คำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายเงินเดือน

คำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายเงินเดือน


สำหรับการ “คำนวณ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เงินเดือน” นั้น จะคำนวณแตกต่างจากการจ่ายเงินประเภทอื่น ซึ่งจะคำนวณในลักษณะของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้วนำมาเฉลี่ยเป็นรายเดือนอีกครั้งหนึ่ง ไม่ได้มีอัตราหักเป็นเปอร์เซ็นต์เหมือนการจ่ายค่าใช้จ่ายอื่นๆ สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก บทความประเภทหัก ณ ที่จ่ายที่พบบ่อย ได้เลย


ให้เราอ่านให้ฟัง


เข้าใจแนวคิด ภาษีหัก ณ ที่จ่ายเงินเดือน เบื้องต้น


ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า การยื่นภาษีหัก ณ ที่จ่ายเงินเดือน เป็นส่วนหนึ่งของการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งบริษัทจะเป็นผู้หักภาษี ณ ที่จ่ายเพื่อยื่นให้ทางสรรพากรในแต่ละเดือน หรือพนักงานจะเลือกไม่หักภาษีในแต่ละเดือน แล้วค่อยมายื่นเต็มจำนวนในระยะเวลาที่กำหนดก็ได้เช่นกัน


การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นหน้าที่ที่แต่ละบุคคลจะต้องทำเพื่อแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามที่สรรพากรกำหนด โดยจะต้องยื่นทุกปี ตามระยะเวลาที่สรรพากรกำหนดคือ มกราคม-มีนาคม ของปีถัดไป


ประเภทเงินได้พึงประเมินของบุคคลธรรมดานั้นมี 8 ประเภทด้วยกัน


การคำนวณเงินได้สุทธิเพื่อเสียภาษีนั้นแตกต่างกันออกไปตามประเภทของเงินได้นี้ ดังนั้นจึงขอยกตัวอย่างการคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายสำหรับเงินได้ประเภทที่ 1 ตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งได้แก่ เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ค่าเช่าบ้านที่นายจ้างออกให้ หรือ อยู่บ้านนายจ้างโดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่นายจ้างจ่ายหนี้แทนลูกจ้าง หรือเงินอื่นๆ ที่ได้รับ เช่น ค่าอาหารกลางวัน เป็นต้น


วิธีคำนวณ หัก ณ ที่จ่าย เงินเดือน


เงินเดือน หรือ เงินได้ตามมาตรา 40(1) ในแต่ละเดือนนั้นจะถูก หัก ณ ที่จ่ายตามอัตราก้าวหน้า หมายถึง การคาดการณ์รายได้พนักงานไปทั้งปีเลย แล้วหักด้วยค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อนตามที่พนักงานได้แจ้งไว้กับทางบริษัท (หรือ ฝ่ายบุคคล – HR) เพื่อคิดเป็นฐานเงินได้สุทธิ และนำไปคำนวณภาษีตามขั้นบันได นำเงินได้สุทธิมาคูณอัตราภาษีตามอัตราก้าวหน้า (ตามตารางในหัวข้อที่ 3)


จากนั้นเมื่อได้ฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้วจึงนำมาหารเฉลี่ยตามงวดเงินเดือนที่จ่ายนั่นเองค่ะ



นอกจากแยกประเภทของเงินได้บุคคลธรรมดาแล้ว กฎหมายยังกำหนดให้เงินได้ประเภทที่ 1 นี้สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ในอัตราร้อยละ 50 แต่ไม่เกิน 100,000 บาทนะคะ


1. เงินเดือนทั้งปี หักค่าใช้จ่าย



ยกตัวอย่างเช่น



นายคุ้กกี้มีเงินเดือนเดือนละ 30,000 บาท ถ้านายคุ้กกี้ทำงานตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2566 จนถึง 31 ธันวาคม 2566 นายคุ้กกี้จะมีเงินได้ตลอดทั้งปีเท่ากับ 30,000 x 12 = 360,000 บาท


นายคุ้กกี้สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50% ของ 360,000 บาท (360,000 x 50% = 180,000 บาท) ซึ่งเกิน 100,000 บาท


ดังนั้นนายคุ้กกี้สามารถหักค่าใช้จ่ายได้เพียง 100,000 บาท เหลือเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย 260,000 บาท



แต่เดี๋ยวก่อนนะ! 260,000 บาท นี้ยังไม่ใช่จำนวนเงินที่นายคุ้กกี้ต้องนำไปคำนวณเพื่อเสียภาษีนะคะ


