TFRS for NPAEs มาตรฐานบัญชีที่เจ้าของกิจการควรทำความเข้าใจ!

TFRS for NPAEs

ผู้ประกอบการมาเริ่มทำความเข้าใจกันตั้งแต่คำว่า TFRS for NPAEs ที่เค้าพูดกันนั่นมีความหมายว่าอะไร แล้วกิจการอย่างเราเข้าข่ายต้องปฏิบัติตามมาตรฐานนี้ด้วยไหม แล้วที่เค้ามีการเปลี่ยนแปลงเมื่อมี 2566 มีการเปลี่ยนแปลงฉบับใดบ้าง มาเคีลยทุกประเด็นในบทความนี้กันค่ะ

ช่วงนี้หลายท่านน่าจะทยอยออกงบการเงินประจำปีกันเรียบร้อยแล้ว เย้ จบไปอีกหนึ่งปี แล้วเคยตั้งคำถามในใจกันอยู่บ้างใช่ไหมคะว่า งบของบริษัทใช้เกณฑ์อะไรในการทำงบกันนะ เพราะการที่งบจะเปรียบเทียบกันได้ก็ต้องอาศัยข้อกำหนดหรือเกณฑ์อะไรบางอย่างที่ทุกกิจการต้องทำเหมือนๆ กันจริงไหมคะ ในบทความนี้จะได้มารู้จักมาตรฐานบัญชีหรือเกณฑ์ที่ใช้ในการบันทึกบัญชีและจัดทำรายงานทางการเงินกันนะคะ

 

ประเทศไทยมีมาตรฐานการรายงานทางการเงินของไทย (Thai Financial Reporting Standards -TFRSs) ที่อ้างอิงจากมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ (International Financial Reporting Standards – IFRSs) เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล 

 

มาตรฐานการรายงานทางการเงินเองจะถูกนำไปใช้กับนิติบุคคลไม่ว่าจะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (Publicly Accountable Entities- PAEs) หรือนิติบุคคลทั่วไปที่อยู่นอกตลาด (Non - Publicly Accountable Entities - NPAEs)

 

ก่อนที่จะไปเข้าเรื่องกัน มาทำความเข้าใจกันก่อนว่า กิจการของเราเข้าข่ายเป็นกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (NPAEs) หรือไม่กันค่ะ

 

ความหมายของกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (NPAEs) 

 

หากพูดให้เข้าใจง่ายแทบจะทุกบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม SMEs สามารถใช้มาตรฐานฉบับย่อตัวนี้ได้ เนื่องจากกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะนั่น หมายถึง กิจการที่ไม่ใช่กิจการ ดังต่อไปนี้ค่ะ

 

กิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (NPAEs)

 

  1. กิจการที่มีตราสารทุน หรือตราสารหนี้ของกิจการที่มีการซื้อขายต่อประชาชนไม่ว่าจะเป็นตลาดหลักทรัพย์ในประเทศหรือต่างประเทศ หรือการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์ (Over the counter) รวมทั้งตลาดในท้องถิ่นและในภูมิภาคหรือ กิจการที่นำส่งหรืออยู่ในกระบวนการการนำส่งงบการเงินของกิจการให้แก่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือหน่วยงานกำกับดูแลอื่น เพื่อวัตถุประสงค์ในการออกขายหลักทรัพย์ใดๆ ต่อประชาชน
  2. กิจการที่ดำเนินธุรกิจหลักในการดูแลสินทรัพย์ของกลุ่มบุคคลภายนอกในวงกว้าง เช่น สถานบันการเงิน บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย บริษัทหลักทรัพย์ กองทุนรวม ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทยตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น เป็นต้น
  3. บริษัทมหาชน ตามกฎหมายว่าด้วยกฎหมายมหาชน
  4. กิจการอื่นที่จะกำหนดเพิ่มเติม

 

หลังจากเช็คแล้วชัวร์ว่าเราเป็นกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะจริงๆ เท่ากับว่างบการเงินของกิจการจะต้องใช้มาตรฐานการบัญชีชุดเล็กนั่นเอง 

 

ปูพื้นฐานความเป็นมาของมาตรฐานบัญชีชุดเล็ก

 

เดิมทีมาตรฐานบัญชีชุดเล็กฉบับก่อนปรับปรุงใช้ในประเทศไทยตั้งแต่พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา ถ้านับจำนวนปีก็น่าจะเกิน 10 ปีแล้วค่ะ หลายฝ่ายเริ่มมองว่า TFRS for NPAEs เริ่มไม่สอดคล้องกับธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งประเภทธุรกิจ ขนาดของกิจการ เพราะมีข้อกำหนดที่ไม่ครอบคลุมถึงบางธุรกรรมที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น อนุพันธ์ที่กิจการนำมาใช้ในการป้องกันความเสี่ยง ทำให้บางกิจการหันไปนำข้อกำหนดของมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะบางฉบับ (TFRS for PAEs) หรือมาตรฐานการบัญชีชุดใหญ่มาใช้แทนอย่างนั้นไป

