อีกหนึ่งคำถามที่มาอยู่บ่อยๆ และเป็นความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่อง ภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ผมได้รับอยู่เป็นประจำ นั่นคือ
หลังจากที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วจะทำให้ต้นทุนของเราสูงกว่าคนอื่น
หรือเปล่า? เพราะต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มไปทุกครั้งที่ซื้อสินค้าหรือบริการ
ประเด็น ภาษีมูลค่าเพิ่ม กับการตั้งราคา นี้เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมานานครับ ในแง่การจัดการและการบริหารต้นทุน แต่ผมอยากให้มองแยกกันก่อนครับว่า ภาษีซื้อ ไม่ใช่ต้นทุน และ ภาษีขาย ไม่ใช่รายได้ แต่ละส่วนนั้นแยกจากกันครับ
ถ้าสังเกตให้ดี เราจะเห็นว่าภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นจะถูกแยกออกจากราคาของสินค้าและบริการมาโดยตลอด และวิธีการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มโดยทั่วไปที่เรียกว่า วิธีภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อ หรือ ภาษีขายลบด้วยภาษีซื้อ
จะยึดหลักการที่ว่าส่วนต่างที่เกิดขึ้นจะถูกนำส่งให้แก่กรมสรรพากรหรือสามารถขอคืนได้
หลักการแรกที่ผมอยากฝากไว้ สำหรับคนที่ตัดสินใจเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม นั่นคือ
เลือกอ่านได้เลย!
“ตั้งราคา” ที่ไม่รวมภาษีไว้แล้วจึงค่อยคำนวณ “ภาษี” เข้าไป “เพิ่ม”
ตัวอย่างเช่น ขายสินค้าในราคา 1,000 บาท ต้องบวก “ภาษีขาย” เข้าไปอีก 70 บาท เมื่อเรียกเก็บจากลูกค้า จะต้องเรียกเก็บในราคา 1,070 บาท ซึ่งแปลว่าเราจะมีรายได้ 1,000 บาท ส่วน 70 บาทนั้นแยกเป็นส่วนของภาษีที่ต้องนำส่งสรรพากร
ทีนี้ปัญหาที่ถามมาก็คือ ในกรณีที่บริษัทหรือคู่แข่งไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็จะได้รับสิทธิขายแค่ 1,000 บาทใช่ไหมล่ะครับ? เพราะเวลาขายไม่ต้องรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม และถ้าเป็นกิจการที่ลูกค้าให้ความสำคัญกับราคา ก็ยิ่งทำให้มีผลต่อการตัดสินใจ
แต่ต้องไม่ลืมนะครับว่า ในกรณีของธุรกิจที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ย่อมไม่สามารถเอาภาษีซื้อมาใช้ได้เช่นเดียวกัน เช่น ซื้อสินค้าราคา 500 บาท มีภาษีมูลค่าเพิ่ม 35 บาท รวมจ่ายไปทั้งสิ้น 535 บาท ซึ่งจำนวนนี้จะแตกต่างกันตรงที่ ธุรกิจไหนจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะสามารถนำภาษีซื้อจำนวน 35 บาทมาหักออกจากภาษีขาย 70 บาทและนำส่งสรรพากรได้ ในขณะที่คนที่ไม่ได้จดจะต้องแบกรับต้นทุนจำนวน 535 บาทไปเอง
รายการ | จดภาษีมูลค่าเพิ่ม | ไม่จดภาษีมูลค่าเพิ่ม |
---|---|---|
ราคาขาย (ไม่รวม VAT) | 1,000 | 1,000 |
ต้นทุน | 500 | 535 |
กำไร | 500 | 465 |
ภาษีมูลค่าเพิ่ม | 70 – 35 = 35 บาท | ไม่มี |
ถ้ามองภาพรวมในระบบภาษีแล้ว จะเห็นว่าฝ่ายที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะได้เปรียบมากกว่าเสียด้วยซ้ำ เพราะถ้าหากมีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว เงิน 70 บาทนั้น เรียกเก็บจากลูกค้า และภาษีซื้อจำนวน 35 บาทสามารถนำมาหักออกจากภาษีขายได้ (ไม่เสียอะไรเพิ่ม)
แต่ถ้ามองอีกภาพหนึ่ง สิ่งที่น่ากังวล คือ ราคาขายรวมภาษีมูลค่าเพิ่มที่แตกต่างกันจำนวน 70 บาท จะทำให้ลูกค้าเปลี่ยนใจหรือไม่ในการซื้อ ถ้าหากเป็นสินค้าเหมือนกัน ใครจะมาจ่าย 1,070 บาทใช่ไหมครับ สู้จ่าย 1,000 บาทให้กับอีกเจ้าที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะดีกว่าไหมล่ะ?
