ถ้าอยากจัดการภาษีธุรกิจได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าปรับอันแสนแพง เทคนิคที่ต้องรู้ ก็คือ การกำหนด Timeline นำส่งภาษีไว้ล่วงหน้า ไม่ต้องกังวลใจไปนะคะ เพราะวันนี้ FlowAccount จะมาสรุปให้ทุกคนฟังแบบครบจบในบทความนี้ที่เดียวเลยค่ะ |
ถ้าอยากจัดการภาษีธุรกิจได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าปรับอันแสนแพง เทคนิคที่ต้องรู้ ก็คือ การกำหนด Timeline นำส่งภาษีไว้ล่วงหน้า แต่ปัญหาของเจ้าของธุรกิจมือใหม่ ก็คือ ไม่แน่ใจว่าภาษีแต่ละตัวคืออะไร ต้องมีเอกสารอะไรบ้าง และต้องส่งภาษีภายในเมื่อไร ถ้าตอนนี้ใครกำลังประสบแบบนี้อยู่ ไม่ต้องกังวลใจไปนะคะ เพราะวันนี้ FlowAccount จะมาสรุปให้ทุกคนฟังแบบครบจบในบทความนี้ที่เดียวเลยค่ะ
ภาษีรายเดือน
ถ้าจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัดแล้ว ในทุกๆ เดือนจะต้องนำส่งภาษีในกับกรมสรรพากรค่ะ และภาษีที่เราจำเป็นต้องส่งทุกๆ เดือนไม่ให้พลาด ได้แก่
1) ภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย
ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย คือ ภาษีที่ผู้จ่ายเงินต้องหักตามอัตราที่กฎหมายกำหนดเพื่อนำส่งให้กับกรมสรรพากรค่ะ
โดยปกติแล้วทุกๆ ธุรกิจน่าจะต้องมีการจ่ายเงินหรือมีค่าใช้จ่ายอยู่เป็นประจำ ซึ่งค่าใช้จ่ายบางประเภทสรรพากรกำหนดให้ผู้จ่ายเงินหัก ณ ที่จ่ายเอาไว้ตามอัตราที่กำหนด และนำส่งภาษีส่วนที่หักไว้ให้สรรพากรค่ะ
ตัวอย่างเช่น ค่าขนส่ง ค่าจ้างทำของ ค่าบริการ ค่าโฆษณา เป็นต้น
เอกสารที่ต้องเตรียม ได้แก่
- แบบภาษีหัก ณ ที่จ่าย แบ่งตามประเภทเงินได้ ได้แก่ ภ.ง.ด.1 /ภ.ง.ด.2 /ภ.ง.ด.3 /ภ.ง.ด.53 และแบบแนบ
- หนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย ที่ใส่ข้อมูลผู้จ่ายเงิน ผู้รับเงิน และรายละเอียดการหัก ณ ที่จ่ายให้เรียบร้อย
Deadline ในการยื่นแบบภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย
แบบกระดาษ ทุกวันที่ 7 ของเดือนถัดไป และแบบออนไลน์ ทุกวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
ตัวอย่างเช่น
บริษัท Flow จ่ายเงินวันที่ 15 พฤษภาคม 66 เพื่อจ้างงานฟรีแลนซ์ออกแบบโลโก้ 10,000 บาท เราต้องหัก ณ ที่จ่ายไว้ 3% เท่ากับ 300 บาท
ทำให้ฟรีแลนซ์ได้รับเงินสุทธิ 9,700 บาท ส่วนเงินที่หักไว้ 300 บาท บริษัท Zero ต้องนำส่งแบบภาษี ภ.ง.ด.3 ภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2566 (ส่งแบบออนไลน์)
2) ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ การเก็บภาษีจากการขายสินค้า หรือการให้บริการในแต่ละขั้นตอนการผลิต และจำหน่ายสินค้าหรือบริการ พูดง่ายๆ ก็คือ VAT 7% ที่ผู้ขายสินค้าหรือบริการเรียกเก็บจากลูกค้านั่นเองค่ะ
