หลายคนอาจพอรู้จักธุรกิจรับจ้างผลิต (OEM) กันมาบ้างแล้ว แต่บางที ผู้รับจ้างเองต้องไปจ้างคนอื่นต่ออีกทีนึง เป็นการจ้างเหมาต่อเนื่องกันไป แล้วถ้าเจ้าของโรงงาน OEM ไปจ้างผู้รับเหมาคนอื่นทำงานแทน แบบนี้จะทำได้ไหม มีจุดเสี่ยงไหนที่ต้องระวังเป็นพิเศษ หรือมีการควบคุมภายในที่เราต้องให้ความใส่ใจบ้าง วันนี้ FlowAccount จะชวนทุกคนไปทำความเข้าใจพร้อมๆ กันค่ะ |
เลือกอ่านได้เลย!
1. ธุรกิจรับจ้างผลิต รับจ้างแล้วจ้างต่อทำได้ไหม
เดี๋ยวนี้ธุรกิจรับจ้างผลิต หรือ OEM (Original Equipment Manufacturer) เป็นที่พูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากตอบโจทย์ผู้ค้าปลีกรายย่อย ไม่ต้องมีเครื่องจักรก็สามารถสร้างแบรนด์สินค้าเป็นของตัวเองได้ จนทำให้ธุรกิจรับจ้างผลิตงานล้นมือเลยล่ะ แต่คำถามสำคัญของหัวข้อนี้ก็คือ ถ้ารับจ้างมาแล้วจะจ้างต่อทำได้ไหม
คำตอบก็คือ ทำได้อยู่แล้วค่ะ ยกตัวอย่างเช่น หากเรารับจ้างผลิตเครื่องดื่มบรรจุขวด แต่ว่าเชี่ยวชาญแค่เรื่องการคิดค้นสูตร ผสมและบรรจุลงขวด แต่ว่าไม่สามารถผลิตขวด (Packaging) ติดแบรนด์ลูกค้าได้เอง ก็สามารถจ้างคนอื่นต่ออีกทอดนึงได้ การส่งงานต่อให้พาร์ทเนอร์ที่เชี่ยวชาญกว่า ย่อมได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าและประหยัดต้นทุนกว่าอยู่แล้วค่ะ
2. จุดรั่วไหลของธุรกิจรับจ้างผลิต
การจ้างงานต่อ ก็มีความเสี่ยงและจุดรั่วไหลหลายอย่างเพิ่มเข้ามา เราที่เป็นผู้รับจ้างหลักมาจากลูกค้า ต้องรับผิดชอบงาน จนกว่าจะเป็นสินค้าสำเร็จรูป ดังนั้น ไม่เพียงแค่ความเสี่ยงจากพาร์ตเนอร์ที่เราไปจ้างเขาต่อ แต่ต้องมองถึงความเสี่ยงโดยรวม จนถึงขั้นตอนสุดท้าย เช่น
- ต้นทุนวัตถุดิบที่สูง ปริมาณการสั่งซื้อไม่มากพอ จนกดดันกำไรแทบไม่เหลือ
- การจ้างเหมางานต่อ แล้วคุณภาพของที่ได้มาไม่ดีพอ ทำให้ผลงานเราแย่ตามไปด้วย
- สินค้าแต่ละตัวขั้นตอนต่างกัน บางอันกำไร แต่บางอันขาดทุน
- งานไม่เสร็จสักทีเจอต้นทุนเกิน (Cost overrun) ขาดทุนไม่รู้ตัว
- กำหนดสูตรการผลิต (Bill of materials) ไม่ดี กำหนดราคาขายผิดพลาดได้
- ผลิตเสร็จแต่ลูกค้าไม่จ่ายเงิน ปัญหาใหญ่! ขาดทุน ขาดสภาพคล่อง
3. จุดที่ต้องเฝ้าระวัง ธุรกิจรับจ้างผลิต
จากหัวข้อที่ผ่านมา เราคงพอรู้จักกับจุดเสี่ยงหรือจุดรั่วไหลของธุรกิจรับจ้างผลิตกันไปพอสมควร ทีนี้เราลองมาหาวิธีการกำจัดจุดเสี่ยง ด้วยการควบคุมภายในที่ดี เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นกับธุรกิจกันค่ะ
ซื้อของอย่างไร จึงจะประหยัดต้นทุน
สำหรับเรื่องการจัดการสินค้า มีอยู่ 2 ประเด็นหลักที่อยากให้สังเกตกันดีๆ ได้แก่
