นายจ้างแจ้งประกันสังคมเมื่อมีพนักงานเข้าใหม่ และลูกจ้างเช็คสิทธิ์ตัวเองได้อย่างไร

นายจ้างแจ้งประกันสังคมเมื่อมีพนักงานเข้าใหม่อย่างไร และลูกจ้างเช็คสิทธิ์ตัวเองได้ยังไง

ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนประกันสังคมสำหรับลูกจ้างใหม่ โดยเน้นย้ำหน้าที่ของนายจ้างในการยื่นแบบรายชื่อผู้ประกันตนภายใน 30 วัน พร้อมอธิบายช่องทางการตรวจสอบสิทธิ์ของลูกจ้าง ทั้งผ่านแอปพลิเคชั่น SSO+ และสายด่วน 1506 รวมถึงขั้นตอนการยื่นแบบออนไลน์และออฟไลน์สำหรับนายจ้างด้วย

การดูแลพนักงาน เป็นหนึ่งในหน้าที่สำคัญของนายจ้าง การให้ลูกจ้างเข้าสู่ระบบประกันสังคมก็เช่นกัน ไม่เพียงแค่หน้าที่ แต่ยังมีกฎหมายบังคับไว้ด้วย เพราะฉะนั้นนายจ้างควรรู้สิ่งนี้จะได้ไม่พลาดนะคะ

เราลองมาดูกันว่า ถ้ามีลูกจ้างแล้ว นายจ้างจะแจ้งขึ้นทะเบียนประกันสังคมให้กับลูกจ้างอย่างไร และตัวลูกจ้างเองจะเช็คยังไงว่าตัวเองอยู่ในระบบประกันสังคมเรียบร้อยแล้วนะ

 

เลือกอ่านได้เลย!

1. หน้าที่ของนายจ้างต้องยื่นประกันสังคมให้ลูกจ้างเมื่อใด

 

ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ได้กำหนดเกี่ยวกับหน้าที่การขึ้นทะเบียนและยื่นประกันสังคมให้ลูกจ้างไว้แบบนี้

 

นายจ้างยื่นแบบขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนให้ลูกจ้าง 

 

“มาตรา 34 ให้นายจ้างซึ่งมีลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ยื่นแบบรายการแสดงรายชื่อผู้ประกันตน อัตราค่าจ้าง และข้อความอื่นตามแบบที่เลขาธิการกำหนดต่อสำนักงาน ภายใน 30 วันนับตั้งแต่ลูกจ้างนั้นเป็นผู้ประกันตน”

 

“มาตรา 96 นายจ้างผู้ใดโดยเจตนาไม่ยื่นแบบรายการต่อสำนักงาน ภายในเวลาที่กำหนดตามมาตรา 34 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง  เป็นความผิดต่อเนื่อง ผู้กระทำต้องระวางโทษปรับอีกวันละไม่เกิน 5,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือยังไม่ปฏิบัติตาม”

 

หลายครั้งที่นายจ้างต้องโดนค่าปรับจากสำนักงานประกันสังคม เนื่องจากไม่แจ้งขึ้นทะเบียนลูกจ้าง ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งอัตราค่าปรับที่โดนไม่ได้น้อยเลยนะคะ อีกทั้งถ้าผิดแล้วยังไม่รีบแก้ไข โดนปรับต่อเนื่อง เผลอๆ หมดตัวเพราะค่าปรับเอาได้ค่ะ

 

ลูกจ้างจะเช็คสิทธิ์ผู้ประกันตนของตัวเองได้อย่างไร

 

บางคนทำงานมาพักนึงแล้ว ยังไม่ได้ไปเช็คสิทธิ์ประกันสังคม เพราะไม่รู้จะไปเช็คที่ไหน อาจทำให้เราเสียสิทธิ์ของผู้ประกันตนก็ได้นะ เราลองมาดูว่า ลูกจ้างก็เช็คสิทธิ์ของตัวเองได้ 2 ช่องทางตามนี้ค่ะ

