อ่านงบการเงิน 10 คำเบื้องต้น ที่ช่วยวางแผนธุรกิจ

อ่านงบการเงิน

 

อ่านงบการเงิน หนึ่งในคำที่น่าสนใจมากที่สุดของงบการเงินคือคำว่า กำไรสุทธิ/ขาดทุนสุทธิ ซึ่งทุกท่านน่าจะรู้จักกันดี เพราะเป็นจุดแสดงผลสุดท้ายของการดำเนินงานของกิจการในปีนั้นๆ หรือพูดง่ายๆ ว่า เป็นกำไรหลังจากที่หักค่าใช้จ่ายทั้งหมดออกแล้วนั่นเอง

 

ทั้งนี้ให้ระวังว่า กำไร หรือขาดทุนสุทธิ อาจไม่เท่ากับกำไรขาดทุนทางภาษี บางครั้งบริษัทขาดทุนทางบัญชี แต่ต้องเสียภาษีเพราะมีรายการบวกกลับต่างๆ เช่น บวกกลับประมาณการ บวกกลับค่าใช้จ่ายต้องห้ามจนทำให้มีกำไรทางภาษีและต้องเสียภาษีก็มี

เจ้าของกิจการหลายคนอาจจะเคยประสบปัญหาอ่านงบการเงินของบริษัทไม่รู้เรื่องกันใช่ไหมคะ ทั้งตัวเลขมากมาย ศัพท์แสงที่ไม่คุ้นหู เข้าใจยาก พานไม่อยากอ่าน และสุดท้ายก็วางมันไว้เฉยๆ ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร

 

เราขอแนะนำให้เริ่มจาก 10 คำเบื้องต้นในงบการเงิน ที่เจ้าของกิจการควรรู้มาอธิบายง่ายๆ ให้เข้าใจ แล้วคุณจะพบว่าการอ่านงบการเงินนั้นมีประโยชน์มากกว่าที่คิดค่ะ

 

อ่านงบการเงิน 10 คำเบื้องต้นบอกอะไรเกี่ยวกับธุรกิจบ้าง

 

เงินสด

คำนี้ไม่ยากค่ะ ก็คือเงินที่บริษัทมีนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็น เงินเหรียญ ธนบัตร เงินฝากบัญชีธนาคารประเภทอะไรก็แล้วแต่ ที่สามารถเบิกมาใช้ได้ภายในระยะเวลา 3 เดือน ดังนั้นถ้าลองเอาจำนวนเงินนี้มาเทียบกับจำนวนหนี้สินที่จะต้องจ่ายในอนาคตอันใกล้ดู เราจะทราบค่ะว่าสถานการณ์ทางการเงินตอนนี้เป็นอย่างไร

 

  • ถ้าเงินเยอะพอ - ถ้าเจ้าของกิจการเห็นว่าเงินสดในงบการเงินมีจำนวนที่มากพอจะจ่ายหนี้ ก็สบายใจได้ค่ะว่ามีเงินเหลือใช้แน่นอน
  • ถ้าเงินเหลือเยอะมาก - แต่ถ้ามีเงินเหลือมากไป ก็ควรจะพิจารณาค่ะว่าเรากำลังเสียโอกาสในการทำมาหาได้ให้มากขึ้นหรือเปล่า การเก็บเงินนั้นเป็นเรื่องดี แต่ถ้าเราทำให้เงินนั้นงอกเงยได้มากกว่าเดิมก็เป็นสิ่งที่ควรทำค่ะ ไม่ว่าจะนำไปฝากธนาคาร ลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำ หรือนำไปซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ใดๆ ที่ช่วยพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงาน ใช้เวลาลดลง ทำงานได้มากขึ้น ก็ทำเงินได้มากขึ้นค่ะ
  • ถ้าเงินเหลือไม่พอ - แน่นอน สถานการณ์นี้ไม่ว่าใครก็ไม่อยากเจอ แต่ก็อย่าเพิ่งรีบตกใจไปค่ะ เพราะยังมีสินทรัพย์รายการอื่นที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้

 

ลูกหนี้การค้า / เจ้าหนี้การค้า

หลายคนมักจะสับสนระหว่าง 2 คำนี้ เอาเป็นว่าให้จำง่ายๆ ถ้าเขาติดเงินเรา คือลูกหนี้การค้า แต่ถ้าเราติดเงินเขา คือเจ้าหนี้การค้าค่ะ 

 