- จุดสั่งซื้อที่เหมาะสม (Reorder Point) ต้องรู้ว่าจุดไหนคือจุดที่เหมาะสมกับการเก็บรักษา และการหมุนเวียนสินค้า ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป
- ขั้นต่ำในการสั่งซื้อ ควรมีปริมาณมากเพียงพอเพื่อเกิดการประหยัดโดยขนาด (Economy of Scale) เพราะการบริหารต้นทุนนั้นสำคัญมาก
จุดควบคุม : สั่งซื้อทุกครั้ง เมื่อสินค้าในคลังลดลงถึงจุด Reorder Point ในปริมาณที่มั่นใจว่าประหยัดโดยขนาด
จ้างผู้รับเหมาอย่างไร ให้ปลอดภัย
สำหรับการจัดจ้างผู้รับเหมา เพื่อรับงานต่อ ควรตรวจสอบประวัติย้อนหลัง ตรวจสอบบริการหลังการขายอยู่เสมอ เพราะบริษัทผู้รับเหมา อยู่นอกเหนือการควบคุมของบริษัทเรา ใครที่เจอพาร์ทเนอร์ที่ดีอยู่แล้ว ต้องรักษาความสัมพันธ์นั้นไว้
จุดควบคุม : ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ตรวจสอบ และเปรียบเทียบข้อมูลผู้รับเหมาก่อนสั่งจ้างทุกครั้ง
ปันส่วนต้นทุน ตัวไหนขาดทุนต้องรู้
สำหรับผู้รับจ้างผลิต ปฏิเสธไม่ได้ว่าหน้าที่โรงงาน ต้องพัวพันกับเรื่องต้นทุนผลิตอยู่แล้ว และหากผลิตสินค้าหลายรายการ
เราจึงต้องปันส่วนต้นทุนที่จ่ายเป็นก้อน เช่น ค่าแรงงาน ค่าเสื่อมราคาเครื่องจักร เข้าไปในสินค้าแต่ละรายการ ให้เห็นถึงต้นทุนต่อสินค้าด้วยว่าจริงๆ แล้วในแต่ละสินค้านั้นมีกำไรหรือว่าขาดทุน จึงจะตัดสินใจได้ว่าสินค้านี้ควรรับจ้างต่อหรือพอแค่นี้
จุดควบคุม : ผู้จัดการบัญชีต้องทำรายงานปันส่วนต้นทุน เมื่อจบโปรเจกต์ทุกครั้ง เพื่อให้ผู้บริหารรู้สถานะกำไรขาดทุนตามสินค้า
ต้นทุนที่ใช้ผลิตจนถึงตอนนี้ เกินงบไปแล้วหรือยัง
กิจการต้องคอยติดตามต้นทุนจริง (Actual cost) ที่ใช้ในการผลิตอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจสอบกับ ต้นทุนมาตรฐาน (Standard cost) จะได้รู้ว่า ที่ทำกันจนถึงตอนนี้ ขาดทุนไปแล้วหรือยัง ควรรับงานนี้ต่อหรือไม่
จุดควบคุม : ผู้จัดการบัญชีต้องสอบทานต้นทุนจริง และต้นทุนประมาณการเป็นรายเดือน ทุกสิ้นเดือน เมื่อพบความผิดปกติต้องแจ้งต่อฝ่ายบริหาร
กำหนดราคาขายจากสูตรการผลิต (Bill of materials)
ในอุตสาหกรรมการผลิต จะเรียกสูตรการผลิตเป็นตัวย่อ BOM (Bill of materials) ซึ่งผู้รับจ้างผลิต จะไม่รู้จักไม่ได้ ต้องรู้ถึงโครงสร้างต้นทุน ส่วนประกอบ ลักษณะการผลิต เพื่อรู้ถึงประมาณการต้นทุนต่อหน่วย แล้วจึงกำหนดราคาขายได้ค่ะ แต่ถ้าคำนวณไม่ดี เกิดข้อผิดพลาด ก็อาจจะตั้งราคาขายผิด ขาดทุนไปกันใหญ่เลยล่ะ
จุดควบคุม : มีการสอบทานการคำนวณ BOM ผู้จัดการฝ่ายผลิต และผู้บริหาร ต้องลงลายมือชื่อรับรอง Bill of materials ทุกครั้ง ก่อนที่จะเริ่มการผลิต
ผลิตเสร็จเก็บเงินไม่ได้ ป้องกันการเบี้ยวหนี้อย่างไร
อุตสาหกรรมการรับจ้างผลิต พบเห็นการเบี้ยวหนี้ได้บ่อยครั้ง จะเอาของแต่เงินไม่มี และเจ้าของธุรกิจ OEM เองก็เอาของไปขายต่อให้คนอื่นก็ไม่ได้ เพราะสินค้าติดแบรนด์ไว้ แถมยังเป็นสูตรเฉพาะอีกด้วย
