ผู้ที่จดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนจะต้องทำบัญชีและจัดการเรื่องภาษีตามที่กฎหมายกำหนด โดยสำรวจง่ายๆ ว่ารูปแบบวิสาหกิจชุมชนเป็นแบบบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล |
วิสาหกิจชุมชนเป็นทางเลือกหนึ่ง สำหรับหนุ่มสาวที่เรียนจบแล้วไม่อยากทำงานในเมืองใหญ่ ที่เลือกจะรวมกลุ่มทำธุรกิจในชุมชนบ้านเกิดของตัวเอง เช่น ขายทอผ้าจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ขายอาหารแปรรูปแสนอร่อยจากสูตรที่สืบทอดจากบรรพบุรุษ หรือร้านสปาสมุนไพรที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร
ธุรกิจเล็กๆ จากการรวมตัวของเพื่อนบ้าน และสมาชิกในชุมชนเช่นนี้ ช่วยสร้างรายได้ให้คนในชุมชน พร้อมๆ กับความสุขที่ได้กลับมาทำงานอยู่บ้านเกิด แต่ถ้าอยากทำวิสาหกิจชุมชนอย่างจริงจัง ได้รับการรับรองทางกฎหมาย และได้รับสิทธิประโยชน์มากมายนั้น เราต้องเข้าใจเรื่องอะไรบ้าง ลองไปศึกษาในบทความนี้พร้อมๆ กันนะคะ
1. จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนมีหลักเกณฑ์อะไรบ้าง
วิสาหกิจที่อยากจดทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อมีคำนำหน้าชื่อว่า “วิสาหกิจชุมชน” ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548 ต้องมีคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ ทั้งหมด 4 ข้อตามนี้
-
- ประเภทกิจการ ต้องเป็นกิจการที่เกี่ยวกับการผลิตสินค้า ให้บริการ หรือกิจการอื่นๆ ที่ทำให้พัฒนาและแก้ไขปัญหาของชุมชน
- รูปแบบ จะจดเป็นนิติบุคคล หรือไม่เป็นนิติบุคคลก็ได้ โดยเงื่อนไขต้องมีสมาชิกในชุมชนไม่น้อยกว่า 7 คน รวมตัวกันและสมาชิกเหล่านี้ต้องไม่อยู่ในครอบครัวเดียวกันนะ
- วัตถุประสงค์ ต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างรายได้ ให้พึ่งพาตัวเองได้ และมีประโยชน์ต่อคนในชุมช
- กฎหมาย กิจการที่ทำต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย ความสงบเรียบร้อย และต้องอยู่ในศีลธรรม
2. หน้าที่ทางบัญชี และภาษีที่ต้องจัดทำ
เช่นเดียวกับธุรกิจทั่วไปค่ะ วิสาหกิจชุมชนที่จัดตั้งขึ้นมาจะต้องทำบัญชีและจัดการเรื่องภาษีตามที่กฎหมายกำหนด โดยเราเช็กง่ายๆ แบบนี้ว่าบัญชีและภาษีที่เกี่ยวข้องกับเรามีอะไรบ้าง
รูปแบบวิสาหกิจชุมชนเป็นอะไร ซึ่งเราต้องเลือกระหว่าง 2 อย่างนี้ คือ บุคคลธรรมดา (ไม่ใช่นิติบุคคล) หรือเป็นนิติบุคคล
- บุคคลธรรมดา (ไม่ใช่นิติบุคคล) อย่างเช่น การรวมตัวกันของสมาชิก 7 คน ในทางกฎหมายเราเรียกว่า “คณะบุคคล” หรือ หุ้นส่วนสามัญ ทั้ง 2 แบบนี้ในทางกฎหมายยังถือเป็น “บุคคลธรรมดา” ไม่ถือว่าเป็นนิติบุคคลค่ะ
- นิติบุคคล ต้องจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งเลือกได้หลายรูปแบบ เช่น ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด
การทำบัญชี ข้อกำหนดเรื่องทำบัญชีจะแตกต่างกันตามรูปแบบของวิสาหกิจชุมชน แบ่งเป็น 2 รูปแบบ ตามนี้
- บุคคลธรรมดา (ไม่ใช่นิติบุคคล) กฎหมายไม่ได้บังคับให้ทำบัญชีและมีงบการเงินส่งทุกปี แต่ว่าถ้าอยากใช้ค่าใช้จ่ายคำนวณภาษีตามจริงก็ต้องทำบัญชีและมีหลักฐานประกอบ
- นิติบุคคล กฎหมายบังคับให้นิติบุคคลทำบัญชีและนำส่งงบการเงินเป็นประจำทุกปี
การยื่นภาษี: วิสาหกิจชุมชนต้องยื่นคำร้องขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของวิสาหกิจชุมชน ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา ที่วิสาหกิจชุมชนมีภูมิลำเนาตั้งอยู่ โดยการนำส่งภาษีนั้นแยกตามรูปแบบของธุรกิจ 2 รูปแบบ ดังนี้