แต่ไม่ใช่ทุกกิจการที่จะต้องนำส่งภาษีตัวนี้ เพราะกฎหมายกำหนดว่าผู้ที่เรียกเก็บและนำส่งภาษีตัวนี้ก็คือ กิจการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น ถ้าใครจดห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทแต่ไม่ได้เข้าเกณฑ์จด VAT ก็สบายใจได้เลย เพราะไม่ได้มีหน้าที่นำส่งภาษีนี้ค่ะ
แต่สำหรับใครที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องเตรียมเอกสารและมี Deadline ยื่นแบบภาษีตามนี้นะคะ
เอกสารที่ต้องเตรียม ได้แก่
- แบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ ภ.พ. 30
- รายงานภาษีซื้อ และใบกำกับภาษีซื้อ
- รายงานภาษีขาย และใบกำกับภาษีขาย
- รายงานสินค้าวัตถุดิบ
Deadline ในการยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม
แบบกระดาษ ทุกวันที่ 15 ของเดือนถัดไป และแบบออนไลน์ ทุกวันที่ 23 ของเดือนถัดไป
ตัวอย่างเช่น
บริษัท Flow มีรายได้จำนวน 100,000 บาท ภาษีขายจำนวน 7,000 บาท และมีการซื้อสินค้าแบบมีภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 50,000 บาท
ภาษีซื้อจำนวน 3,500 บาท ตอนปลายเดือนต้องยื่นแบบภาษี ภ.พ.30 เท่ากับ ภาษีขาย – ภาษีซื้อ จำนวน 7,000-3,500 = 3,500 บาท
ภาษีประจำปี
สำหรับภาษีที่ต้องเสียเป็นประจำทุกปีนั้น มีหลายประเภทด้วยกัน ในที่นี้จะขอแบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีป้าย
1) ภาษีเงินได้นิติบุคคล
ภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นภาษีที่เก็บจากเงินได้ของธุรกิจ เช่นว่า บริษัท Flow เปิดมาแล้วมีกำไรจากการประกอบการ ก็จะต้องจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลนี้ค่ะ แต่แม้ว่าเราจะขาดทุน ไม่ต้องจ่ายภาษีประจำปี แต่ก็ยังมีหน้าที่จะต้องยื่นแบบภาษีเป็นประจำอยู่เช่นเคย
ภาษีเงินได้แบ่งช่วงเวลาการยื่นเป็น 2 ช่วงในแต่ละปีดังต่อไปนี้
-
ภาษีเงินได้ครึ่งปี ภงด 51
ภาษีเงินได้ครึ่งปี เป็นการประมาณการผลประกอบการประจำปี เพื่อยื่นภาษีในส่วนของ 6 เดือนแรกของปีให้สรรพากรเสียก่อน
เอกสารที่ต้องเตรียม ได้แก่
- แบบ ภ.ง.ด.51
- ไฟล์ประมาณการภาษีครึ่งปี
Deadline ในการยื่นแบบภาษีเงินได้ครึ่งปี ภงด 51
กรณีที่มีรอบบัญชีปกติ 1 มค – 31 ธค. ยื่นภาษีแบบกระดาษ ภายในวันที่ 31 สิงหาคม และยื่นแบบออนไลน์ ภายในวันที่ 8 กันยายน
-
ภาษีเงินได้ประจำปี ภงด50
ภาษีเงินได้ประจำปี เป็นการคำนวณภาษีจากกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นจริงในปีที่ผ่านมา และนำส่งภาษีสำหรับทั้งปีให้กับกรมสรรพากรค่ะ ซึ่งกำไรสุทธิที่ใช้ตั้งต้นในการคำนวณภาษีต้องมาจากงบการเงินที่ได้รับการตรวจสอบและรับรองแล้วประจำปีนั้นๆ ด้วย
เอกสารที่ต้องเตรียม ได้แก่
- แบบ ภ.ง.ด.50
- ไฟล์คำนวณภาษีประจำปี
Deadline ในการยื่นแบบภาษีเงินได้ประจำปี ภงด50