รายการที่สามารถเปลี่ยนเป็นเป็นเงินสดได้ ก็คือลูกหนี้การค้านั่นเอง (ถ้าเราเก็บเงินได้) นั่นก็หมายความว่า ลูกหนี้การค้าที่เห็นอยู่นั้น เราอาจจะเก็บเงินไม่ได้ทั้งหมด* ทุกคนเคยให้เพื่อนยืมเงินแล้วไม่ได้คืนไหมคะ ในทางธุรกิจก็ไม่แตกต่างกันค่ะ 

 

ในการประเมินว่าจะเก็บเงินได้เท่าไหร่ ต้องอาศัยประสบการณ์ที่เคยทำงานกับคู่ค้ามา ดังนั้นบริษัทควรมีการเก็บข้อมูลการรับชำระเงินจากลูกหนี้ เพื่อเอามาใช้ในการนี้ค่ะ ซึ่งเทคนิคในการประเมินและบริหารการจัดเก็บเงินลูกหนี้นั้นก็มีมากมาย ไว้จะมาอธิบายอย่างละเอียดในโอกาสหน้าค่ะ

 

ถ้าเราเอาเงินทั้งหมดที่มี บวกกับลูกหนี้การค้า แล้วมีจำนวนมากกว่าเจ้าหนี้ ก็สบายใจได้ค่ะ แต่ต้องระวังอีกอย่างก็คือ ต้องแน่ใจด้วยว่า จะได้รับเงินจากลูกหนี้ ก่อนที่จะต้องจ่ายเงินเจ้าหนี้ค่ะ โดยดูได้จาก Credit Term

 

*งบการเงินบางบริษัทอาจประเมินในส่วนนี้แล้ว และแสดงอยู่ในรายการ “ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ"

 

เงิน + ลูกหนี้

เปรียบเทียบกับ

เจ้าหนี้

 

สินค้าคงเหลือ

สินค้าคงเหลือเป็นอีกหนึ่งรายการที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ค่ะ โดยการเอาสินค้าที่เรามีไปขายเพื่อให้ได้เงินสดมานั่นเอง 

 

แต่มีข้อควรระวังก็คือ สินค้าคงเหลืออาจจะไม่ได้อยู่ในสภาพพร้อมที่จะขายได้ทั้งหมด เพราะสินค้าคงเหลือที่เห็นในงบการเงินนั้นรวมถึงสินค้าสำเร็จรูป สินค้าที่ยังผลิตไม่เสร็จ ไปจนถึงวัตถุดิบต่างๆ เลยค่ะ และนอกจากนี้ทุกท่านคงจะพอทราบดีว่าสินค้าไม่ได้ขายได้เสมอไป ในบางครั้งก็มีของค้างสต็อกที่ขายไม่ออก หรืออาจจะต้องขายต่ำกว่าทุนเพื่อระบายออกไปด้วยค่ะ

 

รายการภาษีค้างจ่ายต่างๆ

รายการภาษี เป็นอีกภาระที่กิจการจะต้องจ่าย ถ้าเจ้าของกิจการอยากทราบว่า ในปีนี้มีค่าใช้จ่ายภาษีทั้งหมดเท่าไหร่ สามารถดูได้จากรายการ “ค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้” ในงบกำไรขาดทุน แต่ถ้าอยากทราบว่ามีค่าใช้จ่ายภาษีใดที่ยังไม่ได้จ่ายให้กรมสรรพากร ให้ดูที่ “ภาษีเงินได้ค้างจ่าย” ในงบแสดงฐานะการเงินค่ะ

 

ซึ่งภาษีก็มีหลายประเภท และมีช่วงเวลาในการจ่ายที่ไม่เหมือนกันดังนี้ค่ะ

 

 

ชำระทุกเดือน

  • ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายต่างๆ ตามชื่อค่ะ เรามีหน้าที่จ่ายภาษีนี้ก็ต่อเมื่อ บริษัทจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ ต่อไปนี้ เงินเดือน เงินปันผล เงินค่าจ้าง ค่าเช่า ค่าโฆษณา ทั้งแก่บุคคล และนิติบุคคล โดยเราต้องหักเงินไว้ แล้วนำเงินนี้จ่ายกรมสรรพากรค่ะ จะเห็นได้ว่าต่อให้บริษัทยังไม่มีกำไร ก็ยังต้องจ่ายภาษีพวกนี้ เพราะเป็นภาษีที่คิดจากรายจ่ายของเรา
  • ต่อมาคือ ภาษีมูลค่าเพิ่มค่ะ ถ้าเราจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือมีรายรับมากกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี

 

ชำระทุกครึ่งปี

คือภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี พูดง่ายๆ ก็คือภาษีเงินได้นิติบุคคล คิดจากกำไรทางภาษีของกิจการ จะมีการแบ่งชำระ 2 ครั้งต่อปี   

 

 

ชำระทุกปี

ภาษีเงินได้นิติบุคคล คำนวณจากกำไรสุทธิทางภาษีของทั้งปี แล้วหักด้วยภาษีที่จ่ายไปแล้วตอนครึ่งปี (ภ.ง.ด.51) และภาษีเงินได้ที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย ไปแล้ว ระหว่างปี   

 

สังเกตได้ว่า ถึงแม้ว่าจะมีช่วงเวลาในการจ่ายที่แตกต่างกัน แต่ทั้งหมดก็คือ ต้องจ่ายภายใน 1 ปีทั้งนั้นค่ะ ดังนั้นภาระภาษีก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่พลาดไม่ได้ แล้วก็ไม่ควรจะพลาดด้วยค่ะ เพราะว่าใต้คำว่าจ่ายภาษีล่าช้า มีคำว่าเบี้ยปรับ และเงินเพิ่มซ่อนอยู่

 

ทดลองทำหนังสือรับรอง หัก ณ ที่จ่าย เอกสารภาษีซื้อ ภาษีขาย ได้ที่นี่

 

 

เทคนิคในการยืดระยะเวลาในการจ่ายภาษี ก็คือการยื่นแบบภาษีผ่านทางระบบ E-Filing ซึ่งเป็นช่องทางออนไลน์ค่ะ นอกจากจะประหยัดเวลาเดินทางไม่ต้องไปที่สำนักงานสรรพากรแล้ว ยังได้รับสิทธิพิเศษขยายเวลายื่นแบบและจ่ายภาษีออกไปอีก 8 วันค่ะ ยกตัวอย่างเช่น ภ.พ.30 สำหรับการจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม ถ้ายื่นแบบที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ ต้องยื่นและชำระภาษีภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป แต่ถ้ายื่นผ่าน E-Filing สามารถยื่นและชำระภาษีได้ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปค่ะ ถึงแม้จะเพิ่มมาแค่ 8 วัน แต่ก็เป็น 8 วันที่มีคุณค่าใช่ไหมล่ะคะ เพราะมันคือเวลาที่เราได้มาฟรีๆ และทำให้มีเวลาจัดเตรียมเอกสารเพิ่มด้วยค่ะ

 

สามารถดูวิธีการสมัครยื่นแบบภาษีทาง E-Filing ได้ที่เว็บกรมสรรพากร 

(https://rdserver.rd.go.th/publish/index.php?page=howtoregister)

 

สามารถดูปฏิทินภาษีเพิ่มเติมได้จากเว็บกรมสรรพากร (http://www.rd.go.th/publish/27890.0.html)

 

รายได้

รายได้ทางบัญชี คือรายได้ที่เกิดขึ้นในระหว่างงวด ซึ่งรวมทั้งรายได้ที่เราได้รับชำระเงินแล้ว และยังไม่ได้รับชำระเงินด้วย ดังนั้นถ้าเจ้าของกิจการเห็นว่ารายได้เยอะ กำไรเยอะ แต่ไม่เคยมีเงินพอเลย ก็เป็นสัญญาณเตือนให้กลับไปดูแล้วค่ะว่ามีอะไรผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่ โดยอาจเริ่มจากการพิจารณาตามคำแนะนำในข้อ ลูกหนี้การค้า/ เจ้าหนี้การค้า

 

จะเห็นได้ว่า จุดที่บอกว่าเรามีรายได้ไม่ใช่จุดที่เราได้รับเงิน แต่เป็นจุดที่เราได้ทำงานตามที่ตกลงกับลูกค้าแล้วค่ะ เช่น ส่งมอบสินค้า หรือให้บริการลูกค้าแล้วนั่นเองค่ะ 

 

ทั้งนี้ทั้งนั้น รายได้ต้องไม่ใช่เงินที่ได้มาจากเจ้าของกิจการนะคะ คิดง่ายๆ ค่ะว่า เราจะรวยขึ้นจากเงินของคนอื่น ไม่ใช่จากเงินของเรานั่นเองค่ะ 

 

