ใบเพิ่มหนี้ และใบลดหนี้ คืออะไร และต้องใช้ตอนไหน

ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้



เคยสงสัยไหม? เวลาเราขายสินค้าแล้วอาจจะส่งสินค้าไปเกินหรือขาด ไปจากใบสั่งซื้อที่เราได้รับจากลูกค้า หรือใบเสนอราคาที่เราได้ออกให้ลูกค้าไป เราจะทำอย่างไรต่อไปดี



แล้วเคยไหม? ที่เวลาเราซื้อสินค้าจากผู้ขายแล้ว ของที่เราได้รับมีสเปคที่ไม่ตรงตามที่คุยกันไว้



หากคุณเคยมีคำถามเหล่านี้ อย่าเพิ่งทะเลาะกันไปครับ เชื่อไหมครับว่าเอกสารทางบัญชีช่วยคุณได้ แค่เรารู้ว่าจะใช้เมื่อไหร่ และเรามีสิทธิใช้ได้หรือเปล่าเท่านั้นเองครับ ซึ่งวันนี้เอกสารทางธุรกิจที่เรานำมาให้ทุกคนได้รู้จักกันก็คือ เอกสารใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้ ครับ !

เรียนบัญชี FlowAccount


ใบเพิ่มหนี้ และใบลดหนี้ (Debit note/Credit note) คืออะไร?


หากว่าคุณเป็นผู้ประกอบการในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม เอกสาร ใบเพิ่มหนี้ และใบลดหนี้ นี้ถือได้ว่าเป็นเอกสารสำคัญในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มครับ เนื่องจากถือได้ว่าเป็นใบกำกับภาษีประเภทหนึ่งเลย ดังนั้นหากคุณกำลังถามตัวเองว่า อย่างนี้ฉันมีสิทธิ์ออกใบพวกนี้หรือเปล่านะให้เช็คว่า

  1. เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มหรือเปล่า
  2. มีการขายสินค้าหรือการให้บริการโดยได้ออกใบกำกับภาษีไปแล้วหรือเปล่า

ถ้าใช่ทั้งสองข้อ ถือว่ามาได้ครึ่งทางแล้วครับ ! เพราะการออก ใบเพิ่มหนี้และใบลดหนี้ พูดอย่างง่ายก็คือการปรับปรุงภาษีขายของสินค้าหรือบริการที่เคยได้คิดไปกับลูกค้าแล้ว ให้ “เพิ่มขึ้น” หรือ “ลดลง” โดย “ต้องมีเหตุผลในการออก” ครับ



การจัดทำใบเพิ่มหนี้หรือใบเพิ่มหนี้นั้นไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ เราจะออกไปเฉยๆ โดยไม่มีเหตุผลนะครับ สรรพากรเขาให้แนวทางอยู่ว่า การออกใบเพิ่มหนี้และใบลดหนี้นั้นให้จัดทำเมื่อมีเหตุผลดังต่อไปนี้


ใบเพิ่มหนี้

  • เมื่อมีการเพิ่มราคาสินค้า/บริการ เนื่องจากของที่เราส่งไปนั้น “เกินกว่า” จำนวนที่ตกลงซื้อขายกันไว้ หรือให้บริการ “เกินกว่า” ข้อกำหนดที่ตกลงกัน
  • คำนวณราคาสินค้าหรือราคาค่าบริการผิดพลาด “ต่ำกว่า” ที่เป็นจริง
  • สาเหตุอื่นตามที่สรรพากรกำหนด


ใบลดหนี้

  • เมื่อมีการลดราคาสินค้า/บริการ เนื่องจากของที่เราส่งไปนั้น “ขาดไป” จากจำนวนที่ตกลงซื้อขายกันไว้ หรือให้บริการ “ขาดไป” หรือบกพร่องหรือผิดไปจากข้อตกลงที่ตกลงกัน
  • คำนวณราคาสินค้าหรือราคาค่าบริการผิดพลาด “สูงกว่า” ที่เป็นจริง
  • เราในฐานะผู้ขาย ได้รับสินค้าที่เราขายไปนั้นกลับคืนมาเนื่องจากสินค้าชำรุดบกพร่องไม่ตรงตามตัวอย่าง หรือไม่ตรงคุณสมบัติที่ตกลงไว้ ทำให้มีการคืนสินค้าหรือแลกเปลี่ยนสินค้าตามข้อตกลง (อันนี้ควรต้องมีการแลกเปลี่ยนกันในระยะเวลาที่เหมาะสมทางธุรกิจด้วยนะครับ)
  • มีการบอกเลิกสัญญาบริการหรือว่าไม่มีการให้บริการตามสัญญา
  • มีการจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้ซื้อ, มีการจ่ายคืนเงินจ่ายล่วงหน้า/เงินประกัน/เงินมัดจำ ให้กับผู้ซื้อตามข้อตกลงทางการค้า

เมื่อมีเหตุการณ์ตามตัวอย่างข้างต้นนี้ เราในฐานะผู้ขายสินค้าหรือให้บริการ จะต้องออกใบเพิ่มหนี้/ใบลดหนี้ในเดือนที่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น เช่น ถ้าได้รับคืนสินค้าในเดือนกรกฎาคม ก็ควรออกใบลดหนี้ในเดือนกรกฎาคม


