ปัจจุบันธุรกิจรับจ้างผลิต (OEM) เป็นที่รู้จักมากขึ้น เพราะตอบโจทย์สำหรับผู้ประกอบการรายย่อย ที่ไม่ต้องลงทุนในเครื่องจักรเอง สามารถสั่งผลิตสินค้ามาขายได้เลย แต่ในมุมของผู้รับจ้างผลิตสินค้าตามสั่ง เช่น การผลิตเฟอร์นิเจอร์ ผลิตอาหาร ผลิตเครื่องสำอาง และอื่นๆ อีกมากมายที่รับจ้างผลิตแล้วติดแบรนด์ตามสั่งนั้น เราจะต้องบันทึกบัญชีกันยังไง มีจุดเด่นแบบไหน เราลองมาทำความเข้าใจในบทความนี้ได้เลยค่ะ |
เลือกอ่านได้เลย!
ความหมายของธุรกิจรับจ้างผลิต (OEM)
สำหรับคนที่ต้องการสร้างแบรนด์เพื่อขายสินค้า แต่ไม่ต้องการลงทุนในโรงงาน เครื่องจักรจำนวนมาก ตัวเลือกแรกๆ ที่เรามักทำกันก็คือ การจ้างผลิต (OEM)
คำว่า OEM ย่อมาจาก Original Equipment Manufacturer หรือ ผู้มีโรงงาน เครื่องจักรมาตรฐาน ที่สามารถรับจ้างผลิตสินค้า ตามสูตรการผลิตได้ โดยจุดเด่นของธุรกิจนี้ ได้แก่
1. มีเครื่องจักรมาตรฐาน
ธุรกิจรับจ้างผลิต แค่ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า งานหลักของพวกเราคือ การรับจ้างผลิตสินค้าตามสั่ง เพื่อให้ลูกค้าพึงพอใจในแง่ของคุณภาพ และปริมาณสินค้าก็ต้องได้ตามเป้าที่วางไว้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น เครื่องจักรในธุรกิจนี้จึงต้องมีมาตรฐานเพื่อเป็นตัวสร้างเงินให้ธุรกิจนั่นเองค่ะ
แม้ว่าธุรกิจนี้อาจต้องลงทุนสูงในเครื่องจักร แต่เครื่องจักรเหล่านี้สามารถใช้ได้กับผลิตภัณฑ์คล้ายกัน แค่เปลี่ยนสูตรการผลิตเท่านั้น เช่น เครื่องกวน เครื่องผสม เครื่องอัดรูป เครื่องแช่แข็ง เครื่องอบ เป็นต้น ก็จะช่วยประหยัดต้นทุนในการทำธุรกิจได้เช่นเดียวกัน
2. มีความหลากหลาย
ถ้าอยากแข่งขันในกลุ่มอุตสาหกรรม OEM เหมือนกัน คนทำธุรกิจ OEM ก็ต้องพยายามเอาใจลูกค้า โดยการ Customize สินค้าตามความต้องการให้ได้ และความหลากหลายของการผลิตตามสั่งนั้น จึงเป็นเสน่ห์ของธุรกิจนี้
ดังนั้น ยิ่งใครสามารถ OEM ได้หลากหลายกว่า อาจจะได้เปรียบกว่า ทั้งในมุมมองของลูกค้า และในมุมการกระจายความเสี่ยงธุรกิจ
3. มีทีมวิจัยและพัฒนาที่สนับสนุนลูกค้าได้
บางบริษัทที่ทำธุรกิจ OEM จะทำในรูปแบบ One stop service หรือ ครบจบในที่เดียว เพื่อสนับสนุนลูกค้าที่สั่งผลิตสินค้า โดยจะมีทีมวิจัยและพัฒนา (Research and Development) ที่ช่วยตั้งแต่เรื่องคิดสูตร ออกแบบสินค้า ออกแบบบรรจุภัณฑ์ อาจรวมถึงเรื่องการสร้างแบรนด์ด้วยนะ
บริษัทรับจ้างผลิตที่มีทีมวิจัยและพัฒนาเก่งๆ เนี่ยได้เปรียบคู่แข่งมากเลยล่ะ เพราะจะช่วยให้ลูกค้ามั่นใจว่าซื้อของจากที่นี่น่าจะขายต่อได้แน่นอน
4. การประหยัดโดยขนาด ช่วยให้ OEM รอด
การประหยัดโดยขนาด (Economies of scale) เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของธุรกิจ OEM เลยล่ะ
เนื่องจากการรับจ้างผลิต ต้องผลิตสินค้าจำนวนมาก จากลูกค้าหลายรายที่การสั่งผลิต จึงจะสามารถซื้อวัตถุดิบจำนวนมากมาก เพื่อต่อรองราคาได้มาก และใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่มาก เพื่อให้ผลิตได้ไวขึ้นประสิทธิภาพดีขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนต่อหน่วยสินค้าถูกลงนั่นเอง