ต้นทุนขาย

ต้นทุนขาย หลักๆ ก็คือต้นทุนที่ทำให้สินค้าพร้อมที่จะขาย หรือต้นทุนในการให้บริการตามที่ตกลงไว้กับลูกค้า เมื่อเจ้าของกิจการเอารายได้ หัก ต้นทุนขาย จะได้ กำไร หรือ (ขาดทุน) ขั้นต้น ในจุดนี้จะทำให้เรารู้ได้ว่า เราขายของขาดทุนอยู่หรือเปล่า ราคาที่ตั้งสมเหตุสมผลกับต้นทุนไหม และสามารถเปรียบเทียบกำไรขั้นต้นในแต่ละช่วงเวลาได้ เพื่อประเมินว่ามีช่วงใดที่ต้นทุนสูงเกินกว่าที่คาดไว้หรือไม่ จากนั้นค่อยไปเจาะลึกดูในรายละเอียดกันอีกที ว่าต้นทุนที่สูงขึ้นเกิดมาจากรายการใดค่ะ

 

ในการยกตัวอย่างต้นทุนขาย จะแจกแจงเป็น 3 กรณี ดังนี้ค่ะ

  • ธุรกิจผลิต ต้นทุนทั้งหมดที่ทำให้สินค้าพร้อมอยู่ในสภาพที่จะขาย ได้แก่ ค่าซื้อวัตถุดิบ และค่าใช้จ่ายในการผลิต เช่น ค่าแรงพนักงานฝ่ายผลิต ค่าน้ำ ค่าไฟส่วนโรงงาน ค่าเสื่อมราคาเครื่องจักร เป็นต้น
  • ธุรกิจซื้อมาขายไป ได้แก่ ต้นทุนค่าซื้อสินค้า ค่าขนส่งเข้า และค่าใช้จ่ายที่จ่ายเพิ่มเติมเพื่อให้สินค้าพร้อมที่จะขาย
  • ธุรกิจบริการ ได้แก่ ค่าแรงพนักงานที่ให้บริการลูกค้า ค่าของใช้สิ้นเปลืองที่ใช้ในการให้บริการ

 

วัตถุดิบ

------------------------------------> สินค้า/ บริการ

ต้นทุนขาย

 

ค่าใช้จ่ายในการขาย

คือค่าใช้จ่ายที่ทำให้ขายสินค้าได้ ลองคิดดูง่ายๆ ว่า เราต้องจ่ายต้นทุนขายเพื่อให้สินค้าอยู่ในสภาพพร้อมที่จะขายได้ จากนั้นเรายังต้องจ่ายค่าใช้จ่ายบางส่วน เพื่อให้ลูกค้าซื้อสินค้าของเรา ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ก็คือค่าใช้จ่ายในการขายนั่นเองค่ะ

 

ยกตัวอย่าง ค่านายหน้า ค่าโฆษณา ค่าออกงานแสดงสินค้า ค่าขนส่งออก เงินเดือนโบนัสพนักงานขาย

 

วัตถุดิบ

-----------------------------------> สินค้า -----------------------------------> ลูกค้า
ต้นทุนขาย

ค่าใช้จ่ายในการขาย

 

สังเกตได้ว่า ค่าใช้จ่ายในการขายนี้ ควรเป็นค่าใช้จ่ายที่มีความสัมพันธ์กับรายได้ค่ะ เพราะเราจ่ายเพื่อให้ขายของได้ใช่ไหมคะ ถ้าในช่วงใดที่ค่าใช้จ่ายนี้ไม่สัมพันธ์กับรายได้ เจ้าของกิจการก็ควรมาตรวจดูในรายละเอียดว่ามีค่าใช้จ่ายส่งเสริมการขาย หรือโฆษณาใดที่จ่ายไปแล้วไม่คุ้มค่าหรือไม่

 

ค่าใช้จ่ายในการบริหาร

คือค่าใช้จ่ายทั่วไปที่ไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้โดยตรง แต่กิจการก็ยังจำเป็นต้องจ่ายเพื่อการบริหารงานโดยรวม อาจจะเรียกง่ายๆ ว่าค่าใช้จ่ายหลังบ้านนั่นเอง เช่น เงินเดือนของฝ่ายบริหาร เงินเดือนและสวัสดิการพนักงานแอดมิน พนักงานบัญชี พนักงานส่งเอกสาร ค่าเช่าอาคารสำนักงาน ค่าผู้สอบบัญชี ค่าเสื่อมราคา ค่าเบี้ยประกัน เป็นต้น

 

ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ หากเจ้าของกิจการบริหารให้ดีก็จะสามารถประหยัดไปได้ จึงต้องบาลานซ์ให้ดีค่ะ เพราะค่าใช้จ่ายส่วนนี้ก็เป็นการเพิ่มขวัญกำลังใจพนักงาน และบางครั้งก็ต้องยอมลงทุนกับค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพื่อให้มีระบบการบริหารจัดการที่ดี เปรียบเสมือนว่า เราจะทำงานหาเงินอย่างเดียว โดยไม่สนใจทำความสะอาดบ้านเลยไม่ได้นั่นเอง

 

กำไรสุทธิ/ขาดทุนสุทธิ

คำนี้ทุกท่านน่าจะรู้จักกันดี เพราะเป็นจุดที่น่าสนใจมากที่สุดของงบการเงินในการแสดงผลสุดท้ายของการดำเนินงานของกิจการในปีนั้นๆ เลยก็ว่าได้ หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็นกำไรหลังจากที่หักค่าใช้จ่ายทั้งหมดออกแล้วนั่นเอง

 

ทั้งนี้ให้ระวังว่า กำไร หรือขาดทุนสุทธิ อาจไม่เท่ากับกำไรขาดทุนทางภาษี บางครั้งบริษัทขาดทุนทางบัญชี แต่ต้องเสียภาษีเพราะมีรายการบวกกลับค่าใช้จ่ายต้องห้ามทางภาษี* ต่างๆ 

 

*ค่าใช้จ่ายต้องห้าม คือ ค่าใช้จ่ายที่สรรพากรไม่ให้นับเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษี กิจการต้องบวกกลับค่าใช้จ่ายเหล่านั้นกลับมาเป็นรายได้และเสียภาษี เช่น ค่าใช้จ่ายประมาณการ บางครั้งต้องบวกกลับค่าใช้จ่ายต้องห้ามจนทำให้มีกำไรทางภาษีและต้องเสียภาษีก็มี

 

กำไรสะสม/ขาดทุนสะสม

กำไรสะสม หรือขาดทุนสะสม ก็คือผลรวมของกำไร หรือขาดทุนสุทธิที่กิจการสะสมมาเรื่อยๆ นั่นเอง เพราะกิจการไม่ได้เปิดมาแค่ปีเดียวแล้วปิดไป เราจึงต้องมีการสะสมของกำไรที่เราทำมาหาได้ ในทางกลับกันถ้าเรามีขาดทุนก็ต้องยกไปในอนาคตด้วยเช่นกัน นอกจากนี้กำไรสะสมยังบ่งบอกถึงจำนวนเงินที่เจ้าของกิจการสามารถเอาออกจากกิจการกลับเข้าสู่กระเป๋าตัวเองได้ โดยผ่านการจ่ายเงินปันผลค่ะ ทั้งนี้ต้องมีการหักภาษี ณ ที่ จ่ายและทำตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

 

ถ้าเจ้าของกิจการยังไม่เอาเงินออกจากกิจการ เม็ดเงินนี้ก็จะยังหมุนเวียนอยู่ในกิจการเพื่อใช้ในการดำเนินงานต่อไปค่ะ ดังนั้นเจ้าของกิจการควรจะพิจารณาถึงเงินสดหมุนเวียนที่บริษัทต้องคงไว้ ก่อนทำการจ่ายปันผลค่ะ

 

จะเห็นได้ว่างบการเงิน ก็คือข้อมูลธุรกิจที่หากเรานำมาวิเคราะห์อย่างสม่ำเสมอก็จะช่วยให้วางกลยุทธ์ในการทำธุรกิจได้สอดคล้องกับความเป็นจริงของกิจการได้ ดังนั้นยิ่งเจ้าของกิจการได้เห็นงบการเงินเร็วเท่าไหร่ ก็จะช่วยให้บริหารกิจการได้เร็วขึ้นเท่านั้น ซึ่งคุณสามารถดูงบการเงินเบื้องต้นในระบบ FlowAccount ได้ตลอดเวลา เพราะระบบจะนำทุกเอกสารที่มีการเปิดในระบบมาลงบัญชี และทำงบการเงินให้อัตโนมัติ ช่วยทำให้นักบัญชีปิดงบการเงินได้เร็วขึ้น ให้คุณเอาไปใช้วางแผนธุรกิจต่อได้ทันใจ

 

 

 

About Author

ลองใช้งานFlowAccount ฟรี 30 วันได้ง่ายๆ วันนี้
ลองใช้งานฟรีได้ง่ายๆ วันนี้
สมัครเลย

You may also like