ทั้งนี้ ในกรณีที่คุณไม่สามารถออกใบเพิ่มหนี้ได้ทันในเดือนที่เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ก็ไม่ต้องกังวลใจไปครับว่าเราจะออกเอกสารล่าช้าไปหรือเปล่า หากออกได้ไม่ได้ก็สามารถ ออกใบเพิ่มหนี้ให้กับลูกค้าในเดือนภาษีถัดจากเดือนนั้นได้เลยครับ


อ่านกรณีที่ไม่ควรทำใบลดหนี้ และทำธุรกิจแบบไหนใช้ใบลดหนี้อย่างไรได้ในบทความ 5 เรื่องที่ผู้ประกอบการไม่รู้เกี่ยวกับการทำใบลดหนี้


ใบเพิ่มหนี้และใบลดหนี้กระทบการทำงานของเราอย่างไร


หากว่าคุณอยู่ในฐานะผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่เป็นผู้ขาย ก็จะมีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบลดหนี้ที่คุณออกนั้น ไป “หักออก” จากภาษีขายของตนเองในเดือนที่มีการออกใบลดหนี้นั้น (ถ้าเพิ่มหนี้ก็คือนำไปเพิ่มภาษีขายนั่นเองครับ)



แต่หากว่าคุณอยู่ในฐานะผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่เป็นผู้ซื้อ ก็คือทำในทางตรงข้ามกันครับ คือนำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ปรากฎในใบลดหนี้นั้นไป “หักออก” จากภาษีซื้อของตนเองในเดือนที่ได้รับใบลดหนี้นั่นเองครับ (ถ้าเพิ่มหนี้ก็คือนำไปเพิ่มภาษีซื้อ)



บางท่านอาจมีคำถามว่า อย่างนี้สินค้าที่เราได้รับคืนมาจากผู้ซื้อจากการออกใบลดหนี้นั้น ไม่ต้องเอาเข้าคลังสินค้าอีกได้ไหม เพราะจริงๆก็ถือว่าขายไปแล้ว จะบอกว่าความสำคัญของใบลดหนี้อยู่ที่การนำสินค้าคืนกลับเข้าคลังด้วยนะครับ !


เราไม่สามารถรับคืนได้แต่เพียงเอกสาร ตัวสินค้าก็ต้องนำเข้าคืนคลังด้วยนะครับ ไม่อย่างนั้นจะไม่สามารถถือได้ว่าผู้ขายได้รับการคืนสินค้านี้และออกใบลดหนี้ได้


สาระสำคัญของใบเพิ่มหนี้และใบลดหนี้


สำหรับใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ ที่สมบูรณ์นั้น แทบจะเหมือนกับใบกำกับภาษีที่ท่านคุ้นเคยเลยครับ (อ่านบทความใบกำกับภาษีได้ที่นี่เลย) ซึ่งจะต้องมีรายละเอียดอย่างน้อยดังต่อไปนี้ครับ



ใบเพิ่มหนี้


    1. เห็นคำว่า “ใบเพิ่มหนี้” หรือ “ใบลดหนี้” ชัดเจน
    2. วันเดือนปีที่ออก
    3. มีเลขประจำตัวผู้เสียภาษี รวมถึงชื่อและที่อยู่ของผู้ขาย
    4. ชื่อและที่อยู่ของผู้ซื้อ
    5. หมายเลขใบกำกับภาษีเดิม
    6. มูลค่าของสินค้าหรือบริการตามใบกำกับภาษีเดิม มูลค่าที่ควรจะเป็น และผลต่างที่เกิดขึ้น
    7. คำอธิบายสั้นๆ ถึงสาเหตุในการออกใบเพิ่มหนี้และใบลดหนี้

โดยคุณสามารถออก ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ โดยอ้างอิงถึงใบกำกับภาษีเดิมมากกว่า 1 ฉบับก็ได้นะครับ แค่ระบุเลขที่ใบกำกับภาษีเดิมทั้งหมดในเอกสารเท่านั้นเอง ผ่านขั้นตอนข้างต้นในโปรแกรม FlowAccount



จะเห็นได้ว่าการคืนสินค้า การปรับราคา หรือการบอกเลิกบริการตามสัญญา เป็นเหตุผลให้ผู้ประกอบการอย่างเราๆ สามารถออกใบลดหนี้ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มได้ โดยจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่สรรพากรกำหนดเท่านั้น และจะต้องเกิดขึ้นจริง (เช่นมีการคืนสินค้าเข้าคลัง) ด้วยนะครับ หากว่าเราไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้องครบถ้วน อาจมีโทษทั้งทางแพ่ง และทางอาญาตามประมวลรัษฎากรนะครับผม

ลองใช้งานFlowAccount ฟรี 30 วันได้ง่ายๆ วันนี้
ลองใช้งานฟรีได้ง่ายๆ วันนี้
สมัครเลย

You may also like