  1. แอปพลิเคชั่น SSO+  เราสามารถเช็คสิทธิ์ผ่าน แอปพลิเคชัน SSO+ ได้เลย ซึ่งสะดวก และทำธุรกรรมเกี่ยวกับผู้ประกันตนได้หลากหลายมาก เรียกได้ว่าเกือบจะครบทั้งหมดแล้วล่ะค่ะ
  2. สายด่วนประกันสังคม 1506 โทรสอบถามข้อมูลสิทธิ์ผู้ประกันตนได้ ตรวจสอบสิทธิ์การรักษาพยาบาล การนำส่งเงินสมทบ ถามยอดเงินออม หรือสิทธิประกันสังคมอื่นๆ ได้เช่นเดียวกันค่ะ

2. ทางเลือกในการยื่นประกันสังคมแบบออนไลน์ และออฟไลน์

 

สำหรับการยื่นประกันสังคมมีด้วยกัน 2 ขั้นตอนสำหรับนายจ้างมือใหม่ค่ะ

 

ขั้นตอนแรก

 

การขึ้นทะเบียนนายจ้างและลูกจ้างครั้งแรก ซึ่งไม่สามารถทำออนไลน์ได้ ต้องไปดำเนินการที่สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ พร้อมเอกสาร แบบขึ้นทะเบียนนายจ้าง (สปส. 1-01) และ แบบฟอร์มขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน (สปส.1-03) จากนั้นอย่าลืมขออนุญาตทำรายการแบบออนไลน์ไปเผื่อด้วยค่ะ

 

ขั้นตอนที่สอง

การนำส่งเงินสมทบ ซึ่งทำได้ 2 ช่องทางคือ แบบออฟไลน์ และออนไลน์

 

ช่องทางออฟไลน์

การยื่นช่องทางช่องทางออฟไลน์แบบกระดาษ ต้องพิมพ์ แบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบ (สปส. 1-10) ส่วนที่ 1 และ ส่วนที่ 2 ออกมา และกรอกข้อมูลตามแบบแสดงรายการ

หลังจากกรอกข้อมูลแล้วให้นำแบบแสดงรายการ ยื่นนำส่งเงินสมทบฯ ที่สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ หรือสาขาที่บริษัทเราตั้งอยู่ได้เลย

ข้อดี เหมาะกับคนที่ใช้งานระบบออนไลน์ไม่คล่อง 

ข้อเสีย ต้องเดินทางไปสำนักงานประกันสังคมพื้นที่เอง

 

ช่องทางออนไลน์

การยื่นช่องทางออนไลน์ หรือยื่นแบบผ่านทาง ระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) https://www.sso.go.th/eservices/esv/index.jsp

ข้อดี ช่องทางนี้เหมาะกับบริษัทที่ลดการใช้เอกสารกระดาษ รวดเร็วกว่า 

ข้อเสีย ในการเริ่มต้นใช้งาน ต้องลงทะเบียนขออนุญาตใช้งานแบบออนไลน์ก่อน

 

3. ขั้นตอนในการแจ้งชื่อพนักงานเข้าใหม่ ในระบบประกันสังคมแบบออนไลน์

 

เมื่อพนักงานเข้าใหม่ นายจ้างต้องแจ้งเพิ่มรายชื่อพนักงานขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน โดยปกติแล้วถ้าทำแบบออฟไลน์เราจะใช้แบบ สปส.1-03 แต่ถ้าเลือกทำออนไลน์จะสามารถทำได้ผ่านระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) โดยมีขั้นตอนดังนี้

 

3.1 เข้าสู่ระบบ https://www.sso.go.th/eservices/esv/login.do

เลือกเมนู ทะเบียนผู้ประกันตน >> ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน/แจ้งรับผู้ประกันตนเข้าทำงาน (สปส.1-03) กรณีผู้ประกันตนเคยขึ้นทะเบียนแล้ว เลือกปุ่ม บันทึกขึ้นทะเบียนสำหรับผู้ที่เคยมีสิทธิ์รักษาพยาบาลแล้ว
 

3.2 กดเลือกสถานประกอบการที่ต้องการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน

