ฟรีแลนซ์เปิดบริษัทเมื่อไรดี ตอนที่ 2: ลองคำนวณภาษี

ฟรีแลนซ์เปิดบริษัท



จากบทความ ฟรีแลนซ์เปิดบริษัท เมื่อไรดี ตอนที่ 1: จะเป็นเจ้าของธุรกิจหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเป้าหมายของชีวิต ไม่ใช่ตัวเลขภาษี ได้พูดถึงมุมมองที่ช่วยในการตัดสินใจว่าฟรีแลนซ์ควรเปิดบริษัทดีหรือไม่ไปแล้ว ในตอนนี้จะพูดถึงตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจเปิดบริษัท คือรายได้ ค่าใช้จ่าย และภาษี


เหตุผลหนึ่งที่ฟรีแลนซ์หลายคนตัดสินใจเปิดบริษัท คือตัวเลขภาษีที่ต้องจ่าย เนื่องจากฟรีแลนซ์บางรายที่รับงานโปรเจกต์ใหญ่ เช่น รับทำโฆษณา จัดอีเวนต์ ฯลฯ มักจะได้รับเงินทุนก้อนใหญ่มาจำนวนหนึ่ง เพื่อนำไปจัดหาทีมงานและบริหารงานต่อเอง ทำให้นายจ้างที่อยู่ในสถานะบุคคลธรรมดาจะต้องจ่ายภาษีตามรายได้ที่ได้รับมา แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเกิดขึ้นก็ตาม จึงเสียภาษีไม่ตรงกับรายได้ที่ได้รับจริง หรือเสียภาษีมากเกินความจำเป็น



ฟรีแลนซ์เปิดบริษัท เมื่อไรดี 02



แต่สำหรับฟรีแลนซ์ที่รับงานในขอบเขตที่เล็กลงมา เช่น งานวิทยากร งานเขียน งานแปล ออกแบบกราฟิก ออกแบบเว็บไซต์ ฯลฯ มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานน้อย แต่รายรับสูง เมื่อเสียภาษีเยอะเข้า ก็จะเริ่มอยากหาทางเลือกในการลดภาษี



แล้วฟรีแลนซ์ต้องมีรายได้เท่าไรถึงควรเริ่มพิจารณาเปิดบริษัท คำตอบคือ ให้ลองดูอัตราภาษีเงินได้ระหว่างบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลเทียบกัน ฟรีแลนซ์ที่มีรายได้สุทธิตั้งแต่ 750,001-1,000,000 บาทต่อปีขึ้นไป จะเสียภาษีในอัตราร้อยละ 20 และเสียแบบเป็นขั้นบันไดไปจนถึงอัตราร้อยละ 35 ในขณะที่อัตราภาษีนิติบุคคลจะเสียร้อยละ 15 และสูงสุดที่อัตราร้อยละ 20 (เมื่อมีรายได้ 3,000,000 บาทขึ้นไป) ซึ่งนิติบุคคลจะประหยัดภาษีได้มากกว่าเยอะเลย ลองเช็กอัตราภาษีนี้ได้ในเว็บไซต์กรมสรรพากร



ทั้งนี้ แม้การเปิดบริษัทจะช่วยให้เสียภาษีน้อยลงได้ หากต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการเปิดบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องตามมา 2 เรื่องคือ


1. เจ้าของธุรกิจต้องเสียภาษีทั้งภาษีนิติบุคคลและภาษีบุคคลธรรมดา  


การจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้วไม่ได้หมายความว่าจะย้ายฐานภาษีไปเลย หากต้องเสียภาษีทั้ง 2 แบบ โดยบริษัทที่เปิดจะเสียภาษีตามอัตรานิติบุคคล แล้วเจ้าของธุรกิจที่เลือกรับเงินเดือนจากบริษัทตัวเองในรูปแบบเงินปันผล หรือเงินเดือน ก็ต้องนำรายได้ส่วนนี้ไปเสียภาษีบุคคลธรรมดาอีกที



การเป็นนิติบุคคลจะเสียภาษีถูกกว่าบุคคลธรรมดาได้ เพราะมีอัตราภาษีที่ต่ำกว่า และสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริง


2. มีค่าใช้จ่ายของบริษัทเพิ่ม


นั่นก็คือ ค่าทำบัญชี และค่าสอบบัญชี ตามกฎหมายที่แจ้งว่า บริษัทจะต้องแสดงเอกสารงบการเงิน มีผู้ตรวจสอบบัญชี ซึ่งจะมีค่าดำเนินการเพิ่มเข้ามาด้วย ดังนั้นการเป็นบุคคลธรรมดาที่เสียภาษีตอนสิ้นปีเพียงครั้งเดียวอาจจะถูกกว่าก็ได้  


ลองคำนวณเพื่อเปรียบเทียบว่าแบบไหนเสียภาษีน้อยกว่ากัน



ฟรีแลนซ์สามารถคำนวณตัวเลขภาษีคร่าวๆ หากตัดสินใจเปิดบริษัทได้ โดยนำรายได้และค่าใช้จ่ายต่อปีทั้งหมดมาคำนวณภาษีทั้ง 2 แบบ แล้วเปรียบเทียบกัน



ยกตัวอย่าง พนักงานประจำและฟรีแลนซ์ทำงานด้านงานเขียนรายหนึ่งที่รับงานหลากหลาย และมีรายได้ถึงฐานอัตราภาษีร้อยละ 20 แล้ว ลองนำรายได้และค่าใช้จ่ายทั้งหมดมาคำนวณหาจำนวนรวมก่อน


