ภาษีธุรกิจ EP10: ภาษีมูลค่าเพิ่ม : เข้าใจระบบ VAT และหน้าที่ของผู้ประกอบการ ตอนที่ 1

ภาษีมูลค่าเพิ่ม


หลายคนพอได้ยินคำว่า “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” หรือ “VAT” แล้วมักจะรู้สึกไม่ค่อยสบายใจ คล้ายจะเป็นไข้ ปวดหัว
ตัวร้อน เพราะได้ยินทั้งคำขู่ คำกล่าว หรือคำบ่นมาว่า มันคือตัวปัญหาของการทำธุรกิจ แต่ก่อนที่จะปวดหัวมากไปกว่านี้ เรามารู้จักกับความหมายของภาษีมูลค่าเพิ่มก่อนดีกว่าครับ



ภาษีมูลค่าเพิ่ม คืออะไร?


ภาษีมูลค่าเพิ่มก็คือ ภาษีอากรอีกประเภทหนึ่ง ที่เรียกเก็บจากการบริโภคของประชาชน โดยในปัจจุบันคิดในอัตรา 7% ของราคาขายสินค้าหรือบริการ



ถ้าหากลองสังเกต “ใบกำกับภาษี” ที่ได้รับหลังจากซื้อสินค้าหรือบริการ จะเห็นว่ามีตัวเลขบอกว่าเงินที่เราจ่ายไปนั้น มี “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” เป็นจำนวนเท่าไร เช่น ซื้อสินค้าในราคา 1,070 บาท เราจะเห็นตัวเลขค่าสินค้าราคา 1,000 บาทและค่าภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 70 บาท ผสมปนกันอยู่



ดังนั้นถ้าหากใครมีการใช้จ่าย (ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม) มาก ย่อมแปลว่าต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตรงนี้มากขึ้นตามไปด้วยนั่นเองครับ



หลายคนอาจจะนึกสงสัยว่า “เสียภาษีมูลค่าเพิ่มไปแล้ว แล้วทำไมยังต้องเสียภาษีเงินได้อีก” ใช่ครับ ต้องเสียทั้งสองตัว เพราะ


“ภาษีมูลค่าเพิ่ม” ถือเป็น “ภาษีทางอ้อม” หรือ ภาษีที่สามารถผลัก “ภาระ” ไปให้กับผู้ซื้อหรือผู้บริโภคเป็นผู้ชำระแทนนั่นเองครับ


ภาษีมูลค่าเพิ่ม ต่างกับภาษีเงินได้ที่ถือเป็นภาษีทางตรงที่ ผู้มีเงินได้ต้องรับภาระภาษีเองโดยไม่สามารถผลักให้ใครได้




ตัวอย่างเช่น

บริษัท โฟลว์แอคเคาท์ จำกัด ได้ซื้ออุปกรณ์มาจำนวน 107 บาท โดยมีราคาสินค้าจำนวน 100 บาทและภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 7 บาท เมื่อผลิตเป็นสินค้าขายและขายให้บริษัท บักหนอม จำกัด ในราคา 200 บาท บริษัโฟลว์แอคเคาท์ จะต้องเรียกเก็บภาษีขายจำนวน 14 บาท ทำให้มูลค่าสินค้าทั้งสิ้นกลายเป็น 214 บาท



และในแต่ละเดือน บริษัทโฟลว์แอคเคาท์จะมีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับสรรพากรเฉพาะผลต่างระหว่างภาษีซื้อ (ที่จ่ายไป) กับภาษีขาย (ที่เก็บมา) นั่นคือจำนวน 14 – 7 = 7 บาท ให้แก่กรมสรรพากรครับ



แต่ถ้าหากคนที่จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม ผมขอบอกเลยครับว่า ภาษีที่จ่ายไปนั้นไม่สามารถไปหักออกหรือขอคืนใครได้ เพราะเราต้องจ่ายเต็ม ๆ ทั้งจำนวนนั่นเองครับ


เมื่อไรควรจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แล้วควรจดไหม?


