
ภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย หรือ หัก ณ ที่จ่าย คือเงินที่คน “จ่าย” ที่จดทะเบียนเป็นบริษัทหรือนิติบุคคลต้อง “หัก” ไว้ก่อนที่จะจ่ายเงินให้กับคนรับที่เป็นนิติบุคคล หรือคนธรรมดาก็ได้ แล้วนำส่งเป็นภาษีให้กรมสรรพากรไม่เกินวันที่ 7 ของเดือนถัดไป |
สวัสดีครับ วันนี้ผมจะมาพูดถึงภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย คืออะไร ทำไมเราจะต้องถูกหัก และทำไมในแต่ละครั้งถึงถูกหักไม่เท่ากัน บทความนี้จะมาสรุปให้ฟังครับ
ให้เราอ่านให้ฟัง
ภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย หรือ หัก ณ ที่จ่าย คือ การเสียภาษีรูปแบบหนึ่งที่มีการจัดเก็บล่วงหน้า เป็นเงินที่ “คนจ่าย” ที่จดทะเบียนเป็นบริษัทหรือนิติบุคคลต้อง “หักไว้” ก่อนที่จะจ่ายเงินให้กับคนรับ ซึ่งจะเป็นนิติบุคคลหรือคนธรรมดาก็ได้ แล้วนำส่งเป็นภาษีให้กรมสรรพากรไม่เกินวันที่ 7 ของเดือนถัดไป
ใครที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย
- ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ตามแบบ ภ.ง.ด.3 หมายถึง ผู้จ่ายเงินได้ ให้แก่ผู้รับ ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
- ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ตามแบบ ภ.ง.ด.53 หมายถึง ผู้จ่ายเงินได้ ให้แก่ผู้รับ ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
ดังนั้น ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย คือ ผู้จ่ายเงินได้ ให้แก่ผู้รับ ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล
ต้องหักเมื่อไหร่
เมื่อมียอดจ่ายเงินรวมตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป
แต่ ยอดที่มีมูลค่าไม่ถึง 1,000 บาท ที่มีสัญญาต่อเนื่อง เช่น ค่าบริการโทรศัพท์รายเดือน ค่าบริการอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
หรือยอดจ้างงานที่มียอดรวมเกิน 1,000 บาท แต่มีการแบ่งชำระเป็นงวด ก็ต้องทำการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ เพราะมียอดจ่ายเงินรวมทั้งปี เกิน 1,000 บาท เช่น กรณีจ้างงานฟรีแลนซ์ จำนวนเงิน 1,000 บาท แต่ได้ทำการแบ่งจ่ายเป็น 2 ครั้ง ครั้งละ 500 บาท ถือว่ามียอดจ่ายเงินรวม 1,000 บาท และต้องหัก ภาษี ณ ที่จ่ายทั้ง 2 ครั้ง
ค่าใช้จ่ายที่ต้องทำ หัก ณ ที่จ่าย และอัตราการจ่ายภาษีหัก ณ จ่าย
ค่าใช้จ่ายแต่ละประเภทนั้น จะถูกหัก ณ ที่จ่ายในเปอร์เซ็นต์ที่แตกต่างกัน ดังนี้


ค่าจ้างและเงินเดือน (เงินได้ประเภทที่ 1) หักตามอัตราก้าวหน้า
การจ่ายค่าจ้างและเงินเดือนให้แก่พนักงานประจำ อัตราภาษี หัก ณ ที่จ่ายจะคำนวณตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบก้าวหน้า หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่าง ๆ แล้ว
ในกรณีที่หักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนทั้งหมดแล้ว พนักงานมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษี บริษัทผู้มีหน้าที่หัก ณ ที่จ่าย ไม่จำเป็นจะต้องหัก ณ ที่จ่ายเลย หรือเท่ากับหัก ณ อัตรา 0% แต่ในกรณีที่มีการหัก ณ ที่จ่ายไว้แล้ว พนักงานสามารถขอคืนภาษีได้ ตอนยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการหักภาษี ณ ที่จ่ายเงินเดือน ได้ ที่นี่

ค่าจ้างทำงานหรือบริการ (เงินได้ประเภทที่ 2) หักตามอัตราก้าวหน้า
การจ่ายค่าจ้างทำงานหรือบริการให้แก่ผู้รับจ้างที่เป็นบุคคลธรรมดา อัตราภาษี หัก ณ ที่จ่ายจะคำนวณตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบก้าวหน้า หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่าง ๆ แล้ว เช่นเดียวกันกับการจ่ายเงินเดือนให้แก่พนักงานประจำ
ในกรณีที่หักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนทั้งหมดแล้ว ผู้รับจ้างมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษี บริษัทผู้มีหน้าที่หัก ณ ที่จ่ายไม่จำเป็นจะต้องหัก ณ ที่จ่ายเลย หรือเท่ากับหัก ณ อัตรา 0% แต่ในกรณีที่มีการหัก ณ ที่จ่ายไว้แล้ว ผู้รับจ้างสามารถขอคืนภาษีได้ ตอนยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ค่าจ้างรับเหมา ทำของ หรือบริการต่างๆ (เงินได้ประเภทที่ 7/8) หัก 3%
การจ้างรับเหมา ทำของ หรือบริการต่าง ๆ หมายถึง การว่าจ้างให้ผู้รับจ้างทำสิ่งของหรือบริการให้ โดยที่ผู้รับจ้างจะต้องจัดหาอุปกรณ์หรือเครื่องมือหลักในการทำสิ่งของหรือบริการนั้น ๆ ด้วยตนเอง
เช่น บริการรับจ้างทำของ จ้างทำนามบัตร จ้างทำกราฟิก จ้างช่างภาพมาถ่ายรูป จ้างบล็อกเกอร์รีวิวสินค้า จ้างตกแต่งภายใน บริการสถานที่ ซอฟต์แวร์ โทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต ก็เข้าข่ายนี้ เพราะถือเป็นการให้บริการ ที่ผู้รับจ้างจะต้องจัดเตรียมอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ใช้ทำสิ่งของหรือบริการนั้น ๆ ด้วยตนเอง