- บุคคลธรรมดา (ไม่ใช่นิติบุคคล) นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยคำนวณภาษีจากเงินได้สุทธิ x อัตราภาษี (5-35%) ซึ่งเงินได้สุทธิคำนวณจาก เงินได้ หักด้วยค่าใช้จ่าย (ตามจริงหรือแบบเหมา) ถ้าเลือกที่จะหักค่าใช้จ่ายตามจริง จะต้องทำบัญชีและมีเอกสารประกอบด้วย
- นิติบุคคล นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยคำนวณจากกำไรสุทธิทางภาษี x อัตราภาษี (สูงสุด 20%) ซึ่งกำไรสุทธิทางภาษีจะคำนวณได้ก็ต่อเมื่อเราทำบัญชีตามกฎหมายเท่านั้น
โปรแกรมบัญชีสำเร็จรูป FlowAccount เอง ก็สามารถช่วยวิสาหกิจชุมชนทำบัญชีอย่างง่ายได้ ทั้งในรูปแบบบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในการเช็ก รายได้ ค่าใช้จ่าย กำไร และนำส่งภาษีประจำปี
3. จดเป็นวิสาหกิจชุมชนมีประโยชน์อย่างไร
แม้ว่าการจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนจะมีขั้นตอนด้านเอกสารและบัญชีมาเกี่ยวข้อง แต่ว่าการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548 นั้น มีประโยชน์หลายๆ เรื่อง เช่น
- ได้รับการรับรองสถานะในการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนตามกฎหมาย
- มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น เช่น รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐหรือเอกชน
- ได้รับการส่งเสริมหน่วยงานภาครัฐได้ เช่น เรื่องจดทะเบียนสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า หรือทรัพย์สินทางปัญญา ขึ้นทะเบียน อย. และการศึกษาวิจัย เป็นต้น
- การส่งเสริมหรือสนับสนุนจากมาตรการที่คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนกำหนด เช่น ทำการตลาด เข้ารับการอบรม เป็นต้น
- ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี
4. สิทธิประโยชน์ทางภาษี หากเป็นวิสาหกิจชุมชน
อย่างที่รู้กันดีว่าการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนนั้นได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐในหลายๆ ด้าน หนึ่งในนั้นก็หนีไม่พ้นเรื่องภาษีค่ะ ซึ่งทางกรมสรรพากรได้มีการออกกฎหมายมาเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการทำธุรกิจในชุมชนอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
วิสาหกิจชุมชนที่จดทะเบียนแล้ว จะได้ยกเว้นภาษีเงินได้พึงประเมิน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่เป็นนิติบุคคล ซึ่งมีรายได้ไม่เกิน 1,800,000 บาท ตามกฎกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 371 (พ.ศ. 2563) ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ระยะเวลาในการยกเว้นภาษี ขยายออกไปจนถึง 31 ธันวาคม 2568
ทั้งหมดนี้เป็นความรู้เบื้องต้นทางบัญชีและภาษีสำหรับคนที่สนใจจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนค่ะ บางครั้งเป้าหมายในการทำธุรกิจของเราอาจไม่ใช่แค่การสร้างกำไร แต่เป็นการกระจายรายได้ให้เพื่อนบ้านในชุมชนให้อยู่ได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ซึ่งการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน และทำบัญชียื่นภาษีอย่างถูกต้องก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับทุกท่านค่ะ
About Author
นักบัญชี ผู้สอบบัญชี และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ cpdacademy.co คอร์สอบรมบัญชี CPD ออนไลน์สำหรับผู้ทำบัญชีและผู้สอบบัญชี ที่มีประสบการณ์ในวิชาชีพมากกว่า 10 ปี และอยากส่งต่อความรู้เพื่อเพื่อนนักบัญชีให้มีทักษะอย่างมืออาชีพและก้าวทันโลกดิจิทัล
ร่วมสมัครเป็นนักเขียนกับ FlowAccount ได้ที่นี่