ทีนี้เจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่ มักจะเริ่มต้นด้วยคำถามที่ว่า เมื่อไรเราควรจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มดี ซึ่งตรงนี้ผมมีคำแนะนำให้ดังต่อไปนี้ครับ


  1. ตรวจสอบก่อนว่า ธุรกิจเราได้รับสิทธิยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
  2. ธุรกิจเรามีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปีหรือไม่

คำถามแรกที่เราต้องถามก็คือ ประเภทการประกอบธุรกิจของเรานั้นได้รับสิทธิยกเวันภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ ถ้าได้รับสิทธิยกเว้นก็แปลว่าไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มนั่นเองครับ (ดูประเภทธุรกิจได้ที่เว็บไซด์กรมสรรพากร ในหัวข้อ กิจการที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมาย) อย่างไรก็ตามจะมีธุรกิจบางประเภท ที่ถึงแม้จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ก็สามารถจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้เช่นเดียวกันครับ



คำถามต่อมาก็คือ ถ้าหากเราไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี แล้วธุรกิจของเรานั้นมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วหรือยัง ซึ่งถ้าหากถึงเกณฑ์รายได้เกิน 1.8 ล้านในปีนั้น ๆ สิ่งที่ต้องทำ คือ การขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน และเริ่มเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับรายได้ส่วนที่เกิน 1.8 ล้านบาทเป็นต้นไปครับ



แต่ถ้าหากเรามองว่าธุรกิจของเรานั้นต้องมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีแน่ ๆ แล้วล่ะก็ การเลือกจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่แรกก็เป็นทางเลือกที่ดีทางเลือกหนึ่งครับ เพราะบางกิจการอาจจะต้องการใช้สิทธิขอคืนในส่วนของภาษีซื้อในช่วงเริ่มดำเนินกิจการก็ได้ครับ



ตรงนี้ผมอยากสรุปให้เข้าใจอีกนิดครับว่า การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น ไม่ใช่เรื่องของการเลือกหรือไม่เลือกจดตามใจของเจ้าของธุรกิจ


แต่การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่กำหนดไว้ โดยเรามีหน้าที่ที่จะปฎิบัติตามให้ถูกต้องครับ


ในตอนต่อไปเราจะมาว่ากันต่อครับว่า ถ้าหากเลือกจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ธุรกิจของเรานั้นจะมีหน้าที่อะไรเพิ่มขึ้นมาบ้างครับ


ภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ใช่ต้นทุนของกิจการใช่ไหม?


มีหนึ่งคำถามในเพจภาษีธุรกิจ101 ถามมาครับว่า กรณีที่กิจการเข้าหลักเกณฑ์ต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่มจะทำให้ต้นทุนของเราสูงกว่าคนอื่นหรือเปล่า เพราะหากกิจการของอีกฝ่ายไม่เข้าหลักที่ต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม ทางนั้นก็จะไม่มีต้นทุนในเรื่องนี้



ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมานานครับ ในแง่การจัดการและการบริหารต้นทุน แต่ผมอยากให้มองแยกกันก่อนครับว่า ภาษีซื้อ ไม่ใช่ต้นทุน และ ภาษีขาย ไม่ใช่รายได้ แต่ละส่วนนั้นแยกจากกันครับ



จากตัวอย่างเดิม

ที่ยกมาในตอนแรกของบทความ จะเห็นว่าภาษีนั้นถูกแยกออกจากราคาของสินค้าและบริการ และวิธีการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มโดยทั่วไปนั้นจะเรียกว่า วิธีภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อ หรือ


รายการ จดภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่จดภาษีมูลค่าเพิ่ม
ราคาขาย (ไม่รวม VAT) 1,000 1,000
ต้นทุน 500 535
กำไร 500 465
ภาษีมูลค่าเพิ่ม 70 – 35 = 35 บาท ไม่มี

ถ้ามองภาพรวมในระบบภาษีแล้ว จะเห็นว่าฝ่ายที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะได้เปรียบมากกว่า ถ้าหากมีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว เพราะเงิน 70 บาทนั้น เรียกเก็บจากลูกค้า และภาษีซื้อจำนวน 35 บาทสามารถนำมาหักออกจากภาษีขายได้ (ไม่เสียอะไรเพิ่ม)