ค่าลิขสิทธิ์ (เงินได้ประเภทที่ 3) หัก 3%
ค่าลิขสิทธิ์ หมายถึง ค่าจ้างงานที่ผู้ว่าจ้างตกลงให้ผู้รับจ้างเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ และอนุญาตให้ผู้ว่าจ้างใช้ประโยชน์ เช่น การเขียนบทความ การแต่งเพลง การสร้าง website และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

ค่าจ้างบริการวิชาชีพอิสระ (เงินได้ประเภทที่ 6) หัก 3%
การจ้างอาชีพอิสระ คือ การว่าจ้างงานที่อยู่ใน 6 กลุ่มวิชาชีพเฉพาะทาง ได้แก่ ทนายความ วิศวกร สถาปนิก นักบัญชี ประณีตศิลป์ และโรคศิลปะ (กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรค เช่น ทันตกรรม เภสัชกรรม หรือเวชกรรม) ตามเงินได้ประเภทที่ 6 โดยในกลุ่มนี้จะมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตรา 3%

ค่าขนส่ง (เงินได้ประเภทที่ 8) หัก 1%
ทุก ๆ ครั้งที่มีการขายของและขนส่ง โดยที่บริษัทหรือนิติบุคคลที่ให้บริการจะต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการขนส่ง เช่น บริการขนส่งสินค้าจากบริษัทโลจิสติกส์ เป็นต้น จะต้อง หัก ณ ที่จ่าย 1% แต่ถ้าคุณยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นนิติบุคคลก็ยังไม่ต้องหัก
แต่ ถ้าเป็นไปรษณีย์ไม่ต้องหัก ณ ที่จ่าย เพราะเป็นหน่วยงานที่ได้รับการยกเว้น

ค่าโฆษณา (เงินได้ประเภทที่ 8) หัก 2%
การโฆษณาสินค้าตามสื่อโฆษณาต่าง ๆ ผ่านเอเจนซี บริษัทรับโฆษณา เพื่อช่วย “ประกาศ” ให้แบรนด์หรือสินค้าเป็นที่รู้จักผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ หรือช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เช่น Facebook, Instagram, Google ที่ไม่ใช่บริการด้านการตลาด จะหัก ณ ที่จ่ายในอัตรา 2%
ส่วนบริการด้านการตลาดคือ การจ้างบล็อกเกอร์รีวิวโฆษณาสินค้า จ้างมาร์เก็ตติ้ง Consult ด้านการตลาดให้ หรือบริการทำ roll-up ป้ายออกบูท (อันนี้ถือเป็นการรับจ้างทำของ) จะต้องหัก 3%

ค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ (เงินได้ประเภทที่ 5) หัก 5%
คนที่ไม่มีสถานที่เป็นของตนเอง หากจะดูว่าเป็นค่าเช่าหรือค่าบริการให้ดูจากสิทธิในการถือกุญแจ ถ้าเช่าสถานที่เพื่อจัดสัมมนา หรือจัดอีเวนต์ชั่วคราวถือเป็นค่าบริการ ทำหัก ณ ที่จ่าย 3% แต่ถ้าเราถือกุญแจจะถือเป็นค่าเช่าสถานที่ต้องหัก ณ ที่จ่ายจากเจ้าของที่ดิน 5%
นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อีกที่ต้องหัก 5% เช่น เช่ารถยนต์ ค่าจ้างนักแสดง ดารา นักร้อง อาชีพเพื่อการบันเทิง และเงินรางวัลจากการแข่งขันหรือการชิงโชคต่าง ๆ ด้วย
แต่ ถ้าเช่ารถยนต์พร้อมคนขับด้วย เราถือกุญแจรถก็จริง แต่จะถือว่าเป็นการบริการ เพราะมีคนขับรถให้ จึงต้องทำหัก ณ ที่จ่าย 3%
วิธีคำนวณ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ในกรณีที่บริษัทออกแทนให้
แบ่งได้เป็น 2 รูปแบบ
1. แบบออกให้ตลอดไป
การหักภาษี ณ ที่จ่ายแบบออกให้ตลอดไป คือ การที่บริษัทผู้จ่ายเงินหักภาษี ณ ที่จ่าย แทนผู้รับตลอดไป ทำให้ผู้รับจะได้รับเงินเท่ากับจำนวนค่าจ้างหรือค่าบริการแบบเต็มจำนวน
สูตรในการคำนวณ