 

จนตั้งแต่กรกฎาคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา คณะอนุกรรมการศึกษาการนำมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะมาปฏิบัติใช้ ภายใต้คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชี สภาวิชาชีพบัญชีฯ ได้จัดทำร่าง TFRS for NPAEs (ฉบับปรับปรุง) ขึ้นมา โดยมีหลักการที่สำคัญด้วยกัน 3 ประการคือ

 

  1. การเพิ่มหลักการทางบัญชีให้มีความครอบคลุมกับโมเดลธุรกิจและสภาพแวดล้อมของการทำธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปและมีความซับซ้อนมากขึ้นจากในสมัยอดีต 

 

  1. คงความง่ายในทางปฏิบัติต่อไป มาตรฐานฉบับนี้ได้กล่าวไว้คือ คงวิธีปฏิบัติทางบัญชีที่ใช้อยู่เดิมไว้เพื่อกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะจะได้ไม่ถูกกระทบ รวมถึงได้รวบรวมประกาศสภาวิชาชีพบัญชีที่เกี่ยวข้องซึ่งมีผลบังคับใช้ในปัจจุบันเข้ามารวมไว้ในมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับนี้ คือ การจัดทำงบการเงินระหว่างกาล การตีราคาใหม่ของที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ การวัดมูลค่ายุติธรรมของอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน โดยที่หลักการตามมาตรฐานฉบับเดิมยังคงอยู่หลักการบัญชียังรักษาความง่าย ไม่ซับซ้อน ที่เคยใช้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับเดิมยังมีอยู่ ทำให้ไม่เกิดผลกระทบในทางปฏิบัติ

 

  1. เพิ่มทางเลือกวิธีปฏิบัติทางบัญชี เพื่อให้กิจการที่ต้องการเติบโตเป็นบริษัทมหาชนหรือเป็นบริษัทข้ามชาติในอนาคต สามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายโดยไม่ได้มีอุปสรรคมาจากเรื่องของการใช้มาตรฐานบัญชี

 

มาตรฐานฉบับนี้ได้เพิ่มวิธีปฏิบัติทางบัญชีให้เป็นทางเลือกเพิ่มขึ้น นักบัญชีจึงควรพิจารณาวิธีปฏิบัติทางบัญชีที่เหมาะสมกับกิจการที่รับผิดชอบ และนำเสนอผู้มีอำนาจอนุมัติเพื่อเป็นนโยบายทางบัญชีของกิจการ แต่ยังคงต้องคำนึงถึงหลักความสม่ำเสมอเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงวิธีปฏิบัติทางบัญชี 

 

TFRS for NPAEs (ฉบับปรับปรุง) ประกอบด้วย 28 บท ที่มี 17 บทเป็นการปรับปรุงเล็กน้อยจนถึงปรับปรุงใหญ่ ส่วน 5 บท ไม่ได้มีการปรับปรุง และอีก 6 บทที่เหลือเป็นบทใหม่ที่เพิ่มเข้ามาแบบใหม่เอี่ยมเลยค่ะ

 

TFRS for NPAEs (ฉบับปรับปรุง)

 

ทั้งนี้ มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (ปรับปรุง 2565) ได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 มีผลบังคับใช้ 1 มกราคม 2566 

 

สรุป TFRS for NPAEs ที่มีการเปลี่ยนแปลง

 

FlowAccount ได้รวบรวมตารางการเปลี่ยนแปลงฉบับย่อให้นักบัญชีและเจ้าของกิจการได้เข้าใจกันง่ายขึ้น แยกตามบทดังภาพต่อไปนี้เลยค่ะ

 

TFRS for NPAEs ที่มีการเปลี่ยนแปลง

 

ยกตัวอย่างเพื่อลองทำความเข้าใจเนื้อหาของมาตรฐานฉบับปรับปรุงกันนะคะ ว่าเนื้อหาสาระสำคัญมีตรงไหนที่เปลี่ยนไปบ้างกันนะคะ

 

บทที่ 3 กรอบแนวคิด 

 