2. จากนั้น หักค่าลดหย่อน เพื่อหารายได้สุทธิ


คำนวณกันมาถึงครึ่งทางแล้ว พบว่า การคำนวณภาษีมีรายละเอียดเรื่องค่าใช้จ่ายที่สามารถนำมาหักออกจากรายได้ เท่านั้นยังไม่พอ บุคคลธรรมดาเองก็ยังมีค่าลดหย่อนที่จะอธิบายต่อไปด้วยหละค่ะ


“ตามกฎหมายแล้วนอกจากหักค่าใช้จ่ายตามประเภทของเงินได้แล้ว ยังสามารถหักค่าลดหย่อนตามสถานะของผู้มีเงินได้ได้อีกด้วย”



ยกตัวอย่างเช่น



เงินเดือน (30,000 x 12) จำนวน 360,000 – ค่าใช้จ่าย (50% ไม่เกิน 100,000 บาท) จำนวน 100,000 = เงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย จำนวน 260,000 บาท


เงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย จำนวน 260,000 – ค่าลดหย่อนตัวเอง จำนวน 60,000 = เงินได้สุทธิเพื่อเสียภาษี จำนวน 200,000 บาท


ซึ่งตามกฎหมายแล้ว ยังมีค่าลดหย่อนให้หักอีกหลายข้อ สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ กรมสรรพากร ได้เลย


จากตัวอย่าง นายคุ้กกี้มีเงินเดือนเดือนละ 30,000 บาทเป็นคนโสดที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจเบื้องต้น


แต่ในชีวิตจริง สมมติว่าปีถัดมา (2567) นายคุ้กกี้อาจจะมีบิดามารดาไม่มีเงินได้และอายุ 68 ปีทั้ง 2 ท่าน หรือปีถัดมาเกิดสมรสมีภรรยาขึ้นมา หรือมีค่าลดหย่อนด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าเบี้ยประกันชีวิต ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ หรือมีการอุปการะเลี้ยงดูคนพิการเพิ่มเติม นายคุ้กกี้จะต้องไล่เรียงค่าลดหย่อยที่เกี่ยวข้องมาคำนวณเงินได้สุทธิเพื่อเสียภาษี ตามตัวอย่างนี้ค่ะ


  1. เงินเดือน (30,000 x 12) 360,000 บาท
  2. ลดหย่อนภรรยาหรือสามี (ภรรยา/สามีไม่มีเงินได้) 60,000 บาท
  3. บุตรชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรมคนละ 30,000 บาท (บุตรชอบด้วยกฎหมายไม่จำกัดจำนวน บุตรบุญธรรมหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 3 คน)
  4. ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาที่อายุเกิน 60 ปี ท่านละ 30,000 บาท (กรณีสามี/ภรรยาไม่มีเงินได้ สามารถลดหย่อนบิดามารดาของภรรยา/สามีที่อายุเกิน 60 ปีได้อีก ท่านละ 30,000 บาท)
  5. ค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือทุพพลภาพ 60,000 บาท
  6. ค่าเบี้ยประกันชีวิต (กรมธรรม์ 10 ปีขึ้นไป) ได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท
  7. ค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา หักได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท (บิดามารดามีเงินได้ไม่เกิน 30,000 บาทในปีที่ใช้สิทธิยกเว้นนั้น)
  8. ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัยตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี

เอาหละๆ กลับมาที่ปีตัวอย่างเดิม คือ 2566 กันให้จบก่อน เพื่อจะได้เป็นการปูพื้นให้เข้าใจง่ายที่สุดกันนะคะ ไปดูเลยว่าจากที่นายคุ้กกี้มี  เงินได้สุทธิเพื่อเสียภาษี จำนวน 200,000 บาท ในปี 2566จะต้องคำนวณอย่างไรต่อค่ะ


3. คำนวณภาษีตาม อัตราก้าวหน้า ของภาษีเงินได้



เมื่อได้ยอดเงินได้สุทธิเพื่อเสียภาษีแล้วก็นำไปคำนวณภาษีตามอัตราก้าวหน้าของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดังนี้


เงินได้สุทธิ อัตราภาษี ฐานภาษี จำนวนภาษีสูงสุด
0-150,000 ยกเว้นภาษี 150,000 0
150,001 – 300,000 5% 150,000 7,500
300,001 – 500,000 10% 200,000 20,000
500,001 – 750,000 15% 250,000 37,500
750,001 – 1,000,000 20% 250,000 50,000
1,000,001 – 2,000,000 25% 1,000,000 250,000
2,000,001 – 5,000,000 30% 3,000,000 900,000
เกิน 5,000,000 ขึ้นไป 35%



