สืบทอดกิจการครอบครัว ภาษีไม่ง่ายอย่างที่คิด! บทความนี้ชี้ให้เห็นว่าการเสียภาษีสำหรับธุรกิจครอบครัวนั้นซับซ้อนกว่าที่คิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเข้ามารับช่วงต่อ อัตราภาษีของบริษัทไม่ได้ตายตัวที่ 20% และเมื่อเบิกเงินจากบริษัทมาใช้ส่วนตัวก็ต้องเสียภาษีบุคคลธรรมดาเพิ่มอีก ทำให้ต้นทุนทางภาษีโดยรวมสูงกว่าที่คาดคิด |
คนรุ่นใหม่ที่เริ่มรับกิจการต่อ มีใครรู้บ้างว่าเราเสียภาษีจากการทำธุรกิจเท่าไร?
หลายคนที่บ้านมีกิจการอยู่แล้ว และพ่อแม่ก็หมายหมั้นปั้นมือจะส่งต่อกิจการให้ดูแล แต่ยังไม่รู้เรื่องตัวเลขหลังบ้าน หรือไม่เข้าใจว่าต้องเสียภาษียังไง สุดท้ายแล้ว เราจะต้องจ่ายภาษีทั้งหมดเท่าไรกันแน่
สำหรับบทความนี้นุชจะพาทุกคนไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในกรณีที่เราเป็นทั้งเจ้าของบริษัท และได้รับเงินส่วนแบ่งมาจากบริษัทอีกต่อนึงค่ะ ว่าทั้งหมดแล้วมีภาษีจำนวนเท่าไรกันแน่
เลือกอ่านได้เลย!
1. เข้าใจถูกหรือไม่ บริษัทเสียภาษีคงที่ 20%
“ทำธุรกิจนามบริษัท เสียภาษีแค่ 20% เท่านั้น” คำพูดนี้เรามักจะได้ยินอยู่บ่อยๆ ซึ่งทำให้หลายคนเข้าใจผิดเพราะคิดทึกทักไปเองค่ะ
ก่อนอื่น เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ภาษีที่เสีย = ฐานภาษี * อัตราภาษี
นั่นหมายความว่า “อัตราภาษี” ของแต่ละบริษัทอาจจะไม่เท่ากันก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น
- บริษัทได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ยกเว้นภาษี
- บริษัท SME ฐานภาษีไม่เกิน 3 แสน ยกเว้นภาษี
- บริษัท SME ฐานภาษีไม่เกิน 3 ล้าน อัตราภาษี 15 %
- บริษัทจำกัด (Non-SME) อัตราภาษี 20 %
ส่วนที่สองที่ใช้ในการคำนวณภาษีที่เสีย คือ “ฐานภาษี” โดยมาจากการปรับปรุงกำไรสุทธิทางบัญชี เป็นกำไรสุทธิทางภาษี และการคำนวณของแต่ละบริษัทนั้น ก็แตกต่างกันออกไปตามแต่กรณี ยกตัวอย่างเช่น หากเบิกค่าใช้จ่ายบริษัทไปลงบัญชีได้ก็จริง แต่ว่าเอกสารไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ก็จะทำให้บริษัทต้องปรับปรุงบวกกลับค่าใช้จ่ายเหล่านี้ ทำให้กำไรทางภาษี ที่เอามาเป็นฐานในการคำนวณสูงขึ้นด้วยค่ะ
ดังนั้น ถ้าเราคิดว่าบริษัทได้กำไรเท่าไหร่ แล้วนำไปคูณ 20% เสียภาษีคงที่ตลอด จึงไม่ถูกต้องซะทีเดียว เพราะต้องปรับปรุงกำไรสุทธิก่อน และใช้อัตราภาษีตามกฎหมายกำหนดด้วยนะ
2. จ่ายเงินออกจากบริษัท ให้เจ้าของธุรกิจก็ต้องเสียภาษี
อีกประเด็นนึงที่เข้าใจผิดบ่อยๆ ก็คือ การเสียภาษีนิติบุคคล 20% แล้วจบ แต่ในความเป็นจริงยังมีภาษีบุคคลธรรมดาที่ยังรอเราอยู่เช่นกัน
เจ้าของธุรกิจทำงานมาอย่างเหน็ดเหนื่อย ก็คาดหวังจะได้ผลตอบแทนจากบริษัทของตัวเองบ้างจริงไหมคะ แต่นึกอยากจะเอาเงินออกมา ก็ใช่ว่าจะเอาออกมาได้เลย บางคนถึงขั้นเข้าใจผิดว่า “ก็บริษัทเรานิ เราเป็นเจ้าของ จะเอาเงินออกมาใช้ตอนไหนก็ได้”
ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจกันใหม่ว่า “บริษัท จำกัด” ถือเป็นนิติบุคคลหนึ่งที่จัดตั้งขึ้น แยกออกจากตัวเราเอง จะไม่เหมือนกับเราทำมาค้าขายในนามของบุคคลธรรมดา ซึ่งหมายความว่า บริษัทจะจ่ายเงินออกมา ต้องทำตามที่กฎหมายกำหนดอย่างถูกต้องด้วย และบุคคลธรรมดาเอง ที่ได้รับเงินก็ต้องเสียภาษีเช่นกันนะ
เราลองมาดูกันว่า ถ้าเจ้าของธุรกิจจะจ่ายเงินออกจากบริษัทให้ตัวเอง (ที่ไม่ใช่การกู้เงิน) จะทำด้วยวิธีไหนได้บ้าง และมีภาระภาษีบุคคคลธรรมดาเท่าใด
สิทธิ Final tax คือ การเลือกที่จะไม่นำเงินได้ (ที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไปแล้ว) มารวมยื่นเงินได้พึ่งประเมินรายปี
3. สุดท้ายแล้วเงินที่ถึงมือเจ้าของ จะเสียภาษีเท่าไหร?
