ทางผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ใช้บริการแพลตฟอร์ม ต้องแจ้งข้อมูลกับทางแพลตฟอร์มเพื่อไม่ให้มีการคิดภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ในราคาค่าบริการ และยังคงมีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยตัวเอง (เหมือนก่อนที่กฎหมายฉบับนี้จะบังคับใช้) ด้วยแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.36 ซึ่งสามารถนำใบเสร็จรับเงินจากกรมสรรพากรมาใช้เป็นภาษีซื้อของธุรกิจได้ |
ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 กฎหมาย e-Service เริ่มบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ซึ่งมีผลให้หลายคนตั้งคำถามว่า ถ้าหากเราเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เราต้องทำอย่างไรดี และมันจะมีผลกระทบอย่างไรกับเราบ้าง บทความในตอนนี้จะมาสรุปให้ฟังกันครับ
แต่ก่อนจะไปเข้าสู่หน้าที่ของผู้ประกอบการ ขออนุญาตย้อนทบทวนความเข้าใจเรื่องภาษีตัวนี้ให้ฟังสัก 3 ข้อสั้นๆ ดังนี้ครับ
- ประเทศไทยเริ่มต้นเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากธุรกิจแพลตฟอร์มต่างประเทศที่ให้บริการในประเทศไทย ซึ่งครอบคลุมในกลุ่มธุรกิจหลักๆ 5 ประเภท ได้แก่ โฆษณา ดูหนังฟังเพลง ตัวแทนจองที่พัก ตัวกลางขนส่ง E-Commerce และอาจจะเพิ่มขึ้นในอนาคต
- โดยทางแพลตฟอร์มจะต้องมาจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับประเทศไทย และมีการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศไทย เฉพาะส่วนที่เรียกเก็บจากผู้บริโภคและผู้ประกอบการที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น ซึ่งทางแพลตฟอร์มผู้ให้บริการอาจจะเลือกที่จะผลักภาระภาษีหรือไม่ก็ได้ (ขึ้นอยู่กับการแข่งขันและมุมมองทางธุรกิจ)
- ทางผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ใช้บริการแพลตฟอร์ม ต้องแจ้งข้อมูลกับทางแพลตฟอร์มเพื่อไม่ให้มีการคิดภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ในราคาค่าบริการ และยังคงมีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยตัวเอง (เหมือนก่อนที่กฎหมายฉบับนี้จะบังคับใช้) ด้วยแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.36 ซึ่งสามารถนำใบเสร็จรับเงินจากกรมสรรพากรมาใช้เป็นภาษีซื้อของธุรกิจได้
หากใครสนใจรายละเอียดของภาษีตัวนี้ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ
- เริ่มใช้แล้ว! ภาษี e-Service เก็บ VAT 7% จากแพลตฟอร์มต่างประเทศที่มีรายได้จากประเทศไทย
- การขอคืนภาษีซื้อจากการจ่ายค่าโฆษณา Facebook
จากประเด็นข้างต้น เราจะเห็นว่าในกรณีของเจ้าของธุรกิจที่เป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม (หรือพูดง่ายๆ ว่า จด VAT) นั้นยังคงมีหน้าที่ต้องจัดการภาษีมูลค่าเพิ่มส่วนนี้ด้วยตัวเองเหมือนเช่นเคย แต่เพิ่มเติมด้วยการแจ้งข้อมูลว่ามีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับทางแพลตฟอร์มต่างประเทศทราบด้วย ไม่งั้นเดี๋ยวจะโดนภาษีซ้ำซ้อนได้
ตัวอย่างการยื่นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.36 จากค่าโฆษณา Facebook
เอาละครับ เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น เรามาดูตัวอย่างกันเลยดีกว่าครับ โดยบทความนี้จะใช้ตัวอย่างจากทาง Facebook ซึ่งมีแนวทางประกาศออกมาอย่างค่อนข้างชัดเจนแล้ว อธิบายขั้นตอนดังนี้ครับ
