ถ้าคุณขายของทั่วไปแบบออฟไลน์ ควรจดทะเบียนพาณิชย์ให้ถูกต้อง แต่ถ้าหากขายของแบบออนไลน์ มีระบบชำระเงินต่างๆ ควร จดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ด้วยไม่งั้นจะโดนปรับ 2,000 บาท และวันละ 100 ต่อไปเรื่อยๆ |
หนึ่งในคำถามยอดฮิตสำหรับคนที่ขายของออนไลน์ นั่นคือ ขายของออนไลน์ต้องจดทะเบียนอะไรบ้าง และจดอย่างไรให้เสียภาษีถูกต้อง
ฟังดูแล้วบอกตรงๆ ว่าไม่น่าจะเป็นคำถามเดียวกันเลยครับ เพราะเรื่องภาษีกับการจดทะเบียนนั้นมีความแตกต่างกันแบบที่เรียกได้ว่า คนละเรื่องเลยละครับผม
เอาเป็นว่าผมจะสรุปสั้นๆ ให้ฟังแบบนี้ละกันครับว่า “จดทะเบียนที่เกี่ยวกับเรื่องภาษีมีอยู่อย่างเดียวที่ต้องทำ นั่นคือ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ จด VAT เมื่อเราประกอบธุรกิจที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทในปีนั้นๆ”
ส่วนที่เหลือนั้นเป็นเรื่องของการจดที่เกี่ยวกับการประกอบกิจการกันทั้งนั้นเลยครับ ซึ่งต้องใช้หลักในการพิจารณาดังนี้ คือ
- กิจการที่เราเลือกทำอยู่ในรูปแบบไหน โดยรูปแบบที่หมายถึงคือ บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล ซึ่งถ้าเราเลือกรูปแบบนิติบุคคล ก็จะเพิ่มเรื่องของการจดบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนเข้ามาครับ แต่ถ้าหากอยู่ในรูปแบบของบุคคลธรรมดา ก็อยู่เฉย ๆ ได้เลยครับ
- กิจการของเราต้องการการรับรอง หรือความน่าเชื่อถืออะไรไหม ต้องดูว่าสิ่งที่เราขายนั้นมีหน่วยงานอะไรที่ต้องรับรองเป็นพิเศษเพื่อให้ลูกค้ามั่นใจว่าสินค้าหรือบริการของเราถูกต้องและมีความน่าเชื่อถือครับ ตรงนี้ก็มีตั้งแต่ การจดทะเบียน อย. การจดทะเบียนรับรองต่างๆ ฯลฯ
จดทะเบียนพาณิชย์ - เรื่องที่คนมักเข้าใจผิด
แต่สิ่งที่คนเข้าใจผิดส่วนมากคือ การจดทะเบียนพาณิชย์ ครับ เพราะมีหลายคนเข้าใจผิดว่า จดทะเบียนพาณิชย์แล้ว คือการเสียภาษีถูกต้อง ทั้งๆ ที่มันไม่เกี่ยวกันเลย
แต่จริงๆ แล้ว การจดทะเบียนพาณิชย์คือ การจดทะเบียนกับทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อยืนยันว่าธุรกิจเรามีตัวตน ถูกต้องตามกฎหมาย น่าเชื่อถือได้ เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อ ซึ่งมีทั้ง การจดทะเบียนพาณิชย์ธรรมดา (ออฟไลน์) กับ การจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (ขายของออนไลน์) อันนี้ก็ต้องดูว่าเราต้องทำอะไรแบบไหนยังไงบ้าง
เช่น ถ้าคุณขายของทั่วไปแบบออฟไลน์ ควรจดทะเบียนพาณิชย์ให้ถูกต้อง แต่ถ้าหากขายของแบบออนไลน์ มีระบบชำระเงินต่างๆ ควร จดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ด้วย ไม่งั้นจะโดนปรับ 2,000 บาท และวันละ 100 ต่อไปเรื่อยๆ ตรงนี้เมื่อจดแล้ว ก็จะได้เครื่องหมายว่าเราทำถูกต้องตามกฎหมาย มีการจดทะเบียนเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับทางลูกค้าแค่นั้นเองครับ (ข้อมูลตรงนี้ดูได้เพิ่มเติมที่เว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า)
ทีนี้กลับมาเรื่องของภาษีกันอีกสักนิด อย่างที่บอกไปว่า การจดทะเบียนพาณิชย์ไม่ได้เกี่ยวกับการเสียภาษี เพราะจะจดหรือไม่จด ถ้ามีรายได้ เราก็ต้องเสียภาษีอยู่ดี เพราะภาษีไม่ได้สนใจความถูกต้องของการจดทะเบียน สนใจแค่ยื่นภาษีถูกต้องหรือเปล่า แค่นั้นพอ
ยกตัวอย่างเช่น นายบักหนอมเปิดร้านขายของออนไลน์ ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า แต่สิ่งที่นายบักหนอมทำก็แค่เปิดขายในอินเทอร์เน็ตเฉยๆ ไม่ได้ไปจดอะไรทั้งนั้น แบบนี้จะถือว่านายบักหนอมก็ยังมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่ดี เพราะเป็นรายได้ที่บุคคลได้รับ ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแยกออกมาต่างหาก
แต่สิ่งที่ต้องจดจริงๆ ในเรื่องของภาษีคือ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ถ้าหากร้านออนไลน์ของนายบักหนอมขายดี จนมีรายได้ (ที่ไม่ได้รับยกเว้น) เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี (ย้ำอีกเรื่อง คือ รายได้ แปลว่ายังไม่หักค่าใช้จ่ายนะครับ) แบบนี้นายบักหนอมก็ต้องรีบไปจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อนำส่งภาษีและจัดทำเอกสารต่างๆ ให้ถูกต้องต่อไป
สรุปอีกทีแบบชัดๆ ก่อนจากกัน ไม่ว่าจะจดทะเบียนอะไรก็ตาม ขอให้ทำถูกต้องตามหลักการ เพิ่มความถูกต้องให้กับธุรกิจของเราเป็นเรื่องที่ดี โดยสิ่งที่เกี่ยวกับภาษีเงินได้ต้องยื่นให้ครบถ้วนหมดจด และจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท
เพียงเท่านี้ ก็สบายใจหายห่วงแล้วละครับ!
ทำความเข้าใจเรื่องที่ควรรู้ก่อนวางแผนภาษีกันต่อได้ที่บทความ 9 ข้อที่ควรรู้ ก่อนวางแผนภาษี สำหรับคน ขายของออนไลน์
แม้จะเป็นเจ้าของธุรกิจคนเดียวก็สามารถทำงานใหญ่ได้ด้วย FlowAccount โปรแกรมบัญชี คลาวด์ ที่เชื่อมโยงฐานข้อมูลจากในเว็บไซต์ และมือถือ ให้คุณสามารถเปิดบิลได้ครบ และบันทึกค่าใช้จ่ายระหว่างที่อยู่นอกออฟฟิศได้เลย เริ่มต้นใช้งานโปรแกรมบัญชีฟรีได้ที่นี่
About Author
พรี่หนอม หรือ TAXBugnoms (แทกซ์-บัก-หนอม) เป็นบล็อกเกอร์ นักเขียน และวิทยากรที่ให้ความรู้เรื่องภาษี บัญชี การเงิน มีประสบการณ์ทำงานในแวดวงบัญชี ภาษี มานานกว่า 15 ปี โดยมีแนวคิดว่า “ภาษี” ควรเป็น “เรื่องเรียบง่าย” และ “รู้สึกสบายใจ” ที่จะจ่าย