กรณีที่มีรอบบัญชีปกติ 1 มค – 31 ธค. ยื่นภาษีแบบกระดาษ ภายในวันที่ 30 พฤษภาคม ของปีถัดไป และยื่นแบบออนไลน์ ภายในวันที่ 7 มิถุนายน ของปีถัดไป
2) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นภาษีรายปีที่เก็บและคิดจากมูลค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้างที่เราครอบครอง โดยมีองค์กรท้องถิ่น เช่น เทศบาล อบต. เป็นผู้จัดเก็บ
ผู้ที่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต้องเข้าเงื่อนไข ดังนี้
- เจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ (ดูตามโฉนด ไม่ใช่ทะเบียนบ้าน)
- ผู้ครอบครอง/ทำประโยชน์ในที่ดินนั้น
นั่นก็แปลว่า ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้ ไม่ใช่เจ้าของธุรกิจทุกคนจะต้องจ่ายชำระ แต่เป็นเจ้าของธุรกิจที่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นของตัวเองค่ะ ส่วนใครที่เช่าพื้นที่ทำธุรกิจอาจจะต้องย้อนกลับไปดูสัญญาเช่าว่าเราต้องรับภาระส่วนนี้แทนตามสัญญาหรือไม่ค่ะ
เอกสารที่ต้องเตรียม ได้แก่
- เอกสารประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกจ้างจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
Deadline ในการยื่นแบบภาษี
องค์กรส่วนท้องถิ่นจะเป็นผู้ประเมินภาษี นำส่งให้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของแต่ละปี และชำระภายในเดือนเมษายนของปีนั้นๆ
3) ภาษีป้าย
ภาษีป้าย คือ ภาษีที่เก็บจาก ป้ายที่แสดงชื่อ ยี่ห้อ หรือเครื่องหมายการค้า หรือประกอบกิจการอื่นๆ เพื่อหารายได้หรือโฆษณา ที่จัดเก็บโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น เทศบาล อบต. เป็นผู้จัดเก็บ
ดังนั้น บางธุรกิจที่ไม่ได้มีป้ายชื่อหรือป้ายโฆษณาเพื่อการค้าจึงไม่จำเป็นต้องจ่ายภาษีป้ายค่ะ ส่วนใครที่มีป้ายเพื่อการค้าและโฆษณาที่ได้รับอนุญาตเรียบร้อยแล้ว จะต้องยื่นชำระภาษีป้ายทุกๆ ปี เอกสารและ Deadline การชำระภาษีดูตามนี้ได้เลย
เอกสารที่ต้องเตรียม ได้แก่
- แบบ ภ.ป.1
Deadline ในการยื่นแบบภาษีป้าย
ยื่นแบบและเสียภาษีภายใน 31 มีนาคม ของทุกปี
และทั้งหมดนี้ก็คือ สรุปภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ รวมไปถึงเอกสารที่ต้องจัดเตรียม และเดดไลน์การนำส่งภาษี เมื่อทุกคนเข้าใจแล้วว่าเราต้องเสียภาษีอะไร เมื่อไรบ้าง สิ่งสำคัญต่อจากนี้ อย่าลืมไปกำหนด Timeline การทำงานและจัดเตรียมเอกสาร เพื่อจะได้ไม่พลาดทุกเดดไลน์ และไม่เสียค่าปรับทางภาษีราคาแพงอีกต่อไปนะคะ
About Author
นักบัญชี ผู้สอบบัญชี และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ cpdacademy.co คอร์สอบรมบัญชี CPD ออนไลน์สำหรับผู้ทำบัญชีและผู้สอบบัญชี ที่มีประสบการณ์ในวิชาชีพมากกว่า 10 ปี และอยากส่งต่อความรู้เพื่อเพื่อนนักบัญชีให้มีทักษะอย่างมืออาชีพและก้าวทันโลกดิจิทัล
ร่วมสมัครเป็นนักเขียนกับ FlowAccount ได้ที่นี่