โดยอันดับแรก ทาง Facebook ประกาศออกมาว่าตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 เป็นต้นไป Facebook มีหน้าที่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและนำส่งให้กับประเทศไทย และจะมีการคิดภาษีสำหรับผู้ที่ไม่ได้แจ้งเลขประจำตัวผู้เสียภาษี (VAT ID) ในบัญชี Facebook ซึ่งตรงนี้หมายความว่า ถ้าหากธุรกิจเราจด VAT เรามีหน้าที่ต้องแจ้งเลขประจำตัวผู้เสียภาษี เพื่อไม่ให้ Facebook คิดภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% และเรามีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มนี้ด้วยตัวเอง
ดังนั้นอันดับแรกสำหรับเจ้าของธุรกิจ ต้องเข้าไปแจ้งข้อมูล การจ่ายชำระเงิน นี้ให้เรียบร้อยก่อนโดยกรอกเลข VAT ID เข้าไป เพื่อให้เราไม่ถูก Facebook คิดภาษีเพิ่มตามที่ประกาศมาครับ
หลังจากนั้นก็นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามปกติครับ โดยเราจะเริ่มเมื่อมีการจ่ายเงินค่าโฆษณาให้กับ Facebook
หลังจากที่ Facebook ตัดเงินเราเรียบร้อยแล้ว (แนะนำให้ตัดเดือนละครั้ง เพื่อความสะดวกในการจัดการและนำส่งภาษี) เราจะเอาข้อมูลนี้มากรอกแบบ ภ.พ.36 กันต่อเลยครับ
สิ่งที่ต้องกรอกข้อมูลให้ถูกต้องมีอยู่ 3 ส่วนได้แก่
- ตัวเลือกหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้เลือกข้อ (1) จ่ายเงินค่าซื้อสินค้าหรือบริการให้ผู้ประกอบการที่เข้ามาประกอบกิจการ ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวฯ หรือให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการ ในต่างประเทศหรือให้แก่ผู้ประกอบการอื่นที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา
- ชื่อ - ที่อยู่ ของผู้ให้บริการ (กรณีนี้คือ Facebook) เราจะกรอกที่อยู่ที่ปรากฏในใบเสร็จรับเงินที่ออกให้กับเราครับ
- จำนวนเงินที่จ่าย คือ จำนวนที่เงินปรากฏในใบเสร็จรับเงิน
หลังจากนั้น ถ้าเรียบร้อยแล้ว เราจะมีหน้าที่นำส่ง ภ.พ.36 ในเดือนที่มีการจ่าย ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป (กรณียื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ตจะได้บวกเพิ่มอีก 8 วัน หรือมีขยายเวลาให้บางกรณี) และนำใบเสร็จรับเงินที่ได้รับจากกรมสรรพากรมาใช้เป็นใบกำกับภาษีซื้อในเดือนที่นำส่งภาษีได้เลยครับ
จะเห็นว่าการนำส่งแบบ ภ.พ.36 นั้นไม่ได้ยากเลยใช่ไหมละครับ เพียงแค่เรามีความเข้าใจในเอกสารที่ต้องใช้ และการจ่ายเงินที่เกี่ยวข้อง เราก็สามารถนำส่งได้ด้วยตัวเองแล้วละครับ
สำหรับตัวอย่างที่เล่ามานั้น จะเป็นของ Facebook เท่านั้นนะครับ แต่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับแพลตฟอร์มเจ้าอื่นๆ ได้นะครับ ไม่ว่าจะเป็น Google หรือผู้ให้บริการเจ้าอื่นๆ ก็ตามครับ
สุดท้ายนี้ หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์กับเจ้าของธุรกิจที่ใช้บริการแพลตฟอร์มต่างประเทศในการจัดการข้อมูลต่างๆ รวมถึงการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มได้อย่างถูกต้องครับ
____
เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการออกใบกำกับภาษีด้วยโปรแกรมบัญชีออนไลน์ FlowAccount คลิกที่นี่
About Author
พรี่หนอม หรือ TAXBugnoms (แทกซ์-บัก-หนอม) เป็นบล็อกเกอร์ นักเขียน และวิทยากรที่ให้ความรู้เรื่องภาษี บัญชี การเงิน มีประสบการณ์ทำงานในแวดวงบัญชี ภาษี มานานกว่า 15 ปี โดยมีแนวคิดว่า “ภาษี” ควรเป็น “เรื่องเรียบง่าย” และ “รู้สึกสบายใจ” ที่จะจ่าย