พร้อมเพย์ เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบชำระเงินของประเทศให้เป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) อย่างครบวงจร เพื่อรองรับธุรกรรมการเงินต่างๆ ระหว่างประชาชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐ รวมถึงพัฒนาระบบภาษี ซึ่งมีประเด็นสำคัญหลายอย่างที่เจ้าของธุรกิจควรรู้และศึกษาเกี่ยวกับพร้อมเพย์ เพื่อให้สามารถบริหารธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ |
พร้อมเพย์ (PromptPay) คือ บริการโอนเงินโดยไม่ต้องใช้เลขที่บัญชีธนาคาร ซึ่งเป็นนวัตกรรมแบบใหม่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สมาคมธนาคารไทยและสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเปิดตัวขึ้นเมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา
สำหรับบุคคลธรรมดา สามารถใช้งานพร้อมเพย์ได้ง่ายๆ เพียงแค่ระบุเลขประจำตัวประชาชน หรือเบอร์โทรศัพท์ เพื่อผูกกับเลขที่บัญชีธนาคาร หรือ กระเป๋าเงินออนไลน ์ (E-wallet)
หลังจากเปิดให้บริการพร้อมเพย์สำหรับบุคคลธรรมดาไปสักระยะ ในเดือนมีนาคม 2560 ก็มีบริการพร้อมเพย์สำหรับนิติบุคคล (บริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วน) ที่สามารถผูกเลขประจำตัวนิติบุคคล 13 หลักกับบัญชีธนาคารออกตามมา
หลายคนอาจจะสงสัยว่า แล้วธุรกิจของเราควรใช้พร้อมเพย์หรือไม่ จะมีปัญหาเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีหรือเปล่า รวมถึงเราจะต้องรู้อะไรบ้าง วันนี้ผมรวบรวม 3 ข้อที่เจ้าของธุรกิจควรรู้กับพร้อมเพย์มาฝากกันครับ
- พร้อมเพย์มีความปลอดภัยสูงกว่าที่เราคิด หลายคนอาจรู้สึกกลัวกับการใช้พร้อมเพย์เพื่อรับเงินแทนเลขบัญชีธนาคาร โดยธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า พร้อมเพย์มีระบบจัดเก็บ และป้องกันการเข้าถึงข้อมูลที่เข้มงวด โดยใช้ระบบที่พัฒนาโดยบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือจากต่างประเทศอย่าง NITMX1 ที่ได้มาตรฐานสากล (ISO27001) และผ่านตรวจสอบโดยธนาคารแห่งประเทศไทย จึงมั่นใจได้ว่ามีความปลอดภัยไม่ด้อยกว่าบริการโอนเงินในปัจจุบัน
- พร้อมเพย์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษี ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน เราจะเห็นว่ากรมสรรพากรมีการคืนเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลผ่านพร้อมเพย์แล้วก็ตาม แต่ข้อมูลในการจัดเก็บภาษีกับพร้อมเพย์ยังถือว่าเป็นคนละเรื่องกันอยู่ดีครับ โดยการตรวจสอบของกรมสรรพากรจะมุ่งเน้นไปที่เกณฑ์ความเสี่ยงของธุรกิจมากกว่าการตรวจสอบบัญชีธนาคารต่างๆ ซึ่งหมายความรวมถึงพร้อมเพย์ด้วย
- พร้อมเพย์ช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับธุรกิจ สำหรับมุมของเจ้าของธุรกิจ การใช้บัญชีพร้อมเพย์ช่วยเพิ่มความสะดวกให้ได้ในหลายแง่มุม ทั้งเรื่องของการรับเงินที่ผูกติดกับเบอร์โทรศัพท์ (กรณีบุคคลธรรมดา) หรือเลขประจำตัวนิติบุคคล (กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน) ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ช่วยประหยัดเวลาและความสะดวกในการจดจำของลูกค้าได้ง่ายขึ้น
บางคนอาจจะมองว่า การจำเลขที่บัญชีธนาคารง่ายกว่า แต่ถ้ามองในแง่การบริหารจัดการระยะยาวแล้ว เราจะเห็นว่าการใช้บัญชีธนาคารเดียวที่ผูกกับพร้อมเพย์นั้น อำนวยความสะดวกได้มากกว่า ทั้งในแง่ของการบริหารจัดการบัญชี (เปิดแค่บัญชีเดียวก็พอแล้ว) รวมถึงการบริหารจัดการด้านภาษีและรายรับ (หลักฐานการรับเงินที่ชัดเจน) โดยที่ไม่ต้องเสียเวลากับบัญชีหลายธนาคาร
ซึ่งในการจัดทำบัญชีเดียว เราสามารถใช้โปรแกรมบัญชี ออนไลน์ ในการช่วยทำรายรับรายจ่ายบัญชีเดียวได้ครับ ลองเริ่มต้นใช้งานฟรีกันได้ที่นี่
พร้อมเพย์ กับอนาคตของธุรกิจ
เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา กรมสรรพากรได้เริ่มใช้นโยบายคืนเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลผ่านระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) โดยไม่ต้องเสียเวลาไปรับเช็ค หรือรอรับโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารต่อไป ซึ่งกำหนดเงื่อนไขของนิติบุคคลที่สามารถได้รับคืนภาษีผ่านพร้อมเพย์ มี 3 ข้อดังนี้
- เป็นนิติบุคคลที่มีพร้อมเพย์
- มียอดคืนภาษีไม่ถึง 100 ล้านบาท
- ไม่เปลี่ยนแปลงสถานะ เช่น ควบ โอนกิจการ
โดยทางนิติบุคคลสามารถสมัครพร้อมเพย์ได้ล่วงหน้า กับธนาคารที่มีบัญชีอยู่ได้เลย แต่สำหรับนิติบุคคลที่ไม่ได้สมัครก็ยังสามารถได้รับคืนภาษีเป็นเช็คหรือเงินโอนเข้าบัญชีธนาคารตามปกติ
จากข้อมูลที่ยกขึ้นมา เจ้าของธุรกิจหลายท่านอาจจะมองว่าไม่เกี่ยวกับตัวเอง เพราะว่าไม่ได้ใช้พร้อมเพย์อยู่แล้ว แต่ถ้ามองในแง่ของอนาคตที่จะเกิดขึ้นของธุรกิจ ผ่านนโยบายระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (National E-Payment) ก็จะเห็นว่านี่คืออีกก้าวหนึ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และจำเป็นที่เจ้าของธุรกิจต้องเรียนรู้และปรับตัวเพื่อทำความเข้าใจต่อไปในอนาคต
ผมเคยพูดประโยคหนึ่งในสัมมนาเกี่ยวกับพร้อมเพย์ นั่นคือ ถึงคุณจะใช้หรือไม่ใช้ คุณก็ต้องรู้จักมัน และรู้ว่ามันทำอะไรให้กับคุณได้บ้าง ไม่เช่นนั้นคุณจะไม่สามารถเดินตามทันโลกนี้ได้ ซึ่งคำกล่าวนี้ไม่ได้หมายถึงเรื่องของภาษี แต่มันคือเรื่องของธุรกิจที่ต้องทำความเข้าใจเพื่อเรียนรู้และปรับตัวครับ
ดังนั้น ผมเชื่อว่า พร้อมเพย์ คือ อีกก้าวหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมไร้เงินสดที่ธุรกิจต้องเรียนรู้และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นไว้ล่วงหน้า ก่อนที่ใครจะมาเปลี่ยนเราครับ
เริ่มต้นการทำบัญชีชุดเดียวด้วย FlowAccount ได้ง่ายๆ ที่นี่