ภ.ง.ด.51 ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปีและวิธีคำนวณภาษี

ภ.ง.ด.51 ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี

ภ.ง.ด. 51 เสมือนเป็นภาษีที่จ่ายล่วงหน้าที่นำไปหักออกคู่กับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เมื่อคำนวณของจริงตอนสิ้นปีก็จะได้ทราบว่ากิจการต้องชำระเพิ่มหรือได้คืนภาษีเป็นจำนวนเท่าไหร่ค่ะ  FlowAccount จะมาบอกเล่าสิ่งที่ควรรู้ทั้งหมดในบทความนี้

สำหรับใครที่ปิดงบการเงินประจำปีเรียบร้อยเมื่อช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และแล้วก็เดินทางมาถึงช่วงครึ่งปีหลังกันแล้วนะคะ แน่นอนว่าเข้าสู่เทศกาลยื่นภาษีครึ่งปีไปโดยปริยาย เพราะว่านิติบุคคลต้องยื่นภาษีปีละ 2 ครั้งก็คือครึ่งปีและสิ้นปีค่ะ

 

แบบยื่นภาษีครึ่งปีนี้มีต้องทำภายใน 2 เดือนนับจากวันที่กลางปี ภ.ง.ด. 51 เสมือนเป็นภาษีที่จ่ายล่วงหน้าที่นำไปหักออกคู่กับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เมื่อคำนวณของจริงตอนสิ้นปี ก็จะได้ทราบว่ากิจการต้องชำระเพิ่มหรือได้คืนภาษีเป็นจำนวนเท่าไหร่ค่ะ วันนี้ FlowAccount จะมาบอกเล่าสิ่งที่ควรรู้ทั้งหมดในบทความนี้

 

ใครเป็นผู้มีหน้าที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 บ้าง

 

มาเช็คกันก่อนนะคะว่ากิจการของเราเข้าข่ายต้องยื่นภาษีครึ่งปีไหม ซึ่งกิจการที่เข้าข่ายจะต้องเข้าเงื่อนไข 2 ข้อดังนี้นะคะ

 

  1. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ และ
  2. มีรอบระยะเวลาบัญชีไม่น้อยกว่า 12 เดือน

 

ฉะนั้นถ้าใครทำธุรกิจที่เป็นบุคคลธรรมดาจึงไม่เข้าข่ายจะต้องยื่นแบบภ.ง.ด.51 นี้ค่ะ และยังหมายความว่าถ้าบริษัทมีรอบบัญชีไม่ถึง 12 เดือน ยกตัวอย่างเช่น 

 

  • เปิดช่วงเดือนมีนาคม 2567 และมีรอบปิดบัญชีเดือนธันวาคม ปี 2567 นี้จึงไม่เข้าข่ายยื่นภาษีครึ่งปีค่ะ เพราะรอบระยะเวลาบัญชีน้อยกว่า 12 เดือน
  • นิติบุคคลที่ได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ที่สิริรวมแล้วอาจมีน้อยกว่า 12 เดือนนะ แล้วอย่างนี้ยังต้องยื่นภาษีครึ่งปีอยู่หรือเปล่า คำตอบคือยื่นเฉพาะในกรณีที่มีกำหนดเวลาเกินกว่า 6 เดือนเท่านั้นน้า

 

พอทราบอย่างนี้แล้ว ใครที่รู้ตัวว่าต้องยื่น ภ.ง.ด.51 ในปีนี้ก็อ่านรูปแบบการคำนวณกันต่อกันนะคะ 

 

ภ.ง.ด. 51

 

เลือกอ่านได้เลย!

รูปแบบการคำนวณภาษีครึ่งปี ภ.ง.ด.51

 

รูปแบบการคำนวณภาษีครึ่งปีนั้นมีทั้งหมด 2 แบบด้วยกันค่ะ ลองเช็คจากตารางด้านล่างนี้ได้เลย

 

เปรียบเทียบรูปแบบการคำนวณภาษี ภ.ง.ด.51

 

1. กรณีเสียจากกึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชี

 

ผู้ที่เข้าข่ายกรณีนี้ก็คือ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล นิติบุคคลทั่วไป ค่ะ

 

ผู้มีหน้าที่ประมาณการกำไรสุทธิ

 

  • บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ไม่ว่าจะประกอบกิจการประเภทใด หรือ ณ ที่ใด ที่เป็นไปได้ทั้งกิจการซื้อมาขายไป กิจการให้บริการ ขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) หรือธุรกิจ Start-up ที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ค่ะ
  • บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และเข้ามาประกอบกิจการในไทย ในกิจการที่ไม่ใช่การขนส่งระหว่างประเทศ
  • กิจการที่ดำเนินเป็นทางค้าหรือหากำไรโดยรัฐบาลต่างประเทศ องค์การของรัฐบาลต่างประเทศ หรือนิติบุคคลอื่นที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และเข้ามาประกอบกิจการในไทย ในกิจการอื่นที่มิใช่การขนส่งระหว่างประเทศ
  • กิจการร่วมค้า (Joint Venture)

 

การประมาณการผลประกอบกิจการก่อนสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี มีขึ้นเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีและยังช่วยบรรเทาภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต้องจ่ายปีละครั้งลงกึ่งหนึ่ง เพราะช่วงก่อนปี 2523 ภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้นจะเก็บเพียงปีละหนึ่งครั้งที่ถึงว่าเป็นภาระหนักอึ้งครั้งเดียวเลยค่ะ 

 

2. กรณีเสียภาษีจากกำไรสุทธิจริงของรอบระยะเวลาบัญชี 6 เดือนแรก

 

ผู้ที่เข้าข่ายกรณีนี้จะเป็นธุรกิจที่มีผลกระทบต่อคนจำนวนมากค่ะ ลองอ่านตามกันดูนะคะ

 

ผู้มีหน้าที่เสียจากกำไรสุทธิ 6 เดือนแรก

 

  • บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
  • ธนาคารพาณิชย์ 
  • บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ 
  • บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีตามหลักเกณฑ์

 

แถมให้อีกนิดนะคะว่า มูลนิธิหรือสมาคม ไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 เนื่องจากมูลนิธิ/สมาคมเสียภาษีเงินได้จากยอดรายรับ จึงไม่ต้องประมาณการกำไรหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้

 

การยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ต้องใส่ชื่อผู้สอบบัญชีหรือไม่ 

 

ขอแยกเป็น 2 กรณี ตามการคำนวณและชำระภาษีกันดังนี้ค่ะ

 

  1. ใส่ชื่อผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี กรณีคำนวณจากกำไรสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชี 6 เดือน นับแต่วันแรกของรอบระยะเวลาบัญชี
  2. ไม่ต้องใส่ชื่อผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี กรณีคำนวณจากประมาณการกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการ

 

เอาหละ วันนี้เราจะโฟกัสกันที่การเสียภาษีจากกึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีกัน

 

สิ่งที่สำคัญคือ แม้บริษัทมีกำไร/ขาดทุนสุทธิทางบัญชี ไม่เท่ากับ ทางภาษีอากร แต่การประมาณการกำไรสุทธิตามแบบ ภ.ง.ด.51 ต้องใช้กำไร (ขาดทุน) สุทธิทางภาษีอากรเท่านั้นนะคะ 

 

ซึ่งการประมาณการก็ไม่ใช่ว่าจะหาตัวเลขมาใส่แบบดื้อๆ เพราะไม่ต้องมีผู้สอบบัญชีมาตรวจสอบ แต่ต้องประเมินว่าสิ่งที่ประมาณการเป็นไปตามเงื่อนไขด้วยน้า

 

เงื่อนไขประมาณการกำไรสุทธิที่คำนวณได้เข้า “เหตุอันสมควร”

 

  • ได้ทำประมาณการกำไรสุทธิและยื่นแบบ เสียภาษีครึ่งปีไว้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ของภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้ยื่นแบบในรอบระยะเวลาบัญชีที่แล้ว
  • ได้ทำประมาณการกำไรสุทธิ ไม่น้อยกว่า กำไรสุทธิที่ได้ยื่นแบบในรอบระยะเวลาบัญชีที่แล้ว แต่ได้ยื่นแบบเสียภาษีครึ่งปีไว้น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ของภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้ยื่นแบบในรอบระยะเวลาบัญชีที่แล้ว เนื่องจากได้รับยกเว้นหรือลดอัตราภาษี

 

สูตรคำนวณประมาณการกำไรสุทธิกึ่งหนึ่งในรอบระยะเวลาบัญชี

 

สูตรคำนวณประมาณการกำไรสุทธิกึ่งหนึ่งในรอบระยะเวลาบัญชี

 

* รายได้ทั้งปี = รายได้ที่เกิดขึ้นจริง 6 เดือนแรก + ประมาณการรายได้ 6 เดือนหลัง

**ต้นทุนขายและค่าใช้จ่ายในการขายบริหาร = ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง 6 เดือนแรก + ประมาณการค่าใช้จ่าย 6 เดือนหลัง