ในกรณีนี้ขอยกตัวอย่างการจ่ายเงินปันผลให้เจ้าของบริษัท ซึ่งเรามักพบเจอบ่อยๆ ในกรณีที่บริษัทมีกำไรสะสม ลำดับแรกต้องเข้าใจก่อนว่า เงินที่จะถึงมือเจ้าของ ต้องมาจากกำไรสุทธิของบริษัท ซึ่งสมมติว่าจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลไปแล้ว 20% ในนามนิติบุคคล และนอกจากนี้ต้องถูกหัก ณ ที่จ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีก 10% เมื่อจ่ายปันผล เราลองมาดูตัวอย่างการคำนวณในภาพรวม จะได้เข้าใจมากขึ้น
จากตารางข้างต้น เราจะเห็นภาพรวมของเงินที่ไหลออกจากภาษี กรณีกำไรที่ทำมาหาได้จากธุรกิจ 100 บาท เมื่อถึงมือผู้ถือหุ้น จะเหลือ 72 บาท ดังนั้น ภาษีที่ต้องเสียจริงโดยรวมสำหรับบริษัทและบุคคลเจ้าของเดียวกัน คือ 28 บาท หรือคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ง่ายๆ จากกำไรที่บริษัททำมาหาได้คือ 28% นั่นเอง (กรณีใช้สิทธิ Final tax ไม่ต้องนำไปรวมยื่นประจำปีอีก)
ส่วนกรณีที่เลือกจ่ายค่าตอบแทนเป็นค่าใช้จ่ายบริษัท เช่น เงินเดือน หรือค่าจ้าง แม้จะไม่ผ่านการหักภาษีนิติบุคคล 20% ก็จริง แต่อย่าลืมนะ กรณีนี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องมาจากการทำงานให้บริษัท และผู้รับเงินต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราก้าวหน้า สูงสุดร้อยละ 35 (ซึ่งไม่ใช่น้อยเลย)
สรุป
ภาษีจากการทำธุรกิจ 28% ต่างหาก ไม่ใช่ 20%
เจ้าของธุรกิจรุ่นใหม่ ไฟแรงสูง น่าจะได้ข้อมูลดีๆ เกี่ยวกับภาษีไปไม่น้อยค่ะ ทั้งในเรื่องความเข้าใจผิดๆ ของภาษีนิติบุคคลที่ 20% และการจ่ายเงินออกจากบริษัทแต่ละประเภท ทำให้เราเรียนรู้ว่ากว่าเงินจากธุรกิจจะถึงมือเจ้าของ ต้องผ่านด่านภาษีอรหันต์ถึง 28% แหนะ ฮ่าๆๆ ซึ่งแม้ว่าจะยากแก่การทำใจ แต่ต้องไม่ลืมเรียนรู้ไว้เพื่อวางแผนในอนาคตนะคะ
About Author
นักบัญชี ผู้สอบบัญชี และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ cpdacademy.co คอร์สอบรมบัญชี CPD ออนไลน์สำหรับผู้ทำบัญชีและผู้สอบบัญชี ที่มีประสบการณ์ในวิชาชีพมากกว่า 10 ปี และอยากส่งต่อความรู้เพื่อเพื่อนนักบัญชีให้มีทักษะอย่างมืออาชีพและก้าวทันโลกดิจิทัล
ร่วมสมัครเป็นนักเขียนกับ FlowAccount ได้ที่นี่