คุณเป็นผู้ประกอบการ Extrovert หรือ Introvert?
เรามักเข้าใจกันว่า คนที่ชอบเข้าสังคมหรือ Extrovert จะได้เปรียบในการเป็นผู้ประกอบการกว่าคนโลกส่วนตัวสูงหรือ Introvert
เพราะคนชอบเข้าสังคมจะรู้สึกสบายๆ เมื่อได้เข้าหาพูดคุยกับคนใหม่ๆ เปิดโอกาสในการเจรจาธุรกิจได้มากกว่า
ขณะที่กลุ่มโลกส่วนตัวสูงซึ่งมีบุคลิกชอบความสงบ และสันโดษ สบายใจกับการทำงานกับคนหมู่น้อยมากกว่า บางครั้งจึงอาจรู้สึกว่าเข้ากับคนอื่นได้ยาก
แต่คนชอบเข้าสังคมจะได้เปรียบตามที่เข้าใจกันจริงหรือเปล่า เราลองสำรวจกัน
4 ข้อได้เปรียบของ กลุ่มคน Extrovert ต่อการเป็นผู้ประกอบการ
1. กลุ่มสังคมที่กว้าง หาพาร์ตเนอร์ได้ดี
คนกลุ่มนี้มีวงสังคมที่กว้าง เนื่องจากใช้เวลาในการเจอเพื่อนใหม่ และมีความตั้งใจที่จะขยายวงสังคมให้กว้างขึ้นเรื่อยๆ
ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการเป็นผู้ประกอบการ เพราะวงสังคมที่กว้างทำให้พวกเขาสามารถชักชวนคนรู้จักมาร่วมเป็นพนักงาน ลูกค้า พาร์ตเนอร์ หรือที่ปรึกษาได้ง่าย
2. สื่อสารได้ดี ชวนให้อยากร่วมงาน
ด้วยความที่เป็นคนชอบพูดคุยกับคนใหม่ๆ จึงเป็นเรื่องง่ายในการสื่อสารกับผู้คน การสื่อสารถือเป็นหัวใจสำคัญในการช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ
ความเป็นธรรมชาติในข้อนี้จึงเป็นประโยชน์ทั้งในเรื่องการเป็นผู้นำและการได้รับความเคารพรักจากทีม หรือแม้แต่การสร้างความไว้วางใจให้กับลูกค้าด้วยการพูดโน้มน้าว ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด มันก็ง่ายกว่าที่คุณจะเป็นคนพูดเก่ง
3. ปลุกพลัง สร้างทีมเวิร์ก
การสร้างทีม หรือการทำงานร่วมกัน คนชอบเข้าสังคมจะเก่งกว่าในด้านการประสานงาน พวกเขามีประสบการณ์มากกว่าในการทำความเข้าใจความสามารถของแต่ละบุคคล
รวมถึงทักษะการสร้างพลังให้กับทีมเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะในองค์กรธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่สมาชิกแต่ละคนในทีมมีการทำงานอย่างใกล้ชิดกันและต้องสื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอ
4. Charisma เสน่ห์ดึงดูด ใครเห็นก็เอ็นดู
แม้ว่าจะไม่ใช่บุคลิกที่ทุกคนต้องมีในการสร้างธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ แต่ผู้ประกอบการที่มีเสน่ห์จะช่วยให้ธุรกิจสตาร์ทอัพที่ทำอยู่นั้นปรากฏต่อสายตาสาธารณชนได้มากขึ้น
คนชอบเข้าสังคมสามารถสร้างกลุ่มคนรู้จักและคนจดจำหรือแม้แต่ผันตัวเองให้กลายเป็น Influencer ไปเลยก็ได้
3 ข้อได้เปรียบของ กลุ่มคน Introvert ต่อการเป็นผู้ประกอบการ
1. โฟกัสเก่ง ทำงานอย่าง Productive
กลุ่มคนโลกส่วนตัวสูงจะเป็นคนประเภทโฟกัสและจบงานเป็นเรื่องๆ เขาไม่ชอบเอาตัวเข้าไปอยู่กับคนกลุ่มใหญ่ จึงเป็นคนที่มุ่งความสนใจไปยังสิ่งที่ตนให้ความสำคัญไว้เป็นลำดับต้นๆ (Priority) มากกว่า
ยกตัวอย่าง พวกเขาจะไม่ค่อยวอกแวกเมื่อมีคนมาชวนคุย และเป็นคนทำงานได้อย่าง Productive
2. มุ่งเรียนรู้ ทักษะขั้นแอดวานซ์ต้องมา
ส่วนใหญ่แล้ว คนโลกส่วนตัวสูงจะใช้เวลาศึกษาข้อมูล เรียนรู้ ลองทำ เพื่อให้ได้ทักษะความรู้ขั้นสูงในเรื่องที่พวกเขากำลังสนใจ นี่เป็นหนทางหนึ่งที่จะทำให้พวกเขาผ่านจุดที่ยากที่สุดในการทำงาน จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ
จึงไม่แปลกใจเลยที่บรรดาผู้ก่อตั้งธุรกิจนวัตกรรมเทคโนโลยีจะเรียกตัวเองว่าเป็นกลุ่มเนิร์ดดี้โลกส่วนตัวสูง
อย่างเช่น Larry Page ผู้ก่อตั้ง Google, Bill Gates ผู้ก่อตั้ง Microsoft และที่ชัดเจนมากในวงการเทคโนโลยีคือ Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้ง Facebook
อันที่จริงแล้ว ไหวพริบในการบริหารจัดการที่ดีของเจ้าของธุรกิจคือ การเรียนรู้ที่จะหาข้อดีของคนทั้งสองกลุ่ม โดยหากคุณเป็นคนประเภทเงียบๆ คุณก็เรียนรู้ทักษะของชอบเข้าสังคมไว้ว่าเขาเก่งเรื่องอะไร จากนั้นคุณก็จ้างคนประเภทนั้นมาทำงาน เพื่อให้องค์กรมีทักษะที่ครอบคลุมจากคนทั้งสองกลุ่ม ประเด็นนี้ Bill Gate เคยยกขึ้นมาพูดไว้
3. เอาใจใส่พนักงาน เหมือนเป็นเพื่อนสนิท
มนุษย์โลกส่วนตัวสูงไม่ค่อยชอบอยู่ในสังคมกลุ่มใหญ่ และรู้สึกสบายใจมากกว่าที่จะอยู่กับเพื่อนสนิทกลุ่มคนเดิมๆ ไม่กี่คน พวกเขาจะพยายามรักษาความสัมพันธ์กับเพื่อนสนิทกลุ่มนี้อย่างสม่ำเสมอ ทั้งกับพนักงาน และพาร์ตเนอร์
โดยสรุปแล้ว สิ่งสำคัญที่ควรจะโน้ตไว้ในใจคือ หาได้ยากมากที่จะเจอคนบุคลิกเทไปทางใดทางหนึ่ง 100% แม้แต่คนที่ชอบเข้าสังคมแบบจัดๆ ก็ยังต้องมีเวลาเงียบๆ เป็นส่วนตัว หรือคนรักสันโดษบางครั้งก็ชอบที่จะอยู่ในบรรยากาศที่มีคนเยอะๆ บ้าง
นั่นก็อธิบายได้ว่า หากรู้จักตัวตนของตัวเราเองดีขึ้นแล้ว ก็สามารถฝึกฝนพัฒนาบุคลิกภาพเพื่อเสริมตัวตนอีกด้านที่ยังขาดได้ และธุรกิจของคุณจะดีขึ้นจากความพยายามนั้น
ข้อมูลจาก
entrepreneur.com