เคยสงสัยไหม? เวลาเราซื้อสินค้า …เรามักจะได้เอกสารใบเล็กๆ มาด้วยเสมอเมื่อเราไปจ่ายค่าบริการต่างๆ เช่น ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเตอร์เน็ต เอ.. แล้วเอกสารพวกนี้คืออะไร เอาไปใช้ทำอะไรต่อกันนะ…
เคยบ้างไหม? อีกมุมนึงเวลาเราขายสินค้า หรือให้บริการกับลูกค้าของเรา แล้วลูกค้าขอใบกำกับภาษี ซึ่งทำให้เราปวดหัวว่าแล้วมันคืออะไร ต้องออกเอกสารนี้เมื่อไหร่ มีรายละเอียดอะไรบ้างที่ต้องใส่ลงไปในเอกสาร…
หากคุณเคยเกิดคำถามเหล่านี้ ไม่ต้องตกใจไปครับ เพราะเอกสารใบกำกับภาษีเรียกได้ว่าเป็นเอกสารที่เป็นหัวใจของคนทำธุรกิจทุกคน (โดยเฉพาะคนที่อยู่ในระบบ VAT) ที่ควรทำความคุ้นเคยและเอาใจใส่
เรามาลองทำความรู้จักกับมันมากขึ้น ว่าใบกำกับภาษีนั้นคืออะไร และมาประเมินกันต่อว่าเราออกเอกสารนี้ได้ไหม ออกได้เมื่อไหร่ ก่อนไปดูในรายละเอียดว่าเอกสารใบกำกับภาษีนั้นต้องมีรายละเอียดอะไรบ้างครับ 🙂
หลังจากได้ทำความรู้จักแล้วจะรู้ว่า “ไม่ใช่ทุกคนที่ออกใบกำกับภาษีได้”
นอกจากนี้คุณอาจจะเปลี่ยนใจจากที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยออกใบกำกับภาษี หรือคุณอาจจะเปลี่ยนใจจากที่ก่อนหน้านี้เคยปฏิเสธการรับเอกสารเหล่านั้นจากคนที่ขายสินค้าหรือให้บริการให้เราก็เป็นได้ 😉
เลือกอ่านได้เลย!
ใบกำกับภาษี (Tax Invoice) คืออะไร
คือ เอกสารสำคัญ ที่ถ้าคุณจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือที่เรารู้จักกันดีในนาม VAT (อาจเรียกอีกอย่างว่าผู้ที่อยู่ในระบบ VAT) จะต้องออกให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือบริการทุกครั้งที่มีการขายสินค้าหรือให้บริการ เพื่อแสดงมูลค่าของสินค้าหรือบริการที่คิดกับลูกค้า และภาษีที่เก็บเพิ่มจากราคาสินค้าหรือบริการที่คิดกับลูกค้านั้นครับ
โดยภาษีมูลค่าเพิ่มที่คิดจากราคาขาย ในกรณีเราเป็นคนขายหรือให้บริการนั้นเรียกว่า “ภาษีขาย หรือ Output VAT” แต่หากคุณไปซื้อสินค้าหรือบริการที่ผู้ขายคิดภาษีมูลค่าเพิ่มและเราได้รับเอกสารใบกำกับภาษีมา ส่วนของภาษีที่จ่ายไปจากราคาสินค้าหรือบริการนั้นเรียกว่า “ภาษีซื้อ หรือ Input VAT” นั่นเองครับ
ใครเป็นคนที่มีหน้าที่จัดทำใบกำกับภาษี
ถ้าคุณได้อ่านมาถึงตรงนี้และพบว่าคุณมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีจากการการประกอบกิจการ เท่ากับว่าคุณมีหน้าที่ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากรภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทนั้นแล้วครับ
ไม่ว่าการประกอบกิจการนั้นจะอยู่ในรูปแบบบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลก็ตาม แต่ว่าสำหรับกรณีที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทหรืออยู่ในธุรกิจที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็อาจจะเลือกได้ว่าจะจดหรือไม่ก็ได้ ซึ่งมีข้อดีและข้อควรพิจารณาแตกต่างกันไปครับ
ออกใบกำกับภาษีได้เมื่อไหร่
- กรณีการขายสินค้า ผู้ขายมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีให้กับผู้ซื้อทันทีเมื่อมีการส่งมอบสินค้าให้กับผู้ซื้อ (แม้ว่าผู้ซื้อจะยังไม่ได้จ่ายค่าสินค้าก็ตามนะครับ)
- กรณีการให้บริการ ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีเมื่อได้รับชำระค่าบริการ จะเห็นได้ว่าจุดนี้มีความแตกต่างจากการขายสินค้าเลยทีเดียวครับ เนื่องจากการให้บริการนั้นไม่สามารถจับต้องได้เหมือนสินค้าจึงใช้จุดของการจ่ายเงินเป็นเกณฑ์
ใบกำกับภาษีมีกี่ประเภท
มีอยู่ 2 ประเภทหลัก คือ
- ใบกำกับภาษีอย่างย่อ
- ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป
ลองเข้าไปสมัครใช้งานฟรีและเริ่มต้นทำเอกสารตามกันได้ที่เมนูขายเลยครับ
ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
ใบกำกับภาษีเต็มรูปต้องมีรายละเอียดอะไรบ้าง