ทำไมการรับรู้รายได้ OEM ถึงแปลกไปจากเพื่อน
การรับจ้างผลิต (OEM) ถือเป็น ธุรกิจให้บริการ อย่างหนึ่ง เสมือนการรับจ้าง ซึ่งวัดตามผลสำเร็จของงานที่ทำ หรือสินค้าที่ผลิตเสร็จ และส่งมอบนั่นแหละค่ะ แต่เพียงแค่ว่าระยะเวลาในการทำงานของเราอาจจะสั้นหรือยาว แตกต่างกันไปตามแต่ละประเภทสินค้า
ดังนั้น ความเข้าใจที่หลายคนบอกว่า การรับเงินเท่ากับรับรู้รายได้ จึงไม่ถูกต้อง เพราะหากทำความเข้าใจลักษณะธุรกิจนี้ดีๆ ก็จะถึงบางอ้อว่า ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจให้บริการ ซึ่งบริษัทต้องรับรู้รายได้ตามขั้นความสำเร็จของงาน (สินค้าที่ผลิตเสร็จและส่งมอบ) ตาม TFRS for NPAEs นั่นเองค่ะ
กรณีมีการเรียกเก็บเงินล่วงหน้า มากกว่าขั้นความสำเร็จของงาน (สินค้าที่ผลิตเสร็จและส่งมอบ) จะถือเป็น เงินรับล่วงหน้าจากลูกค้าส่วนที่เกินกว่างานส่วนที่เสร็จ
กรณีขั้นความสำเร็จของงาน (สินค้าที่ผลิตเสร็จและส่งมอบ) มากกว่าการเรียกเก็บเงินล่วงหน้า จะถือเป็น มูลค่าของงานส่วนที่เสร็จแต่ยังไม่ถึงกำหนดเรียกชำระเงิน
โดยการรับจ้างผลิต จะไม่มีการสต็อกสินค้าเพื่อขาย ไม่เหมือนกับธุรกิจซื้อมาขายไป การรับจ้างผลิต จะผลิตก็ต่อเมื่อมีคำสั่งซื้อเท่านั้น ไม่มีคำสั่งซื้อ ก็ไม่มีการเริ่มผลิต
ขั้นตอนการบันทึกบัญชีตาม TFRS for NPAEs เมื่อรับจ้างผลิต แต่ลูกค้าแบ่งจ่ายเป็นงวดๆ
เมื่อเราเข้าใจหลักการของธุรกิจรับจ้างผลิต (OEM) และเข้าใจเรื่องการรับรู้รายได้ทางบัญชีแล้ว ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เราลองมาลงลึกถึงการบันทึกบัญชีแต่ละขั้นตอน สำหรับการรับจ้างผลิตดูบ้างนะ
จากตัวอย่างนี้ เราจะพบว่า กว่าที่จะรับรู้รายได้จากธุรกิจ OEM ได้นั้น ไม่ได้ง่ายเลย เพราะว่าเราต้องผลิตสินค้าให้ได้ตามสั่งแล้วส่งมอบให้เรียบร้อยจึงจะรับรู้รายได้ได้ตามขั้นความสำเร็จนั่นเองค่ะ
สรุป
ธุรกิจรับจ้างผลิต (OEM) นั้นเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่น่าสนใจทั้งในมุมมองของผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของสินค้าหลายๆ แบรนด์ รวมไปถึงมุมมองด้านการบันทึกบัญชีค่ะ
การรับรู้รายได้ จะต้องทำอย่างมีหลักการและสอดคล้องกับมาตรฐานรายงานทางการเงิน ซึ่งสำหรับกิจการที่ใช้ TFRS for NPAEs ต้องรับรู้รายได้ตามขั้นความสำเร็จของงานให้ถูกต้องด้วยนะคะ
อ้างอิง
About Author
นักบัญชี ผู้สอบบัญชี และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ cpdacademy.co คอร์สอบรมบัญชี CPD ออนไลน์สำหรับผู้ทำบัญชีและผู้สอบบัญชี ที่มีประสบการณ์ในวิชาชีพมากกว่า 10 ปี และอยากส่งต่อความรู้เพื่อเพื่อนนักบัญชีให้มีทักษะอย่างมืออาชีพและก้าวทันโลกดิจิทัล
ร่วมสมัครเป็นนักเขียนกับ FlowAccount ได้ที่นี่