จากตัวอย่างนายคุ้กกี้มีเงินได้สุทธิ 200,000 บาท ดังนั้น นายคุ้กกี้จะได้รับการยกเว้นภาษีในส่วน 150,000 บาทแรก และส่วนที่เหลือ 50,000 บาทต้องเสียภาษีในอัตรา 5% คิดเป็นเงินภาษีทั้งปีเท่ากับ


50,000 x 5% = 2,500 บาท จากนั้นนำไปเฉลี่ยเป็นภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายรายเดือนจะได้เท่ากับ 2,500/12 จะได้เท่ากับเดือนละ 208.33 บาท


ใน FlowAccount มีฟังก์ชั่นที่ช่วยให้เจ้าของธุรกิจสามารถบริหารเงินเดือนได้ง่ายๆ ด้วยเมนูบริหารเงินเดือน


เมนูเงินเดือนของ FlowAccount สามารถคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายเงินเดือนให้อัตโนมัติเพียงกรอกข้อมูล และเงินเดือนของพนักงาน ก็สามารถทราบถึงยอดภาษีหัก ณ ที่จ่ายของพนักงานแต่ละคนได้ง่ายๆ


ซึ่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายเงินเดือนจากเมนูเงินเดือนนี้เป็นการคำนวณเบื้องต้นเท่านั้น คือมีเพียงการหักค่าใช้จ่ายตามกฎหมาย หักค่าลดหย่อนส่วนตัว และประกันสังคมด้วยนะคะ



หากพนักงานมีค่าลดหย่อนเพิ่มเติม อันนี้ไม่ต้องกังวลไปนะคะ อาจขอปรึกษากับฝ่ายบุคคล หรือนักบัญชีของบริษัทให้ช่วยคำนวณเพิ่มเติมได้เช่นกัน


หรือสามารถยื่นตามจำนวนนี้ และเมื่อถึงปลายปีที่พนักงานต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด. 91 เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พนักงานก็สามารถขอคืนในส่วนที่จ่ายไว้เกินได้


โปรแกรม FlowAccount มีฟังก์ชั่นที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งเจ้าของธุรกิจที่เป็นบุคคลธรรมดา และเป็นนิติบุคคลในเมนูเงินเดือน ที่สามารถคิดคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้เบื้องต้นโดยอัตโนมัติ


เพียงแค่สร้างรายชื่อพนักงานเข้าระบบ FlowAccount Payroll


หัก ณ ที่จ่ายเงินเดือน


จากนั้นกรอกข้อมูลเงินเดือนพนักงานเข้าไป ระบบจะมีการคำนวณเงินเดือนทั้งปี และคำนวณฐานรายได้สุทธิเพื่อคิด หัก ณ ที่จ่ายเงินเดือนให้อัตโนมัติตามภาพนี้เลยค่ะ


คำนวณ หัก ณ ที่จ่ายเงินเดือนพนักงาน


นอกจากการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายแล้ว ยังสามารถนำรายงานจากเมนูเงินเดือนของ FlowAccount Payroll เป็นข้อมูลสำหรับกรอกในเอกสาร ภ.ง.ด.1 หรือสรุปข้อมูลเงินเดือนประจำปีของพนักงานแต่ละคน เพื่อกรอกในเอกสาร ภ.ง.ด.1ก หรือนำส่งเงินสมทบประจำปี โดยสามารถทดลองใช้งานฟรี 30 วันได้อีกด้วยค่ะ

หัก ณ ที่จ่ายเงินเดือน


“คำนวณ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เงินเดือน” นั้นคำนวณตามรูปแบบอัตราก้าวหน้า ซึ่งจะคำนวณในลักษณะของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้วนำมาเฉลี่ยเป็นรายเดือนอีกทีหนึ่ง ไม่ได้มีอัตราหักเป็นเปอร์เซ็นต์ที่คงที่เหมือนการจ่ายค่าใช้จ่ายอื่นๆ หากทำความเข้าใจในปีนี้แล้ว ปีหน้าก็จะสามารถทำได้เองอย่างง่ายดายแล้วหละค่ะ


เรียนบัญชีสำหรับผู้ประกอบการ


Credits

Voice Artist พิมวิภา ป๊อกยะดา

Scriptwriter สราญรัตน์ ไว้เกียรติ และ ชลิตตา วนิชพิสิฐพันธ์

Sound Designer & Engineer อลงกรณ์ สุขวิพัฒน์

ลองใช้งานFlowAccount ฟรี 30 วันได้ง่ายๆ วันนี้
ลองใช้งานฟรีได้ง่ายๆ วันนี้
สมัครเลย

You may also like