูญสลายหายไปได้โดยง่าย และที่ดีกว่านั้น คือ มันจัดการระบบให้ดีได้ในครั้งเดียวตั้งแต่แรกเริม
โดยค่าใช้จ่ายที่ว่า ผมหมายถึงค่าใช้จ่ายโดยรวมของธุรกิจ ซึ่งหลายคนยังเข้าใจผิดและสับสนกันอยู่ โดยเฉพาะนิยามของมัน
ค่าใช้จ่าย คืออะไร
ถ้านิยามตามหลักการบัญชี ค่าใช้จ่าย คือการลดลงของประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในรอบระยะเวลารายงาน หรือการลดค่าของสินทรัพย์หรือการเพิ่มขึ้นของหนี้สิน ซึ่งส่งผลให้ส่วนของเจ้าของลดลง
แต่ถ้าให้นิยาม คำว่า “ค่าใช้จ่าย” แบบชัด ๆ แบบคนทั่วไปที่เข้าใจง่าย ผมอยากให้มองถึงคำว่า สิ่งที่เราจ่ายไปเพื่อแลกอะไรบางอย่างมาโดยหวังว่าจะเกิดรายได้กลับเข้ามาให้ธุรกิจไม่มากก็น้อย
เช่น การจ่ายค่าจ้างพนักงาน การซื้อสินค้า (แล้วขายไป) การจ่ายค่าโฆษณา และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เจ้าของธุรกิจมองว่ามันคือสิ่งที่เราจ่ายเพื่อสร้างรายได้ให้กับเรา และมุ่งหวังว่าจะจ่ายให้น้อยที่สุด เพื่อให้ธุรกิจมีกำไรมากที่สุดนั่นเอง
อ้อ… แต่ยกเว้นรายจ่ายที่ชื่อว่าภาษีไว้สักตัวละกันครับ เพราะการจ่ายนั้นอาจจะไม่ได้สร้างรายได้กลับมาให้เราโดยตรง แต่เจ้าของธุรกิจก็ไม่อยากจ่ายเหมือนกัน (ฮ่าๆ)

กลับมาที่เรื่องเดิมดีกว่า เมื่อเรารู้จักความหมายของค่าใช้จ่ายกันแล้ว ผมอยากเล่าให้ฟังว่า สิ่งที่คนมักเข้าใจผิดอีกว่าเป็นค่าใช้จ่าย แต่จริงๆ มันคือ สินทรัพย์
สินทรัพย์ คืออะไร
กลับมาที่นิยามของบัญชีอีกสักครั้ง สินทรัพย์ หมายถึง ทรัพยากรที่อยู่ในความควบคุมของกิจการ ทรัพยากรดังกล่าวเป็นผลของเหตุการณ์ในอดีต ซึ่งกิจการคาดว่าจะได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจจากทรัพยากรนั้นในอนาคต
มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะอยากปิดจอลงไป แต่ผมขออธิบายให้ฟังในสไตล์ของคนทำธุรกิจทั่วไปก่อนครับ นั่นคือ สินทรัพย์ เป็นอะไรที่เราซื้อหรือได้มา แล้วคิดว่าจะมีประโยชน์มากกว่าการใช้ๆแล้วหมดไป
นิยามอาจจะไม่ได้ตรงเป๊ะ 100% แต่สิ่งที่อยากให้เห็นคือความเข้าใจคร่าวๆ สำหรับเจ้าของธุรกิจว่า ถ้าเราซื้อหรือได้อะไรมาที่สามารถใช้ประโยชน์ได้อยู่ หรือยังใช้ไม่หมดทันที แบบนี้จะถือเป็นสินทรัพย์ของธุรกิจครับ
จากตัวอย่างของค่าใช้จ่ายเมื่อกี้ ผมพูดถึงคำว่า “ซื้อสินค้า” ซึ่งตัวนี้จะให้หลายคนเข้าใจว่า มันเป็นค่าใช้จ่าย 100% แต่จริงๆ ไม่ใช่ครับ มันต้องเกิดการขายไปเสียก่อน ถึงจะกลายเป็น ค่าใช้จ่าย แต่ถ้าหากยังขายไม่ได้ แปลว่ามันมีประโยชน์อยู่ (รอขาย) แบบนี้คือ สินทรัพย์
หรือในกรณีที่ธุรกิจอาจจะมีการจ่ายค่าใช้จ่ายให้พนักงานล่วงหน้า จะเห็นว่า ประโยชน์ยังมีเหลืออยู่ พนักงานรับค่าจ้างไปแล้ว ยังไม่ทำงานให้เรา ดังนั้นสิทธิ์ส่วนที่เป็นการจ่ายล่วงหน้า ก็ถือว่าเป็นสินทรัพย์เช่นเดียวกันครับ (ภาษาทางบัญชีจะเรียกว่า ค่าใช้จ่ายจ่ายล่วงหน้า)
ถ้าให้ผมยกตัวอย่างแบบง่ายๆ อย่างการซื้ออุปกรณ์ในการใช้งาน เช่น คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก หรือ โทรศัพท์มือถือ มาใช้ในธุรกิจ แบบนี้ก็มีลักษณะสินทรัพย์ที่เห็นได้ชัด นั่นคือ มันสามารถใช้งานได้นานกว่า 1 ปีแน่ๆ และยังไม่หมดไปจนกว่าเราจะเลิกใช้มันนั่นเอง
โดยสินทรัพย์บางตัวจะมีความสัมพันธ์กับค่าใช้จ่ายที่เรียกว่า ค่าเสื่อมราคา ที่เกิดจากการใช้งานสินทรัพย์ ซึ่งตรงนี้จะมาอธิบายในโอกาสหน้าอีกที แต่คิดว่าตรงนี้จะทำให้ใครหลายคนเห็นภาพของนิยามทั้งสองตัวมากขึ้นแล้วครับ