เอาแบบนี้ดีกว่าครับ เราลองปรับกรณีจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นราคาขายรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ 1,000 บาท สิ่งที่เปลี่ยนไปจะเป็นดังนี้
รายการ | จดภาษีมูลค่าเพิ่ม | ไม่จดภาษีมูลค่าเพิ่ม |
---|---|---|
ราคาขาย (ไม่รวม VAT- ปัดเศษ) | 935 | 1,000 |
ต้นทุน | 500 | 535 |
กำไร | 435 | 465 |
ภาษีมูลค่าเพิ่ม | 65 – 35 = 30 บาท | ไม่มี |
ดังนั้นจะเห็นว่า ถ้าหากร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะพยายามแข่งขันทางด้านราคา กำไรจะต่ำกว่าร้านค้าที่ไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มทันทีครับ (ยอด 935 คือยอดที่ไม่ได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่เก็บเงินจากลูกค้า 1,000 บาทคือราคาที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งตรงนี้ต้องพิจารณาให้ดีว่าจะเลือกทางเดินแบบไหนดีครับ
อย่างไรก็ตามเมื่อชีวิตเดินทางมาถึงตรงนี้ ผมเลยอยากฝากไว้เพื่อให้พิจารณาครับว่า ควรจะเลือกทางไหน ยังไง เพื่อให้ตัวเองได้รับประโยชน์มากที่สุด
เทคนิค 3 ข้อ สำหรับธุรกิจที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
1. เลือกซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและสามารถออกใบกำกับภาษีได้อย่างถูกต้อง เพราะว่าจะทำให้เราได้สิทธิในการนำภาษีซื้อมาหักออกจากภาษีขาย
2. กรณีมีการแข่งขันด้านราคา ต้องพิจารณาต้นทุนจริงและกำไรจริงที่เกิดขึ้นจากการทำธุรกิจว่าสามารถต่อสู้ได้ไหม
และในส่วนนี้เจ้าของธุรกิจสามารถใช้โปรแกรมบัญชี FlowAccount ในส่วนของระบบบัญชีรายรับรายจ่ายช่วยบันทึกรายการซื้อและรายการขายต่างๆ ซึ่งในโปรแกรมจะสรุปเป็นรายงานภาษีซื้อและภาษีขายให้อัตโนมัติ และจะใช้วิธีสแกนรูปใบเสร็จแนบไว้ในระบบเพื่อป้องกันเอกสารหล่นหายได้อีกด้วย
3. หรือว่ามีวิธีจัดการบริหารอย่างไรให้ต้นทุนเราต่ำกว่าผู้ประกอบการที่ไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หากพบการกระทำที่ไม่ถูกต้องผู้ประกอบการที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แนะนำให้ร้องเรียนผ่านกรมสรรพากรครับ รายละเอียดคลิก!
สำหรับเรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่มใน 3 ตอนที่ผ่านมานี้ ก็ต้องจบแต่เพียงเท่านี้ครับ หวังว่าคงทำให้หลายๆคนเข้าใจระบบ VAT และหน้าที่ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นไม่มากก็น้อยนะครับ