เมื่อย้ายที่ตั้งสำนักงาน กิจการต้องดำเนินการอย่างไร

ย้ายที่ตั้งบริษัท

เปิดบริษัทมาสักพัก แต่ที่ตั้งสำนักงานเดิมเล็กเกินไป อยากย้ายใหม่ไปที่อยู่อื่น การขยับขยายย้ายที่ตั้งสำนักงานนั้น ไม่ได้ง่ายเหมือนย้ายทะเบียนบ้าน แต่ก็ไม่ได้ยากเกินไปสำหรับเจ้าของธุรกิจ เพราะเราสามารถดำเนินการด้วยตัวเองได้ ติดตามได้ที่บทความนี้ค่ะ

เปิดบริษัทมาสักพัก แต่ที่ตั้งสำนักงานเดิมเล็กเกินไป อยากย้ายใหม่ไปที่อยู่อื่น การขยับขยายย้ายที่ตั้งสำนักงานนั้น ไม่ได้ง่ายเหมือนย้ายทะเบียนบ้าน แต่ก็ไม่ได้ยากเกินไปสำหรับเจ้าของธุรกิจ เพราะเราสามารถดำเนินการด้วยตัวเองได้ 

 

วันนี้เราลองมาดูกันค่ะว่าถ้าอยากย้ายที่ตั้งบริษัทไปอยู่ที่ใหม่ ต้องติดต่อใครบ้าง มีเอกสารอะไรที่ต้องเตรียม ถ้าพร้อมแล้วมาเริ่มต้นกันเลย

 

ย้ายที่อยู่บริษัทต้องติดต่อหน่วยงานไหน ติดต่อใครก่อนดี

 

3 หน่วยงานรัฐ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการย้ายที่ตั้งของบริษัท ได้แก่

 

  1. กรมพัฒนาธุรกิจการค้าพื้นที่ ที่บริษัทตั้งอยู่ (DBD)
  2. กรมสรรพากรพื้นที่ ที่บริษัทตั้งอยู่
  3. สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ ที่บริษัทตั้งอยู่

 

ย้ายที่อยู่บริษัทต้องติดต่อหน่วยงานไหน

 

โดยเริ่มต้นเราต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่อยู่กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าก่อนค่ะ (คิดง่ายๆ ว่าตอนที่จดบริษัทเราก็เริ่มต้นจากหน่วยงานนี้ใช่ไหมคะ) 

 

หลังจากนั้น เราจะได้เอกสารที่เรียกว่า “หนังสือรับรอง” ถึงจะนำเอกสารตัวนี้ไปดำเนินการเปลี่ยนแปลงที่อยู่กับหน่วยงานสรรพากร และสำนักงานประกันสังคม ได้จ้า

 

ส่วนการเปลี่ยนแปลงที่อยู่กับธนาคารที่เคยเปิดบัญชีไว้ สามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงที่อยู่กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเสร็จ แต่ว่าบางครั้งธนาคารอาจต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับกิจการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แนะนำว่าทางที่ดีควรติดต่อธนาคารที่ดูแลในแต่พื้นที่เพื่อความครบถ้วนค่ะ

 

ขั้นตอนแก้ไขที่อยู่บริษัท และเอกสารที่ต้องเตรียม

 

จากหัวข้อก่อนหน้า เราก็พอจะทราบมาก่อนแล้วว่า ต้องติดต่อใครก่อนบ้าง งั้นขั้นตอนถัดไป เราลองมาดูรายละเอียดว่า แต่ละหน่วยงานที่เราจะต้องไปติดต่อ ต้องใช้เอกสารอะไรบ้างค่ะ

 

1. กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

 

การแจ้งเปลี่ยนแปลงที่อยู่กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะแบ่งออกเป็น 2 กรณี การย้ายที่อยู่บริษัทในจังหวัดเดียวกัน และการย้ายที่อยู่ข้ามจังหวัด

 

แก้ไขที่อยู่บริษัท กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

 

1.1 ขั้นตอนการย้ายที่อยู่บริษัท ในจังหวัดเดียวกัน

 

