ภาษีธุรกิจ EP4: เข้าใจเรื่อง “กำไร” ก่อนจะไปเสียภาษี ตอนที่ 2

เข้าใจเรื่องกำไรก่อนเสียภาษี




“พี่หนอมครับ ผมรู้แล้วครับว่ากำไรของธุรกิจเป็นเท่าไร ทีนี้ผมต้องทำยังไงต่อดี”


น้องคนหนึ่งที่ได้มีโอกาสพูดคุยกันในเพจ TAXBungnoms ส่งคำถามมาอีกครั้ง หลักจากที่โดนผมไล่กลับไปให้หาคำตอบว่าตอนนี้ธุรกิจกำไรหรือขาดทุนเท่าไร (เหมือนที่ผมบอกไปในตอนที่แล้วนั่นแหละครับ)ในบทความนี้เราจึงจะมาทำความเข้าใจเรื่อง กำไร กับการเสียภาษี กันต่อครับ



กำไร มีผลกับการ เสียภาษี ของธุรกิจอย่างไร



“ยิ่งกำไรเยอะ ยิ่งเสียภาษีใช่ไหมครับพี่” น้องคนดีคนเดิมเอ่ยปากตอบกลับมา โดยที่ผมยังไม่ทันจะเอ่ยปากเล่าเรื่องใดๆดูท่าแล้วเขาน่าจะสนใจว่าทำอย่างไรให้ธุรกิจประหยัดภาษีมากที่สุด จนรู้ว่าหลักการคำนวณภาษีเงินได้นั้น ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล ใช้หลักการเดียวกันนั่นคือ



เงินได้สุทธิ (รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน)

หรือ กำไรสุทธิ (รายได้ – ค่าใช้จ่าย)


สำหรับบุคคลธรรมดา


อาจจะทำให้สับสนนิดหน่อยตรงที่ วิธีการคำนวณเงินได้สุทธินั้นมีหลายวิธี ทั้งคำนวณแบบหักค่าใช้จ่ายเหมา และค่าใช้จ่ายตามจริง แต่ในกรณีนี้ผมขอพูดเฉพาะส่วนที่สามารถเลือกคำนวณหักค่าใช้จ่ายตามจริงได้เท่านั้นนะครับ

 

ส่วนนิติบุคคล


ก็ใช้หลักการคำนวณกำไรสุทธิจากรายได้หักค่าใช้จ่าย เหมือนกัน ซึ่งถ้าลองดูจะเห็นว่าเหมือนกันมากๆ เลยล่ะครับ



“ถ้ามีกำไรสุทธิแล้วเสียภาษี แบบนี้เราก้ทำให้ธุรกิจขาดทุนก็จบแล้วหรือเปล่าครับพี่” น้องคนเดิมยังไม่วายคิดแผนสูง ฮะฮ้า แบบนี้ดูท่าจะต้องคุยกันยาวเลยล่ะ



“แล้วจะทำให้ขาดทุนยังไงได้ล่ะ ในเมื่อเมื่อกี้ยังบอกเลยว่ามีกำไรอยู่เลย” ผมเอ่ยปากถามกลับไปเขายิ้มรับแล้วพูดง่ายๆ “แหม่ พี่หนอม จะไปยากอะไร ก็หยิบค่าใช้จ่ายใส่ๆเข้าสิครับ ค่ากินข้าว ค่าน้ำมัน ค่าใช้จ่ายต่างๆที่ผมมี ยัดไปเข้าให้หมด แบบนี้ก็จบแล้วครับ ง่ายๆ” 😁



ผมไม่แน่ใจว่า คุณผู้อ่านหลายท่านกำลังคิดแบบนั้นอยู่หรือเปล่า แต่ขอบอกเลยว่ามันเป็นความคิดที่ผิดถนัด เพราะว่า



รายจ่ายส่วนตัวหรือที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนั้น
ไม่สามารถนำมาเป็นรายจ่ายกิจการในการคำนวณภาษีได้

 



ถ้าอ่านตามหลักการกฎหมายเพิ่มเติม จะเห็นว่า กรณีบุคคลธรรมดานั้น “เงินได้สุทธิ” ที่เลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริง(ภาษากฎหมายเรียกว่าค่าใช้จ่ายตามจำเป็นและสมควร) จะต้องมีเงื่อนไขตามนี้ครับ


  1. เป็นค่าใช้จ่ายตามปกติ มีความเกี่ยวข้องและจำเป็นต่อการประกอบธุรกิจแต่ละประเภท
  2. เป็นจำนวนที่สมควรและเหมาะสมแก่กิจการ
  3. ไม่เป็นรายจ่ายที่กฎหมายห้ามมิให้หักเป็นรายจ่าย
  4. ผู้มีเงินได้ต้องมีหลักฐานการหักใช้จ่ายพร้อม ที่จะให้พนักงานตรวจสอบได้



อ้างอิง: พระราชกฤษฏีกาฉบับที่11 และ การขอหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร



ส่วนของกรณีของนิติบุคคลนั้นการหักค่าใช้จ่ายจะเป็นเรื่องของ “กำไรสุทธิ” แต่หลักการหักนั้น ไม่ใช่กำไรสุทธิจากงบการเงินทางบัญชี หรือว่าจากกำไรขาดทุนเท่านั้น แต่คำนวณจากกำไรสุทธิทางภาษี ซึ่งต้องมีการปรับปรุงกำไรสุทธิทางบัญชีอีกทอดหนึ่ง จึงจะสามารถนำมาคำนวณภาษีได้


รายละเอียด บุคคลธรรมดา นิติบุคคล
วิธีคำณวนภาษี เงินได้สุทธิ(อาจมีเงินได้พึงประเมินบางกรณี) กำไรสุทธิทางภาษี
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง พระราชกฤษฏีกาฉบับที่ 11 มาตรา 65 ทวิ และ 65 ตรี
การปรับปรุงกำไร ปรับในค่าใช้จ่ายจริงตามหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย ปรับจากกำไรสุทธิทางบัญชีให้เป็นกำไรสุทธิทางภาษี
อัตราภาษี 5-35% 20% และอาจจะต่ำกว่า

โดยเงินได้สุทธิของบุคคลธรรมดานั้น จะคำนวณจากเงินได้สุทธิซึ่งมาจาก
(เงินได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี


ส่วนนิติบุคคลนั้นจะคำนวณจาก กำไรสุทธิทางภาษี
(รายได้ทางภาษี – ค่าใช้จ่ายทางภาษี)



ซึ่งมาจากการปรับปรุงรายการกำไรสุทธิทางบัญชีด้วยรายการต่อไปนี้ครับ

  1. รายได้ที่ถือว่าเป็นรายได้ทางภาษี คือ รายได้ที่ทางบัญชีไม่ถือเป็นรายได้ แต่ถือเป็นรายได้ทางภาษี
  2. รายได้ทีได้รับสิทธิยกเว้น คือ รายได้ที่ทางบัญชีถือเป็นรายได้ แต่ไม่ถือเป็นรายได้ทางภาษี
  3. รายจ่ายต้องห้าม คือ รายจ่ายที่ทางบัญชีถือเป็นรายจ่าย แต่ไม่ถือเป็นรายจ่ายทางหลักภาษี
  4. รายจ่ายที่หักได้เพิ่มขึ้นคือ รายจ่ายที่ทางภาษีกำหนดให้หักเป็นรายจ่ายได้มากกว่าหลักการบัญชี

และถ้าจะให้เกิดความยุ่งยากในการรวมข้อมูลบัญชีช่วงสุดท้ายปลายปีให้น้อยที่สุดแล้วล่ะก็ ให้บันทึกรายรับ-รายจ่ายทุกครั้งลงบนโปรแกรมบัญชี FlowAccount โดยสามารถทดลองใช้งานฟรี



เขียนในรูปแบบที่เข้าใจง่ายขึ้น จะออกมาในรูปแบบนี้ครับ

สมการ กำไร(ขาดทุน)ทางภาษี

กำไร(ขาดทุน)ทางภาษี = กำไร(ขาดทุน)ทางบัญชี + รายได้ที่ให้ถือเป็นรายได้ +
รายจ่ายต้องห้าม – รายได้ที่ได้รับสิทธิยกเว้น – รายจ่ายที่หักได้เพิ่มขึ้น
 



“โหววว มันดูยุ่งยากมาขึ้นเลยครับพี่หนอม ทำไมเขาถึงไม่ทำให้ง่ายๆล่ะครับ” น้องคนดีคนเดิมเริ่มเสียงอ่อย หลังจากที่ได้รู้ว่าการคำนวณกำไรทางภาษีนั้นเริ่มจะยุ่งยาก และไม่ได้วางแผนง่ายๆอย่างที่เขาคิด



ใช่ครับ จริงๆเรื่องของภาษีนั้นไม่ได้ง่ายเลยครับ มันมีอะไรสับสนชวนปวดหัวอีกมากมาย แต่ห้ามท้อใจนะครับเพราะสิ่งที่จะทำให้เราประหยัดภาษีมากที่สุดนั้น มันอยู่ที่ความเข้าใจที่ถูกต้องครับ โดยในตอนต่อไป ผมจะมาอธิบายรายการที่เกิดขึ้นทั้งหมดให้เข้าใจง่ายๆขึ้นพร้อมกับตัวอย่างให้อ่านกันครับผม




ติดตามเรื่องราวอื่นๆของ FlowAccount.com ได้ที่

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติม:   facebook.com/flowaccount
ค้นหาความรู้ที่น่าสนใจ   flowaccount.com/blog
เรียนรู้การทำบัญชีเบื้องต้น:   youtube.com/flowAccount
ทดลองใช้งานฟรี:   FlowAccount.com
ลองใช้งานFlowAccount ฟรี 30 วันได้ง่ายๆ วันนี้
ลองใช้งานฟรีได้ง่ายๆ วันนี้
สมัครเลย

You may also like