ดังนั้นก่อนจบไป ผมขอถามคำถามสั้นๆ ว่า ภาษีซื้อที่กิจการจ่ายไป นั้นถือเป็น สินทรัพย์ หรือ ค่าใช้จ่าย ครับ
คำตอบ คือ เราต้องมาดูก่อนว่า ภาษีซื้อนั้นมันใช้แล้วหมดไป หรือว่ามีประโยชน์อะไรซ่อนอยู่มากกว่านั้น โดยดูจากนิยามและความสัมพันธ์ของภาษีมูลค่าเพิ่มกันสักหน่อยครับ
ภาษีซื้อ คืออะไร
ภาษีซื้อ หมายถึง ภาษีที่เจ้าของธุรกิจต้องจ่ายเมื่อมีการซื้อวัตถุดิบ หรืออุปกรณ์ต่างๆ เพื่อมาทำเป็นสินค้าหรือบริการ ซื้ออุปกรณ์สำนักงาน หรือค่าใช้จ่ายใดๆ ที่ใช้ในการดำเนินการของกิจการ เมื่อจ่ายแล้วเจ้าของธุรกิจจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ให้กับผู้ขาย โดยสามารถนำออกไปหักออกจากภาษีขายที่กิจการเรียกเก็บจากลูกค้าเมือมีการขายสินค้าและบริการ และนำส่งส่วนต่าง (ขอคืน) กับทางสรรพากรต่อไป
ดังนั้นเราจะเห็นว่า ภาษีซื้อ นั้นถูกจัดอยู่ในสินทรัพย์ของธุรกิจ เพราะเรายังมีสิทธินำไปหักจากภาษีขายในแต่ละเดือน (ประโยชน์ของมัน) เพื่อให้เรานั้นจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มน้อยลง หรือ มีสิทธิได้คืนนั่นเองครับ

เอาละครับ และทั้งหมดนี้น่าจะช่วยให้ทุกคนเห็นภาพและนิยามของ ค่าใช้จ่าย สินทรัพย์ และ ภาษีซื้อได้ชัดเจนมากขึ้น ในตอนนี้ แล้วเรามาพบกันอีกทีในเรื่องของค่าใช้จ่ายในตอนต่อๆ ไปครับ
เริ่มต้นใช้ FlowAccount เพื่อจัดการค่าใช้จ่าย สินทรัพย์ และภาษีซื้อ ของธุรกิจได้เลยฟรี 30 วัน