การย้ายที่อยู่ในบริษัทเดียวกัน บริษัทสามารถจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมได้เลย โดยไม่ต้องอ้างอิงมติที่ประชุม โดยเอกสารที่ใช้จะประกอบไปด้วย

 

  1. คำขอจดทะเบียนบริษัท (แบบ บอจ.1)
  2. แบบคำรับรองการจดทะเบียนบริษัทจำกัด
  3. รายการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติม และ/หรือมติพิเศษ (แบบ บอจ.4)
  4. หลักฐานการอนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติม ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ (ใช้เฉพาะธุรกิจที่มีกฎหมายพิเศษควบคุม)
  5. แผนที่แสดงที่ตั้งสำนักงานใหญ่ และสถานที่สำคัญบริเวณใกล้เคียง
  6. สำเนาบัตรประชาชนของกรรมการ ที่ลงชื่อในคำขอจดทะเบียน
  7. สำเนาหลักฐานการเป็นผู้รับรองลายมือชื่อ (ถ้ามี)
  8. หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)

 

1.2 ขั้นตอนการย้ายที่อยู่บริษัท ไปจังหวัดอื่น

 

หากบริษัทต้องการย้ายที่อยู่สำนักงานใหญ่ ข้ามไปอยู่จังหวัดอื่น ตามกฎหมายกำหนดว่า จะต้องมีการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อมีมติพิเศษให้แก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิข้อ 2 (สำนักงานของบริษัท)

 

ดังนั้น เราต้องมีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นก่อน และต้องมีมติพิเศษที่เสียงข้างมากไม่ต่ำกว่า 3 ใน 4 ของเสียงทั้งหมดมาประชุม จึงจะทำการจดทะเบียนแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิ และแจ้งเปลี่ยนแปลงที่อยู่ หลังจากนั้น

 

สำหรับเอกสารที่ใช้ในการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณสนธิข้อ 2 (สำนักงานของบริษัท) จะใช้เอกสารเหมือนกันกับการแจ้งเปลี่ยนแปลงที่อยู่บริษัท ในจังหวัดเดียวกัน แต่เพิ่มหลักฐานหนังสือบริคณห์สนธิ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) พร้อมชำระอากรแสตมป์ 50 บาท

 

สถานที่ติดต่อและค่าธรรมเนียม

 

สำหรับการแจ้งเปลี่ยนแปลงที่อยู่บริษัท สามารถยื่นคำขอจดทะเบียนได้ที่ หน่วยงานในสังกัดของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและกระทรวงพาณิชย์ทั่วประเทศ ตามที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทตั้งอยู่ หรือผ่านระบบ e-Register ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

 

โดยจะมีค่าธรรมเนียมดังนี้

  • การจดทะเบียน แก้ไขที่ตั้งสำนักงาน 500 บาท
  • หนังสือรับรอง รายการละ 40 บาท
  • รับรองสำเนาเอกสาร หน้าละ  50 บาท

 

สถานที่ติดต่อและค่าธรรมเนียม ย้ายที่ตั้งบริษัท

 

2. กรมสรรพากร

 

สำหรับบริษัทที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อต้องการเปลี่ยนแปลงที่อยู่จะต้องแจ้งสรรพากรล่วงหน้า 15 วัน ก่อนการย้าย 

 

ดังนั้น จึงขอแนะนำว่า ถ้าจะย้ายบริษัทตอนสิ้นเดือน ควรเตรียมเอกสารการย้ายตั้งแต่ต้นเดือน ให้เสร็จเรียบแล้ว ไม่เช่นนั้นอาจไม่ทันการ เพราะเอกสารค่อนข้างเยอะพอสมควร 

 

เราลองไปดูกันว่า เอกสารที่ต้องเตรียมส่งสรรพากร มีอะไรบ้างนะ

 

1. แบบคำขอแจ้งเปลี่ยนแปลงการจดทะเบียน ภ.พ.09 จำนวน 3 ฉบับ

2. ใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.20 (เดิม)