ตัวอย่าง
ค่าจ้างช่างภาพถ่ายรูปสินค้า
- จำนวนเงินได้ที่จ่ายเท่ากับ 20,000 บาท
- อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายเท่ากับ 3%
จำนวนเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายแบบออกให้ตลอดไป = 20,000 x 3 / (100-3) = 618.56 บาท
ดังนั้น ช่างภาพจะได้รับเงิน 20,000 บาท แต่บริษัทต้องนำส่งภาษีให้กรมสรรพากร 618.56 บาทแทนนั่นเอง
2. แบบออกให้ครั้งเดียว
การหักภาษี ณ ที่จ่ายแบบออกให้ครั้งเดียว คือ การที่บริษัทผู้จ่ายเงินหักภาษี ณ ที่จ่าย แทนผู้รับในครั้งแรกเพียงครั้งเดียว
สูตรในการคำนวณ

ตัวอย่าง
ค่าจ้างช่างภาพถ่ายรูปสินค้า
- จำนวนเงินได้ที่จ่ายเท่ากับ 20,000 บาท
- อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายเท่ากับ 3%
- ภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ออกให้ครั้งเดียว = 20,000 x 3% = 600 บาท
จำนวนเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายแบบออกให้ครั้งเดียว = (20,000 + 600) x 3% = 618 บาท
หรือสามารถคำนวณภาษี หัก ณ ที่จ่าย ออนไลน์ง่ายๆ ได้ ที่นี่
ขั้นตอนและวิธีการนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย
ทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินและหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ ผู้หักจะต้องออกหนังสือรับรองหัก ณ ที่ จ่าย (มาตรา 50 ทวิ) ให้กับคู่ค้าไว้ด้วยทุกครั้ง โดยออกอย่างน้อย 4 ฉบับ คือ ต้นฉบับและสำเนา 2 ฉบับแรกออกให้คู่ค้า เพื่อให้คู่ค้าเก็บไว้ใช้ขอคืนภาษีฉบับหนึ่ง และเก็บไว้เป็นหลักฐานฉบับหนึ่ง ส่วนฉบับที่ 3 และ 4 เราเก็บไว้เอง โดยฉบับที่ 3 เอาไว้สำหรับส่งภาษี (โดยปกติก็จะส่งฉบับนี้ให้กับสำนักงานบัญชีเป็นผู้ทำให้) และฉบับที่ 4 เราเก็บไว้เป็นหลักฐาน
ทุกเดือน จะต้องรวบรวมข้อมูลภาษีหัก ณ ที่จ่ายและยื่นแบบแสดงรายการภาษีต่อกรมสรรพากร
ทุกปี จะต้องทำสรุปภาษี หัก ณ ที่จ่ายเพื่อยื่นต่อกรมสรรพากร
ออกหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย ผ่านโปรแกรม FlowAccount พร้อมยื่นต่อกรมสรรพากร

ผู้ออกหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่ายสามารถใช้โปรแกรมบัญชีช่วยในการออกเอกสารได้อย่างง่ายๆ แล้ว ลองใช้โปรแกรมบัญชีสำหรับธุรกิจ FlowAccount ซึ่งสามารถออกหนังสือรับรอง หัก ณ ที่จ่ายนี้ได้ทั้งทางเว็บไซต์และแอปมือถือ
ซึ่งในการเปิดบิลผ่านโปรแกรมสำเร็จรูปทางการบัญชี FlowAccount เจ้าของธุรกิจสามารถเลือกได้ว่ามูลค่ารวมนั้นจะรวมการเสียภาษี หัก ณ ที่จ่าย หรือไม่ และเสียเท่าไหร่ จากนั้นจะคำนวณยอดชำระให้โดยอัตโนมัติ
e-Withholding Tax คืออะไร
e-Withholding Tax คือ บริการการนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย ในรูปแบบออนไลน์ ของกรมสรรพากร ที่ผู้จ่ายเงิน สามารถโอนเงินให้ผู้รับเงินพร้อมส่งข้อมูลการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้แก่กรมสรรพากรได้โดยอัตโนมัติ
ข้อดีของ e-Withholding Tax
- ไม่ต้องใช้เอกสาร: ผู้จ่ายเงินไม่ต้องออกหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย (มาตรา 50ทวิ) และไม่ต้องจัดทำและยื่นภาษี หัก ณ ที่จ่ายรายเดือนและรายปี
- สะดวก รวดเร็วและตรวจสอบได้: ทั้งผู้จ่ายเงินและผู้รับเงินสามารถตรวจสอบและดาวน์โหลดข้อมูลที่ต้องการได้ภายใน 6 วัน ผ่านระบบ e-Withholding Tax ของกรมสรรพากร
Credits
Voice Artist พิมวิภา ป๊อกยะดา
Scriptwriter สราญรัตน์ ไว้เกียรติ
Sound Designer & Engineer อลงกรณ์ สุขวิพัฒน์