 
กดเลือกสถานประกอบการที่ต้องการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน
 

3.3 ระบบจะแสดงหน้าจอบันทึกข้อมูล

ให้เราใส่ข้อมูลให้ครบถ้วน กรณีผู้ประกันตนหลายรายให้กดปุ่ม “ผู้ประกันตนถัดไป” เมื่อใส่ข้อมูลผู้ประกันตนเสร็จ กดปุ่มดำเนินการต่อ และกดปุ่มยืนยันบันทึกข้อมูล
 

ระบบจะแสดงหน้าจอบันทึกข้อมูล

 

4. ขั้นตอนการนำส่งเงินสมทบประกันสังคมรายเดือน

สำหรับการนำส่งเงินสมทบประกันสังคมนั้น ถ้าทำแบบออฟไลน์เราจะใช้แบบ สปส.1-10 แต่ถ้าเราทำในระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) จะมีขั้นตอนดังนี้

 

4.1 เข้าสู่ระบบ https://www.sso.go.th/eservices/esv/login.do

เลือกเมนู “ส่งข้อมูลเงินสมทบ” และเลือกวิธียื่นแบบ (ยื่นแยก/ยื่นรวมสาขา)

 
เข้าสู่ระบบ
 

4.2 เลือกวิธีการนำส่งข้อมูล

(กรอกข้อมูล/แนบไฟล์/ใช้ข้อมูลเดิม) และเลือกสถานประกอบการ
 

เลือกวิธีการนำส่งข้อมูล
 

4.3 เลือกงวดเดือน และปีที่ต้องการทำรายการ

 
เลือกงวดเดือน และปีที่ต้องการทำรายการ
 

4.4 กรอกข้อมูลรายละเอียดผู้ประกันตน

(กรณีแนบไฟล์ ให้กดเลือกไฟล์แนบ/กรณีใช้ข้อมูลเดิมให้กดเลือกข้อมูลเดิมที่ต้องการใช้)

 
กรอกข้อมูลรายละเอียดผู้ประกันตน
กรอกข้อมูลรายละเอียดผู้ประกันตน
กรอกข้อมูลรายละเอียดผู้ประกันตน
 

4.5 ตรวจสอบข้อมูลและกดยืนยัน จากนั้นกดชำระเงิน

 
ตรวจสอบข้อมูลและกดยืนยัน จากนั้นกดชำระเงิน
 

4.6 เลือกช่องทางการชำระเงินและกดดำเนินการต่อ

 
เลือกช่องทางการชำระเงินและกดดำเนินการต่อ
 

4.7 ชำระเงินให้ครบถ้วนเป็นอันเสร็จสิ้น

 
ชำระเงินให้ครบถ้วนเป็นอันเสร็จสิ้น
 

สรุป 

การแจ้งแบบรายการแสดงรายชื่อผู้ประกันตนของลูกจ้าง เป็นหน้าที่ของนายจ้างตามกฎหมาย ซึ่งในบทความนี้ เราได้อธิบายรายละเอียดการยื่นผ่านระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) ซึ่งทำได้ง่ายมาก ขั้นตอนไม่ซับซ้อน

 

ทางฝั่งของลูกจ้างเอง ไม่ควรละเลยสิทธิ์ของตัวเอง ควรเช็คสิทธิ์อยู่เสมอว่านายจ้างยื่นรายชื่อหรือยัง ได้โรงพยาบาลตามสิทธิ์เป็นตามที่เราต้องการไหม และนำส่งเงินสมทบครบถ้วนหรือเปล่า เพียงเท่านี้ก็สบายใจได้ทั้งทางฝั่งนายจ้างและลูกจ้างแล้วค่ะ

 

อ้างอิง :

พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533

คู่มือการใช้งาน E-Services ของสํานักงานประกันสังคมสําหรับสถานประกอบการ

About Author

ลองใช้งานFlowAccount ฟรี 30 วันได้ง่ายๆ วันนี้
ลองใช้งานฟรีได้ง่ายๆ วันนี้
สมัครเลย

You may also like