3. หลักฐานที่ตั้งสถานประกอบการ ได้แก่

    • สัญญาเช่าติดอากรแสตมป์ (กรณีเช่า) หรือหนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่ (กรณีเจ้าของให้ใช้สถานที่ฟรี)
    • สำเนาทะเบียนบ้านที่ตั้งสถานประกอบการ
    • สำเนาเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ เช่นโฉนด ใบโอนกรรมสิทธิ์ สัญญาเช่าช่วง
    • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ผู้ให้เช่า/ให้ใช้สถานที่

4. แผนที่แสดงที่ตั้งสถานประกอบการ พร้อมภาพถ่ายสถานประกอบการแห่งใหม่ (ถ่ายรูปทั้งด้านนอก และด้านใน)

5. หนังสือมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์ (กรณีไม่ได้มาด้วยตัวเอง)

6. สำเนาบัตรประชาชนของกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม

7. สำเนาหนังสือสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มีการแก้ไข

8. สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท (ไม่เกิน 6 เดือน)

 

จะเห็นได้ว่าเอกสารของสรรพากรนั้นค่อนข้างยุ่งยากพอสมควร ซึ่งเป็นอะไรที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับกิจการที่อยู่ในระบบ ภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ขอให้ทริคเล็กน้อย สำหรับคนที่จะเปลี่ยนที่อยู่บริษัทสักนิด

 

ก่อนจะไปติดต่อเจ้าหน้าที่สรรพากรพื้นที่ ที่บริษัทตั้งอยู่ ให้เราโทรไปสอบถามเจ้าหน้าที่ก่อนอย่างน้อย 1 รอบ เพื่อยืนยันว่าใช้เอกสารหลักฐานใดบ้าง และขอคำปรึกษาเพิ่มเติมในกรณีที่เอกสารมีปัญหา ไม่เช่นนั้นแล้ว อาจต้องเสียเวลาไป-กลับ กรมสรรพากร จนสนิทกับเจ้าหน้าที่เลยล่ะ ฮ่าๆ

 

และการเปลี่ยนแปลงที่ตั้งบริษัท ที่กรมสรรพากรนั้น ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมแต่อย่างใด (แค่เสียเวลาเท่านั้นเอง)

 

3. สำนักงานประกันสังคม

 

มาถึงประกันสังคม สำหรับบริษัทหรือเจ้าของกิจการที่มีลูกจ้าง และอยู่ในระบบของประกันสังคม กรณีที่เรามีการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ ก็ต้องแจ้งต่อสำนักงานประกันสังคมด้วยเช่นกัน โดยมีเอกสารดังนี้

 

  1. แบบแจ้งการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงนายจ้าง (สปส.6-15)
  2. หนังสือรับรองบริษัท ฉบับแก้ไขที่อยู่ใหม่แล้ว
  3. แผนที่บริษัท (ที่ตั้งใหม่)
  4. หนังสือมอบอำนาจติดอากรแสตมป์ (กรณีไม่ได้มาด้วยตัวเอง)

 

การยื่นขอเปลี่ยนแปลงที่ตั้ง สามารถติดต่อสำนักงานประกันสังคมพื้นที่ ที่บริษัทตั้งอยู่ โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมจ้า 

 

 

สรุป

 

เมื่อย้ายที่ตั้งสำนักงาน เจ้าของธุรกิจก็ต้องดำเนินการหลายอย่าง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมากค่ะ เพราะที่อยู่ของกิจการ ใช้ในการติดต่อทำสัญญา ออกใบแจ้งหนี้ออกใบเสร็จรับเงิน และมีผลทางกฎหมายอีกด้วย ดังนั้น เจ้าของธุรกิจต้องดำเนินการให้ครบถ้วนเริ่มต้นจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมสรรพากร และสำนักงานประกันสังคม

 

ย้ายที่ตั้งบริษัท กิจการต้องดำเนินการอย่างไร

 

อ้างอิง 

About Author

ลองใช้งานFlowAccount ฟรี 30 วันได้ง่ายๆ วันนี้
ลองใช้งานฟรีได้ง่ายๆ วันนี้
สมัครเลย