รายได้

จำนวนบาทต่อปี
เงินเดือนจากงานประจำ เดือนละ 50,000 บาท

600,000

งานฟรีแลนซ์ – เขียนบทความ งานแปล งานวิทยากร เขียนหนังสือ

170,000

รวม

770,000

ค่าใช้จ่าย

ผู้ช่วยนักเขียน ช่างภาพ นักออกแบบ ค่าเดินทาง อุปกรณ์ไอที อื่นๆ

130,000


หากอยากตั้งบริษัท ลองประเมินค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่จะเกิดขึ้นคือ ค่าทำบัญชี และเงินเดือนที่เราจะรับจากบริษัท


หากตั้งบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นคือ จำนวนบาทต่อปี
ค่าจ้างทำบัญชีและผู้สอบบัญชี

15,000

เงินเดือนเจ้าของกิจการ เดือนละ 45,000 บาท

540,000



เมื่อได้จำนวนรวมของรายได้ และค่าใช้จ่ายแล้ว นำมาคำนวณภาษีแบบบุคคลธรรมดา



แบบที่ 1 วิธีคำนวณภาษีตามอัตราบุคคลธรรมดา

ให้นำรายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ


จำนวน

เงินเดือนประจำ

600,000

รายได้ประเภทที่ 1 หักค่าใช้จ่ายได้

100,000

เหลือ

500,000

รายได้จากฟรีแลนซ์

170,000

รายได้ประเภทที่ 2 หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60%

102,000

เหลือ

68,000

นำรายได้รวมกัน (500,000+68,000)

568,000

หักค่าลดหย่อนส่วนตัวตามที่กฎหมายกำหนด
ค่าลดหย่อนส่วนตัว

60,000

ประกันสังคม

 9,000

รวม

69,000

นำรายได้ลบค่าลดหย่อนส่วนตัว 568,000 – 69,000 = เงินได้สุทธิ

499,000

นำเงินได้สุทธิมาคำนวณอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี = เงินภาษีที่ต้องจ่าย

150,000 บาทแรก = 0

150,000 x 0.05 = 7,500

199,000 x 0.10 = 19,990

รวมภาษีที่ต้องจ่ายฟรีแลนซ์รายนี้ต้องจ่าย คือ 27,400 บาท



แบบที่ 2 วิธีคำนวณภาษีตามอัตรานิติบุคคล

เพื่อความสะดวกในการเปรียบเทียบ จะกำหนดรายรับและค่าใช้จ่ายเท่าเดิม (โดยในส่วนรายรับของงานประจำเปลี่ยนให้เป็นงานจ้างตามสัญญา) ซึ่งการคำนวณแบบที่ 2 นี้ จะต้องคำนวณทั้งแบบนิติบุคคล และแบบบุคคลธรรมดาในฐานะที่เรามีรายได้บริษัท


การคำนวณภาษีนิติบุคคล คือ นำรายได้ – ค่าใช้จ่าย = กำไรบริษัท


จำนวน

รายได้ทั้งหมด

770,000

ค่าใช้จ่ายทั้งหมด รวมค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการตั้งบริษัท
(130,000+15,000+540,000)

685,000

รายได้ – ค่าใช้จ่าย

85,000


เมื่อได้รายได้ของบริษัทแล้วก็นำมาคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล



ฟรีแลนซ์รายนี้มีกำไรจากบริษัท 85,000 บาท ซึ่งไม่เกิน 300,000 บาท ดังนั้นจึงไม่ต้องเสียภาษี



จากนั้นคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในส่วนเงินเดือนที่รับจากบริษัทของตัวเอง


จำนวน

เงินเดือนเจ้าของกิจการ เดือนละ 45,000 บาท

540,000

รายได้ประเภทที่ 1 หักค่าใช้จ่าย

100,000

เหลือ

440,000

หักค่าลดหย่อนส่วนตัวตามที่กฎหมายกำหนด
ค่าใช้จ่ายส่วนตัว

60,000

ประกันชีวิต

40,000

ประกันสุขภาพ

10,000

รวม

110,000

นำรายได้ลบค่าลดหย่อนส่วนตัว (440,000 – 110,000 =เงินได้สุทธิ)

330,000



นำเงินได้สุทธิมาคำนวณอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี = เงินภาษีที่ต้องจ่าย

150,000 บาทแรก = 0

180,000 x 0.05 = 9,000


หากฟรีแลนซ์รายนี้เปิดบริษัท จะเสียภาษีเฉพาะแบบบุคคลธรรมดา 9,000 บาท แต่ไม่ซื้อประกันเลยจะเสียภาษีเพิ่มจำนวน 11,500 บาท


จากตัวอย่างฟรีแลนซ์รายนี้ จะเห็นได้ว่านิติบุคคลประหยัดภาษีได้มากกว่าบุคคลธรรมดา นอกจากนี้ยังเพิ่มความน่าเชื่อถือและศักยภาพในการรับงานที่ใหญ่ขึ้นต่อไปได้


สรุปแล้ว ฟรีแลนซ์เปิดบริษัท เมื่อไรดี มี 3 สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ ไลฟ์สไตล์ชีวิตที่ต้องการ การจัดการเวลาและทรัพยากรในการทำงาน และการคำนวณรายได้และค่าใช้จ่าย ที่สามารถตอบสนองเป้าหมายชีวิตของตัวเราได้อย่างแท้จริง ก็จะได้คำตอบว่าเราพร้อมเปิดบริษัทแล้วหรือยัง



ข้อมูล

วิธีการคำนวณภาษีแบบบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลโดยนักบัญชี ธนัย นพคุณ

ลองใช้งานFlowAccount ฟรี 30 วันได้ง่ายๆ วันนี้
ลองใช้งานฟรีได้ง่ายๆ วันนี้
สมัครเลย

You may also like