  • ปรับปรุงและขยายความเรื่อง “การดำเนินงานต่อเนื่อง” ที่ฝ่ายบริหารจะต้องประเมินไปอย่างน้อย 12 เดือนข้างหน้า เพื่อพิจารณาว่ามีความไม่แน่นอนอย่างมีสาระสำคัญเกี่ยวกับเหตุการณ์หรือสถานการณ์ใดที่อาจทำให้เกิดความสงสัยอย่างมีนัยสำคัญเกี่ยวกับความสามารถในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องของกิจการ กิจการต้องเปิดเผยให้ทราบถึงความไม่แน่นอนนั้น 
  • เพิ่มหลักเนื้อหาสำคัญกว่ารูปแบบ (Substance Over Form) ที่กิจการต้องให้ความสนใจกับเนื้อหาและความเป็นจริงเชิงเศรษฐกิจ มิใช่รูปแบบทางกฎหมายเพียงอย่างเดียว เช่น

 

สัญญาเช่าเงินทุน – ที่หากผู้เช่าได้รับประโยชน์จากการใช้สินทรัพย์ตลอดอายุการใช้ประโยชน์ส่วนใหญ่ของสินทรัพย์นั้นและมีภาระผูกพันที่ต้องชำระเป็นจำนวนเงินใกล้เคียงกับมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ ผู้เช่าจึงต้องรับรู้รายการสินทรัพย์ และหนี้สินในงบการเงิน แม้ว่ารูปแบบสัญญาจะถือเป็นเพียงค่าเช่าก็ตาม

 

  • ปรับปรุงนิยาม “รายได้” ให้รวมถึงรายการกำไร ซึ่ง TFRS ฉบับนี้กําหนดให้กิจการต้องรับรู้โดยตรงไปยังส่วนของเจ้าของ ตลอดจนปรับปรุงนิยาม “ค่าใช้จ่าย” ให้รวมถึงรายการขาดทุนซึ่ง TFRS ฉบับนี้กําหนดให้กิจการต้องรับรู้โดยตรงไปยังส่วนของเจ้าของ ประการสุดท้ายคือ การปรับปรุงเกณฑ์ในการวัดมูลค่ารายการที่ NPAEs ใช้ในการจัดทํางบการเงินเพื่อให้กิจการสามารถพิจารณาปรับใช้ทางเลือกในการวัดมูลค่าบางรายการที่นอกเหนือจากราคาทุน ตามการเปิดโอกาสให้กิจการตีราคาสินทรัพย์ใหม่ เช่น รายการที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ เป็นต้น

 

บทที่ 5 การเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชี การเปลี่ยนแปลงประมาณการทางบัญชี และข้อผิดพลาด

 

  • ปรับปรุงนิยาม “การเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชี” ให้ชัดเจนขึ้น 
  • ระบุชัดเจนว่าถ้ากิจการไม่สามารถระบุจํานวนเงินของผลกระทบสะสม ณ ต้นงวดบัญชีปัจจุบันที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชีที่มีต่องบการเงินของงวดบัญชีก่อน ๆ ได้ กิจการต้องปรับปรุงข้อมูลเปรียบเทียบโดยใช้วิธีเปลี่ยนทันทีเป็นต้นไป 
  • กล่าวคือ ใช้นโยบายบัญชีใหม่สําหรับรายการค้า เหตุการณ์และสถานการณ์ต่าง ๆ หลังจากวันที่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชีนับจากวันแรกสุดที่สามารถปฏิบัติได้

 

บทที่ 6 เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด 

 

  • มีการแก้ไขคำนิยามของเงินสดให้เข้าใจได้กระชับมากยิ่งขึ้นค่ะ เหลือเพียง “เงินสด หมายถึง เงินสดในมือและเงินฝากธนาคารที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถาม”

 

บทที่ 7 ลูกหนี้ 

 

เพิ่มเติมทางเลือกในการบันทึกหนี้สูญได้รับคืนเป็นรายได้อื่น ๆ ในงบกำไรขาดทุน ที่สามารถบันทึกได้ทั้ง 2 แบบดังนี้

  • โอนกลับบัญชีลูกหนี้และค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ที่เกี่ยวข้องด้วยจำนวนเงินที่รับกลับคืน พร้อมบันทึกรายการรับชำระหนี้จากลูกหนี้
  • บันทึกหนี้สูญรับคืนเป็นรายได้อื่น ในงบกำไรขาดทุน 

 

หวังว่าผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการ SMEs คงจะได้รับประโยชน์และความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานทางบัญชี และเข้าใจงบการเงินประจำปี 2566 ที่ต้องมีการถือปฏิบัติตามการปรับปรุงเหล่านี้กันมากขึ้นนะคะ ส่วนการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานแบบละเอียดสามารถอ่านได้ในบทความถัดไปจาก FlowAccount ค่ะ รอติดตามกันนะค้า

 

อ้างอิง

About Author

ลองใช้งานFlowAccount ฟรี 30 วันได้ง่ายๆ วันนี้
ลองใช้งานฟรีได้ง่ายๆ วันนี้
สมัครเลย