แต่ถ้ามองอีกภาพหนึ่ง สิ่งที่น่ากังวล คือ ราคาขายรวมภาษีมูลค่าเพิ่มที่แตกต่างกันจำนวน 70 บาท จะทำให้ลูกค้าเปลี่ยนใจหรือไม่ในการซื้อ ซึ่งถ้าหากลองปรับให้เป็นราคาขายรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ 1,000 บาท สิ่งที่เปลี่ยนไปจะเป็นดังนี้


รายการ จดภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่จดภาษีมูลค่าเพิ่ม
ราคาขาย (ไม่รวม VAT- ปัดเศษ) 935 1,000
ต้นทุน 500 535
กำไร 435 465
ภาษีมูลค่าเพิ่ม 65 – 35 = 30 บาท ไม่มี

ดังนั้นจะเห็นว่า ถ้าหากร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะพยายามแข่งขันทางด้านราคา กำไรจะต่ำกว่าร้านค้าที่ไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มทันทีครับ แต่สิ่งหนึ่งที่ร้านจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะได้รับ นั่นคือ


โอกาสในการขยายกิจการให้มีรายได้
เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี และการเติบโตในอนาคต



ซึ่งตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าทางเจ้าของธุรกิจทั้งหลายจะเลือกทางเหมาะสมทางไหนให้กับธุรกิจของตัวเองครับ

ภ.พ.30_รายงานภาษีซื้อ
รายงานภาษีซื้อ จากโปรแกรม FlowAccount

ภพ30_รายงานภาษีขาย
รายงานภาษีขาย จากโปรแกรม FlowAccount

รายงานภาษีขายจาก FlowAccount
รายงานภาษีขายจาก FlowAccount

คลิกเพื่อดูภาพใหญ่


ในส่วนนี้เจ้าของธุรกิจสามารถใช้โปรแกรมบัญชี New FlowAccount ช่วยลดขั้นตอนการตามหาหรือจัดเก็บเอกสาร โดยใช้ระบบบัญชีรายรับรายจ่ายช่วยบันทึกรายการซื้อและรายการขายต่างๆ ซึ่งในโปรแกรมจะสรุปเป็น รายงานภาษีซื้อ และภาษีขาย (ตามตัวอย่าง) ให้อัตโนมัติ และจะใช้วิธีสแกนรูปใบเสร็จแนบไว้ในระบบเพื่อป้องกันเอกสารหล่นหายได้อีกด้วย นอกจากนี้ คุณยังสามารถอ่านบทความ ยื่นภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องเตรียมเอกสารส่งภาษีซื้อ-ภาษีขายอย่างไร เพิ่มเติม




มาถึงตรงนี้ ใครหลายคนอาจจะเลือกตัดสินใจจะไม่เข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มและใช้วิธีกระจายรายได้ให้แต่ละคนไม่เกิน 1.8 ล้านบาทแทน เผื่อความสะดวกและสบาย แต่ผมขอยกคำถามที่เคยเขียนถึงเรื่องนี้ไว้ในบทความ เพราะภาษีไม่ได้ทำให้กำไรของธุรกิจลดลงเพียงอย่างเดียว การเลือกที่จะทำแบบนี้อาจจะเป็นการตัดโอกาสในการเติบโตของธุรกิจเราอยู่หรือเปล่า และสุดท้ายเรานี่แหละจะต้องกลายเป็นคนเสียภาษีมากขึ้นกว่าเก่าโดยที่ไม่รู้ตัวก็ได้นะครับ




ติดตามเรื่องราวอื่น ๆ ของ FlowAccount.com ได้ที่

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติม:   facebook.com/flowaccount
ค้นหาความรู้ที่น่าสนใจ   flowaccount.com/blog
เรียนรู้การทำบัญชีเบื้องต้น:   youtube.com/flowAccount
ทดลองใช้งานฟรี:   FlowAccount.com
ลองใช้งานFlowAccount ฟรี 30 วันได้ง่ายๆ วันนี้
ลองใช้งานฟรีได้ง่ายๆ วันนี้
สมัครเลย

You may also like