 

ตัวอย่างคำนวณประมาณการกำไรสุทธิขาดเกิน 25%

 

หากประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกิน 25% โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องเสียเงินเพิ่ม 20% ของภาษีที่ชำระขาดไปนั่นเองค่ะ

 

คำนวณประมาณการกำไรสุทธิขาดเกิน 25%

 

เน้นย้ำหากประมาณการกำไร ภ.ง.ด.51 ผิด

 

หากยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 หากประมาณการกำไรสุทธิไว้ต่ำไป มีความผิดนะคะ เพราะถ้าประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินกว่าร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิ โดยไม่มีเหตุอันสมควร ตาม 2 ข้อที่อยู่ด้านบน ก็จะต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระค่ะ

 

แล้วถ้ายื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 ประมาณการไว้มีกำไรสุทธิ 1 ล้านบาท แต่ผลการประกอบกิจการเมื่อสิ้นปีกิจการดันขาดทุน 1.5 ล้านบาท บริษัทต้องเสียเงินเพิ่มหรือไม่ ก็บอกตรงนี้เลยค่ะว่า เมื่อประมาณการว่าจะมีกำไรสุทธิ แต่พอถึงคราวจริงๆตอนสิ้นปีดันขาดทุน จึงไม่ต้องเสียเงินเพิ่มนั่นเองนะคะ

 

หรือถ้าบริษัทยื่น ภ.ง.ด.51 โดยประมาณกำไรสุทธิไว้สูงไป บริษัทไม่ต้องรับผิดเงินเพิ่มเช่นกัน

 

แล้วถ้าบริษัทยื่นประมาณการกำไรสุทธิตามแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 ขาดไปเกินกว่าร้อยละ 25 บริษัทจะยื่นแบบฯ เพิ่มเติมต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของเงินภาษีที่ชำระขาด

 

การยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51

 

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีรอบระยะเวลาบัญชีครบ 12 เดือน มีหน้าที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ภายใน 2 เดือน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลา 6 เดือน (นับจากวันแรกของรอบระยะเวลาบัญชี)

 

การยื่นแบบออนไลน์ผ่านระบบ E-Filing จะได้สิทธิ์ขยายเวลาการยื่นแบบออกไปได้อีก 8 วัน

 

หากลืมยื่นแบบภ.ง.ด.51 หรือยื่นเกินกำหนด

 

กรณียื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 เกินกำหนดเวลาต้องรับผิด

  1. ค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท กรณีไม่ยื่นแบบแสดงรายการภายในเวลาที่กำหนด
  2. กรณีมีภาษีต้องชำระ ต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระ

 

ลืมยื่นแบบภ.ง.ด.51 หรือยื่นเกินกำหนด

 

แต่ถ้าสมมติยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 แล้ว แต่มิได้ชำระภาษีภายในกำหนดจะถือว่าการยื่นแบบไม่สมบูรณ์ ดังนั้นจะต้องทำการยื่นใหม่ พร้อมชำระค่าปรับและเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ค่ะ

 

รู้อย่างนี้แล้วต้องกาปฏิทินกันลืมกันไว้เลยนะคะ จะได้ไม่เสียค่าปรับแบบไม่จำเป็นกันค่ะ

 

สถานที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51

 

สามารถยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 51 ได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในท้องที่ที่เป็นที่ตั้งของนิติบุคคลนั้น หรือยื่นแบบฯ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตที่ www.rd.go.th ก็ได้เลยค่ะ โดยยังไม่ต้องแนบหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายนะคะ

 

การชำระภาษี ภ.ง.ด.51

 

ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 จะไม่สามารถผ่านชำระได้ค่ะ ต้องชำระทั้งจำนวนในคราวเดียว สามารถเลือกช่องทางการชำระภาษี เช่น e-payment, Internet Banking และ เคาน์เตอร์ธนาคาร กันได้เลย

 

สุดท้ายนี้การยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 มีภาษีที่ชำระไว้เกินจะไม่สามารถขอคืน ณ ตอนนั้นได้ค่ะ แต่จะให้ขอคืนหรือให้ถือเป็นเครดิตในการคำนวณภาษีที่ต้องชำระปลายปีแทนนะคะ

 

อ้างอิง

  • https://www.rd.go.th/region/08/fileadmin/063/001_banner/pnd_51.pdf

About Author

ลองใช้งานFlowAccount ฟรี 30 วันได้ง่ายๆ วันนี้
ลองใช้งานฟรีได้ง่ายๆ วันนี้
สมัครเลย

You may also like