วิธีแก้ที่ง่ายที่สุดคือ การรับเงินก่อนเริ่มงาน แบ่งเป็นมัดจำก่อนเริ่มงาน และให้ทยอยจ่ายชำระเรื่อยๆ ตามกำหนด สามารถช่วยป้องกันการเบี้ยวหนี้ได้
จุดควบคุม : ทุกโปรเจกต์จะไม่สามารถเริ่มผลิตได้ (จัดทำใบสั่งผลิตไม่ได้) หากไม่ได้รับมัดจำขั้นต่ำ 20%
4. เจ้าของธุรกิจสามารถติดตามผลการดำเนินงาน และปรับกลยุทธ์ได้อย่างไร
ที่เล่ามาทั้งหมดนั้น เป็นเรื่องของจุดเสี่ยงและการควบคุมภายใน แล้วในฐานะเจ้าของธุรกิจเอง ไม่ได้มานั่งเฝ้าการทำงานในแต่ละขั้นตอน เราจะต้องคอยติดตามผลการดำเนินงานยังไงดีล่ะ ลองมาดูข้อแนะนำ 2 เรื่องนี้ค่ะ
ติดตามงบกระแสเงินสด
ธุรกิจรับจ้างผลิตเป็นธุรกิจที่ต้องลงทุนจำนวนมาก ทั้งในเครื่องจักร ในแรงงาน และอื่นๆ และหลายครั้งต้องกู้เงินมาลงทุน กิจการจึงต้องตรวจสอบกระแสเงินสดอย่างสม่ำเสมอว่ามีเงินรับเข้ามากกว่าเงินออก และต้องรู้ที่มาที่ไปว่า มีเงินเข้าจากกิจกรรมอะไรบ้าง และเงินออกไปจากกิจกรรมอะไรบ้าง ถ้าทำได้รับรองว่าการเงินไม่มีสะดุดแน่นอนค่ะ
ติดตามกำไรขาดทุนแต่ละโปรเจกต์
เป็นเรื่องที่ดีมาก หากเจ้าของธุรกิจสามารถแยกรายการต้นทุนของแต่ละโปรเจกต์ได้ ซึ่งจะช่วยบริหารกำไรขาดทุนแต่ละโปรเจกต์ ทำให้เห็นภาพในระดับปลีกย่อยว่าโปรเจกต์นี้ที่ได้รับมาจากลูกค้านั้นมันกำไรหรือไม่อย่างไรบ้าง ทำให้เราบริหารงานได้ดีมากยิ่งขึ้น และตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้นค่ะ
สำหรับใครที่ยังงง ไม่รู้จะแยกแต่ละโปรเจกต์ยังไง อยากให้มาทดลองใช้ฟังก์ชันการสร้างโปรเจกต์ ของ FlowAccount แล้วชีวิตจะตัดสินใจง่ายขึ้นอีกเยอะเลย ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ วิธีการสร้างโปรเจกต์ เพื่อดูกำไร ขาดทุน ตามโปรเจกต์
สรุป
ทุกธุรกิจมีจุดรั่วไหลและความเสี่ยงด้วยกันทั้งนั้น แม้แต่ธุรกิจรับจ้างผลิตแบบ OEM เอง ก็ยังมีความเสี่ยงในกรณีที่จ้างงานผู้รับเหมาต่อ เมื่อรู้ว่ามีความเสี่ยงอะไรบ้างแล้ว หน้าที่เจ้าของกิจการที่ดี อย่าลืมหาวิธีควบคุมภายในมากำจัดจุดเสี่ยงเหล่านั้น และที่สำคัญอย่าลืมติดตามกำไรขาดทุนแต่ละโปรเจกต์อย่างสม่ำเสมอ เพียงเท่านี้ ธุรกิจของเราก็น่าจะมีโอกาสอยู่รอดมากกว่าคนที่รู้จุดเสี่ยง แต่ไม่เคยวางแผนป้องกันอย่างแน่นอนค่ะ
About Author
นักบัญชี ผู้สอบบัญชี และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ cpdacademy.co คอร์สอบรมบัญชี CPD ออนไลน์สำหรับผู้ทำบัญชีและผู้สอบบัญชี ที่มีประสบการณ์ในวิชาชีพมากกว่า 10 ปี และอยากส่งต่อความรู้เพื่อเพื่อนนักบัญชีให้มีทักษะอย่างมืออาชีพและก้าวทันโลกดิจิทัล
ร่วมสมัครเป็นนักเขียนกับ FlowAccount ได้ที่นี่