- เห็นคำว่า “ใบกำกับภาษี” ชัดเจน
- มีเลขประจำตัวผู้เสียภาษี รวมถึงชื่อและที่อยู่ของผู้ขาย
- ชื่อและที่อยู่ของผู้ซื้อ
- เลขที่ใบกำกับภาษี
- ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และจำนวนเงิน
- แยกแสดงจำนวน VAT แยกให้เห็นชัดเจน
- วัน เดือน ปี ที่ออก
- ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด บังคับใช้กับผู้ประกอบการ
8.1 ระบุ “สำนักงานใหญ่”หรือ“สาขาที่…..” ของผู้ขาย
8.2 เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อ (โดยเฉพาะผู้ซื้อที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม)
8.3 ระบุ “สำนักงานใหญ่”หรือ“สาขาที่…” ของผู้ซื้อ
ขายให้กับลูกค้าที่ไม่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างไร
สำหรับลูกค้าที่อาจจะไม่อยากให้ข้อมูลเลขที่บัตรประชาชน กรณีนี้ไม่เป็นไรครับ เรายังมีหน้าที่ในการออกใบกำกับภาษีเต็มรูปเหมือนเดิม แต่สำหรับข้อมูลผู้ซื้อนั้นเพียงแค่ระบุชื่อและที่อยู่ก็เพียงพอแล้ว
ซึ่งในทุกๆ ครั้งต้องมีข้อมูลชื่อและที่อยู่ หากมีไม่ครบถ้วนถือว่ามีโทษปรับด้วยนะครับ ดังนั้นอาจจะกำหนดให้มีแบบฟอร์มเล็กๆ ให้ลูกค้ากรอกข้อมูลให้เรา เพื่อที่จะได้ออกเอกสารได้อย่างถูกต้องครบถ้วนครับ
มาถึงตรงนี้หากพบว่า โห… เอกสารรายละเอียดเยอะขนาดนี้ มีวิธีที่ง่ายและสะดวกสบายในการทำหรือเปล่า
ออกใบกำกับภาษีเต็มรูปด้วยระบบ FlowAccount
การออกใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบสามารถทำได้ง่ายๆ ลองสมัครใช้งานฟรีได้ที่นี่ แล้วทำตามขั้นตอนกันเลยครับ
- กรอกชื่อบริษัท ที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีของลูกค้า รวมถึงชื่อผู้ติดต่อ เบอร์โทรศัพท์ และอีเมล (หากยังไม่มีในฐานข้อมูลผู้ติดต่อ ระบบจะดึงข้อมูลไปเก็บไว้ในฐานข้อมูลให้เลยครับ หรือถ้ามีข้อมูลแล้วสามารถดึงมาแสดงได้ทันทีเลย)
- เลขที่เอกสาร (ระบบจะรันให้เองอัตโนมัติ)
- วันที่เอกสาร สามารถคลิกเพื่อปรับเปลี่ยนตามเอกสารอ้างอิงได้
- ราคาสินค้า สามารถเลือกได้ว่าต้องการใช้แบบรวมภาษี หรือแบบไม่รวมภาษี
- ระบุรายการสินค้า จำนวน และราคาต่อหน่วย (หากมีข้อมูลสินค้าในระบบอยู่แล้วสามารถเลือกมาแสดงได้ทันที)
- มูลค่าสินค้า และมูลค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม ระบบทำการคำนวณให้อัตโนมัติ
เพียงเท่านี้ก็จะสามารถสร้างใบกำกับภาษีได้ง่าย และมีรายละเอียดครบถ้วนตามที่สรรพากรกำหนดแล้วครับ นอกจากนี้เมื่อทำการกดบันทึกใบกำกับภาษีที่สร้างจากระบบแล้ว ยังสามารถเลือกได้ว่าจะส่งพิมพ์เอกสาร หรือดาวน์โหลดเป็น PDF หรือส่งสำเนาให้ลูกค้าทางอีเมล์ หรือแชร์เป็นลิงค์ให้ลูกค้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้า ก็จะได้ใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ โดยมีหน้าตาตามรูปเลยครับ
ถ้าหากในการทำธุรกิจของคุณเริ่มต้นจากการเสนอราคาให้ลูกค้า คุณสามารถเปลี่ยนใบเสนอราคาให้เป็นใบกำกับภาษีได้ เพียงแค่คลิกเปลี่ยนสถานะเอกสาร (ตามรูป) เพื่อลดความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นจากการคีย์ข้อมูลซ้ำ และประหยัดเวลาในการทำเอกสารได้มากทีเดียวครับ
เพียงเท่านี้ ความยุ่งยากในการออกเอกสารใบกำกับภาษีก็จะไม่เป็นปัญหาให้ปวดหัวอีกต่อไป
อย่าลืมนะครับ ถ้าเราอยู่ในฐานะผู้ซื้อเวลาได้เอกสารใบกำกับภาษีมาก็มีจุดสังเกตตามที่บอกเลยครับเพื่อเช็คว่าเอกสารที่เราได้มามีรายละเอียดที่ถูกต้องครบถ้วนหรือเปล่าเพื่อนำไปขอคืนภาษีซื้อได้ครับ
แต่ถ้าคุณมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษี จะต้องออกในรูปแบบตามที่กฎหมายให้แนวทางไว้ และใช้ชนิดหรือประเภทของใบกำกับภาษีให้เหมาะสมกับธุรกิจของเราด้วย
ติดตามเรื่องราวอื่นๆของ FlowAccount.com ได้ที่